1. เลโอนาร์โด ดา วินชี (Leonardo da Vinci)
ดา วินชี เป็นศิลปินผู้มีชื่อเสียงมากที่สุดแห่งยุคเรอเนสซองส์ เกิดที่หมู่บ้าน Vinci ใกล้เมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี เมื่อปี 1452 เขาเติบโตและเรียนศิลปะที่บ้านเกิดจนมีอายุได้ 20 ปีจึงได้เป็นศิลปินมืออาชีพอย่างเต็มตัว เริ่มมีผลงานที่ฉายแววความเป็นอัฉริยะด้านศิลปะด้วยภาพ Adoration of the Magi ก่อนที่จะออกจากฟลอเรนซ์ไปอยู่ที่เมืองมิลานในปี 1482 ดา วินชี ทำงานอยู่ที่มิลานนานถึง 17 ปี พร้อมกับสร้างผลงานชั้นยอดมากมาย รวมทั้ง The Last Supper, Virgin of the Rocks, Lady with an Ermine และ Vitruvian Man ที่เป็นหนึ่งในบรรดาภาพสเก็ตช์อันลือลั่นซึ่งเป็นความสามารถที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวยากจะมีใครเทียบได้
ปี 1503 ดา วินชี กลับมาอยู่ที่เมืองฟลอเรนซ์อีกครั้งหนึ่ง และคราวนี้ได้สร้างผลงานภาพเขียนที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในโลก ‘Mona Lisa’ เขาใช้เวลาในการเขียนภาพสุดพิเศษนี้นานหลายปี ในปี 1515 ดา วินชี เดินทางไปกรุงปารีสเพื่อรับตำแหน่งจิตรกรเอกและวิศวกรของราชสำนักฝรั่งเศส พร้อมกับหิ้วภาพสุดรักสุดหวงที่ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ไปด้วย แล้วไม่ได้กลับมาที่อิตาลีอีกเลย
ดา วินชี เสียชีวิตในปี 1519 มีอายุรวม 67 ปี ทิ้งผลงานชั้นยอดไว้มากมายทั้งผลงานด้านศิลปะและด้านวิทยาศาสตร์ ดา วินชี ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้รอบรู้ เชี่ยวชาญในศาสตร์ต่างๆเกือบทุกสาขา เป็นศิลปินเอก นักวิทยาศาสตร์ นักประดิษฐ์ ฯลฯ เขาคือ ‘บุรุษแห่งยุคเรอเนสซองส์’ อย่างแท้จริง
10 ผลงานชิ้นเอกของเลโอนาร์โด ดา วินชี
2. ไมเคิลแองเจโล (Michelangelo)
ไมเคิลแองเจโล เป็นทั้งจิตรกร ประติมากร และสถาปนิก เป็นศิลปินผู้ยิ่งใหญ่แห่งยุคเรอเนสซองส์ทัดเทียมกับเลโอนาร์โด ดา วินชี เขาเกิดเมื่อปี 1475 ที่เมืองอาเรซโซ ประเทศอิตาลี แต่ไปเล่าเรียนและเติบโตที่เมืองฟลอเรนซ์ อายุ 15 ปีก็เริ่มมีผลงานด้านประติมากรรม ปี 1497 เดินทางไปทำงานที่กรุงโรม และเมื่ออายุ 24 ปี ไมเคิลแองเจโลได้สร้างงานประติมากรรมชิ้นสำคัญของโลกคือ Pietà
เขากลับมาที่ฟลอเรนซ์ในปี 1499 คราวนี้เขามีโอกาสทำงานชิ้นสำคัญที่ค้างเติ่งมาเกือบ 40 ปีคืองานแกะสลักรูปเดวิด (David) เขารับงานนี้ตอนอายุ 26 ปี ใช้เวลาราว 4 ปีจึงแล้วเสร็จและกลายเป็นผลงานที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของเขา ระหว่างเวลาช่วงนี้ไมเคิลแองเจโลยังได้สร้างผลงานอีกหลายชิ้น รวมทั้งภาพเขียน Doni Tondo และ Manchester Madonna
ปี 1505 ไมเคิลแองเจโลกลับมาที่โรมอีกครั้งเพื่อรับงานสร้างสุสานของพระสันตะปาปา Pope Julius II ซึ่งมีผลงานรูปแกะสลัก Moses และ Dying Slave รวมอยู่ด้วย และในระหว่างนี้เองเขาก็ได้สร้างผลงานสำคัญยิ่งใหญ่อีกชิ้นหนึ่งคือภาพเขียนบนเพดานโบสถ์น้อยซิสติน (Sistine Chapel Ceiling) บนพื้นที่กว่า 500 ตรม. ประกอบด้วยภาพกว่า 300 ภาพ และหนึ่งในนั้นเป็นภาพเขียนที่มีชื่อเสียงที่สุดของเขาคือ The Creation of Adam
ไมเคิลแองเจโลกลับไปทำงานที่ฟลอเรนซ์อีก คราวนี้นานกว่า 20 ปีก่อนจะได้กลับมาที่โรม ปี 1534 เขาได้สร้างภาพเขียนชิ้นใหญ่บนผนังแท่นบูชาที่โบสถ์น้อยซิสตินคือภาพ The Last Judgement ที่ใช้เวลาทำถึง 8 ปี และในปี 1546 เขาได้รับงานใหญ่ชิ้นสุดท้ายคือการออกแบบมหาวิหารเซนต์ปีเตอร์ที่มีโดมใหญ่เด่นสง่าเป็นสัญลักษณ์ เขาเสียชีวิตในปี 1564 ด้วยวัย 88 ปี ก่อนที่โดมจะสร้างเสร็จ
10 ผลงานชิ้นเอกของไมเคิลแองเจโล
3. ซานโดร บอตติเชลลี (Sandro Botticelli)
บอตติเชลลีเป็นศิลปินที่โดดเด่นในยุคเรอเนสซองส์ตอนต้น ก่อนหน้ายุคของดา วินชีและไมเคิลแองเจโล เขาเกิดในปี 1445 ที่เมืองฟลอเรนซ์ ตอนเด็กฝึกเป็นช่างทอง พอเป็นวัยรุ่นจึงเปลี่ยนมาเป็นจิตรกร ผลงานส่วนใหญ่ทำให้กับตระกูลเมดิชีซึ่งเป็นผู้ปกครองเมืองฟลอเรนซ์ บอตติเชลลีมีชื่อเสียงรุ่งโรจน์อย่างยาวนานภายใต้การอุปถัมภ์ของตระกูลนี้ เคยเป็นคณะกรรมการพิจารณาที่ตั้งรูปแกะสลักเดวิดของไมเคิลแองเจโลร่วมกับดา วินชี แต่ในช่วงบั้นปลายชีวิตชื่อเสียงต้องตกต่ำด่างพร้อยตามผู้อุปภัมภ์ที่หมดอำนาจ เขาจึงไม่ได้รับการยกย่องเท่าที่ควร แต่ผลงานของเขามิได้ด้อยค่าลงยืนยงเรื่อยมาจวบจนปัจจุบัน
ภาพเขียนของบอตติเชลลีเป็นสไตล์โบราณ แต่โดดเด่นที่ความอ่อนหวานประณีตงดงาม อย่างเช่น ภาพ The Birth of Venus และ Primavera ที่มีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับมากที่สุด ไปจนถึงภาพ Portrait of a Young Woman และ Madonna of the Book บอตติเชลลียังได้ร่วมสร้างภาพเฟรสโกที่ผนังของโบสถ์น้อยซิสตินเช่นเดียวกับศิลปินชั้นนำในยุคนั้น แม้ว่าจะไม่ใช่งานที่เขาถนัดมากนักแต่ผลงานภาพ Trial of Moses ก็ทำออกมาได้อย่างยอดเยี่ยม
บอตติเชลลีหลงรักผู้หญิงคนหนึ่งชื่อ Simonetta Vespucci แต่ไม่สมหวังเพราะเธอแต่งงานแล้ว หลายคนเชื่อว่าเธอคือนางแบบในภาพของบอตติเชลลีหลายภาพรวมทั้ง The Birth of Venus และ Portrait of a Young Woman ทั้งๆที่เธอเสียชีวิตไปก่อนที่เขาจะเขียนภาพเหล่านั้นหลายปี บอตติเชลลีเคยขอร้องไว้ว่าให้ฝังร่างของเขาไว้แทบเท้าของเธอ และความหวังของเขาก็เป็นจริงในอีก 34 ปีต่อมาเมื่อเขาเสียชีวิตในปี 1510
10 ผลงานชิ้นเอกของซานโดร บอตติเชลลี
ราฟาเอล เป็นจิตรกรและสถาปนิกผู้มีผลงานโดดเด่น เป็นหนึ่งในสามศิลปินผู้ยิ่งใหญ่แห่งยุคเรอเนสซองส์ต่อจากเลโอนาร์โด ดา วินชีและไมเคิลแองเจโล เขาเกิดเมื่อปี 1483 ที่เมือง Urbino ประเทศอิตาลี เรียนศิลปะและฝึกฝนการเขียนภาพตั้งแต่เด็ก พออายุได้ 17 ปีก็เริ่มเป็นศิลปินมืออาชีพด้วยการตระเวนรับงานเขียนภาพให้กับโบสถ์ต่างๆในเมืองแถบบ้านเกิด เป็นศิลปินรุ่นใหม่ที่มีผลงานยอดเยี่ยมอย่างเช่นภาพ The Marriage of the Virgin จนเริ่มมีชื่อเสียงและเป็นที่ต้องการตัวไปทำงาน
ปี 1504 ราฟาเอลย้ายไปปักหลักอยู่ที่เมืองฟลอเรนส์ ทำให้เขามีโอกาสได้ศึกษาผลงานของบรมครูอย่างเลโอนาร์โด ดา วินชีและคู่แข่งคนสำคัญในอนาคตคือไมเคิลแองเจโล รวมทั้งศิลปินดังอีกหลายคน ราฟาเอลซึมซับอิทธิพลของศิลปะแบบฟลอเรนส์แต่ยังคงรักษาสไตล์ของตัวเองเอาไว้ด้วย ผลงานของเขาเริ่มมีความซับซ้อนและมีชีวิตชีวามากขึ้น ผลงานเด่นในช่วงนี้คือภาพ Madonna and Child with Saint John the Baptist
ปลายปี 1508 ราฟาเอลเดินทางไปกรุงโรมและอยู่ที่นั่นไปตลอดชีวิต เขาได้ทำงานสำคัญและยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตที่พระราชวังวาติกัน ราฟาเอลเขียนภาพในห้องที่เรียกว่า “Raphael Rooms” เป็นภาพปูนเปียก (Fresco) ขนาดใหญ่หลายภาพ และหนึ่งในนั้นคือภาพ The School of Athens ซึ่งเป็นภาพที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของเขา ด้วยผลงานอันยอดเยี่ยมทำให้ราฟาเอลได้รับมอบหมายให้เขียนภาพในวาติกันเพิ่มอีกจำนวนมาก และยังได้เป็นสถาปนิกในงานสร้างมหาวิหารเซนต์ปีเตอร์ด้วย เขาทำงานให้กับสำนักวาติกันนานถึง 12 ปี พร้อมกับสร้างผลงานชั้นยอดมากมายรวมทั้งภาพ Sistine Madonna และ Transfiguration
นอกจากภาพเขียนแนวศาสนาและตำนานแล้วราฟาเอลยังเขียนภาพเหมือนบุคคลได้ยอดเยี่ยมมากเช่นกัน ผลงานภาพเหมือนของเขาหลายภาพได้รับการยกย่องเป็นหนึ่งในภาพเหมือนที่ดีที่สุดในยุคนั้น โดยเฉพาะภาพ La Fornarina, La Donna Velata (The woman with the veil) และ Portrait of Baldassare Castiglione ราฟาเอลเสียชีวิตในปี 1520 ด้วยวัยเพียง 37 ปี แม้ว่าเขามีช่วงเวลาทำงานไม่มากนักแต่ผลงานกลับยิ่งใหญ่และเป็นหนึ่งในศิลปินที่ได้รับการยกย่องชื่นชมมากที่สุด
10 ผลงานชิ้นเอกของราฟาเอล
5. ยัน ฟัน ไอก์ (Jan van Eyck)
ยัน ฟัน ไอก์ เป็นศิลปินคนสำคัญและเป็นหนึ่งในผู้สร้างจิตรกรรมเนเธอร์แลนด์เริ่มแรกซึ่งเกิดขึ้นในช่วงเวลาใกล้เคียงกับการเริ่มต้นยุคเรอเนสซองส์ในอิตาลี เขาเป็นคนแรกๆที่ได้พัฒนาเทคนิคการเขียนภาพด้วยสีน้ำมันจนได้ผลงานที่ยอดเยี่ยม ยัน ฟัน ไอก์เกิดระหว่างปี 1380 – 1390 ที่เมือง Maaseik ซึ่งปัจจุบันอยู่ในประเทศเบลเยียม ปี 1422 – 1425 เขาเป็นจิตรกรของราชสำนักฮอลแลนด์ที่เมืองเฮก หลังจากผู้ปกครองฮอนแลนด์เสียชีวิตในปี 1425 เขาได้รับการแต่งตั้งเป็นจิตรกรราชสำนักเบอร์กันดีจึงย้ายไปอยู่ที่เมืองบรูชซึ่งเป็นเมืองหลวงของเขตเฟลมิชของประเทศเบลเยียมและอยู่ที่นั่นไปตลอดชีวิต
ผลงานชิ้นสำคัญของยัน ฟัน ไอก์คือฉากประดับแท่นบูชาเกนต์ (Ghent Altarpiece) ที่เป็นบานพับภาพขนาด 3.4 x 4.6 เมตร ประกอบด้วยภาพ 12 ภาพซึ่ง Hubert van Eyck ผู้เป็นพี่ชายของเขาเป็นผู้ออกแบบและวางโครงสร้างทั้งหมดของภาพแต่ต้องมาเสียชีวิตในปี 1426 ฟัน ไอก์ ผู้น้องจึงรับหน้าที่เป็นผู้เขียนภาพจนเสร็จหลังการเสียชีวิตของพี่ชาย 6 ปี แต่ละภาพของฉากประดับแท่นบูชาเกนต์ล้วนสวยงามน่าประทับใจ โดยเฉพาะ 3 ภาพตรงกลางแถวบนที่เป็นภาพของพระเยซู พระแม่มารี และนักบุญจอห์นนั้นเป็นภาพที่งดงามวิจิตรอย่างมาก นอกจากนี้ยัน ฟัน ไอก์ยังมีผลงานภาพเขียนแนวศาสนาที่ยอดเยี่ยมอีกมากมาย ที่โดดเด่นได้แก่ภาพ The Annunciation และ Madonna of Chancellor Rolin
ช่วงเวลาหลังจากเสร็จงานเขียนภาพฉากประดับแท่นบูชาเกนต์ถือเป็นช่วงสูงสุดในชีวิตการเป็นจิตรกรของยัน ฟัน ไอก์ เพราะเป็นช่วงที่เขาสร้างผลงานชั้นยอดออกมาอย่างต่อเนื่องมากมาย หนึ่งในนั้นคือภาพ The Arnolfini Portrait ซึ่งเป็นภาพที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของเขา ภาพนี้ถูกเขียนออกมาอย่างสวยงามมีมิติน่าประทับใจ ได้รับการยกย่องให้เป็นภาพต้นแบบและมีความซับซ้อนมากที่สุดภาพหนึ่งของจิตรกรรมตะวันตก ยัน ฟัน ไอก์ยังเป็นศิลปินอีกคนหนึ่งที่เขียนภาพเหมือนบุคคลได้อย่างยอดเยี่ยม ภาพ Man in a Red Turban, Portrait of a Man with a Blue Chaperon รวมทั้ง Portrait of Jan de Leeuw และอีกหลายภาพได้ยืนยันความสำเร็จในด้านนี้ของเขาได้เป็นอย่างดี ยัน ฟัน ไอก์เสียชีวิตในปี 1441 ที่เมืองบรูช
10 ผลงานชิ้นเอกของยัน ฟัน ไอก์
ทิเชียนเป็นจิตรกรคนสำคัญที่สุดในศตวรรษที่ 16 ของเมืองเวนิส เขาได้รับการยกย่องในฐานะจิตรกรชั้นยอดตั้งแต่อายุยังน้อยและคงชื่อเสียงระดับสูงสุดไว้ตลอดชีวิตที่ยืนยาว ทิเชียนเกิดราวปี 1488 – 1490 เรียนการเขียนภาพกับศิลปินดังแห่งเมืองเวนิสตั้งแต่อายุ 10 ปี แล้วทำงานเป็นผู้ช่วยของจิตรกรอื่นระยะหนึ่งก่อนที่จะออกมารับงานเองพร้อมกับการพัฒนาสไตล์การเขียนภาพเป็นของตัวเอง ทิเชียนเป็นจิตรกรที่ครบเครื่องมากเขียนภาพได้ดีทุกแนวทั้งภาพเหมือน ภาพภูมิทัศน์ ภาพแนวศาสนา รวมทั้งเรื่องจากตำนาน และมีการพัฒนาเทคนิคและสไตล์การเขียนภาพอยู่ตลอด ภาพ A Man with a Quilted Sleeve เป็นผลงานภาพเหมือนช่วงแรกๆของอาชีพที่ได้รับการยกย่องมาก ทิเชียนเขียนภาพเหมือนชั้นยอดอีกมากมายหลายสิบภาพตลอดช่วงเวลาอีกหลายสิบปีต่อมา เช่น ภาพ Pope Paul III and His Grandsons และ Self-Portrait (1567) เป็นต้น
ระหว่างปี 1516 – 1518 ทิเชียนใช้เวลาราว 2 ปี เขียนภาพแนวศาสนาเป็นภาพหลังแท่นบูชาขนาดใหญ่ชื่อ Assumption of the Virgin บนผนังโบสถ์ในเมืองเวนิส นี่คือผลงานชิ้นเอกที่ส่งให้เขากลายเป็นจิตรกรชั้นนำ ทิเชียนประสบความสำเร็จกับการเขียนภาพแนวนี้อย่างต่อเนื่อง มีผลงานที่โดดเด่นอีกจำนวนมาก หนึ่งในนั้นคือภาพ Pesaro Madonna แต่ผลงานที่สร้างชื่อเสียงให้กับทิเชียนมากที่สุดน่าจะเป็นภาพในแนวเรื่องจากตำนานซึ่งเขามีผลงานชิ้นเยี่ยมช่วงแรกด้วยภาพ Sacred and Profane Love ตามมาด้วยภาพ Bacchus and Ariadne ช่วงต้นทศวรรษ 1530 ทิเชียนเริ่มเขียนภาพเปลือยของเทพธิดาวีนัสในท่าเอนตัวนอนอันเป็นที่มาของภาพ Venus of Urbino ซึ่งเสร็จในปี 1538 และได้กลายเป็นภาพที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของเขา และตามมาด้วยภาพเขียนแนวนี้อีกหลายภาพซึ่งล้วนงดงามยอดเยี่ยมไม่แพ้กัน อย่างเช่นภาพ Danaë with Nursemaid ที่เขียนในปี 1554
ทิเชียนสร้างผลงานเป็นเวลายาวนานกว่า 60 ปี เขาเสียชีวิตด้วยกาฬโรคที่ระบาดในเวนิสในปี 1576 ด้วยวัยกว่า 90 ปี ผลงานในช่วงท้ายตอนอายุมากก็ยังคงยอดเยี่ยมเช่นเดิม ภาพ Allegory of Prudence ที่เขียนเสร็จในปี 1570 ไม่เพียงแต่แสดงถึงฝีมือที่ไม่เคยตกเลย ยังแสดงถึงความก้าวหน้าทั้งด้านเทคนิคและการนำเสนอเรื่องราวที่คมคายลึกซึ้งมากขึ้นอีก ว่ากันว่าหากทิเชียนเสียชีวิตไปตอนอายุ 40 ปีเขาก็ยังเป็นจิตรกรชั้นยอดในสมัยนั้น แต่เขาอยู่ทำงานต่อเนื่องอีก 50 ปีและยังพัฒนาฝีมืออยู่เสมอ เขาจึงเป็นสุดยอดศิลปินแห่งยุค เป็นบรมครูที่สร้างแรงบันดาลใจและมีอิทธิพลต่อศิลปินชั้นนำรุ่นต่อมาอีกมากมายหลายรุ่น
10 ผลงานชิ้นเอกของทิเชียน
เอลเกรโก เป็นจิตรกร ประติมากร และสถาปนิกแห่งยุคเรอเนซองซ์คนสำคัญของประเทศสเปน เป็นหนึ่งในศิลปินที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในสมัยของเขาจวบจนกระทั่งปัจจุบันเป็นเวลากว่า 500 ปีมาแล้ว เนื่องจากว่าเขามีสไตล์การเขียนภาพที่แปลกแตกต่างและล้ำสมัยกว่ายุคของตัวเอง แต่โดดเด่นในเรื่องการใช้สีและการแสดงอารมณ์ความรู้สึกเป็นที่ชื่นชอบอย่างมากในศตวรรษที่ 20 จนได้รับการยกย่องเป็นต้นแบบของลัทธิแสดงพลังอารมณ์ (Expressionism) และศิลปะแบบคิวบิส (Cubism) เอลเกรโกเป็นชาวกรีกเกิดเมื่อปี 1541บนเกาะ Crete ที่ตอนนั้นเป็นส่วนหนึ่งของสาธารณรัฐเวนิส เขาเติบโตและเรียนศิลปะไบเซนไทน์ที่บ้านเกิดจนมีฝีมือเข้าขั้นมืออาชีพจึงเดินทางไปเมืองเวนิสตอนอายุ 26 ปี ผลงานชิ้นเยี่ยมก่อนออกจากบ้านเกิดคือภาพ Dormition of the Virgin
เอลเกรโกอยู่ที่เมืองเวนิสราว 3 ปีได้ศึกษาศิลปะเรอเนซองซ์ รวมถึงทำงานในสตูดิโอของ Titian ศิลปินใหญ่แห่งยุคอยู่พักหนึ่ง จากนั้นจึงย้ายไปอยู่ที่กรุงโรม เอลเกรโกทำงานอยู่ที่โรมราว 6 ปีแต่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเขามีความคิดเห็นด้านศิลปะที่แตกต่างกับคนร่วมสมัยและมีบุคลิกที่แข็งกร้าวจึงเกิดความขัดแย้งกับชาวโรมจำนวนมาก ปี 1577 เอลเกรโกย้ายไปอยู่ที่เมืองโตเลโดในภาคกลางของประเทศสเปนซึ่งเป็นเมืองใหญ่และศูนย์กลางด้านศาสนา และที่โตเลโดนี่เองที่เขาสร้างผลงานชั้นยอดมากมายและอยู่อาศัยไปตลอดชีวิตจนกลายเป็นศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ของสเปน
ผลงานชิ้นเอกของเอลเกรโกเกือบทั้งหมดเขียนบนแผ่นดินสเปนซึ่งมีในหลากหลายแนว มีทั้งภาพเหมือนที่งดงามและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เช่น ภาพ The Nobleman with his Hand on his Chest และ Lady in a Fur Wrap ที่เขียนในปีแรกๆของการอยู่ในสเปน ภาพทิวทัศน์ที่โดดเด่นมากๆได้แก่ภาพ View of Toledo ภาพที่เป็นเรื่องจากตำนานอย่างเช่นภาพ Laocoön ก็มีความพิเศษไม่เหมือนใคร ส่วนผลงานที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของเขาเป็นภาพขนาดใหญ่ที่เขียนให้กับโบสถ์ที่เมืองโตเลโดคือภาพ The Burial of the Count of Orgaz ซึ่งเป็นภาพที่งดงามอย่างยิ่ง ได้รับการยกย่องเป็นผลงานชิ้นเอกของศิลปะตะวันตก นอกจากงานเขียนภาพแล้วเอลเกรโกยังมีผลงานด้านประติมากรรมและสถาปัตยกรรมอีกด้วย เอลเกรโกเสียชีวิตในปี 1614 ด้วยวัย 73 ปี
10 ผลงานชิ้นเอกของเอลเกรโก
โดนาเตลโล เป็นสุดยอดประติมากรแห่งยุคเรอเนสซองส์ผู้เชี่ยวชาญในงานประติมากรรมด้วยวัสดุเกือบทุกชนิดโดยเฉพาะอย่างยิ่งหินอ่อนและสำริด เขาเกิดที่เมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี เมื่อราวปี 1386 โดนาเตลโลเริ่มเรียนศิลปะกับช่างทองในท้องถิ่น แล้วไปฝึกงานกับช่างโลหะและประติมากรคนหนึ่งของเมืองฟลอเรนซ์ ได้รู้จักกับ Filippo Brunelleschi ที่ภายหลังเป็นสถาปนิกและวิศวกรผู้ยิ่งใหญ่คนหนึ่งของอิตาลี ราวปี 1404 – 1407 ทั้งสองคนร่วมกันไปขุดค้นซากปรักหักพังของกรุงโรมยุคโบราณเพื่อศึกษาศิลปะคลาสสิกจนถูกเรียกเป็นพวกนักล่าสมบัติ ความรู้และประสบการณ์ที่เขาได้รับในคราวนั้นมีส่วนสำคัญในการพลิกโฉมหน้าของศิลปะอิตาลีในศตวรรษที่ 15 และเขายังได้รับอิทธิพลด้านศิลปะโกธิคจาก Brunelleschi อีกด้วย
ปี 1408 โดนาเตลโลเริ่มสร้างผลงานที่เมืองฟลอเรนซ์ ประเดิมด้วยงานสร้างรูปปั้นแกะสลักหินอ่อนสไตล์โกธิค หลังจากนั้น 3 ปีเขาก็เริ่มสร้างผลงานชิ้นเยี่ยม Saint Mark เป็นรูปแกะสลักหินอ่อนเช่นกัน ตามมาด้วยรูปหินอ่อน St. John the Evangelist ในปี 1415 ซึ่งเริ่มเปลี่ยนสไตล์จากโกธิคเป็นใช้เทคนิคแบบโบราณ โดนาเตลโลเริ่มมีชื่อเสียงเลื่องลือในฐานะประติมากรผู้มีเทคนิคใหม่ๆและสร้างสรรค์ผลงานที่มีความโดดเด่นด้านการแสดงอารมณ์บนใบหน้าและท่าทางของร่างกายที่งดงาม ราวปี 1425 โดนาเตลโลกับ Michelozzo สถาปนิกดังอีกคนร่วมกันสร้างหลุมฝังศพที่งามสง่าของบุคคลสำคัญหลายแห่งและผลงานของเขาก็กลายเป็นต้นแบบให้กับงานสร้างหลุมฝังศพบุคคลสำคัญในยุคต่อมา
ราวปี 1430 โดนาเตลโลสร้างผลงานชิ้นเอกคือรูปปั้น David ซึ่งกลายเป็นผลงานที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของเขา David เป็นรูปหล่อสำริดท่ายืนแบบอิสระไม่มีการค้ำยันใดๆชิ้นแรกที่สร้างขึ้นในยุคเรอเนสซองส์ นอกจากฝีมืองานปั้นงานหล่อที่ทำออกมาอย่างสวยงามสมบูรณ์แบบแล้ว ผลงานชิ้นนี้ยังมีเสน่ห์ตรงท่าทางการยืนถือดาบเท้าสะเอวและจ้องมองไปที่ศีรษะของโกไลแอทที่ใต้อุ้งเท้าพร้อมกับรอยยิ้มอันลึกลับที่สื่ออารมณ์ได้สมจริง รวมทั้งการสวมหมวกและรองเท้าบูทที่เป็นเอกลักษณ์ หลังจากนั้นโดนาเตลโลยังสร้างผลงานไว้อีกมากมายในหลายสถานที่ เช่น งานรูปหล่อสำริด Equestrian Statue of Gattamelata เป็นอนุสาวรีย์ที่เมืองแพดัว, งานแกะสลักหินอ่อนชิ้นใหญ่ Cantoria ที่เมืองฟลอเรนซ์ และงานประติมากรรมแบบนูนต่ำ The Feast of Herod ที่เมืองเซียนา เป็นต้น โดนาเตลโลเสียชีวิตในปี 1466 ด้วยวัย 80 ปี
10 ผลงานชิ้นเอกของโดนาเตลโล
9. อัลเบร็ชท์ ดือเรอร์ (Albrecht Dürer)
ดือเรอร์ เป็นศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดของเยอรมันในยุคเรอเนสซองส์ เป็นจิตรกรและช่างภาพพิมพ์ผู้มีผลงานยอดเยี่ยมในหลายสาขาทั้งภาพเขียนสีน้ำมัน ภาพวาดลายเส้น และภาพพิมพ์ เขาเกิดเมื่อปี 1471 ที่เมืองนูเร็มเบิร์ก (Nuremberg) ฝึกฝนการเป็นช่างทองและการวาดภาพจากผู้เป็นพ่อซึ่งเป็นช่างทองเลื่องชื่อ อายุ 15 ปีไปเป็นลูกศิษย์ของศิลปินชั้นนำของเมืองบ้านเกิด หลังเรียนจบในปี 1490 เขาตระเวนศึกษาหาประสบการณ์ด้านการเขียนภาพและการแกะสลักตามเมืองต่างๆในเยอรมันและไปถึงอิตาลี แล้วจึงกลับมาเปิดสตูดิโอเป็นศิลปินอาชีพในปี 1495 ด้วยวัย 23 ปีและประสบความสำเร็จอย่างมากกับงานแกะสลักและภาพพิมพ์ มีผลงานที่มีชื่อเสียงมากมายหลายชุด งานแกะสลักชิ้นเยี่ยมที่ได้รับการยกย่องมากได้แก่ภาพ Melencolia I และ Adam and Eve
ผลงานที่สร้างชื่อเสียงให้กับดือเรอร์อีกอย่างคือการเขียนภาพเหมือนบุคคล เขาเขียนภาพเหมือนตัวเอง (Self-Portrait) ตั้งแต่อายุ 13 ปี ภาพเหมือนตัวเองที่เขียนในปี 1500 ด้วยสีน้ำมันตอนอายุ 28 ปีเป็นผลงานขั้นสุดยอดที่มีชื่อเสียงและได้รับการยกย่องมากที่สุด ภาพเขียนบุคคลอื่นก็มีผลงานชิ้นเยี่ยมอยู่หลายภาพ ดือเรอร์เป็นผู้ที่เขียนภาพสัตว์ได้ดีมากเช่นกัน ภาพ Young Hare ใครเห็นเป็นต้องทึ่งแทบไม่อยากเชื่อว่านั่นเป็นภาพเขียนเพราะเหมือนจริงมาก นอกจากนี้เขายังมีผลงานภาพวาดลายเส้น (Drawing) ที่ยอดเยี่ยมอีกมากมายที่โด่งดังมากได้แก่ภาพ Praying Hands ที่ใช้แค่ปากกาและหมึกเขียนออกมาได้สวยงามยิ่งและยังมีเบื้องหลังที่มาของภาพอันน่าตื้นตันใจอีกด้วย
การไปศึกษางานศิลปะที่อิตาลีถึงสองครั้งทำให้ดือเรอร์ได้รับอิทธิพลทั้งในแง่เทคนิคและสไตล์ของศิลปะเรอเนสซองส์ในอิตาลีต่องานของเขาเอง สิ่งนี้แสดงให้เห็นทั้งในงานภาพเขียนและงานแกะสลักภาพพิมพ์ ภาพเขียนในแนวศาสนาของดือเรอร์มีความงดงามเช่นเดียวกับงานของศิลปินดังที่อิตาลี ผลงานที่โดดเด่นในแนวนี้ได้แก่ภาพ Feast of Rose Garlands และ Adoration of the Magi นอกเหนือจากผลงานศิลปะทั้งภาพเขียน ภาพวาด ภาพแกะสลัก และภาพพิมพ์จำนวนหลายร้อยภาพแล้ว ดือเรอร์ยังมีผลงานด้านคณิตศาสตร์อีกด้วย เขาคือผู้เขียนหนังสือตำราคณิตศาสตร์สำหรับผู้ใหญ่เล่มแรกในเยอรมันชื่อ The Four Books on Measurement ดือเรอร์เสียชีวิตเมื่อปี 1528 ในวัย 56 ปีทิ้งผลงานที่ยอดเยี่ยมและทรัพย์สมบัติเอาไว้จำนวนมาก
10 ผลงานชิ้นเอกของ10 ผลงานชิ้นเอกของอัลเบร็ชท์ ดือเรอร์
10. ปีเตอร์ เบรอเคิล (Pieter Bruegel the Elder)
เบรอเคิล (ผู้พ่อ) เป็นศิลปินคนสำคัญที่สุดของดัตช์และเฟลมิช (เบลเยียม) ในยุคเรอเนสซองส์ เขาเป็นทั้งจิตรกรและช่างภาพพิมพ์ ผลงานภาพเขียนในแนวภาพทิวทัศน์และวิถีชีวิตแบบชาวชนบทของเขาโดดเด่นมาก งานเบรอเคิลมีอิทธิพลต่อการเข้าสู่ยุคทองแห่งจิตรกรรมของเนเธอร์แลนด์ ทั้งลูกและหลานของเขาต่างเป็นจิตรกรชื่อดังในสไตล์ที่แตกต่างกันจนถึงศตวรรษที่ 18 เบรอเคิลเกิดในราวปี 1525 – 1530 ที่เมือง Breda ทางตอนใต้ของเนเธอร์แลนด์ เรียนศิลปะที่เมือง Antwerp นาน 5 ปี จากนั้นเดินทางไปอิตาลีเพื่อศึกษาและหาประสบการณ์เพิ่มเติม กลับมาที่ Antwerp ราวปี 1555 และเริ่มทำงานออกแบบและวาดภาพร่างสำหรับแกะสลักทำภาพพิมพ์ให้กับ Hieronymus Cock ภาพพิมพ์จากฝีมือการออกแบบและวาดภาพของเขาได้รับความนิยม Cock ขายภาพพิมพ์จากผลงานของเบรอเคิลไปทั่วยุโรปจำนวนหลายพันภาพ
ต่อมาเบรอเคิลหันมาสนใจสร้างผลงานภาพเขียนอย่างจริงจัง เขาเป็นคนแรกๆที่เลือกเขียนภาพทิวทัศน์และวิถีชีวิตคนแทนที่จะยึดติดอยู่กับการเขียนภาพเทพเจ้าหรือแนวความเชื่อทางศาสนา เริ่มมีผลงานที่โดดเด่นจากภาพ Netherlandish Proverbs ที่เสนอเรื่องราวตามสุภาษิตของชาวเนเธอร์แลนด์ ตามมาด้วยภาพทิวทัศน์ที่งดงามยิ่งในภาพ Landscape with the Fall of Icarus ที่เขียนจากตำนานซึ่งเป็นภาพเดียวที่เขาเขียนเกี่ยวกับเทพเจ้า ปี 1562 เบรอเคิลเขียนภาพที่น่าประทับใจยิ่งชื่อภาพ The Triumph of Death นำเสนอภาพมนุษยชาติถูกโจมตีโดยกองทัพแห่งความตาย สะท้อนความกลัวการมาถึงของวันสิ้นสุดของโลกได้อย่างน่าสนใจ
ปี 1563 เบรอเคิลแต่งงานและย้ายไปอยู่ที่กรุงบรัสเซลส์อย่างถาวรตลอดชีวิต พร้อมกับสร้างผลงานชั้นยอดมากมาย อย่างเช่นภาพ The Tower of Babel ที่เขียนจากเรื่องในคัมภีร์ไบเบิล ผลงานภาพเขียนในช่วงบั้นปลายของชีวิตที่เสนอภาพทิวทัศน์ตามฤดูกาลพร้อมกับวิถีชีวิตของผู้คนหลายภาพมีความสวยงามและโดดเด่นมาก เช่น ภาพ The Hunters in the Snow และภาพ The Harvesters เป็นเรื่องน่าเสียดายมากที่ศิลปินผู้โดดเด่นคนนี้ไม่มีโอกาสและเวลาที่ยาวนานในการสร้างผลงานเท่ากับศิลปินดังอีกหลายคน มิฉะนั้นเราอาจได้ชมผลงานที่ยอดเยี่ยมยิ่งกว่านี้ เบรอเคิลเสียชีวิตในช่วงสูงสุดของชีวิตการศิลปินเมื่อปี 1569 ด้วยวัยราว 40 ปีต้นๆเท่านั้น
10 ผลงานชิ้นเอกของ10 ผลงานชิ้นเอกของ10 ผลงานชิ้นเอกของปีเตอร์ เบรอเคิล
ข้อมูลและภาพจาก ranker, timeout, wikipedia, biography