10 สุดยอดนักเคมีผู้ยิ่งใหญ่ของโลกกับผลงานเด่นและวาทะเด็ด

นักเคมีคือผู้ที่ศึกษาองค์ประกอบและสมบัติของสสารอย่างละเอียดลึกซึ้งถึงระดับโมเลกุลและอะตอม รวมทั้งศึกษาปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นระหว่างสสารและการเปลี่ยนแปลงของสสารภายใต้อุณหภูมิ ความดัน และสิ่งแวดล้อมที่แตกต่าง นักเคมีศึกษาและพัฒนาเทคนิคและกระบวนการใหม่ๆในการสังเคราะห์หรือสร้างสสารต่างๆ ผลงานของนักเคมีมีส่วนสำคัญอย่างมากต่อการดำรงชีวิตและการเปลี่ยนแปลงทางสังคมของมนุษย์ สารเคมีและผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในชีวิตประจำวันของผู้คนล้วนมีส่วนเกี่ยวข้องกับการคิดค้นของนักเคมีแทบทั้งสิ้น ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมามีนักเคมีชั้นแนวหน้าช่วยกันคิดค้นและพัฒนาองค์ความรู้ด้านเคมีจนมีความก้าวหน้าและสร้างคุณประโยชน์ต่อมนุษยชาติอย่างยิ่ง

และต่อไปนี้คือ 10 สุดยอดนักเคมีผู้ยิ่งใหญ่ของโลกกับผลงานเด่นและวาทะเด็ดของพวกเขา

1. มารี คูรี (Marie Curie)marie-curie-1

มารี คูรี (ค.ศ. 1867 – 1934) นักฟิสิกส์และนักเคมีชาวโปแลนด์ เป็นผู้บุกเบิกงานวิจัยด้านกัมมันตภาพรังสีและเป็นผู้ค้นพบธาตุเรเดียมที่ใช้รักษาโรคมะเร็งที่ทำให้คนตายเป็นอันดับหนึ่งมาทุกยุคสมัย เธอเป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้รางวัลโนเบล เป็นคนแรกและผู้หญิงเพียงคนเดียวที่ได้รางวัลโนเบล 2 ครั้ง และเป็นเพียงคนเดียวที่ได้รางวัลโนเบลด้านวิทยาศาสตร์ 2 สาขา มารี คูรีเป็นหนึ่งในผู้หญิงที่เก่งที่สุดและได้รับการยกย่องมากที่สุดในโลก แม้จะขัดสนเรื่องการเงินและถูกกีดกันจากการเป็นผู้หญิง มารีได้ต่อสู้ดิ้นรนโดยหยุดเรียนเพื่อทำงานส่งให้พี่สาวของเธอเรียนจนจบก่อน แล้วให้พี่สาวส่งเธอเรียนด้านฟิสิกส์และคณิตศาสตร์ที่กรุงปารีสตามที่เธอตั้งใจ

มารีเริ่มค้นคว้าด้านกัมมันตภาพรังสีร่วมกับสามีคือปิแอร์ คูรีจนค้นพบว่ามีพลังงานถูกปล่อยออกมาจากแร่พิตช์เบลนด์ และได้พยายามแยกธาตุใหม่ออกจากแร่พิตช์เบลนด์ หลังจากใช้เวลาค้นคว้าราว 7 ปีเธอก็สามารถแยกธาตุใหม่ที่เธอเรียกว่าเรเดียมได้สำเร็จ ผลงานนี้ทำให้มารีและสามีได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ หลังจากปิแอร์เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ มารียังคงมุ่งมั่นค้นคว้าต่อไปโดยมุ่งไปที่การใช้ประโยชน์ของเรเดียมในทางการแพทย์ จนเธอได้รับรางวัลโนเบลครั้งที่สองในสาขาเคมี เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 มารีได้ตั้งหน่วยเอกซเรย์เคลื่อนที่ตระเวนรักษาทหารที่บาดเจ็บตามที่ต่างๆ หลังสงครามมารีได้กลับมาทำงานวิจัยอีกครั้ง แต่ผลกระทบจากการสัมผัสกับรังสีของเรเดียมเป็นเวลานานทำให้ไขกระดูกเธอถูกทำลายและเสียชีวิต การค้นพบที่ช่วยชีวิตผู้คนได้จำนวนมาก กลับต้องแลกด้วยชีวิตของเธอ

ผลงานเด่น :

– รางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์จากผลงานการค้นพบธาตุเรเดียม
– รางวัลโนเบลสาขาเคมีจากผลงานการค้นคว้าหาประโยชน์จากธาตุเรเดียม

วาทะเด็ด :

– “One never notices what has been done; one can only see what remains to be done.” → ไม่มีใครสนใจในสิ่งที่ทำสำเร็จไปแล้ว; เขามองเห็นแต่เพียงสิ่งที่ยังคงต้องทำเท่านั้น

– “You must never be fearful of what you are doing when it is right.” → คุณไม่ต้องกลัวในสิ่งที่คุณกำลังทำอยู่เมื่อมันถูกต้อง

marie-curie-2

 

2. ไลนัส พอลิง (Linus Pauling)linus-pauling-1

ไลนัส พอลิง (ค.ศ. 1901 – 1994) เป็นนักเคมี นักชีวเคมี และนักเคลื่อนไหวเพื่อสันติภาพชาวอเมริกันหนึ่งในผู้ริเริ่มสาขาวิชาเคมีควอนตัมและอณูชีววิทยา เขาตีพิมพ์ผลงานทางวิชาการกว่า 1,000 ชิ้น พอลิงเป็นคนเดียวในประวัติศาสตร์ที่ได้รับรางวัลโนเบลเดี่ยว (ไม่ร่วมกับคนอื่น) 2 ครั้ง ผลงานการค้นพบธรรมชาติของพันธะเคมีของเขาเป็นรากฐานสำคัญของวิชาเคมีสมัยใหม่และยังเป็นพื้นฐานของวิชาชีววิทยาโมเลกุลอีกด้วย ผลงานนี้ทำให้เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมี พอลิงยังมีผลงานการศึกษากลศาสตร์ควอนตัมและเป็นคนแรกๆที่ประยุกต์ทฤษฎีควอนตัมมาใช้กับโครงสร้างของโมเลกุล นอกจากนี้เขายังศึกษาเกี่ยวกับโมเลกุลของสารอินทรีย์รวมทั้งโครงสร้างของ DNA และงานของเขามีส่วนสำคัญต่อการค้นพบแบบจำลองโมเลกุลของ DNA ที่ถูกต้องในเวลาต่อมา

ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 พอลิงให้ความช่วยเหลือกองทัพสหรัฐด้วยพัฒนาน้ำเลือดพลาสมาสังเคราะห์เพื่อใช้ในการถ่ายเลือดฉุกเฉินในสถาการณ์สู้รบ และออกแบบเครื่องวัดออกซิเจนเพื่อใช้ในเรือดำน้ำและเครื่องบิน หลังสงครามเครื่องมือดังกล่าวถูกดัดแปลงใช้กับตู้อบเด็กทารกและผู้ป่วยผ่าตัด แต่หลังสงครามพอลิงร่วมกับอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ตั้งกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ด้านนิวเคลียร์เพื่อเตือนสาธารณชนถึงอันตรายในการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์และต่อต้านการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ เขาต่อสู้เรื่องนี้อย่างจริงจังจนถูกรัฐบาลยกเลิกพาสปอร์ตทำให้เขาออกนอกประเทศไม่ได้ รวมทั้งถูกเรียกตัวให้ไปชี้แจงกับสภาคองเกรส แต่ในที่สุดเขาก็ประสบความสำเร็จ พอลิงได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพสำหรับการทำงานต่อสู้เพื่อห้ามการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ เขาได้รับรางวัลนี้ในวันเดียวกับที่สนธิสัญญาห้ามทดลองอาวุธนิวเคลียร์มีผลบังคับใช้

ผลงานเด่น :

– ค้นพบธรรมชาติของพันธะเคมี
– ริเริ่มสาขาเคมีควอนตัมและอณูชีววิทยา
– รางวัลโนเบลสาขาเคมี
– รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ

วาทะเด็ด :

– “The best way to have a good idea is to have a lot of ideas” → วิธีที่ดีที่สุดในการมีไอเดียที่ดีคือการมีไอเดียจำนวนมากๆ
– “Satisfaction of one’s curiosity is one of the greatest sources of happiness in life” → ความพึงพอใจในความอยากรู้อยากเห็นของคนเป็นหนึ่งในแหล่งที่มาของความสุขที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิต

linus-pauling-2

 

3. หลุยส์ ปาสเตอร์ (Louis Pasteur)louis-pasteur-1

หลุยส์ ปาสเตอร์ (ค.ศ. 1822 – 1895) นักเคมีและนักจุลชีววิทยาชาวฝรั่งเศส ผู้ดำรงตำแหน่งเป็นอาจารย์ในสถาบันการศึกษาหลายแห่ง เป็นผู้ที่ค้นพบว่าการเน่าเสียของอาหารเกิดจากสิ่งมีชีวิตเล็กๆที่เขาเรียกว่าจุลินทรีย์ ปาสเตอร์พบว่าจุลินทรีย์ส่งผลเสียมากมายทำให้เขาทำการค้นคว้าเกี่ยวกับจุลินทรีย์อย่างต่อเนื่องจนค้นพบวิธีการฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ได้ด้วยวิธีพาสเจอร์ไรส์(Pasteurization) การค้นพบนี้ทำให้สาขาวิชาจุลชีววิทยาโดดเด่นก้าวหน้าขึ้นอย่างรวดเร็ว

ต่อมาปาสเตอร์ได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับโรคระบาดในสัตว์ และได้คิดค้นวัคซีนป้องกันโรคที่ร้ายแรงที่สุดตอนนั้นคือโรคแอนแทรกซ์ได้สำเร็จ ตามด้วยการค้นคว้าหาวัคซีนป้องกันโรคอหิวาตกโรคในไก่ แต่การค้นพบวัคซีนที่สร้างชื่อเสียงให้กับเขามากที่สุดคือวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าซึ่งเป็นโรคที่ทำให้คนตายไปพอสมควร และจากการพบวัคซีนนี้ทำให้ค้นพบวัคซีนป้องกันโรคอีกมากมาย เช่น อหิวาตกโรค วัณโรค และโรคคอตีบ นับว่าเป็นประโยชน์ต่อวงการแพทย์เป็นอย่างมาก ปีค.ศ. 1888 ปาสเตอร์ได้ก่อตั้งสถาบันปาสเตอร์ (Pasteur Institute) ขึ้นที่กรุงปารีส จากนั้นสถาบันปาสเตอร์ก็ได้ก่อตั้งขึ้นอีกหลายแห่งในประเทศต่างๆทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยภายใต้ชื่อ “สถานเสาวภา” เพื่อใช้เป็นสถานที่ทดลองค้นคว้าเกี่ยวกับวัคซีนป้องกันโรคติดต่อชนิดต่างๆ

ผลงานเด่น :

– คิดค้นวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้า
– ค้นพบจุลินทรีย์เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการเน่าเสีย
– คิดค้นวิธีการทำพาสเจอร์ไรซ์

วาทะเด็ด :

– “Fortune favors the prepared mind.” → โชคชะตามีไว้สำหรับคนที่เตรียมตัวเตรียมใจไว้แล้ว
– “Science knows no country, because knowledge belongs to humanity, and is the torch which illuminates the world.” → วิทยาศาสตร์ไม่รู้จักประเทศ เพราะความรู้เป็นของมนุษยชาติและเป็นไฟฉายที่ส่องสว่างแก่โลก

louis-pasteur-2

 

4. ดมีตรี เมนเดเลเยฟ (Dmitri Mendeleev)dmitri-mendeleev-1

ดมีตรี เมนเดเลเยฟ (ค.ศ. 1834 – 1907) เป็นนักเคมีชาวรัสเซียผู้คิดค้นกฎตารางธาตุ (Periodic law) และเป็นผู้สร้างตารางธาตุ (Periodic table) ขึ้นมาและใช้มันแก้ไขคุณสมบัติของธาตุบางธาตุที่ค้นพบแล้วให้ถูกต้องและยังทำนายคุณสมบัติของธาตุที่ยังไม่มีการค้นพบอีก 8 ธาตุ เมนเดเลเยฟเสนอตารางธาตุในปี 1871 เขาจัดหมวดหมู่ของธาตุที่มีการค้นพบแล้วในขณะนั้น 63 ธาตุโดยอาศัยน้ำหนักอะตอมและเวเลนซ์ และเว้นที่ว่างในตารางสำหรับธาตุที่ยังไม่ค้นพบด้วย ช่วงแรกตารางธาตุของเขายังไม่ค่อยได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ แต่เมื่อเวลาผ่านไปก็ยิ่งได้รับการยอมรับมากขึ้นตลอดสองทศวรรษต่อมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังการค้นพบธาตุใหม่ 3 ตัวซึ่งมีคุณสมบัติตรงกับที่เมนเดเลเยฟได้ทำนายเอาไว้ หลังจากนั้นตารางธาตุของเมนเดเลเยฟก็กลายเป็นเครื่องมือที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของการศึกษาวิชาเคมี

นอกจากงานศึกษาวิจัยในสาขาเคมีที่เมนเดเลเยฟมีผลงานอีกมากมาย เขายังเป็นผู้ร่วมก่อตั้งสมาคมเคมีแห่งรัสเซียและเขียนหนังสือและบทความทางวิชาการอีกจำนวนมาก เมนเดเลเยฟมีบทบาทในการพัฒนาอุตสาหกรรมของรัสเซียหลายอย่าง เช่น อุตสาหกรรมถ่านหิน อุตสาหกรรมปิโตรเลียม รวมทั้งการพัฒนาการเกษตรขั้นสูง เมนเดเลเยฟได้รับรางวัลเกียรติยศมากมายจากผลงานที่เขาสร้างมาตลอดชีวิต น่าเสียดายที่เขาไม่ได้รับรางวัลโนเบล แม้ว่าตอนที่มีการมอบรางวัลโนเบลสาขาเคมีใหม่ๆเขาได้รับการเสนอชื่อให้เป็นผู้ได้รับรางวัลจากการคิดค้นตารางธาตุ แต่ถูกปฏิเสธด้วยเหตุว่าผลงานของเขามันผ่านมานานมากเกินไป (มากกว่า 35 ปี) และเป็นที่รู้จักแพร่หลายอย่างกว้างขวางมากแล้ว

ผลงานเด่น :

– คิดค้นกฎตารางธาตุ
– สร้างตารางธาตุ

วาทะเด็ด :

– “Work, look for peace and calm in work: you will find it nowhere else.” → ทำงาน, ค้นหาความสงบสุขและความเงียบสงบในการทำงาน: คุณจะพบว่ามันไม่มีในที่อื่น

dmitri-mendeleev-2

 

5. จอห์น ดาลตัน (John Dalton)john-dalton-1

จอห์น ดาลตัน (ค.ศ. 1766 – 1844) เป็นนักเคมีและนักอุตุนิยมวิทยาชาวอังกฤษผู้ริเริ่มทฤษฎีอะตอมเป็นคนแรกนับจากสมัยโบราณที่นักปราชญ์มีแค่แนวคิดว่าสสารประกอบด้วยหน่วยขนาดเล็กที่แบ่งแยกไม่ได้เรียกว่าอะตอม ดาลตันได้ทำการวิจัยทดลองและสรุปเป็นทฤษฎีอะตอมที่มีหลักการชัดเจนหลายอย่างรวมทั้งระบุว่าอะตอมของธาตุต่างชนิดจะแตกต่างกันทั้งขนาด น้ำหนัก และคุณสมบัติอื่นๆ โดยเขาได้ทำการทดลองหาค่าน้ำหนักอะตอมของธาตุเกือบทุกชนิดที่รู้จักโดยเทียบกับน้ำหนักอะตอมของไฮโดรเจน ทฤษฎีอะตอมของดาลตันนับเป็นจุดเริ่มต้นของแบบจำลองอะตอมในวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ซึ่งมีประโยชน์ต่อการพัฒนาวิชาเคมีอย่างมาก

ดาลตันเป็นคนตาบอดสีซึ่งสร้างปัญหาให้กับเขาไม่น้อย เขาทำการศึกษาและตีพิมพ์สาเหตุของการเกิดโรคนี้ ต่อมาโรคนี้จึงมักถูกเรียกว่า Daltonism ดาลตันมีผลงานทางวิทยาศาสตร์อีกมาก เช่น การคิดค้นกฎความดันย่อยของก๊าซหรือ Dalton’s law และผลงานวิจัยด้านอุตุนิยมวิทยาซึ่งเขามีการบันทึกข้อมูลสภาพอากาศทุกวันเป็นเวลา 57 ปี ดาลตันทุ่มเทเวลาแทบทั้งหมดให้กับงานทางวิทยาศาสตร์ เขาไม่เคยแต่งงาน มีความเป็นอยู่แบบเรียบง่ายและถ่อมตัว เมื่อเสียชีวิตเขาได้รับการจัดงานศพอย่างสมเกียรติในฐานะบุคคลสำคัญ มีผู้มาเคารพศพกว่า 40,000 คน

ผลงานเด่น :

– คิดค้นทฤษฎีอะตอม
– ค้นพบสาเหตุโรคตาบอดสี
– คิดค้นกฏความดันย่อยของก๊าซ (Dalton’s law)

วาทะเด็ด :

– “It’s the right idea, but not the right time.” → มันเป็นความคิดที่ถูกต้อง แต่ไม่ใช่เวลาที่เหมาะสม

john-dalton-2

 

5. ไมเคิล ฟาราเดย์ (Michael Faraday)michel-faraday-1

ไมเคิล ฟาราเดย์ (ค.ศ. 1791 – 1867) เป็นนักฟิสิกส์และนักเคมีชาวอังกฤษผู้ค้นพบการเหนี่ยวนำแม่เหล็กไฟฟ้าและเป็นผู้ตั้งกฏของอิเล็กโทรลิซิส ที่สำคัญเขาได้ประดิษฐ์คิดค้นเครื่องกำเนิดไฟฟ้าที่ไม่ต้องใช้ปฏิกิริยาเคมีเป็นครั้งแรกคือไดนาโม (Dynamo) อันเป็นต้นแบบของเครื่องกำเนิดไฟฟ้าในปัจจุบัน ซึ่งนำไปสู่ความก้าวหน้าและการใช้ประโยชน์จากไฟฟ้าอย่างอเนกอนันต์ นอกจากนี้เขายังเป็นผู้คิดค้นเหล็กกล้าไร้สนิมโดยการนำเหล็กมาผสมกับนิเกิลกลายเป็นเหล็กสเตนเสส (Stainless Steel) ซึ่งถูกนำมาใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวาง และเขายังเป็นผู้ค้นพบเบนซิน ค้นพบการทำให้คลอรีนเป็นของเหลว รวมทั้งเป็นผู้บัญญัติศัพท์เกี่ยวกับไฟฟ้าและเคมีอีกหลายคำซึ่งยังใช้งานอยู่ถึงทุกวันนี้ เช่น lon, Electrode, Cathode และ Anode

ฟาราเดย์เกิดมาในครอบครัวยากจน เขาแทบไม่มีโอกาสทางการศึกษา แต่ด้วยความตั้งใจจริงที่จะเป็นนักวิทยาศาสตร์เขาจึงพยายามศึกษาด้วยตัวเอง ค่อยๆไต่เต้าไปทีละขั้นจากเด็กส่งหนังสือพิมพ์ ช่างเย็บปกและซ่อมหนังสือ จนมีโอกาสได้เป็นผู้ช่วยของนักวิทยาศาสตร์ ในที่สุดเขาก็ประสบความสำเร็จได้เป็นศาสตราจารย์วิชาเคมีประจำราชบัณฑิตยสภา (Royal Institution) และมีผลงานสำคัญทั้งทางฟิสิกส์และเคมี นับเป็นตัวอย่างที่น่านับถือในความมานะพยายามศึกษาเรียนรู้จนทำให้จากเด็กด้อยโอกาสกลายเป็นเป็นหนึ่งในนักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ของโลกผู้ได้รับการยกย่องเป็น “บิดาแห่งไฟฟ้า”

ผลงานเด่น :

– ผู้ค้นพบการเหนี่ยวนำแม่เหล็กไฟฟ้า
– ประดิษฐ์เครื่องกำเนิดไฟฟ้าหรือไดนาโม (Dynamo)
– คิดค้นเหล็กกล้าไร้สนิม (Stainless Steel)
– ค้นพบสารเบนซิน

วาทะเด็ด :

– “A man who is certain he is right is almost sure to be wrong.” → คนที่มั่นใจว่าเขาถูกต้องแทบจะแน่ใจได้เลยว่าเขาผิด
– “Nothing is too wonderful to be true, if it be consistent with the laws of nature.” → ไม่มีอะไรแปลกประหลาดเกินไปที่จะเป็นจริง, ถ้ามันเป็นไปตามกฎของธรรมชาติ

 

7. ฟริทซ์ ฮาเบอร์ (Fritz Haber)fritz-haber-1

ฟริทซ์ ฮาเบอร์ (ค.ศ. 1868 – 1934) เป็นนักเคมีชาวเยอรมันผู้คิดค้นวิธีสังเคราะห์แอมโมเนียจากก๊าซไนโตรเจนและก๊าซไฮโดรเจนให้ได้ในปริมาณมากๆ ทำให้สามารถผลิตแอมโมเนียในระดับอุตสาหกรรมได้ ฮาเบอร์คิดค้นวิธีสังเคราะห์แอมโมเนียด้วยปฏิกิริยาเคมี 3H2 + N2 → 2NH3 ภายใต้อุณหภูมิและความดันสูงพร้อมกับใช้ตัวเร่งปฏิกิริยาเป็นผลสำเร็จในปี 1908 ปีถัดมา Carl Bosch นำวิธีของฮาเบอร์ไปพัฒนาต่อในระดับอุตสาหกรรมจนสำเร็จกลายเป็นกระบวนการฮาเบอร์-บ็อช (Haber–Bosch process) ที่สามารถผลิตแอมโมเนียได้จำนวนมากซึ่งมีประโยชน์ต่อโลกอย่างมหาศาล เพราะแอมโมเนียเป็นส่วนประกอบสำคัญในการผลิตปุ๋ยไนโตรเจนซึ่งทำให้เกษตรกรสามารถเพิ่มผลผลิตผลทางการเกษตรได้มากจนเพียงพอสำหรับจำนวนประชากรโลกที่เพิ่มขึ้นตลอดเวลาได้ ผลงานนี้ทำให้ฮาเบอร์ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมี นอกจากนี้เขายังร่วมกับ Max Born คิดค้น Born-Haber cycle ซึ่งเป็นวิธีหาพลังงานโครงผลึก

ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 ฮาเบอร์ช่วยกองทัพเยอรมันพัฒนาก๊าซพิษจากก๊าซคลอรีนและก๊าซอื่นๆใช้เป็นอาวุธสงครามซึ่งได้คร่าชีวิตทหารฝ่ายสัมพันธมิตรไปหลายพันคน ทำให้เขากลายเป็นอาชญากรสงครามในสายตาของชาวโลก ผู้คนในแวดวงนักวิชาการพากันวิพากษ์วิจารณ์และประท้วงการมอบรางวัลโนเบลให้แก่เขา และสุดท้ายเขาก็ต้องชดใช้กรรมเมื่อเวลาต่อมาเขาถูกอดอล์ฟ ฮิตเลอร์บังคับให้ออกจากงาน เมื่อเขาหนีไปอยู่ต่างประเทศก็ไม่มีใครต้อนรับ ไม่มีงานทำ ต้องอยู่อย่างยากลำบากจนเสียชีวิต อย่างไรก็ดีผลงานของฮาเบอร์มีคุณค่ามหาศาลต่อชาวโลกเพราะอาหารพื้นฐานของประชากรโลกในปัจจุบันครึ่งหนึ่งขึ้นอยู่กับกระบวนการฮาเบอร์-บ็อชที่เขาเป็นคนคิดค้น

ผลงานเด่น :

– คิดค้นกระบวนการฮาเบอร์-บ็อช
– คิดค้นวิธีหาพลังงานโครงผลึก
– รางวัลโนเบลสาขาเคมี

วาทะเด็ด :

– “In peace-time the scientist belongs to humanity, in war-time to his fatherland.” → ในยามสงบนักวิทยาศาสตร์เป็นของมนุษยชาติ, ในยามสงครามเป็นของมาตุภูมิของเขา

fritz-haber-2

 

8. อ็องตวน ลาวัวซีเย (Antoine Lavoisier)antoine-lavoisier-1

อ็องตวน ลาวัวซีเย (ค.ศ. 1743 – 1794) เป็นนักเคมีคนสำคัญชาวฝรั่งเศสผู้เป็นศูนย์กลางของการปฏิวัติด้านเคมีในศตวรรษที่ 18 ผลงานสำคัญของอ็องตวนได้แก่การค้นพบทฤษฎีการเผาไหม้ที่เกิดจากปฏิกิริยาเคมีระหว่างออกซิเจนกับเชื้อเพลิง และการค้นพบกฏทรงมวลที่ว่ามวลของสารก่อนทำปฏิกิริยาจะเท่ากับมวลของสารหลังทำปฏิกิริยาเสมอซึ่งเป็นหลักสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งในวิชาเคมี เขาเป็นคนตั้งชื่อก๊าซออกซิเจนและก๊าซไฮโดรเจน เป็นผู้พัฒนาการผลิตดินปืนและการใช้ดินประสิวในการเกษตรของฝรั่งเศส นอกจากนี้เขายังทำนายการมีอยู่ของซิลิกอนและยังเป็นคนแรกที่ระบุว่ากำมะถันเป็นธาตุไม่ใช่สารประกอบ อ็องตวนมีผลงานสำคัญมากมายจนได้รับการยกย่องเป็น “บิดาแห่งเคมีสมัยใหม่”

นอกจากงานด้านวิทยาศาสตร์แล้วอ็องตวนยังศึกษากฎหมายและการเมืองจนได้เป็นเนติบัณฑิต เขาได้เป็นเจ้าพนักงานเก็บอากรซึ่งเขาก็ได้ปรับปรุงระบบภาษีอากรและการคลัง พร้อมกับพัฒนาหน่วยวัดในระบบเมตริกให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศฝรั่งเศส แต่เมื่อเกิดการปฏิวัติฝรั่งเศสคณะปฏิวัติได้กล่าวหาว่าอ็องตวนฉ้อฉลคดโกงเป็นขบถต่อแผ่นดินถูกตัดสินประหารชีวิตด้วยกิโยติน โลกจึงต้องสูญเสียอัจฉริยบุคคลด้านวิทยาศาสตร์จากความวุ่นวายทางการเมือง และยิ่งน่าเศร้าใจเมื่อหลังจากการเสียชีวิตของเขาเพียงปีเดียวรัฐบาลฝรั่งเศสก็ให้เขาพ้นข้อกล่าวหาโดยระบุว่าเป็นการตัดสินที่ผิดพลาด

ผลงานเด่น :

– ค้นพบทฤษฎีการเผาไหม้
– ค้นพบกฏทรงมวล
– พัฒนาระบบเมตริก

วาทะเด็ด :

– “In nature nothing is created, nothing is lost, everything changes.” → ในธรรมชาติไม่มีอะไรถูกสร้างขึ้น, ไม่มีอะไรสูญหาย, ทุกสิ่งทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไป

antoine-lavoisier-2

 

9. เฟรเดอริก แซงเจอร์ (Frederick Sanger)frederick-sanger-1

เฟรเดอริก แซงเจอร์ (ค.ศ. 1918 – 2013) เป็นนักชีวเคมีชาวอังกฤษผู้เป็นคนเดียวในประวัติศาสตร์ที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมี 2 ครั้ง หลังจากเรียนจบปริญญาเอกสาขาชีวเคมีที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์แล้วแซงเจอร์ก็ได้ทำงานวิจัยเกี่ยวกับโครงสร้างของโปรตีนโดยเฉพาะของอินซูลินมาโดยตลอด เขาใช้เวลาศึกษาวิจัยนานถึง 12 ปีในที่สุดเขาก็สามารถค้นพบโครงสร้างของโปรตีนอินซูลินที่ถูกต้องเป็นผลสำเร็จ ผลงานนี้ทำให้เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมีในปี 1958 และการค้นพบของแซงเจอร์ยังมีส่วนสำคัญต่อ Francis Crick ในการพัฒนาความคิดเรื่องการกำหนดรหัสดีเอ็นเอของโปรตีนอีกด้วย

ต่อมาแซงเจอร์เริ่มศึกษาความเป็นไปได้ในการเรียงลำดับโมเลกุลของ RNA และเริ่มพัฒนาเทคนิคในการหาลำดับเบส จากนั้นเขาหันมาศึกษาการหาลำดับเบสของ DNA ซึ่งต้องใช้แนวทางที่แตกต่างกัน เขาได้ศึกษาในหลายวิธีจนถึงปี 1977 เขาก็ค้นพบวิธีหาลำดับเบสของ DNA ที่เรียกว่า “Sanger method” ซึ่งสามารถเรียงลำดับเบสของ DNA สายยาวๆได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ ผลงานนี้ทำให้เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมีอีกครั้งหนึ่งในปี 1980 ร่วมกับ Walter Gilbert และ Paul Berg นอกจากนี้แซงเจอร์ยังประสบความสำเร็จในการเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาของนักศึกษาปริญญาเอก ในบรรดาลูกศิษย์ของเขาที่มีมากกว่า 10 คนมีถึง 2 คนที่ได้รับรางวัลโนเบล

ผลงานเด่น :

– ค้นพบโครงสร้างของโปรตีนอินซูลิน
– คิดค้นวิธีหาลำดับเบสของ DNA “Sanger method”
– รางวัลโนเบลสาขาเคมี 2 ครั้ง

วาทะเด็ด :

– “Scientific research is one of the most exciting and rewarding of occupations.” → การวิจัยทางวิทยาศาสตร์เป็นหนึ่งในงานที่น่าตื่นเต้นและให้ผลคุ้มค่ามากที่สุด

frederick-sanger-2

 

10. ฮัมฟรี เดวี (Humphry Davy)humphry-davy-1

ฮัมฟรี เดวี (ค.ศ. 1778 – 1829) เป็นนักเคมีและนักประดิษฐ์ชาวอังกฤษผู้มีชื่อเสียงและมีผลงานมากมาย เขาเป็นผู้บุกเบิกการใช้ไฟฟ้าในการแยกธาตุ เดวีใช้วิธีอิเล็กโทรลิซิส (Electrolysis) หลอมเหลวเกลือและค้นพบธาตุใหม่จำนวนมาก ได้แก่ โซเดียม, โปแตสเซียม, แคลเซียม, แมกนีเซียม, แบเรียม, โบรอน และคลอรีน เขายังพบคุณสมบัติพิเศษของไนตรัสออกไซด์ที่เขาเรียกว่าก๊าซหัวเราะซึ่งสามารถนำมาใช้เป็นยาสลบในการผ่าตัดได้ ด้วยผลงานสำคัญมากมายทำให้เดวีได้รับแต่งตั้งเป็นอัศวิน รวมทั้งได้รับรางวัลเกียรติยศจากราชบัณฑิตยสภาแห่งฝรั่งเศสทั้งๆที่อังกฤษกับฝรั่งเศสกำลังทำสงครามกัน

ต่อมาเดวีได้ช่วยแก้ไขปัญหาเหมืองถ่านหินระเบิดเนื่องจากในเหมืองมืดต้องใช้ตะเกียงส่องสว่างแต่บางครั้งมีก๊าซติดไฟจึงเกิดระเบิดทำให้มีคนเสียชีวิตจำนวนมาก เดวีได้ประดิษฐ์ตะเกียงนิรภัยที่เรียกกันว่า Davy lamp ซึ่งสามารถใช้แก้ปัญหาได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้เขายังมีผลงานด้านวิทยาศาสตร์อีกมากมาย เขาได้รับตำแหน่งบารอนเน็ตที่สูงกว่าอัศวิน เป็นนายกราชสมาคมแห่งลอนดอนอันทรงเกียรติ และได้รับรางวัลเกียรติยศอื่นๆอีกหลายอย่าง เดวีเคยพูดแบบขำๆว่าการค้นพบที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของเขาคือผู้ช่วยของเขาเองซึ่งก็คือ Michael Faraday

ผลงานเด่น :

– บุกเบิกการใช้ไฟฟ้าด้วยวิธีอิเล็กโทรลิซิสในการแยกธาตุ
– ค้นพบธาตุใหม่จำนวนมาก เช่น โซเดียม, โปแตสเซียม และคลอรีน
– ประดิษฐ์ตะเกียงนิรภัย Davy lamp

วาทะเด็ด :

– “The most important of my discoveries have been suggested to me by my failures.” → สิ่งสำคัญที่สุดของการค้นพบของฉันได้รับการชี้แนะต่อฉันจากความล้มเหลวของฉันเอง
– “I have learned more from my mistakes than from my successes.” → ฉันได้เรียนรู้จากความผิดพลาดของฉันมากกว่าจากความสำเร็จของฉัน

humphry-davy-2

 

ข้อมูลและภาพจาก   wikipedia, biography, britannica

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *