ดาวเคราะห์ดวงที่เก้าคือต้นเหตุที่ทำให้ดวงอาทิตย์เอียงผิดปกติ?

แม้ว่ายังไม่มีใครหามันพบ แต่งานวิจัยล่าสุดชี้ว่าดาวเคราะห์ดวงที่เก้าคือต้นเหตุที่ทำให้ดวงอาทิตย์เอียงผิดปกติ

ดาวเคราะห์ทั้งแปดดวงในระบบสุริยะโคจรอยู่ในระนาบเดียวกัน แต่ระนาบนี้กลับเอียงทำมุม 6 องศาเมื่อเทียบกับดวงอาทิตย์ ซึ่งไม่มีใครสามารถอธิบายได้ว่าทำไมถึงเป็นเช่นนั้น แต่ Konstantin Batygin และ Mike Brown สองนักดาราศาสตร์จากสถาบันเทคโนโลยีแคลิฟอร์เนีย และนักศึกษา Elizabeth Bailey ได้แสดงในงานวิจัยล่าสุดของพวกเขาว่าเกิดจากอิทธิพลของดาวเคราะห์ดวงที่เก้า

Konstantin Batygin และ Mike Brown ได้นำเสนอหลักฐานการดำรงอยู่ของดาวเคราะห์ดวงที่เก้าเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา มันอยู่ที่ขอบนอกสุดของระบบสุริยะ มีมวลมากกว่าโลก 10 เท่า และโคจรรอบดวงอาทิตย์หนึ่งรอบใช้เวลาราว 15,000 ปี แต่อย่างไรก็ตามนาซาพูดถึงเรื่องนี้ว่าแม้มันจะน่าสนใจแต่แนวคิดเรื่องดาวเคราะห์ดวงที่เก้าที่ขอบระบบสุริยะยังคงเป็นเพียงทฤษฎี

ในงานวิจัยใหม่นักวิจัยบอกว่าอิทธิพลของดาวเคราะห์ดวงที่เก้าอาจจะเป็นต้นเหตุทำให้เกิดการเอียงผิดปกติของดวงอาทิตย์ ดาวเคราะห์ที่ซ่อนตัวอยู่นี้อาจจะเพิ่มความโคลงเคลงให้กับระบบสุริยะ ซึ่งทำให้ดวงอาทิตย์มีลักษณะเอียงเล็กน้อย

Bailey อธิบายว่าเพราะดาวเคราะห์ดวงที่เก้ามีมวลมากและมีระนาบวงโคจรที่ทำมุมเอียงราว 30 องศาเมื่อเทียบกับระนาบวงโคจรของดาวเคราะห์อื่นๆ  ระบบสุริยะจึงถูกโน้มน้าวค่อยๆบิดออกจากระนาบเดิม

planet-nine-tilt-sun-2

“แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงก็คือดวงอาทิตย์จะอยู่คงที่ และระนาบโคจรของดาวเคราะห์ต่างหากที่มีการเอียงโดยอิทธิพลของดาวเคราะห์ดวงที่เก้า” Batygin อธิบาย

“ดาวเคราะห์ดวงที่เก้าทำให้ระนาบโคจรของระบบสุริยะเอียงไปราว 6 องศา แต่เพราะเราอาศัยอยู่บนระนาบที่เอียงจึงทำให้เราดูเหมือนว่าดวงอาทิตย์เอียง”

นักวิจัยได้ทำแบบจำลองคอมพิวเตอร์ที่แสดงให้เห็นว่าการเอียงของระนาบโคจรของดาวเคราะห์ทั้งแปดอาจจะเป็นเพราะอิทธิพลของแรงโน้มถ่วงของดาวเคราะห์ดวงที่เก้าที่ดำเนินมาตลอดช่วงอายุ 4.5 พันล้านปีของระบบสุริยะ

“มันเป็นจิ๊กซอชิ้นหนึ่งที่ดูเหมือนว่าจะเข้ากันได้พอดีกัน และสนับสนุนสมมติฐานการคงอยู่ของดาวเคราะห์ดวงที่เก้า” Bailey กล่าว

นักดาราศาสตร์ยังคงต้องการหลักฐานที่เป็นภาพถ่ายดาวเคราะห์ดวงที่เก้าจากการมองเห็นจริงๆ ซึ่ง Brown และ Batygin รวมถึงนักดาราศาสตร์อื่นกำลังทำงานอย่างขะมักเขม้น

 

ข้อมูลและภาพจาก  techtimes, phys.org

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *