หนอนแว๊กซ์ย่อยสลายพลาสติกได้ อาจช่วยแก้ปัญหาขยะพลาสติกล้นโลก

การแก้ปัญหาขยะพลาสติกล้นโลกอาจพบทางออกแล้วก็ได้ เมื่อนักวิจัยชาวสเปนได้ค้นพบว่าหนอนแว็กซ์สามารถย่อยสลายพลาสติกชนิดพอลิเอทิลีได้ และนั่นอาจเป็นกุญแจนำไปสู่การกำจัดขยะพลาสติกที่กำลังจะล้นโลกอย่างได้ผล

Federica Bertocchini นักวิทยาศาสตร์ที่สถาบัน Institute of Biomedicine and Biotechnology of Cantabria ประเทศสเปน และเป็นนักเลี้ยงผึ้งสมัครเล่นได้พบกับเรื่องนี้โดยบังเอิญ เมื่อเธอเอาหนอนแว๊กซ์ออกจากรังผึ้ง ใส่มันไว้ในถุงพลาสติกมัดปากถุงทิ้งไว้ในบ้าน เธอพบว่าหนอนแว๊กซ์หายตัวไปหมดแต่ถุงพลาสติกกลับเต็มไปด้วยรู

หนอนแว๊กซ์เป็นหนอนตัวอ่อนของผีเสื้อกลางคืนชนิดหนึ่งที่วางไข่ไว้ในรังผึ้ง พวกมันฟักตัวและเติบโตอยู่ในรังผึ้ง เป็นปรสิตของผึ้ง กินขี้ผึ้งเป็นอาหาร ปกติจะถูกเพาะเลี้ยงไว้เป็นเหยื่อตกปลา หรือให้สัตว์เลี้ยง เช่น ชูการ์ไกลเดอร์ (กระรอกบินออสเตรเลีย) กินเป็นอาหาร

wax-worm-eat-plastic-2

Bertocchini ได้ร่วมมือกับ Paolo Bombelli และ Christopher Howe ที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ทำการทดลองเพื่อค้นหาความจริง หนอนแว๊กซ์ราว 100 ตัวถูกใส่ในถุงพลาสติกที่ได้จากซูเปอร์มาร์เก็ต หลังจากผ่านไป 40 นาทีหนอนแว๊กซ์ก็เจาะรูที่ถุงพลาสติกสำเร็จ ตอนแรก Bertocchini และเพื่อนร่วมงานคิดว่าหนอนแว็กซ์คงจะกัดแทะและฉีกถุงพลาสติกให้ขาดเป็นรู แต่หลังจากปล่อยให้ยางเหนียวๆจากหนอนแว็กซ์สัมผัสกับถุงพลาสติก สิ่งที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น

หลังจากยางเหนียวจากหนอนสัมผัสกับถุงพลาสติกนาน 14 ชั่วโมง ปรากฏว่า 13% ของพลาสติกหรือราว 92 มิลลิกรัมได้ละลายและย่อยสลายกลายเป็นเอทิลีนไกลคอล (ethylene glycol) ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของสารป้องกันน้ำแข็งตัว (antifreeze) และสารหล่อเย็น(coolant) การทดลองนี้แสดงให้เห็นว่าหนอนแว็กซ์ไม่ได้ฉีกทำลายพลาสติกด้วยปาก แต่มีสารบางอย่างจากระบบย่อยอาหารของมันเป็นตัวทำลายและย่อยพลาสติก

นักวิจัยบอกว่าอัตราการย่อยสลายสูงมากเมื่อเทียบกับการค้นพบก่อนหน้านี้ เช่น ปีที่แล้วมีรายงานการใช้แบคทีเรียย่อยสลายพลาสติกได้ในอัตรา 0.13 มิลลิกรัมต่อวัน ขณะที่พลาสติกที่ถูกกลบฝังจะใช้เวลาในการย่อยสลายราว 100- 400 ปี

ในการทดลองต่อมานักวิจัยได้บดหนอนแว็กซ์จนกลายเป็นยางเหนียว นำมาป้ายและเกลี่ยไว้บนพลาสติก ก็พบว่าพลาสติกมีการย่อยสลายในลักษณะเดียวกัน ชี้ให้เห็นว่าสารเคมีที่อยู่ในตัวหนอนเป็นตัวทำให้เกิดปฏิกิริยานี้ขึ้น และนี่อาจเป็นกุญแจสำคัญที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาพลาสติกล้นโลก

wax-worm-eat-plastic-3

“ถ้ามีเอ็นไซม์ที่ทำให้เกิดกระบวนการทางเคมีนี้ เราก็สามารถผลิตมันขึ้นมาในปริมาณมากๆได้ด้วยวิธีทางเทคโนโลยีชีวภาพ” Bombelli กล่าว “การค้นพบนี้อาจเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยกำจัดขยะพลาสติกชนิดพอลิเอทิลีนที่สะสมอยู่ตามหลุมฝังกลบและในทะเล”

ธรรมชาติอาจจะให้คำตอบแก่เราโดยบังเอิญสำหรับการกำจัดพลาสติก แต่เรายังคงต้องค้นคว้าถ้าหากเราจะยกระดับกระบวนการทางชีววิทยาไปสู่อุตสาหกรรม

“หนอนแว็กซ์ผลิตสารบางอย่างที่สามารถทำลายพันธะเคมีได้ บางทีอาจจะอยู่ในต่อมน้ำลายหรือแบคทีเรียในลำไส้ของมัน” Bombelli กล่าว “ขั้นต่อไปสำหรับเราคือการแยกเอาเอ็นไซม์สำคัญของปฏิกิริยาในกระบวนการนี้ออกมา”

 

ข้อมูลและภาพจาก cam.ac.uk, inhabitat

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *