เด็กศิลป์หัวก้าวหน้าย่านมงต์มาตร์
ปอล ซีญัก เป็นชาวฝรั่งเศส เกิดเมื่อปี 1863 ที่กรุงปารีส ครอบครัวเป็นชนชั้นกลางมีฐานะความเป็นอยู่ค่อนข้างดี ตอนซีญักยังเล็กมากครอบครัวของเขาย้ายไปอยู่ที่ย่านมงต์มาตร์ พ่อเปิดร้านขายอานม้าและเครื่องบังเหียน เขาและครอบครัวอาศัยอยู่ที่ชั้นบนของร้าน ซีญักเกิดและเติบโตในช่วงที่ศิลปะสมัยใหม่กำลังเริ่มพัฒนาขึ้นพอดี และย่านมงต์มาตร์ก็เป็นแหล่งรวมของพวกศิลปินรุ่นใหม่หัวก้าวหน้าทั้งหลาย เขาจึงเติบโตขึ้นมาท่ามกลางสิ่งแวดล้อมและบรรยากาศของศิลปะแนวใหม่ที่กำลังเริ่มมีอิทธิพลต่อวงการศิลปะ อีกทั้งพ่อแม่ของเขายังมีแนวคิดเสรีนิยมและสนับสนุนลูกชายได้ดื่มด่ำกับชุมชนศิลปะที่พวกเขาอาศัยอยู่ และให้เขาเข้าชมนิทรรศการศิลปะต่างๆมากมาย รวมทั้งนิทรรศการของกลุ่มอิมเพรสชั่นนิสม์ ซีญักซึมซับและชื่นชอบศิลปะอิมเพรสชั่นนิสม์เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะผลงานของ Claude Monet
ตอนอายุ 16 ปีซีญักได้เข้าชมนิทรรศการอิมเพรสชั่นนิสม์ครั้งที่ 5 ซึ่งจัดขึ้นในปี 1880 ขณะที่เขากำลังสเก็ตช์ภาพคัดลอกผลงานของ Edgar Degas ที่จัดแสดงอยู่นั้น Paul Gauguin ได้เข้ามาต่อว่าและพูดกับเขาว่า “ที่นี่ไม่มีใครลอกเลียนแบบได้!” และไล่เขาออกไปจากนิทรรศการ หลังจากนั้นไม่นานซีญักตัดสินใจที่จะเป็นจิตรกรอาชีพด้วยความหลงใหลในศิลปะแนวใหม่นี้ ปีเดียวกันนั่นเองพ่อของซีญักเสียชีวิต แม่ของเขาขายธุรกิจของครอบครัวแล้วย้ายไปอยู่ที่ Asnières ชานเมืองแห่งใหม่ของกรุงปารีส ซีญักไม่ชอบบ้านใหม่จึงเช่าบ้านอยู่ที่ยานมงต์มาตร์ เขาเทียวไปเทียวมาระหว่างบ้านเช่ากับบ้านแม่เพื่อที่จะได้วนเวียนในแวดวงชุมชนศิลปะแนวใหม่กับใช้สถานที่แถวบ้านแม่เป็นทำเลเขียนภาพของตัวเอง ผลงานในช่วงแรกจึงมักเป็นภาพทิวทัศน์ของสถานที่ในกรุงปารีสหรือไม่ก็แถวบ้านแม่ เช่น ภาพ Paris, Ponton des Bains Bailet และ Railway junction near Bois-Colombes
คู่หูร่วมสร้างเทคนิคเขียนภาพแบบใหม่
ซีญักฝึกฝนและพัฒนาฝีมือการเขียนภาพที่ได้แรงบันดาลใจจากศิลปินอิมเพรสชั่นนิสม์จนเข้าขั้นจิตรกรอาชีพ แต่เขาก็เหมือนกับศิลปินหัวก้าวหน้ารุ่นพี่ที่ไม่ได้รับโอกาสจากคณะกรรมการพิจารณาผลงานของ Paris Salon นิทรรศการศิลปะประจำปีของประเทศซึ่งเป็นเหมือนบันไดให้ศิลปินรุ่นใหม่ได้ก้าวสู่ความมีชื่อเสียงและประสบความสำเร็จในอาชีพ ในปี 1884 ซีญักและเหล่าศิลปินหัวก้าวหน้ารุ่นใหม่ได้ร่วมกันจัดตั้งสมาคมศิลปินอิสระ Salon des Indépendants ขึ้นมาเพื่อจัดนิทรรศการศิลปะที่ศิลปินสามารถนำเสนอผลงานได้อย่างอิสระไม่มีคณะกรรมพิจารณาผลงาน โดยได้จัดนิทรรศการครั้งแรกในปีเดียวกันนั่นเอง มีศิลปินเข้าร่วมมากกว่า 400 คนและมีผลงานเข้าร่วมแสดงกว่า 5,000 ชิ้น และในช่วงนี้เองที่สไตล์การเขียนภาพของซีญักได้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญเมื่อเขาได้พบกับ Georges Seurat
ซีญักชื่นชอบเทคนิคการเขียนภาพแบบใหม่ที่เรียกว่าเทคนิคผสานจุดสี (Pointillism) ซึ่ง Seurat ได้คิดค้นขึ้นมาโดยการเขียนจุดสีเล็กๆสีต่างๆอยู่ติดๆกันลงบนภาพแทนการผสมสีต่างๆในจานสี เพื่อให้เกิดการผสมผสานของสีขึ้นในสายตาของผู้ชม ทั้งซีญักและ Seurat ต่างชื่นชอบในทฤษฎีสมัยใหม่เกี่ยวกับทัศนศาสตร์และสี ทั้งคู่จึงกลายเป็นเพื่อนกันอย่างรวดเร็วและช่วยกันพัฒนาเทคนิคผสานจุดสีให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น ตั้งแต่ราวปี 1886 ซีญักได้ละทิ้งการเขียนภาพในสไตล์อิมเพรสชั่นนิสม์แบบเดิมเปลี่ยนมาใช้เทคนิคผสานจุดสีอย่างเต็มตัว เขาได้สร้างผลงานที่ยอดเยี่ยมด้วยเทคนิคนี้ในระยะแรกมากมาย เช่น ภาพ The Dining Room, Les Andelys, Comblat Castle, The Pre และ Snow, Boulevard de Clichy, Paris เป็นต้น
ร่วมสร้างสรรค์ศิลปะลัทธิประทับใจใหม่
ซีญักและ Seurat ได้พัฒนาสไตล์การเขียนภาพด้วยเทคนิคผสานจุดสีจนมีผลงานโดดเด่นและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่แตกต่างจากสไตล์อิมเพรสชั่นนิสม์แบบเดิมอย่างชัดเจน Félix Fénéon นักวิจารณ์ศิลปะชาวฝรั่งเศสได้เรียกสไตล์การเขียนภาพแบบใหม่นี้ว่า “ลัทธิประทับใจใหม่” (Neo-Impressionism) ซีญักได้เขียนภาพเหมือนของนักวิจารณ์ศิลปะคนนี้ในภาพชื่อ Portrait of M. Félix Fénéon in 1890 ด้วยสไตล์และการใช้สีที่โดดเด่นมาก ผลงานนี้ได้กลายเป็นหนึ่งในผลงานที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของเขา มีส่วนขับเคลื่อนลัทธิประทับใจใหม่ให้เป็นที่นิยมควบคู่กับผลงานชิ้นเอกของ Seurat ในปีเดียวกันซีญักยังได้สร้างผลงานชิ้นเยี่ยมที่ได้รับการยกย่องมากอีกชิ้นหนึ่งคือภาพ Sunday
นอกจาก Seurat แล้วซีญักยังมีเพื่อนร่วมวงการลัทธิประทับใจใหม่อีกหลายคน หนึ่งในนั้นคือ Camille Pissarro พี่ใหญ่ของกลุ่มอิมเพรสชั่นนิสม์ ด้วยเหตุที่ Pissarro เป็นศิลปินที่ชอบทดลองค้นคว้าหาแนวการเขียนภาพใหม่ และเขาก็สนใจในเทคนิคผสานจุดสีจึงได้เข้ามาค้นคว้าและพัฒนาร่วมกันซีญักและ Seurat นานหลายปี พร้อมกับมีผลงานที่ยอดเยี่ยมในสไตล์นี้จำนวนไม่น้อย เพื่อนในวงการอีกคนหนึ่งของซีญักคือ Vincent van Gogh พวกเขาได้พบกันตอนที่ van Gogh มาอยู่ที่กรุงปารีสในช่วงปี 1886 และซีญักยังตามไปเยี่ยม van Gogh ที่เมืองอาร์ลอีกด้วย ทั้งสองออกไปเขียนภาพกลางแจ้งด้วยกันเป็นประจำและให้การยกย่องในฝีมือของกันและกัน ซีญักยังได้สอนวิธีเขียนภาพด้วยเทคนิคผสานจุดสีให้กับ van Gogh และเพื่อนก็ไม่ได้สร้างความผิดหวังกับเขา เพราะ van Gogh ได้เขียนภาพที่ยอดเยี่ยมงดงามด้วยเทคนิคนี้ไว้หลายภาพ แต่ทั้ง Pissarro และ van Gogh ไม่ได้สานต่อเทคนิคเทคนิคผสานจุดสี เพราะพวกเขาต่างมีสไตล์ของตัวเอง
เดินหน้าพัฒนาต่อไปแม้ไร้เพื่อนคู่หู
ปี 1891 เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน Seurat เป็นโรคติดเชื้อและมีภาวะแทรกซ้อนจนเสียชีวิตไปด้วยวัยเพียง 31 ปีเท่านั้น ทำให้ซีญักต้องขาดเพื่อนคู่หูและแทบจะต้องเดินหน้าสร้างสรรค์ผลงานในสไตล์ลัทธิประทับใจใหม่เพียงลำพัง นับตั้งแต่เพื่อนซี้จากเขาไปแล้วดูเหมือนว่าภาพเขียนของซีญักค่อยๆเปลี่ยนแปลงไป จากเดิมที่ใช้โทนสีนุ่มนวลอ่อนโยนเขาเริ่มเปลี่ยนไปใช้สีที่เข้มขึ้นสว่างสดใสมากยิ่งขึ้น ผลงานที่โดดเด่นในช่วงนี้นอกจากผลงานชิ้นเอกอย่างภาพ Portrait of M. Félix Fénéon in 1890 แล้ว ยังมีผลงานอื่นอีกมากมายที่ยอดเยี่ยมไม่แพ้กัน อย่างเช่นภาพ Women at the Well, Woman with a Parasol, Mill of Edam และ Saint-Tropez, the Port at Sunset เป็นต้น นอกจากนี้เขายังได้เขียนภาพสะท้อนความคิดทางการเมืองสนับสนุนแนวคิดอนาธิปไตย (Anarchism) ในภาพชื่อ In the Time of Anarchy ซึ่งภายหลังถูกกดดันให้เป็นชื่อเป็น In the Time of Harmony
ปี 1892 ซีญักแต่งงานกับ Berthe Roblès ที่กรุงปารีส ปีเดียวกันนั้นซีญักที่ชอบการแล่นเรือใบเป็นชีวิตจิตใจได้เริ่มต้นล่องเรือใบเดินทางชมทิวทัศน์ท้องทะเล แวะจอดที่ท่าเรือแทบทุกแห่งของฝรั่งเศส เขาเคยแล่นเรือต่อไปที่เนเธอร์แลนด์ ไปไกลถึงเมืองคอนสแตนติโนเปิลของตุรกีเลยทีเดียว โดยเขาใช้เมือง Saint-Tropez ทางตอนใต้ของฝรั่งเศสเป็นฐานสำหรับจอดเรือ แต่ละที่ที่เขาผ่านไปซีญักได้สเก็ตช์ภาพความทรงจำที่น่าประทับใจเอาไว้ บางครั้งก็เขียนภาพด้วยสีน้ำ ปี 1897 ซีญักย้ายครอบครัวมาปักหลักอยู่ที่เมือง Saint-Tropez เขาซื้อบ้านและสร้างสตูดิโอขนาดใหญ่ และที่นี่เขาได้สร้างผลงานภาพเขียนในสไตล์ลัทธิประทับใจใหม่จากภาพสเก็ตช์และความทรงจำของสถานที่ต่างๆที่เขาได้ไปสัมผัสมาตลอดช่วงสามทศวรรษต่อมา
ศิลปินผู้สร้างสรรค์ส่งเสริมศิลปะใหม่
ศิลปะลัทธิประทับใจใหม่ได้รับความนิยมและเป็นแรงบันดาลใจให้กับศิลปินรุ่นใหม่ Henri Matisse เป็นศิลปินอีกคนหนึ่งที่ชื่นชอบและได้แรงบันดาลใจจากลัทธิประทับใจใหม่ โดยเฉพาะแนวทางของซีญัก เขากับซีญักได้เขียนภาพด้วยกันที่เมือง Saint-Tropez ต่อมาเขาได้พัฒนาจนกลายเป็นศิลปะแบบโฟวิสม์ (Fauvism) ซีญักให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่โดยเป็นคนแรกที่ซื้อภาพเขียนในสไตล์ใหม่ของ Matisse นอกจากนี้เขายังเป็นผู้สนับสนุนคนสำคัญของการจัดนิทรรศการของสมาคมศิลปินอิสระ Salon des Indépendants อย่างต่อเนื่องยาวนาน รวมทั้งได้รับแต่งตั้งเป็นนายกสมาคมศิลปินอิสระตั้งแต่ปี 1908 จนกระทั่งเสียชีวิต เขาได้ส่งเสริมศิลปินรุ่นเยาว์ให้มีโอกาสได้จัดแสดงผลงานแนวใหม่ซึ่งยังไม่ค่อยเป็นที่ยอมรับทั้งศิลปะแบบโฟวิสม์และบาศกนิยม (Cubism)
ผลงานงดงามมีเอกลักษณ์ประทับใจ
จากเด็กรักศิลปะหัวก้าวหน้าในย่านมงต์มาตร์ ซีญักได้ก้าวสู่วงการเขียนภาพด้วยความหลงใหลในศิลปะอิมเพรสชั่นนิสม์ ต่อมาจึงได้ร่วมพัฒนาเทคนิคผสานจุดสีสร้างผลงานศิลปะในลัทธิประทับใจใหม่ ตลอดช่วงเกือบ 5 ทศวรรษของการเป็นจิตรกร เขาได้สร้างผลงานที่ยอดเยี่ยมออกมาจำนวนมาก และต่อไปนี้คือส่วนหนึ่งของผลงานที่งดงามและมีเอกลักษณ์ที่น่าประทับใจอย่างยิ่งของเขา
Early Works (1882 – 1885)
Pointillism Period (1885 – 1890)
Neo-Impressionism Period (1890 – 1900)
Later Years (1900 – 1930)
ในลัทธิประทับใจยุคหลังมีศิลปินที่โดดเด่นหลายคน หนึ่งในนั้นคือปอล ซีญักผู้ร่วมสร้างและพัฒนาเทคนิคผสานจุดสีไปสู่ลัทธิประทับใจใหม่ที่สมบูรณ์แบบ ผลงานของซีญักถือเป็นขั้นตอนสำคัญของกระบวนการศิลปะสมัยใหม่ที่ถูกพัฒนาไปในหลากหลายรูปแบบ และในที่สุดได้กลายเป็นศิลปะแบบนามธรรม
ข้อมูลและภาพจาก wikipedia, theartstory, impressionistarts