โยฮันน์ กูเทนแบร์ก ผู้ปฏิวัติการเผยแพร่ความรู้และข่าวสารด้วยเทคโนโลยีการพิมพ์

โยฮันน์ กูเทนแบร์ก (Johann Gutenberg) เป็นช่างเหล็ก ช่างทอง และนักประดิษฐ์ชาวเยอรมันผู้พัฒนาเทคโนโลยีการพิมพ์ซึ่งนำไปสู่การปฏิวัติการพิมพ์อันเป็นก้าวสำคัญของการเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ของมนุษย์ กูเทนแบร์กไม่ได้เพียงแค่ประดิษฐ์แท่นพิมพ์แบบกดรุ่นใหม่ที่พัฒนาจากเครื่องอัดแบบเกลียวที่ใช้ทำเหล้าองุ่นเท่านั้น เขายังคิดค้นเทคนิคการนำโลหะผสมมาหล่อเป็นตัวพิมพ์แบบถอดได้ซึ่งช่วยให้สามารถผลิตตัวพิมพ์ได้รวดเร็วแม่นยำ ต้นทุนต่ำ และทนทาน รวมทั้งการนำหมึกพิมพ์แบบผสมน้ำมันมาใช้ในการพิมพ์หนังสืออีกด้วย แม้ว่าตัวกูเทนแบร์กต้องกลายเป็นบุคคลล้มละลายจากการพัฒนาเทคโนโลยีการพิมพ์แต่ผลงานของเขาส่งผลให้เกิดการปฏิวัติการเผยแพร่ความรู้และข่าวสารอย่างกว้างขวางและรวดเร็วก่อให้เกิดการพัฒนาตามมาอย่างต่อเนื่อง กูเทนแบร์กได้รับการยกย่องเป็นหนึ่งในบุคคลที่สำคัญที่สุดแห่งสหัสวรรษที่ 2

 
ช่างทองผู้สนใจในเทคโนโลยีการพิมพ์

gutenberg-02

โยฮันน์ กูเทนแบร์ก เป็นชาวเยอรมัน เกิดเมื่อราวปี 1400 ที่เมืองไมนซ์ (Mainz) ประเทศเยอรมันในครอบครัวชนชั้นสูง พ่อของเขาเป็นช่างทองทำงานเป็นผู้บริหารที่โรงกษาปณ์ของคณะสงฆ์คาทอลิกเมืองไมนซ์ เขาจึงได้ฝึกฝนความสามารถด้านช่างทองช่างเหล็กกับพ่อมาตั้งแต่เด็ก ส่วนแม่ก็มาจากครอบครัวที่เป็นชนชั้นสูงเช่นกัน ปี 1411 เกิดการจลาจลลุกฮือของกลุ่มผู้ใช้แรงงานต่อต้านชนชั้นสูงในเมืองไมนซ์ ครอบครัวของกูเทนแบร์กจึงย้ายไปอยู่ที่เมือง Eltville am Rhein เชื่อกันว่ากูเทนแบร์กได้เรียนช่างทองที่มหาวิทยาลัย Erfurt และได้เรียนอ่านเขียนภาษาเยอรมันและละตินด้วย พ่อของเขาเสียชีวิตในปี 1419 กูเทนแบร์กจึงย้ายกลับไปอยู่ที่บ้านเกิดระยะหนึ่งก่อนจะย้ายไปอยู่ที่เมือง Strasbourg ซึ่งมีญาติฝ่ายแม่อาศัยอยู่โดยไปทำงานเป็นช่างทองในกองทหารอาสาสมัครของเมือง การพัฒนาเทคโนโลยีด้านการพิมพ์ของเขาเริ่มต้นขึ้นที่เมือง Strasbourg นี่เอง

การพิมพ์หมึกลงบนกระดาษมีมาก่อนยุคของกูเทนแบร์กนับพันปีแล้ว เริ่มมีขึ้นครั้งแรกเป็นการพิมพ์บล็อกไม้ในประเทศจีนราวศตวรรษที่ 3 ต่อมาในศตวรรษที่ 11 Bi Sheng นักประดิษฐ์ชาวจีนได้พัฒนาระบบการพิมพ์แบบถอดเปลี่ยนตัวอักษรได้โดยใช้ตัวพิมพ์ทำจากดินเหนียวเผาไฟ เทคโนโลยีการพิมพ์ที่เริ่มในประเทศจีนถูกถ่ายทอดแพร่หลายออกไปในประเทศญี่ปุ่นและเกาหลี แต่กว่าจะไปถึงทวีปยุโรปก็เข้าศตวรรษที่ 14 ไปแล้ว ประเทศในยุโรปนิยมทำภาพพิมพ์และมีการพัฒนาเทคนิคการทำภาพพิมพ์หลายรูปแบบ ในศตรรษที่ 15 เริ่มมีการทำหนังสือด้วยเทคนิคภาพพิมพ์แกะไม้ซึ่งการผลิตหนังสือยังทำได้ช้าและมีราคาแพงแต่ก็ยังดีกว่าเขียนด้วยมือ การคิดค้นเทคโนโลยีการพิมพ์แบบใหม่ที่สามารถผลิตหนังสือได้อย่างรวดเร็วและมีราคาถูกจึงเป็นเป้าหมายสำคัญของนักประดิษฐ์ผู้ปราดเปรื่องทั้งหลาย สำหรับกูเทนแบร์กเขาเริ่มเอาจริงกับเรื่องนี้ส่วนหนึ่งเป็นเพราะธุรกิจที่เขาทำล้มเหลวอย่างไม่เป็นท่า

 
นักประดิษฐ์ผู้ขาดทุนทรัพย์แถมอับโชค

gutenberg-03

ราวปี 1439 จะมีงานแสวงบุญครั้งสำคัญที่วิหาร Aachen ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากเมือง Strasbourg ซึ่งคาดว่าจะมีนักแสวงบุญและผู้มีจิตศรัทธามาร่วมงานหลายหมื่นคน นักแสวงบุญยุคนั้นนิยมพกกระจกโลหะขัดเงาติดตัวด้วยเชื่อว่ามันสามารถรับรังสีแห่งพลังอันศักดิ์สิทธิ์ของพระธาตุในวิหารมาเก็บไว้กับตัวได้ ช่างทองกูเทนแบร์กที่เชี่ยวชาญงานขัดเงาอัญมณีและโลหะอยู่แล้วจึงคิดการใหญ่ผลิตกระจกออกขายหวังกำไรมหาศาล แต่ปัญหาของเขาคือไม่มีเงินทุนจึงจำเป็นต้องหาหุ้นส่วนนายทุนมาลงเงินให้ กระจกโลหะขัดเงาชั้นดีหลายพันชิ้นถูกผลิตขึ้นมาคอยท่านักแสวงบุญ แต่อนิจจาคนคํานวณหรือจะสู้ฟ้าลิขิตปีนั้นเกิดเหตุน้ำท่วมใหญ่ทำให้งานแสวงบุญถูกเลื่อนออกไปอีกปีหนึ่ง ช่างทองอับโชคจึงตกอยู่ในที่นั่งลำบากเพราะไม่สามารถคืนเงินให้กับนายทุนตามกำหนดได้

เมื่อเหตุการณ์ไม่เป็นอย่างที่หวังและเพื่อรักษาความสัมพันธ์กับกลุ่มนายทุนเอาไว้กูเทนแบร์กจึงได้เปิดเผยความลับสำคัญแก่พวกเขาเรื่องสิ่งประดิษฐ์ยิ่งใหญ่ที่อาจทำเงินได้อย่างมหาศาลซึ่งเขาศึกษาวิจัยมานานแล้วนั่นคือแท่นพิมพ์ที่สามารถพิมพ์หนังสือได้คราวละมากๆอย่างรวดเร็ว ตอนเป็นเด็กกูเทนแบร์กฝึกงานในโรงกษาปณ์กับพ่อคุ้นเคยกับการพิมพ์เหรียญโลหะเป็นอย่างดี ท้องถิ่นที่เขาอาศัยอยู่คือแหล่งผลิตไวน์ของเยอรมันความคุ้นเคยกับเครื่องอัดแบบเกลียวที่ใช้ทำเหล้าองุ่นทำให้เขามองเห็นลู่ทางดัดแปลงมาใช้เป็นแท่นพิมพ์ได้ บวกกับความเป็นช่างเหล็กของเขาที่มองทะลุไปถึงการหล่อโลหะเป็นตัวอักษรแต่ละตัวแล้วนำมาเรียงในบล็อคแม่พิมพ์ สิ่งเหล่านี้ถูกนำมารวมกันแนวคิดประดิษฐ์แท่นพิมพ์แบบกดที่ถอดเปลี่ยนตัวพิมพ์ได้จึงก่อเกิดขึ้น กูเทนแบร์กกับกลุ่มนายทุนจึงทำสัญญาร่วมกันสร้างแท่นพิมพ์ตามแนวคิดของเขา

 
ฝันให้ไกลไปให้ถึงกับระบบการพิมพ์ใหม่

gutenberg-04

แม้จะมีไอเดียบรรเจิดแต่การประดิษฐ์แท่นพิมพ์ตามแนวคิดดังกล่าวมิใช่เรื่องง่ายเลย กูเทนแบร์กใช้เวลาพัฒนาอยู่หลายปีก็ยังไม่ได้ผลอย่างใจหวัง จนกระทั่งหุ้นส่วนบางคนเสียชีวิตและมีการฟ้องร้องโดยทายาทของหุ้นส่วน แท่นพิมพ์ที่เขาพัฒนาขึ้นได้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของคนอื่นไป แต่กูเทนแบร์กก็ยังไม่ย่อท้อเขากลับไปอยู่ที่เมืองไมนซ์บ้านเกิดในปี 1448 หยิบยืมเงินจากพี่เขยมาพัฒนาแท่นพิมพ์ของเขาต่อไป ถึงตอนนี้แท่นพิมพ์ของเขาเริ่มมีผลงานออกมาบ้างแล้วเป็นงานภาพพิมพ์และงานพิมพ์บทกวี และในปี 1450 กูเทนแบร์กได้รับเงินกู้ก้อนใหญ่จำนวน 800 กิลเดอร์จากเศรษฐีเงินกู้ Johann Fust เพื่อใช้สร้างแท่นพิมพ์ในฝันของเขา

เมื่อเวิร์คช็อปถูกเซ็ตขึ้นในที่ดินของญาติของเขาคนหนึ่งแท่นพิมพ์แบบกดชนิดถอดเปลี่ยนตัวพิมพ์ได้รุ่นใหม่ที่สมบูรณ์แบบก็ถูกสร้างขึ้น ตัวพิมพ์อักษรถูกหล่อขี้นจากโลหะผสมของตะกั่วดีบุกและพลวงเป็นครั้งแรกซึ่งต่อมาได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นวัสดุทำตัวพิมพ์สำหรับการพิมพ์ตัวหนังสือที่ได้คุณภาพดีที่สุดและยังมีความทนทานมาก นอกจากนี้กูเทนแบร์กยังได้นำหมึกพิมพ์ชนิดผสมน้ำมันซึ่งมีความทนทานกว่าหมึกชนิดอื่นมาใช้ในการพิมพ์หนังสือด้วย เขาใช้เวลาราว 2 ปีในการสร้างแท่นพิมพ์และอุปกรณ์ต่างๆหลังจากนั้นมันก็พร้อมที่จะพิมพ์หนังสือเล่มประวัติศาสตร์เล่มแรกของโลก

 
ไบเบิลจากการเรียงพิมพ์เล่มแรกของโลก

gutenberg-05

ช่วงกลางศตวรรษที่ 15 คัมภีร์ไบเบิลยังเป็นสิ่งของหายากยิ่งถ้าเป็นนอกโบสถ์นี่แทบหาไม่ได้เลย และในช่วงเวลานั้นเริ่มเกิดความเคลื่อนไหวเรื่องการปฏิรูปศาสนาความต้องการคัมภีร์ไบเบิลเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก กูเทนแบร์กตัดสินใจที่จะพิมพ์คัมภีร์ไบเบิลออกขายเขาจึงไปกู้เงินจาก Johann Fust เพิ่มอีก 800 กิลเดอร์เพื่อใช้เป็นทุนในการผลิตคัมภีร์ไบเบิล งานนี้ถือเป็นงานใหญ่มากคัมภีร์ไบเบิลของกูเทนแบร์กแบ่งเป็น 2 เล่ม มีทั้งหมด 1,268 หน้า แต่ละหน้ามี 42 บรรทัดโดยจัดแบ่งเป็น 2 คอลัมม์ จึงมักเรียกกันว่า “42-line Bible” แม้ว่าแท่นพิมพ์แบบใหม่ของกูเทนแบร์กจะสามารถพิมพ์ได้เร็วกว่าแท่นพิมพ์ที่เคยมีมาหลายสิบเท่าแต่ก็ต้องใช้เวลาถึง 2 ปีกว่างานพิมพ์คัมภีร์ไบเบิลจำนวนประมาณ 180 เล่มครั้งนี้จะสำเร็จเสร็จสิ้น

คัมภีร์ไบเบิลจากแท่นพิมพ์ที่ใช้วิธีเรียงพิมพ์เล่มแรกของโลกมีความสวยงามมากโดยเฉพาะคุณภาพของตัวอักษรยอดเยี่ยมน่าประทับใจมาก พระสันตปาปา Pius II ถึงกับออกปากชมว่า “พระคัมภีร์เป็นระเบียบเรียบร้อยอ่านง่ายไม่ยากที่จะติดตาม สามารถอ่านได้โดยไม่ต้องใช้ความพยายามและไม่ต้องใส่แว่น” คัมภีร์ไบเบิลฉบับกูเทนแบร์กจึงได้รับความนิยมและกลายเป็นต้นแบบของคัมภีร์ไบเบิลรุ่นต่อมาอีกหลายรุ่น ปัจจุบันคัมภีร์ไบเบิลฉบับนี้มีหลงเหลืออยู่เพียง 49 ชุดเท่านั้นและชุดที่สมบูรณ์ก็มีอยู่แค่ 21 ชุดกระจายอยู่ในหลายประเทศในยุโรป สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น รวมทั้งยังได้กลายเป็นหนังสือเล่มประวัติศาสตร์ที่ทรงคุณค่าและเป็นหนึ่งในหนังสือที่แพงที่สุดในโลก มีการประเมินว่าหากคัมภีร์ไบเบิลฉบับกูเทนแบร์กชุดที่สมบูรณ์ถูกนำออกประมูลขายจะมีราคาถึง 35 ล้านเหรียญสหรัฐอเมริกา

 
รางวัลแห่งความสำเร็จคือการล้มละลาย

gutenberg-06

ยังไม่ทันที่กูเทนแบร์กจะได้ชื่นชมกับความสำเร็จในงานชิ้นสำคัญที่สุดในชีวิตซึ่งได้พยายามทำมาอย่างเหนื่อยยากนานหลายปี ในปี 1456 Johann Fust ได้ฟ้องร้องต่อศาลของอาร์คบิชอปแห่งเมืองไมนซ์กล่าวหาว่ากูเทนแบร์กนำเงินไปใช้ผิดวัตถุประสงค์จึงเรียกร้องให้กูเทนแบร์กคืนเงิน 1,600 กิลเดอร์พร้อมดอกเบี้ยแก่เขาซึ่งแน่นอนว่ากูเทนแบร์กไม่สามารถชำระคืนได้ ศาลตัดสินให้ Johann Fust ได้ครอบครองเป็นเจ้าของทั้งแท่นพิมพ์และคัมภีร์ไบเบิล ส่วนกูเทนแบร์กก็ต้องกลายเป็นบุคคลล้มละลายซึ่งเขาทำได้แค่ก้มหน้าเผชิญชะตากรรมและยืนหยัดเริ่มต้นต่อสู้ใหม่ในฐานะนักประดิษฐ์ต่อไป ในขณะที่ Johann Fust ใช้แท่นพิมพ์ที่กูเทนแบร์กประดิษฐ์ขึ้นพิมพ์หนังสือออกขายทำเงินมากมายอย่างสบายใจโดยมิได้กล่าวถึงหรือให้เครดิตแก่กูเทนแบร์กแม้แต่น้อย

ปี 1462 กูเทนแบร์กที่ล่วงเข้าวัยชราแล้วมีอันต้องระหกระเหินจากเมืองบ้านเกิดเมืองนอนอีกครั้งเมื่อเกิดสงครามแย่งชิงอำนาจของผู้นำศาสนาในเมืองไมนซ์ เขาจึงต้องหลบภัยไปอยู่ที่เมือง Eltville ถิ่นเก่าในเยาว์วัยอาศัยความรู้ความสามารถเดิมช่วยควบคุมแท่นพิมพ์ของผู้อื่น แต่โชคชะตาของเขาก็ไม่ได้เลวร้ายถึงที่สุดเมื่อวันหนึ่งในปี 1465 อาร์คบิชอปผู้ปกครองเมืองไมนซ์ซึ่งยอมรับในผลงานของกูเทนแบร์กแล้วและต้องการชดเชยความผิดพลาดในอดีตจึงแต่งตั้งให้เขาดำรงตำแหน่ง Hofmann มีเงินเดือนประจำพร้อมเครื่องแต่งกายรวมทั้งธัญพืชและไวน์ประจำปีทำให้เขาได้ผ่านชีวิตวัยเกษียณไปอย่างภาคภูมิ กูเทนแบร์กเสียชีวิตในปี 1468 ร่างถูกฝังไว้ที่โบสถ์ Franciscan แห่งเมืองไมนซ์

 
ผู้ปฏิวัติการเผยแพร่ความรู้แห่งสหัสวรรษ

gutenberg-07

ตั้งแต่มีหนังสือเล่มแรกจนถึงกลางศตวรรษที่ 15 ทั่วทั้งยุโรปมีหนังสือรวมกันเพียง 30,000 เล่ม แต่ไม่กี่ปีหลังจากกูเทนแบร์กได้ประดิษฐ์แท่นพิมพ์แบบกดชนิดถอดเปลี่ยนตัวพิมพ์ได้สำเร็จเทคโนโลยีการพิมพ์ของเขาก็แพร่กระจายไปทั่วยุโรปอย่างรวดเร็ว มีแท่นพิมพ์เพิ่มขึ้นจำนวนมากและหนังสือถูกผลิตออกมาจำนวนมหาศาล ในศตวรรษที่ 16 มีการผลิตหนังสือมากถึง 200 ล้านเล่ม ความรู้ทุกแขนงข่าวสารทุกเรื่องราวถูกถ่ายทอดเผยแพร่อย่างกว้างขวางและรวดเร็วผ่านทางหนังสือทุกประเภทก่อให้เกิดการพัฒนาตามมาอย่างต่อเนื่องคล้ายๆกับการเกิดขึ้นของอินเตอร์เน็ตในปัจจุบัน กูเทนแบร์กจึงเป็นผู้ปฏิวัติการเผยแพร่ความรู้และข่าวสารแห่งสหัสวรรษด้วยเทคโนโลยีการพิมพ์ที่เขาได้พัฒนาขึ้นมาอันเป็นก้าวสำคัญของการเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ของมนุษย์ แท่นพิมพ์ของกูเทนแบร์กถือเป็นหนึ่งในสิ่งประดิษฐ์ที่สำคัญที่สุดแห่งสหัสวรรษที่ 2 และกูเทนแบร์กก็ได้รับการยกย่องเป็นหนึ่งในบุคคลที่มีอิทธิพลมากที่สุดแห่งสหัสวรรษที่ 2 ด้วยเช่นกัน

gutenberg-08

 

ข้อมูลและภาพจาก wikipedia, learnodo-newtonic, vision.org

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *