ระดับคาร์บอนไดออกไซด์ของโลกเกิน 410 ppm เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์

นี่เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติที่ความเข้มข้นของคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ในบรรยากาศของโลกได้ผ่านระดับ 410 ppm จากการวัดเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ต้องถือว่าเป็นช่วงเวลาที่นักวิทยาศาสตร์ทั้งหลายจะต้องตั้งสติให้ดี แม้ว่าเรื่องนี้แทบจะไม่น่าแปลกใจเลย

เส้นโค้งคีลิง (Keeling Curve) เป็นกราฟแสดงความเข้มข้นของ CO2 ในบรรยากาศของโลกอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2501 จากการวัดที่หอดูดาวเมานาลัวในฮาวาย ภายใต้การเริ่มต้นและกำกับดูแลของ Charles David Keeling นักวิทยาศาสตร์แห่งสถาบันสมุทรศาสตร์สคริปปส์ ที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานดิเอโก จากเส้นโค้งคีลิงเห็นชัดว่าระดับ CO2 เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมาทุกปี

co2-reach-410-ppm-2

“มันเป็นชั้นบรรยากาศใหม่ที่มนุษย์โลกต้องเผชิญ บรรยากาศที่จะเก็บความร้อนมากขึ้นและทำให้สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว” Brian Kahn นักเขียนอาวุโสที่องค์กรด้านสภาพอากาศ Climate Central กล่าว “CO2 ในบรรยากาศไม่ได้สูงขนาดนี้มาหลายล้านปีแล้ว”

ตั้งแต่ปีที่แล้วที่ระดับ CO2 ในบรรยากาศของโลกอยู่ในระดับอันตรายที่ 400 ppm นักวิทยาศาสตร์ได้เตือนสาธารณชนแล้วว่าจุดวัดสำคัญครั้งต่อไปที่ 410 ppm จะมาถึงในไม่ช้า

“เรากำลังเข้าสู่ยุคใหม่” Ralph Keeling ผู้สานต่องานของบิดาของเขาในตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันสมุทรศาสตร์สคริปปส์เคยกล่าวไว้เมื่อปีที่แล้ว “มันเปลี่ยนแปลงเร็วมาก เราจะไปถึงระดับ 410 ppm ในเร็วๆนี้”

มันไม่มีอะไรแตกต่างกันนักในแง่ตัวเลข 400 หรือ 410 แต่มันเป็นจุดให้นักวิทยาศาสตร์ได้ทำการเปรียบเทียบ

“จุดวัดสำคัญเหล่านี้มันเป็นเพียงตัวเลข แต่มันเปิดโอกาสให้เราได้หยุดคิดและทำการเปรียบเทียบข้อมูลในบันทึกด้านธรณีวิทยา” Gavin Foster นักวิจัยภูมิอากาศบรรพกาลกล่าว

co2-reach-410-ppm-3

ขณะนี้เป็นวิกฤตสำหรับทุกประเทศที่จะต้องทำงานร่วมกันเพื่อให้บรรลุเป้าหมายทำโลกให้สะอาดขึ้น แม้ว่าปัจจัยทางธรรมชาติอย่างเช่นเอลนีโญมีส่วนทำให้มี CO2 ในบรรยากาศเพิ่มขึ้นในช่วงสองปีที่ผ่านมา แต่สถิติใหม่ที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิลจำนวนมหาศาล

“อัตราการเพิ่มขึ้นจะลดลงเมื่อการปล่อย CO2 เข้าสู่บรรยากาศลดลง” Pieter Tans นักวิทยาศาสตร์ที่องค์การบริหารสมุทรศาสตร์และบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา NOAA กล่าว “แต่ CO2 จะยังคงเพิ่มขึ้นต่อไปแต่ทว่าช้าลง เมื่อการปล่อยลดลงถึงครึ่งหนึ่งเท่านั้นจึงจะทำให้ CO2 ในบรรยากาศเริ่มลดลง”

ถึงแม้ว่าความเข้มข้นของ CO2 ในบรรยากาศจะเริ่มลดลง แต่ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศยังคงจะมีต่อไปในอนาคตอีกหลายศตวรรษ โลกของเราร้อนขึ้นแล้ว 1°C รวมทั้งยังร้อนกว่าปกติอย่างต่อเนื่องมานานถึง 628 เดือนแล้ว ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นราว 1 ฟุตและทะเลเปลี่ยนเป็นกรด อากาศร้อนจัดจะกลายเป็นเรื่องปกติ

งานวิจัยเมื่อเร็วๆนี้แสดงให้เห็นว่าทั่วโลกจะต้องใช้พลังงานฟอสซิลไม่เกิน 25% ภายในปี 2100 เท่านั้นถึงจะสามารถบรรลุเป้าหมายตามข้อตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศได้

หลายประเทศกำลังดำเนินการให้ถึงเป้าหมายของตัวเองตามข้อตกลง อย่างเช่น จีนจะลดการปล่อยมลพิษจากถ่านหินภายในปี 2030 เยอรมันเลิกใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลภายในปี 2030 ในสหรัฐกลุ่มเศรษฐีได้ให้ทุนวิจัย 1 พันล้านดอลลาร์เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในอังกฤษก็เพิ่งจะสร้างสถิติไม่มีการใช้ไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าถ่านหินเลยทั้งวันเป็นครั้งแรกในรอบ 135 ปี

ตอนนี้ถึงเวลาแล้วที่จะต้องทำงานร่วมกันทั้งโลก และหวังว่าเราจะเริ่มเห็นสถิติตัวเลขในทางที่ดีขึ้นบ้างในอีกไม่นาน

 

ข้อมูลและภาพจาก  futurism, scientificamerican

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *