รักทำงานศิลปะแม้ว่าจะต้องขัดใจพ่อ
เอดัวร์ มาแน เป็นชาวฝรั่งเศส เกิดเมื่อปี 1832 ที่กรุงปารีสในครอบครัวชนชั้นสูงผู้มีอันจะกิน แม่ของเขาเป็นหลานของมกุฎราชกุมารแห่งสวีเดน พ่อเป็นผู้พิพากษาของฝรั่งเศสผู้หวังจะให้ลูกชายเดินตามรอยเป็นนักกฎหมายเหมือนตัวเอง ส่วนมาแนชอบวาดรูปตั้งแต่เด็กโดยมีพี่ชายของแม่ให้การสนับสนุนพาเขาไปเที่ยวชมภาพเขียนในพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์อยู่บ่อยๆและแนะนำให้เรียนคอร์สพิเศษเรื่องการวาดรูปในระหว่างที่เขาเรียนชั้นมัธยม ด้วยความที่มาแนมุ่งสนใจอยู่แต่เรื่องการวาดรูปดังนั้นเขาจึงไม่สามารถสอบเข้าโรงเรียนวิชากฎหมายอย่างที่พ่อคาดหวังได้ ถึงกระนั้นพ่อก็ไม่อนุญาตให้เขาเรียนศิลปะอย่างที่เขาปรารถนาอยู่ดี
ปี 1848 มาแนถูกส่งไปฝึกการใช้ชีวิตบนเรือนานเป็นปีเพื่อหวังจะได้ทำงานในกองทัพเรือ แต่เขาไม่ผ่านการสอบเข้าโรงเรียนทหารเรือถึง 2 ครั้ง พ่อของเขาจึงยอมแพ้อนุญาตให้เขาเดินตามฝันของตัวเองได้ ระหว่างปี 1850 -1856 มาแนเรียนการเขียนภาพกับ Thomas Couture ครูสอนศิลปะที่สร้างชื่อด้วยภาพเขียนแนวประวัติศาสตร์ เวลาที่ว่างจากการเรียนเขามักเข้าไปคัดลอกภาพของจิตรกรชั้นครูยุคเก่าในพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ นอกจากนี้เขายังได้เดินทางไปศึกษาผลงานของศิลปินเลื่องชื่อที่อิตาลี เยอรมัน และเนเธอร์แลนด์ โดยเขาชื่นชอบในผลงานของ Frans Hals, Diego Velázquez และ Francisco Goya เป็นพิเศษ
มาแนเปิดสตูดิโอเขียนภาพของตัวเองขึ้นในปี 1856 เริ่มต้นสร้างผลงานจากแนวสัจนิยมในแบบที่ Gustave Courbet ได้ปูทางเอาไว้ มีผลงานที่น่าสนใจหลายภาพหนึ่งในนั้นคือภาพ The Absinthe Drinker ในปี 1861 ผลงานภาพ The Spanish Singer ของเขาเข้าตากรรมการได้รับการคัดเลือกร่วมแสดงในนิทรรศการศิลปะ Paris Salon ซึ่งได้รับคำชมจากนักวิจารณ์ศิลปะหลายคน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดาจิตรกรหนุ่มรุ่นใหม่ต่างมองกันตาค้างด้วยความทึ่งในสไตล์ที่แปลกใหม่ไม่เหมือนใคร มาแนพัฒนาฝีมือของเขาต่อไปจนถึงปี 1862 เขาก็สร้างผลงานชั้นยอดอันเป็นสไตล์ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของเขาชิ้นแรกคือภาพ Music in the Tuileries
ช็อกวงการด้วยภาพเขียนที่ชวนตะลึง
ปี 1863 มาแนสร้างผลงานชิ้นเอกชื่อภาพ Luncheon on the Grass เป็นภาพบรรยากาศการรับประทานอาหารกลางวันบนพื้นหญ้าในสวน มีผู้ชายสองคนแต่งตัวใส่สูทผูกไทเต็มยศเอนกายคุยกันโดยมีผู้หญิงเปลือยท่าทีเย้ายวนกามารมณ์นั่งอยู่ติดกันในอิริยาบถสบายๆไม่สนใจไยดีต่อสายตาผู้ชม ภาพนี้ถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าร่วมแสดงใน Salon พร้อมกับผลงานชั้นดีของศิลปินรุ่นใหม่อีกจำนวนมาก จึงเกิดการวิพากษ์วิจารณ์และประท้วงกรรมการพิจารณาผลงานของ Salon เรื่องไปเข้าหูจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 จึงให้จัดนิทรรศการ Salon des Refusés เพื่อจัดแสดงภาพเขียนที่ถูกคัดทิ้งจาก Salon และให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินผลงานเอง มาแนส่งผลงานของเขาเข้าร่วมหลายภาพรวมทั้งภาพ Luncheon on the Grass ซึ่งเป็นหนึ่งในภาพที่โดดเด่นที่สุดในนิทรรศการครั้งนั้น
ภาพเขียนที่ชวนตะลึงของมาแนได้ช็อกวงการศิลปะและความรู้สึกของประชาชนจำนวนไม่น้อยที่ยังรับไม่ได้กับสิ่งที่มาแนได้นำเสนอออกมาผ่านฝีมืออันยอดเยี่ยมของเขา โดยเฉพาะประเด็นที่ภาพได้สื่อถึงโสเภณีที่ทำมาหากินอยู่ในสวนสาธารณะซึ่งชาวปารีสรู้กันดีแต่ไม่มีใครกล้าพูดถึงด้วยเห็นว่าเป็นเรื่องน่าอับอาย พอมันถูกนำเสนอผ่านงานศิลปะอันงดงามราวกับเป็นเรื่องปกติธรรมดาจึงยิ่งรับไม่ได้ มีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างเผ็ดร้อนและโต้เถียงกันอย่างมาก ถือเป็นภาพเขียนที่อื้อฉาวที่สุดอีกภาพหนึ่งในประวัติศาสตร์ศิลปะ แต่ภาพนี้กลับจุดประกายและเปิดมุมมองใหม่ให้กับศิลปินหัวก้าวหน้ารุ่นหลังในการสร้างสรรค์ศิลปะรูปแบบใหม่ และต่อมาภาพนี้ก็ได้รับความนิยมและกลายเป็นหนึ่งในผลงานที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของมาแน
ตอบโต้เสียงวิจารณ์ด้วยผลงานชั้นยอด
มาแนได้สร้างความสั่นสะเทือนในวงการศิลปะอีกครั้งในปีเดียวกันด้วยผลงานภาพ Olympia ที่เป็นภาพหญิงสาวเปลือยกายนอนอยู่บนเตียงในท่าทีอันเจนจัด มีสาวใช้ผิวดำถือช่อดอกไม้ของเธออยู่ข้างเตียง แม้ว่าเธอจะสวมใส่เครื่องประดับมากมายหลายชิ้น เช่น ต่างหู, ดอกกล้วยไม้ในเรือนผม, ริบบิ้นรอบคอ, สร้อยข้อมือ, รองเท้าแตะ และผ้าคลุมไหล่ที่เธอนอนทับอยู่ แต่มันไม่ได้ช่วยปกปิดเรือนร่างอันน่าพิศวาสของเธอได้เลย กลับยิ่งมีส่วนเพิ่มบรรยากาศยั่วยุกามารมณ์ องค์ประกอบเหล่านั้นสื่อถึงความเป็นโสเภณี และยังตอกย้ำด้วยแมวดำที่ปลายเตียงซึ่งเป็นสัญลักษณ์โสเภณีของคนฝรั่งเศส ในกรุงปารีสช่วงทศวรรษ 1860s คำว่า “Olympia” จะหมายถึงโสเภณี
เมื่อภาพ Olympia ได้ร่วมแสดงใน Salon ปี 1865 มันได้สร้างความอื้อฉาวอีกครั้ง มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์โจมตีและการโต้เถียงกันมากมายไม่แพ้ภาพ Luncheon on the Grass และกลายเป็นหัวข้อในการเขียนภาพการ์ตูนล้อเลียนของสื่อต่างๆ แต่ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มคนหัวก้าวหน้าทันสมัยและได้รับการชื่นชมจากศิลปินหลายคนรวมทั้ง Gustave Courbet, Paul Cézanne และ Claude Monet ทั้งภาพ Luncheon on the Grass และภาพ Olympia ได้จุดประกายให้มีการหยิบยกประเด็นเรื่องการค้าประเวณีในฝรั่งเศสและบทบาทของผู้หญิงในสังคมขึ้นมาวิพากษ์วิจารณ์กันในวงกว้าง และต่อมาภาพนี้ก็กลายเป็นผลงานชิ้นเอกอีกชิ้นหนึ่งในประวัติศาสตร์ศิลปะ
แม้ว่าจะได้รับเสียงวิจารณ์อย่างรุนแรงจากนักวิชาการและประชาชนบางกลุ่มที่ไม่ชอบผลงานของเขาแต่มาแนก็ยังมุ่งมั่นสร้างผลงานในแนวทางของตัวเองต่อไป เขาเขียนภาพด้วยสไตล์ของตัวเองในหลากหลายแนวทั้งภาพแนวศาสนา ภาพประวัติศาสตร์ ภาพเหมือนบุคคล รวมทั้งภาพบรรยากาศการแข่งม้าและการสู้วัวกระทิง มีผลงานที่ยอดเยี่ยมออกมาอย่างต่อเนื่องมากมาย ที่โดดเด่นได้แก่ภาพ Luncheon in the Studio, The Balcony, The Fifer และภาพ The Battle of the Kearsarge and the Alabama เป็นต้น ระยะหลังเขาเริ่มได้รับการยอมรับในผลงานและคำวิจารณ์ในเชิงบวกมากขึ้นเป็นลำดับ
2 สาวสวยผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จ
มาแนมีความผูกพันเป็นพิเศษกับผู้หญิง 2 คน คนแรกคือ Suzanne Leenhoff เธอเป็นนักเปียโนฝีมือดีที่พ่อของมาแนจ้างให้มาเป็นครูสอนเปียโนให้กับลูกๆของเขาในปี 1851 ว่ากันว่าเธอมีความสัมพันธ์แบบลับๆกับพ่อของมาแนด้วย มาแนกับครูสอนเปียโนแอบมีความสัมพันธ์ส่วนตัวจนกลายเป็นความรักนานนับสิบปีโดยไม่ให้ทางพ่อแม่รู้ จนถึงปี 1863 หลังจากที่พ่อของมาแนเสียชีวิตไปราว 1 ปีทั้งคู่จึงแต่งงานกัน แต่ก่อนหน้านั้นในปี 1852 Leenhoff ได้ให้กำเนิดลูกชายคนหนึ่งซึ่งเป็นที่สงสัยกันว่าเป็นลูกของใครกันแน่ระหว่างมาแนหรือพ่อของเขา เด็กคนนี้ก็คือนายแบบในภาพเขียนยุคแรกของมาแนที่ชื่อ Boy Carrying a Sword ส่วน Leenhoff ก็เป็นนางแบบในภาพเขียนของเขาจำนวนมาก รวมทั้งภาพ The Surprised Nymph และ The Reading
ผู้หญิงอีกคนที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับมาแนอย่างยาวนานคือ Berthe Morisot เธอเป็นจิตรกรหญิงที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคนหนึ่งในยุคอิมเพรสชั่นนิสม์ ทั้งคู่เริ่มคบหาเป็นเพื่อนกันในปี 1868 Morisot ชื่นชอบในฝีมือและสไตล์ที่แปลกใหม่ของมาแนมากและเรียนรู้เทคนิคหลายอย่างจากเขา ขณะที่มาแนก็ใช้เทคนิคบางอย่างของเธอในภาพเขียนของเขาด้วย ทั้งคู่ทำงานเขียนภาพด้วยกันที่สตูดิโอของมาแนเป็นประจำจึงเป็นทั้งเพื่อนและเพื่อนร่วมงาน ต่อมาความสัมพันธ์ยิ่งแนบแน่นมากขึ้นเมื่อเธอกลายเป็นน้องสะใภ้ของมาแน เธอแต่งงานกับ Eugène Manet น้องชายของมาแนในปี 1874 นอกจากจะเขียนภาพด้วยกัน Morisot ยังเป็นนางแบบให้กับมาแนหลายภาพ เช่น ภาพ The Balcony, The Rest และ Berthe Morisot with a Bouquet of Violets เป็นต้น และ Morisot เป็นผู้ชักชวนให้มาแนทดลองเขียนภาพกลางแจ้งซึ่งกำลังเป็นที่นิยมในกลุ่มศิลปินรุ่นใหม่อันนำไปสู่การพัฒนาเป็นศิลปะแนวใหม่
ร่วมสร้างสรรค์ศิลปะอิมเพรสชั่นนิสม์
จากการชักนำของ Morisot ทำให้มาแนได้รู้จักและเป็นเพื่อนกับกลุ่มศิลปินหนุ่มได้แก่ Claude Monet, Pierre-Auguste Renoir, Camille Pissarro และอีกหลายคนซึ่งกำลังพัฒนาการเขียนภาพแนวใหม่และนิยมไปเขียนภาพกลางแจ้งใช้สีสันที่สดใส พวกเขามักจะนัดไปพบปะพูดคุยกันที่ร้านกาแฟ Café Guerboi เป็นประจำโดยส่วนใหญ่มาแนซึ่งเป็นศิลปินรุ่นพี่ที่พวกน้องๆให้การยอมรับและชื่นชอบในผลงานเป็นผู้นำการอภิปราย มาแนมีผลงานในสไตล์อิมเพรสชั่นนิสม์ที่ยอดเยี่ยมมากมาย เขากับ Monet ออกไปเขียนภาพกลางแจ้งด้วยกันหลายครั้ง มาแนใช้ Monet และภรรยาเป็นแบบในผลงานที่ยอดเยี่ยมหลายชิ้น เช่น ภาพ Boating, Argenteuil และ Monet in His Studio Boat เป็นต้น
ปี 1873 กลุ่มศิลปินหนุ่มซึ่งผิดหวังที่ผลงานของพวกเขาไม่ผ่านการพิจารณาไม่มีโอกาสเข้าร่วมใน Salon ได้ตั้งกลุ่มจัดนิทรรศการศิลปะของพวกเขาเองจนเป็นที่มาของกลุ่มศิลปินอิมเพรสชั่นนิสม์ ถึงแม้มาแนจะเป็นคนสำคัญคนหนึ่งในกลุ่มศิลปินอิมเพรสชั่นนิสม์แต่เขากลับไม่เคยส่งผลงานเข้าร่วมแสดงในนิทรรศการของกลุ่มเลยแม้สักครั้งเดียว เขายังคงส่งผลงานเพื่อเข้าร่วมแสดงใน Salon โดยตลอดซึ่งส่วนใหญ่มักถูกปฏิเสธ แต่มีผลงานบางชิ้นที่ยอดเยี่ยมและโดดเด่นมากจนกรรมการของ Salon ปฏิเสธไม่ลง อย่างเช่นภาพ The Railway และ In the Conservatory
ถ่ายทอดมนต์เสน่ห์วิถีชีวิตชาวปารีส
มาแนชอบเขียนภาพวิถีชีวิตชาวปารีสในศตวรรษที่ 19 โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาพบรรยากาศในร้านขายเครื่องดื่ม เขามักจะเข้าไปนั่งในร้านคาเฟ่ชื่อ Brasserie Reichshoffen สังเกตบรรยากาศและลักษณะของผู้คนในร้านแล้วนำมาเขียนในผลงานของเขา มาแนจึงมีผลงานชิ้นเยี่ยมที่เป็นภาพบรรยากาศร้านคาเฟ่อยู่จำนวนมาก ภาพที่โดดเด่นอย่างเช่นภาพ Plum Brandy, At the Café และ Corner of a Café-Concert เป็นต้น และผลงานสำคัญชิ้นสุดท้ายของเขาได้แก่ภาพ A Bar at the Folies-Bergère ก็เป็นภาพบรรยากาศร้านคาเฟ่เช่นกัน ปี 1881 มาเนเริ่มโครงการเขียนภาพเชิงเปรียบเทียบโดยใช้หญิงสาวชาวปารีสแสดงถึงฤดูกาลทั้ง 4 ฤดู ภาพแรกที่เขียนคือ Spring (Jeanne Demarsy) ซึ่งเป็นผลงานขั้นสุดยอดของเขาอีกภาพหนึ่ง แต่เขาทำโครงการนี้ไม่เสร็จเนื่องจากสุขภาพของเขาทรุดโทรมลง
มาแนมีปัญหาด้านสุขภาพมาตั้งแต่อายุ 45 – 46 ปีด้วยอาการปวดอย่างรุนแรงที่ขาจนถึงขั้นเป็นอัมพาตบางส่วนซึ่งเข้าใจว่าเป็นผลแทรกซ้อนจากโรคซิฟิลิสและโรคไขข้อ เขาบำบัดมันด้วยการทำสปาซึ่งก็ทำให้ดีขึ้นบ้างแต่โรคร้ายนี้ยังมารบกวนเขาอยู่เสมอ หลังจากที่เขาเขียนภาพ A Bar at the Folies-Bergère เสร็จในปี 1882 มาแนจะเขียนแต่ภาพขนาดเล็กพวกภาพเหมือนและภาพดอกไม้ในแจกัน ปี 1883 อาการที่ขาของเขากำเริบอย่างรุนแรงจากภาวะเนื้อตายเน่าจนต้องตัดขาข้างซ้ายทิ้ง และหลังจากนั้นไม่นานเขาก็เสียชีวิตไปด้วยวัย 51 ปี
ผลงานชวนตะลึงริเริ่มนวัตกรรมศิลปะ
มาแนมีช่วงเวลาที่รุ่งโรจน์อยู่ราว 20 ปี เขามีผลงานภาพเขียนรวมกว่า 400 ภาพ มาแนพัฒนาเทคนิคการเขียนภาพจากแบบสัจนิยมมาเป็นแบบอิมเพรสชั่นนิสม์ในสไตล์เฉพาะตัวที่ไม่เหมือนใคร โดยเฉพาะมุมมองและการนำเสนอเรื่องราวของชีวิตผู้คนในสังคมสมัยใหม่ ผลงานของมาแนมีทั้งภาพเขียนที่งดงามแบบชวนตะลึงและสวยงามแบบน่าประทับใจจำนวนมากมาย และต่อไปนี้คือส่วนหนึ่งของผลงานที่ยอดเยี่ยมเหล่านั้น
Early Works (1858 – 1862)
Mature Period (1862 – 1870)
Impressionism Period (1870 – 1879)
Later Works (1879 – 1883)
ในช่วงเวลาที่มาแนสร้างผลงานนั้นเขาไม่ค่อยได้รับการยอมรับและมักได้รับเสียงวิจารณ์ในเชิงลบจากนักวิจารณ์ศิลปะมาโดยตลอด แต่ผลงานของเขากลับเป็นที่ชื่นชอบของเหล่าศิลปินรุ่นหลัง จนกระทั่งถึงศตวรรษที่ 20 นักประวัติศาสตร์และนักวิจารณ์ศิลปะจึงให้การยกย่องว่าเขาเป็นหนึ่งในผู้ริเริ่มนวัตกรรมแห่งศิลปะสมัยใหม่และมีส่วนสำคัญต่อพัฒนาการของศิลปะอิมเพรสชั่นนิสม์และศิลปะอิมเพรสชั่นนิสม์ยุคหลัง ผลงานของมาแนมีอิทธิพลต่อการนำเสนอเรื่องราวของศิลปินในช่วงศตวรรษที่ 19 ต่อเนื่องถึงศตวรรษที่ 20 และเขาคือหนึ่งในศิลปินที่อยู่ในความทรงจำของผู้คนทั่วโลกตลอดมา
ข้อมูลและภาพจาก wikipedia, manet.org, britannica