ไดโนเสาร์พันธุ์ใหม่ตัวใหญ่ที่สุดในโลก ใหญ่กว่าช้างแอฟริกัน 10 ตัวรวมกัน

ตัวมันหนัก 63 ตัน หนักกว่าช้างแอฟริกัน 10 ตัวรวมกัน เป็นสัตว์ตัวที่ใหญ่ที่สุดที่เคยเดินอยู่บนโลกใบนี้ มันคือไดโนเสาร์กินพืชพันธ์ุใหม่ที่ฟอสซิลของมันถูกพบครั้งแรกเมื่อปี 2012 ในอาร์เจนตินา หลังจากทำการขุดและวิจัยมานานหลายปี นักวิทยาศาสตร์สามารถคำนวณขนาด อายุ และถิ่นกำเนิดของมันได้ และตอนนี้มันถูกตั้งชื่ออย่างเป็นทางการแล้ว

ชื่อของมันก็คือ Patagotitan mayorum ชื่อแรก “Patagotitan” หมายถึงยักษ์ใหญ่จากเมือง Patagonia ซึ่งเป็นเมืองที่พบฟอสซิลครั้งแรก ส่วนชื่อหลัง “mayorum” เป็นการให้เกียรติแก่ครอบครัว Mayo ที่เป็นเจ้าของที่ดินในฟาร์มปศุสัตว์ที่ขุดพบฟอสซิล

การขุดซากฟอสซิลของไดโนเสาร์พันธ์ุใหม่นี้ใช้เวลา 3 ปี ทีมนักบรรพชีวินวิทยาได้นำฟอสซิลกว่า 150 ชิ้นจากไดโนเสาร์อย่างน้อย 6 ตัวที่ค้นพบมาปะติดปะต่อเข้าด้วยกัน จากนั้นใช้เวลาอีก 2 ปีในการทำวิจัยในห้องแล็บที่พิพิธภัณฑ์ Museum of Paleontology Egidio Feruglio ในเมือง Patagonia ก่อนที่จะสามารถประกาศยืนยันได้ว่าเป็นไดโนเสาร์พันธ์ุใหม่และตั้งชื่อของมัน

patagotitan-2

“เมื่อเราค้นพบไดโนเสาร์พันธุ์ใหม่ในสนาม มันไม่ได้หมายความว่าเราจะตั้งชื่อมันได้ทันทีที่กลับมาถึงพิพิธภัณฑ์ มันเป็นกระบวนการที่เราต้องทำงานหลายอย่าง” José Luis Carballido หัวหน้าทีมวิจัยกล่าว “เราเปรียบเทียบซากฟอสซิลกับทุกสายพันธุ์ที่อาจจะสัมพันธ์กับมัน ไม่เพียงแต่ในเรื่องของขนาด แต่ยังมีเรื่องของช่วงเวลาที่มันมีชีวิตอยู่หรือการมีลักษณะบางอย่างร่วมกันที่มีอยู่หลายสายพันธุ์ได้แก่ Argentinosaurus, Puertasaurus and Futalognkosaurus ซึ่งเป็นไดโนเสาร์พันธุ์ยักษ์จากอาร์เจนตินา เราทำการเปรียบเทียบในรายละเอียดกับสายพันธุ์เหล่านี้ทั้งหมด และได้พบกับสิ่งที่แตกต่างกัน”

patagotitan-3

เนื่องจากไดโนเสาร์พันธุ์นี้มีลักษณะเด่นที่ขนาด นักวิทยาศาสตร์จึงใช้เทคนิคหลายอย่างในการประมาณน้ำหนักตัวของมัน เทคนิคแรกเป็นการคำนวณจากเส้นรอบวงของกระดูกขา ซึ่งสามารถบอกน้ำหนักที่มันจะต้องรับเอาไว้ได้ เทคนิคที่สองคือการสร้างตัวมันขึ้นมาใหม่จากโครงกระดูก เพื่อหาปริมาตรและความหนาแน่นของเนื้อเยื่อที่ครั้งหนึ่งเคยอยู่ล้อมรอบกระดูก

“เพื่อให้ได้คำตอบนี้ การสร้าง Patagotitan แบบสามมิติขึ้นมาใหม่จึงถูกดำเนินการ” Carballido กล่าว “เริ่มจากการสแกนฟอสซิลแต่ละชิ้น จากนั้นก็สร้างเนื้อเยื่อตามลักษณะที่น่าจะเป็น แล้วคำนวณน้ำหนักโดยการเปรียบเทียบกับความหนาแน่นของสัตว์ที่มีชีวิตอยู่”

เทคนิคนี้เป็นไปได้เพราะโครงกระดูกถูกขุดพบอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ ทีมงานคำนวณน้ำหนักเฉลี่ยของ Patagotitan ได้ราว 70 ตัน ซึ่งทำให้มันเป็นหนึ่งในสัตว์บกที่ใหญ่ที่สุดในโลกเท่าที่เคยพบมา แม้ว่าจะยังเล็กมากเมื่อเทียบกับสัตว์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ‘วาฬสีน้ำเงิน’ ซึ่งหนักได้ถึง 200 ตัน

patagotitan-4

จากการเปรียบเทียบสายพันธุ์ใหม่กับสายพันธุ์ที่มีอยู่เดิม นักบรรพชีวินวิทยาสามารถระบุตำแหน่งในแผนผังวงศ์ตระกูลของมันได้ ช่วยให้เข้าใจประวัติการวิวัฒนาการของไดโนเสาร์พันธุ์ยักษ์ทั้งหลายในเมือง Patagonia ซึ่งมีเชื้อสายเดียวกัน

Patagotitan มีชีวิตอยู่ราว 100 ล้านปีก่อนในช่วงปลายยุคครีเทเชียสถูกจัดเป็นพวกไดโนเสาร์ยักษ์ “Titanosaur” ที่เป็นไดโนเสาร์กินพืช คอยาว หางยาว และเดิน 4 ขา ซึ่งมีอยู่หลายชนิดตั้งแต่ตัวขนาดเท่าช้างไปจนถึงใหญ่ยักษ์แบบ Patagotitan

อย่างไรก็ตามมีนักบรรพชีวินวิทยาบางคนได้ให้ความเห็นว่า Patagotitan อาจจะไม่ใช่สายพันธุ์ไดโนเสาร์ที่ใหญ่ที่สุดก็ได้

“ผมคิดว่ามันถูกต้องกว่าที่จะพูดว่า Argentinosaurus, Puertasaurus และ Patagotitan มีขนาดเดียวกัน มันเป็นไปไม่ได้สำหรับตอนนี้ที่จะบอกว่าพันธุ์ไหนใหญ่ที่สุด” Mathew Wedel นักบรรพชีวินวิทยาจากมหาวิทยาลัย Western University of Health Sciences กล่าว

เมื่อปีที่แล้วพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติอเมริกา (The American Museum of Natural History) ได้สร้างแบบจำลองโครงกระดูกของเจ้าไดโนเสาร์พันธุ์นี้ความยาว 37 เมตรจัดแสดงอยู่ ใครสนใจตามไปชมกันได้

patagotitan-5

 

ข้อมูลและภาพจาก newatlas, sciencealert

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *