พบหลักฐานใหม่ที่ชี้ว่าอาจมีดาวเคราะห์ดวงที่10 ในระบบสุริยะของเรา

หลังจากที่ดาวพลูโตถูกลดชั้นไปเป็นดาวเคราะห์แคระเมื่อปี 2006 ดาวเคราะห์ในระบบสุริยะจึงเหลืออยู่เพียง 8 ดวง จนเมื่อเดือนมกราคมปีที่แล้วนักดาราศาสตร์สองคนจากสถาบันเทคโนโลยีแคลิฟอร์เนียได้นำเสนอหลักฐานที่บ่งชี้ว่าอาจมีดาวเคราะห์ดวงที่ 9 ซ่อนตัวอยู่ที่ชายขอบของระบบสุริยะ และตอนนี้นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแอริโซนาพบว่าถ้าดาวเคราะห์ดวงที่ 9 มีอยู่จริง มันก็ไม่ได้อยู่โดดเดี่ยวเพียงลำพัง เพราะวงโคจรที่ผิดเพี้ยนไปอย่างแปลกประหลาดของวัตถุในแถบไคเปอร์บ่งชี้ว่าเป็นอิทธิพลของดาวอีกดวงหนึ่งที่มีขนาดใหญ่เท่าดาวอังคาร

ทีมนักดาราศาสตร์จากสถาบันเทคโนโลยีแคลิฟอร์เนียตั้งสมมุติฐานการคงอยู่ของดาวเคราะห์ดวงที่ 9 ครั้งแรกจากระนาบการโคจรที่ผิดปกติของวัตถุในแถบไคเปอร์ 6 ดวง ทั้งหมดเอียงทำมุม 30 องศาเทียบกับระนาบโดยเฉลี่ย ซึ่งแสดงว่ามีดาวเคราะห์ใหญ่ขนาด 10 เท่าของโลกกำลังดึงพวกมันอยู่จากด้านนอกในเงามืด จากนั้นหลักฐานการคงอยู่ของดาวเคราะห์ดวงนี้ก็มีตามมา รวมทั้งอิทธิพลของมันที่มีต่อวัตถุพ้นดาวเนปจูนและแม้กระทั่งดวงอาทิตย์

ด้วยการใช้วิธีการเดียวกันทีมวิจัยที่มหาวิทยาลัยแอริโซนาได้สังเกตมุมเอียงของวัตถุในแถบไคเปอร์ 600 ดวง และพบว่าวัตถุที่อยู่ด้านนอกส่วนใหญ่มีระนาบการโคจรเอียงไปประมาณ 8 องศา นั่นเป็นการบ่งชี้ว่ามีดาวอีกดวงหนึ่งที่มีขนาดเท่าดาวอังคารโคจรอยู่ที่ระยะ 60 AU  (AU – หน่วยดาราศาสตร์ เป็นระยะห่างเฉลี่ยระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์ เท่ากับประมาณ 150 ล้านกิโลเมตร)

“คำอธิบายที่ดีที่สุดในการค้นพบของเราคือมีวัตถุที่ยังมองไม่เห็นซ่อนอยู่” Kat Volk หัวหน้าทีมวิจัยกล่าว “จากการคำนวณของเราพบว่าจะต้องมีวัตุที่มีมวลเท่าๆกับดาวอังคารที่เป็นต้นเหตุของการผิดเพี้ยนของระนาบโคจรที่เราพบ”

Volk อธิบายว่าถ้าหากเราคิดว่าระนาบวงโคจรเฉลี่ยของวัตถุในแถบไคเปอร์เป็นเหมือนแผ่นกระดาษ มันจะมีลักษณะราบเรียบไปจนถึงระยะ 50 AU แต่พอไกลกว่านั้นจากระยะ 50 – 80 AU พวกเขาพบว่าระนาบเฉลี่ยผิดเพี้ยนไปจากเดิม

planet-ten-2

ทีมวิจัยให้โอกาสที่การค้นพบครั้งนี้จะเป็นความบังเอิญทางสถิติน้อยกว่า 2% และไม่ใช่อิทธิพลของดาวเคราะห์ดวงที่ 9 เนื่องจากเชื่อกันว่าดาวเคราะห์ดวงที่ 9 โคจรอยู่ที่ระยะ 500 – 700 AU แต่การที่จะมีผลกระทบแบบที่สังเกตได้นั้นมันจะต้องอยู่ใกล้กว่า 100 AU ส่วนพวกดาวฤกษ์ที่อาจโฉบผ่านมาก็อาจสามารถสร้างความผิดปกติแบบนี้ได้เช่นกัน แต่นักวิจัยไม่ได้นำมาพิจารณาเนื่องจากช่วงเวลามันไม่สอดคล้อง

ก่อนที่จะสังเกตพบวัตถุลึกลับนี้โดยตรงทีมวิจัยจะเรียกมันว่า “วัตถุที่มีมวลระดับดาวเคราะห์” ไปก่อน เนื่องจากนิยามของดาวเคราะห์ที่ทางสหพันธ์ดาราศาสตร์สากล (IAU) กำหนดขึ้นในปี 2006 จะต้องมีคุณสมบัติ 3 อย่างคือ 1.โคจรรอบดวงอาทิตย์  2.มีมวลมากพอที่จะมีแรงโน้มถ่วงสามารถทำให้มันมีรูปทรงแบบสมดุลไฮโดรสแตติกหรือเกือบกลม  3. สามารถกวาดเทหวัตถุในบริเวณข้างเคียงวงโคจรของมันออกไปได้หมด

นิยามข้อสุดท้ายนี่เองที่ได้เขี่ยดาวพลูโตออกไปจากดาวเคราะห์ ทีมวิจัยจึงยังไม่เรียกดาวลึกลับนี้เป็นดาวเคราะห์จนกว่าจะค้นพบมันจริงๆ โดยเชื่อว่าปริศนาทั้งมวลจะถูกไขออกมาเมื่อกล้องโทรทรรศน์ LSST (Large Synoptic Survey Telescope) สามารถใช้งานได้ในปี 2020

“เราคาดว่ากล้องโทรทรรศน์ LSSTจะตรวจพบวัตถุในแถบไคเปอร์ราว 2,000 ถึง 40,000 ดวง” Renu Malhotra นักวิจัยอีกคนกล่าว “มีวัตถุในแถบไคเปอร์อยู่จำนวนมากที่เรายังไม่เคยเห็น บางส่วนก็อยู่ไกลและสลัวมากเกินกว่าที่จะตรวจพบได้แม้จะใช้ LSST ก็ตาม แต่กล้องโทรทรรศน์ LSST สามารถที่จะสำรวจได้คลอบคลุมได้มากกว่าในปัจจุบัน และมันอาจตรวจพบวัตถุลึกลับนี้ก็ได้”

 

ข้อมูลและภาพจาก   arizona.edu, newatlas

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *