ปาโบล ปีกัสโซ อัจฉริยะศิลปินเปี่ยมพรสวรรค์ผู้สร้างสรรค์ศิลปะหลากสไตล์

ปาโบล รุยซ์ ปีกัสโซ (Pablo Ruiz Picasso) เป็นจิตรกรเอกคนสำคัญของโลก เป็นศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะสมัยใหม่ในหลากหลายรูปแบบ เขาเป็นหนึ่งในผู้ริเริ่มศิลปะแบบคิวบิสม์ (Cubism) และเป็นผู้คิดค้นประติมากรรมประกอบขึ้นรูป (Constructed Sculpture) ได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในศิลปินที่มีอิทธิพลมากที่สุดในศตวรรษที่ 20 ปีกัสโซมีผลงานชั้นยอดมากมาย เช่น ภาพ Guernica และ Les Demoiselles d’Avignon ผลงานของเขาได้รับความนิยมและมีชื่อเสียงในระดับสูงสุดตลอดหลายสิบปีในชีวิตการเป็นศิลปิน เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในศิลปินที่ประสบความสำเร็จสูงที่สุดในประวัติศาสตร์

 
เกิดมาพร้อมพรสวรรค์เพื่อเป็นศิลปิน

ปีกัสโซเป็นชาวสเปนเกิดเมื่อปี 1881 ที่เมืองมาลากาทางภาคใต้ของประเทศสเปน มีชื่อเต็มยาวเหยียด 23 คำ 103 ตัวอักษร “Pablo Diego José Francisco de Paula Juan Nepomuceno María de los Remedios Cipriano de la Santísima Trinidad Martyr Patricio Clito Ruíz y Picasso” พ่อของเขาเป็นครูสอนศิลปะผู้เชี่ยวชาญการวาดรูปนก ปีกัสโซวาดรูปเป็นก่อนที่จะพูดได้ และเริ่มส่งสัญญาณการเป็นศิลปินระดับโลกด้วยการพูดคำว่า “piz, piz” ที่มาจากคำว่า “lápiz” (ลาปิซ) ในภาษาสเปนที่แปลว่าดินสอเป็นคำแรก แทนที่จะพูดคำว่า “แม่” เหมือนเด็กทั่วไป

พรสวรรค์ด้านศิลปะของปีกัสโซส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการได้เห็นพ่อของเขาเขียนภาพตั้งแต่เล็กจนโต เมื่ออายุได้ 7 ขวบพ่อเริ่มสอนการวาดรูปและระบายสีน้ำมันให้กับเขา เพียง 2 ปีหลังจากนั้นปีกัสโซก็เขียนภาพสีน้ำมันสำเร็จเป็นภาพแรกชื่อภาพ The Picador พออายุ 13 ปีเขาสร้างความตื่นดะลึงให้กับพ่อเมื่อได้ระบายสีภาพนกพิราบที่พ่อสเก็ตช์ค้างไว้ยังไม่เสร็จ พ่อพบว่าลูกชายมีฝีมือก้าวล้ำหน้าตัวเองไปมากจนสาบานว่าจะไม่เขียนภาพอีกต่อไป อีก 2 ปีต่อมาปีกัสโซได้เขียนภาพสำคัญชิ้นแรกของเขาชื่อภาพ First Communion ในวัยเพียง 15 ปี

Pablo-Picasso-early-1

The Picador

Pablo-Picasso-early-2

First Communion

 
อัจฉริยะย่อมมีวิถีการเรียนที่แตกต่าง

ปี 1891 ครอบครัวย้ายไปอยู่ที่เมืองโครันนา อยู่ได้ 4 ปีก็ย้ายไปอยู่ที่เมืองบาร์เซโลนาหลังจากน้องสาววัย 7 ขวบของปีกัสโซเสียชีวิตด้วยโรคคอตีบ พ่อส่งเสริมและผลักดันให้เขาเรียนด้านศิลปะอย่างเต็มที่ ส่งปีกัสโซสอบเข้าเรียนศิลปะชั้นสูงที่โรงเรียนศิลปะในบาร์เซโลนาซึ่งคราวนั้นเป็นโจทย์การเขียนภาพผู้หญิงเปลือยโดยให้เวลา 1 เดือน แต่ปีกัสโซใช้เวลาเพียง 1 วัน และได้รับอนุมัติให้เข้าเรียนด้วยวัยแค่ 13 ปี พ่อยังเช่าห้องใกล้บ้านให้เขาใช้เป็นสตูดิโอเขียนภาพส่วนตัว และคอยติดตามความก้าวหน้าอย่างใกล้ชิด

พออายุได้ 16 ปีพ่อจึงส่งปีกัสโซไปเรียนต่อที่โรงเรียนศิลปะที่ดีที่สุดของประเทศในกรุงมาดริด แต่หลังจากลงทะเบียนเรียนได้ไม่นานศิลปินหนุ่มน้อยผู้มีแนวคิดทันสมัยก็เลิกเข้าห้องเรียน เพราะไม่ชอบการเรียนการสอนตามกรอบแบบเก่าที่ไม่ค่อยเน้นความคิดสร้างสรรค์ และมาดริดมีอะไรที่เขาสนใจมากกว่านั่นคือพิพิธภัณฑ์ปราโดซึ่งเป็นแหล่งรวมภาพเขียนชั้นยอดของศิลปินชั้นนำทั้งของ Diego Velázquez, Francisco Goya, Francisco Zurbarán และที่ปีกัสโซชื่นชอบมากเป็นพิเศษคือผลงานของ El Greco ซึ่งได้สะท้อนออกมาในผลงานของเขาในภายหลัง

ผลงานเด่นของปีกัสโซในช่วงระหว่างเรียนนอกจากภาพ First Communion ที่เป็นภาพของน้องสาวชื่อ Lola ยังมีภาพเหมือนของแม่ Portrait of the Artist’s Mother, ภาพเหมือนตัวเอง Self-Portrait (1896), ภาพ Science and Charity รวมทั้งภาพ Portrait of Aunt Pepa ที่บางคนชื่นชอบมากถึงกับยกให้เป็นหนี่งในภาพเขียนที่ดีที่สุดของสเปน และภาพอื่นอีกหลายภาพ

Pablo-Picasso-early-3

Self-Portrait

Pablo-Picasso-early-4

Portrait of Aunt Pepa

Pablo-Picasso-early-5

Self-portrait – Yo

Pablo-Picasso-early-6

Portrait of the Artist’s Mother

Pablo-Picasso-early-7

Science and Charity

Pablo-Picasso-early-8

Old Woman (Woman with Gloves)

 
สร้างผลงานและชื่อเสียงที่ปารีส

ปีกัสโซเดินทางไปที่กรุงปารีสซึ่งเป็นเมืองหลวงแห่งศิลปะในยุคนั้นเป็นครั้งแรกในปี 1990 เขาเข้าชมพิพิธภัณฑ์ทุกแห่ง ศึกษาผลงานของศิลปินดังมากมายทั้ง Delacroix, Toulouse-Lautrec, Vincent van Gogh, Gauguin และคนอื่นๆ ปีกัสโซยังสนใจในศิลปะอียิปต์ ประติมากรรมกอธิค ภาพเขียนญี่ปุ่น เขาสนใจในงานศิลปะเกือบทุกอย่าง ปีกัสโซมาที่ปารีสอีกหลายครั้ง จนในที่สุดได้ย้ายมาพักอาศัยอย่างถาวรในปี 1904

ปีกัสโซเกือบมีชื่อกระฉ่อนโลกด้วยภาพเขียนโมนาลิซา หลังจากมาอยู่ที่ปารีสได้ไม่นานปีกัสโซตั้งแก๊ง La Banda Picasso ร่วมกับเพื่อนสนิท Guillaume Apollinaire และ Max Jacobs แก๊งนี้จะมาสุมหัวคุยกันเรื่องงานศิลปะเป็นประจำ Apollinaire มีเลขาชื่อ Géry Pieret เป็นศิลปินไส้แห้งที่มีพฤติกรรมเป็นหัวขโมย Pieret รู้ว่าปีกัสโซชื่นชอบรูปปั้นศิลปะไอบีเรียจึงแอบขโมยจากพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์มาขายให้เขา พอภาพโมนาลิซาหายไปจากพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ในเดือนสิงหาคม ปี 1911 Pieret จึงเป็นผู้ต้องสงสัยรายแรกๆ แต่เขาหลบออกไปจากปารีสเสียก่อน ตำรวจจึงไปจับ ตัว Apollinaire ผู้เป็นนายจ้างมาสอบสวน และตั้งข้อสงสัยว่าแก๊ง La Banda Picasso อาจมีส่วนในการขโมยจึงจับปีกัสโซมาสอบสวนด้วย Apollinaire และปีกัสโซนอนในคุกอยู่หลายสัปดาห์ก่อนที่จะถูกปล่อยตัวออกมาเพราะตำรวจไม่สามารถหาหลักฐานมาเชื่อมโยงได้

ที่ปารีสปีกัสโซได้รู้จักกับศิลปินชั้นนำหลายคนที่ต่อมาได้กลายเป็นทั้งเพื่อนและคู่แข่ง รวมทั้งร่วมกันช่วยพัฒนาแนวทางในการสร้างศิลปะสมัยใหม่ โดยเฉพาะ Henri Matisse และ Georges Braque ปีกัสโซปักหลักพักอาศัยอยู่ในฝรั่งเศสเรื่อยมาไม่เคยกลับไปอยู่ที่สเปนอีกเลย นอกจากกลับไปเยี่ยมเป็นครั้งคราว รวมทั้งตอนเกิดสงครามโลกครั้งที่สองที่นาซีเข้ายึดครองฝรั่งเศสและเขาถูกสั่งห้ามแสดงผลงาน

 
สร้างสรรค์ศิลปะหลากสไตล์

ผลงานของปีกัสโซมีพัฒนาการเปลี่ยนแปลงตามห้วงเวลาในช่วงชีวิตและแนวคิดในการสร้างสรรค์ ความกล้าคิดกล้าทำกล้านำเสนอในสิ่งใหม่ทำให้เขาเป็นผู้นำของศิลปะสมัยใหม่ที่ได้รับการยอมรับและมีอิทธิพลต่อวงการศิลปะตลอดมา ปีกัสโซมีผลงานหลายช่วงหลายยุคที่เปลี่ยนแปลงแตกต่างไปโดยสิ้นเชิง หากมิใช่อัจฉริยะผู้เปี่ยมพรสวรรค์คงไม่สามารถสร้างสรรค์ศิลปะหลากหลายสไตล์อย่างเขาได้

ยุคสีน้ำเงิน (Blue Period: 1901–1904)

ผลงานช่วงนี้ใช้สีฟ้ากับฟ้าอมเขียวเป็นหลัก ภาพออกมาในโทนหม่นหมองเศร้าซึม การใช้สีและเรื่องราวปีกัสโซได้รับอิทธิพลจากการเดินทางผ่านประเทศสเปนและการฆ่าตัวตายของเพื่อนที่ชื่อ Carlos Casagemas ภาพที่โดดเด่นในยุคนี้ได้แก่ The Old Guitarist, La Vie และ Absinthe Drinker

Pablo-Picasso-blue-1

The Old Guitarist

Pablo-Picasso-blue-2

La Vie

Pablo-Picasso-blue-3

Breakfast of a Blind Man

Pablo-Picasso-blue-4

Woman with Folded Arms

Pablo-Picasso-blue-5

Mother and Child

Pablo-Picasso-blue-6

The Visit (Two Sisters

Pablo-Picasso-blue-7

Absinthe Drinker

Pablo-Picasso-blue-8

La Gommeuse

Pablo-Picasso-blue-9

Leaning Harlequin

Pablo-Picasso-blue-10

Le Gourmet

Pablo-Picasso-blue-11

Portrait of Suzanne Bloch

Pablo-Picasso-blue-12

Woman Ironing

ยุคสีชมพู (Rose Period: 1904–1906)

ผลงานช่วงปี 1904–1906 ภาพจะมีสีสันสดใสมากขึ้นด้วยสีส้มและสีชมพู มักจะมีลายข้าวหลามตัดและนักแสดงละครสัตว์เป็นส่วนประกอบ ภาพเด่นยุคนี้คือ Boy with a Pipe, Family of Saltimbanques และ Acrobat and Young Harlequin

Pablo-Picasso-rose-1

Boy with a Pipe

Pablo-Picasso-rose-2

Acrobat and Young Harlequin

Pablo-Picasso-rose-3

Family of Saltimbanques

Pablo-Picasso-rose-4

Portrait of Gertrude Stein

Pablo-Picasso-rose-5

Acrobat’s Family with a Monkey

Pablo-Picasso-rose-6

Harlequin with a Glass

Pablo-Picasso-rose-7

Maternity

Pablo-Picasso-rose-9

Les Noces de Pierrette

Pablo-Picasso-rose-8

Boy Leading a Horse

ยุคอิทธิพลแอฟริกัน (African Influence: 1907–1909)

ปี 1907 ปีกัสโซได้เปลี่ยนสไตล์ด้วยการเขียนภาพ Les Demoiselles d’Avignon ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากประติมากรรมไอบีเรียและอิทธิพลของศิลปะแอฟริกัน เขาใช้เวลาในการเขียนภาพนี้มากกว่า 1 ปี ปฏิกิริยาของผู้คนเมื่อแรกเห็นภาพนี้คือช็อก Matisse รับไม่ได้โกรธจนเกือบคลั่ง Braque บอกว่าเหมือนเอาน้ำมันมาให้ดื่ม แต่ภาพนี้นับเป็นก้าวแรกที่สำคัญต่อการพัฒนาไปสู่ศิลปะคิวบิสม์ในยุคต่อมา ผลงานอื่นที่สำคัญในยุคนี้ได้แก่ Nude with Raised Arms และ Three Women

Pablo-Picasso-african-1

Les Demoiselles d’Avignon

Pablo-Picasso-african-2

Nude with Raised Arms

Pablo-Picasso-african-3

Reclining Nude

Pablo-Picasso-african-4

Self-Portrait

Pablo-Picasso-african-5

Three Women

Pablo-Picasso-african-6

Vase of flowers, glass of wine, and spoon

ยุคคิวบิสม์ (Cubism: 1909–1917)

ระหว่างปี 1909 – 1912 ปีกัสโซกับ Braque ได้ร่วมกันพัฒนาการเขียนภาพแบบคิวบิสม์หรือบาศกนิยม โดยการแยกวัตถุเป็นชิ้นเล็กๆ วิเคราะห์ และประกอบกลับขึ้นมาใหม่ในแง่มุมต่างๆซึ่งไม่ใช่เป็นแค่งานสามมิติ แต่มีมิติที่สี่เข้ามาซึ่งได้แก่มิติของเวลาที่สัมพันธ์กับการรับรู้ของมนุษย์ ผลงานของทั้งสองเรียกว่า Analytic Cubism (บาศกนิยมแบบวิเคราะห์) ช่วงต่อมาระหว่างปี 1912 – 1917 ปีกัสโซได้พัฒนาผลงานเพิ่มเติมเขียนภาพที่เป็นวัตถุรูปทรงเรขาคณิตและใช้วัสดุง่ายๆอย่างเช่น ท่อ กีตาร์ หรือแก้วน้ำมาเป็นส่วนประกอบ เป็นแนวทางที่เรียกว่า Synthetic Cubism (บาศกนิยมแบบสังเคราะห์) บางคนเรียกทั้งสองช่วงของการพัฒนานี้ว่า Crystal Period ผลงานเด่นในยุคนี้ได้แก่ Three Musicians, Girl with a Mandolin (Fanny Tellier) และ Portrait of Ambroise Vollard ปี 1917 ปีกัสโซได้มีส่วนร่วมในการออกแบบฉากและเครื่องแต่งกายของการแสดงบัลเลต์ชุด Parade ภาพ Rideau pour le ballet “Parade” ที่ใช้เป็นฉากในการแสดงเป็นภาพเขียนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดภาพหนึ่งของปีกัสโซ

Pablo-Picasso-cubism-1

Three Musicians

Pablo-Picasso-cubism-2

Girl with a Mandolin (Fanny Tellier)

Pablo-Picasso-cubism-3

Portrait of Ambroise Vollard

Pablo-Picasso-cubism-4

Woman with a Fan

Pablo-Picasso-cubism-5

Portrait of Fernarde

Pablo-Picasso-cubism-6

Femme assise (Sitzende Frau)

Pablo-Picasso-cubism-7

Playing cards, glasses, bottle of rum

Pablo-Picasso-cubism-8

Still life with chair caned

Pablo-Picasso-cubism-9

Rideau pour le ballet – Parade

ยุคคลาสสิกใหม่ (Neoclassicism: 1918–1925)

หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ปีกัสโซที่ได้มีโอกาสไปเยือนอิตาลีในปี 2017 และได้เปลี่ยนแนวการเขียนภาพอีกครั้งหลุดออกไปจากแนวคิวบิสม์โดยสิ้นเชิง กลับมาสู่การเขียนแบบเหมือนจริงกลายเป็นสไตล์คลาสสิกใหม่ซึ่งมีส่วนคล้ายกับงานของ Raphael และ Ingres ผลงานที่โดดเด่นในยุคนี้คือภาพ Olga in an Armchair, Pierrot และ Portrait of Paul Picasso as a Child

Pablo-Picasso-Neoclassic-1

Olga in an Armchair

Pablo-Picasso-Neoclassic-2

Olga Khokhlova in the Mantilla

Pablo-Picasso-Neoclassic-3

Olga Picasso

Pablo-Picasso-Neoclassic-4

Pierrot

Pablo-Picasso-Neoclassic-5

Portrait of Paul Picasso as a Child

Pablo-Picasso-Neoclassic-6

Bathers

Pablo-Picasso-Neoclassic-7

Still life on the dresser

Pablo-Picasso-Neoclassic-8

The Source

Pablo-Picasso-Neoclassic-9

Sleeping Peasants

Pablo-Picasso-Neoclassic-10

Two Women Running on the Beach

ยุคเหนือจริง (Surrealism: 1925–1936)

ปีกัสโซเข้าสู่ยุคเหนือจริงด้วยภาพ The Dance ในปี 1925 เขาพัฒนาสไตล์การเขียนภาพแนวเหนือจริงในแบบของตัวเอง มีการสื่อความหมายผ่านสัญลักษณ์ที่ซ่อนอยู่ในภาพ ผู้ชมต้องศึกษาและตีความจึงจะเข้าถึงสิ่งที่ปีกัสโซต้องการสื่อ ภาพเขียนในยุคนี้มีหลายภาพที่มีราคาแพงเป็นอันดับต้นๆของโลก ภาพเด่นในยุคนี้คือภาพ Nude, Green Leaves and Bust, The Dream และ Girl before a Mirror

Pablo-Picasso-surrealism-1

Nude, Green Leaves and Bust

Pablo-Picasso-surrealism-2

The Dream

Pablo-Picasso-surrealism-3

Girl before a Mirror

Pablo-Picasso-surrealism-4

The Dance

Pablo-Picasso-surrealism-5

The sculptor

Pablo-Picasso-surrealism-6

My workshop (Two characters)

Pablo-Picasso-surrealism-7

Woman with a Flower

Pablo-Picasso-surrealism-8

Reading

Pablo-Picasso-surrealism-9

Figures on a Beach

ยุคสงคราม (War in Spain and World War II: 1937-1945)

ปี 1937 ระหว่างเกิดสงครามกลางเมืองสเปนซึ่งเป็นตัวเร่งให้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 เมือง Guernica โดนเยอรมันถล่มด้วยระเบิดทางอากาศพังยับเยินมีคนตายเป็นพันคน หลังเหตุการณ์ปีกัสโซได้เขียนภาพที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของเขา ‘Guernica’ ซึ่งนำเสนอภาพสัญลักษณ์ที่สะท้อนความโหดร้ายและความเจ็บปวดทุกข์ทรมานอันเป็นผลพวงจากสงคราม มีเรื่องเล่าว่าวันหนึ่งทหารนาซีไปหาปีกัสโซที่บ้านพอเห็นภาพถ่ายของ Guernica จึงถามเขาว่า “คุณเป็นคนทำมันใช่ไหม?” ปิกัสโซตอบว่า “ผมไม่ได้ทำ พวกคุณต่างหากที่เป็นคนทำ” นอกจาก Guernica ในยุคนี้ยังมีภาพที่โดดเด่นคือภาพ The Weeping Woman และ Night Fishing at Antibes

Pablo-Picasso-war-1

Guernica

Pablo-Pablo-Picasso-war-2

The Weeping Woman

Pablo-Pablo-Picasso-war-3

Marie-Therese Walter

Pablo-Picasso-war-4

Dora Maar with Cat

Pablo-Pablo-Picasso-war-5

Femme assise dans un jardin

Pablo-Picasso-war-6

Night Fishing at Antibes

Pablo-Pablo-Picasso-war-7

Serenade (L`aubade)

Pablo-Picasso-war-8

Still Life with Steers Skull

ยุคหลังถึงปีสุดท้าย (Later Works to Final Years: 1946–1973)

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ปีกัสโซได้เขียนภาพที่สื่อถึงการเรียกร้องสันติภาพมากมายในหลายรูปแบบทั้งภาพเขียน โปสเตอร์ ภาพฝาผนัง และยังคงเขียนภาพของผู้หญิงที่มีความสัมพันธ์กับเขาเหมือนเช่นที่ทำมาตลอดชีวิต รวมทั้งเขียนภาพจากต้นแบบของศิลปินที่เขาชื่นชอบหลายคนในสไตล์ของตัวเอง ช่วงหลังปีกัสโซหันไปทำงานประติมากรรมจนได้แสดงผลงานในนิทรรศการประติมากรรมนานาชาติ ปี 1967 ปีกัสโซได้สร้างประติมากรรมประกอบขึ้นรูปสไตล์คิวบิสม์ขนาดใหญ่สูง 15 เมตรในเมืองชิคาโกที่กลายเป็นแลนด์มาร์คสำคัญของเมืองรู้จักกันในชื่อ Chicago Picasso จัดเป็นผลงานเด่นอีกชิ้นหนึ่งของเขา ส่วนภาพเขียนในยุคนี้ที่โดดเด่นได้แก่ภาพ Les Femmes d’Alger, Massacre in Korea และ Jacqueline with Flowers

Pablo-Picasso-final-1

Les Femmes d’Alger

Pablo-Pablo-Picasso-final-2

Massacre in Korea

Pablo-Picasso-final-3

Jacqueline with Flowers

Pablo-Pablo-Picasso-final-4

The Charnel House

Pablo-Picasso-final-5

Las Meninas After Velazquez

Pablo-Pablo-Picasso-final-6

The Luncheon on the grass (Manet)

Pablo-Picasso-final-7

The Artist and His Model I, II

Pablo-Pablo-Picasso-final-8

The temple of peace

Pablo-Picasso-final-9

The Fall of Icarus

Pablo-Picasso-final-10

Chicago Picasso

 
ศิลปินดังกับพิราบขาว

ปีกัสโซรักและผูกพันกับนกพิราบมาตลอดชีวิต พ่อของเขาเลี้ยงนกพิราบและเป็นผู้เชี่ยวชาญในการเขียนรูปนกพิราบด้วย ปีกัสโซสืบทอดสองสิ่งนี้ต่อจากพ่อ เขาตั้งชื่อน้องสาวว่า Paloma ซึ่งหมายถึงนกพิราบในภาษาสเปน ปีกัสโซเขียนภาพนกพิราบตั้งแต่เด็กจนแก่ ปี 1949 ภาพ Dove of Peace ที่เขียนจากนกพิราบที่ Matisse เพื่อนรักและคู่แข่งคนสำคัญมอบให้ได้รับเลือกให้เป็นสัญลักษณ์ของการประชุมสันติภาพนานาชาติครั้งแรกในกรุงปารีสในปีเดียวกัน ปีกัสโซยังได้เขียนภาพ Dove of Peace ในอีกหลายเวอร์ชั่นซึ่งล้วนแต่ได้รับความนิยมและชื่นชอบจากผู้คนทั่วโลก และกลายเป็นหนึ่งในภาพที่มีอิทธิพลมากที่สุดในชีวิตของเขา ด้านล่างเป็นส่วนหนึ่งของภาพที่เกี่ยวกับนกพิราบจากฝีมือของปีกัสโซ

Pablo-Picasso-dove-1

Dove of Peace

Pablo-Pablo-Picasso-dove-2

Dove of Peace

Pablo-Pablo-Picasso-dove-3

Dove of Peace

Pablo-Picasso-dove-4

Dove of Peace

Pablo-Pablo-Picasso-dove-5

The dove

Pablo-Picasso-dove-7

Pigeon gray background

Pablo-Pablo-Picasso-dove-6

Poster of the second World Congress of supporters of peace

Pablo-Pablo-Picasso-dove-9

My workshop (Pigeons)

Pablo-Pablo-Picasso-dove-10

Child with a Dove (the lad pigeon)

 
ศิลปินฉาวกับสาวสวย

ปีกัสโซเป็นเพลย์บอยจอมเจ้าชู้มีสัมพันธ์กับผู้หญิงทั้งที่เปิดเผยและไม่เปิดเผยนับสิบคน ดูเหมือนว่าเขาเป็นคนที่ขาดผู้หญิงไม่ได้เลยและเรียกได้ว่าใช้ผู้หญิงเปลืองมาก เป็นที่น่าสังเกตว่าไม่ว่าตัวเขาจะมีอายุเท่าใดเขาจะเลือกคบกับผู้หญิงอายุไม่ถึง 30 ปีเท่านั้น ผู้หญิงเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญยิ่งต่อผลงานของปีกัสโซ เขาเขียนภาพของผู้หญิงของเขาแต่ละคนด้วยวิธีการที่แตกต่างกันออกไปตามสไตล์ที่เขาชื่นชอบในช่วงเวลาที่คบหากัน ต่อไปนี้เป็นรายชื่อของภรรยาและชู้รักของปีกัสโซเท่าที่ทราบกัน

  1. Fernande Olivier แฟนคนแรกคบกันตอนทั้งคู่อายุ 23 ปี เธอคือผู้ที่เขาใช้เป็นแบบในการเขียนภาพ Les Demoiselles d’Avignon และอีกหลายภาพ (คบกันระหว่างปี 1904 – 1912)
  2. Marcelle Humbert AKA Eva Gouel เป็นแฟนกันตอนเธออายุ 27 ปี ส่วนเขา 31 ปี เธอเป็นแรงบันดาลใจในผลงานของเขาหลายชิ้นรวมทั้งภาพ Guitar (I love Eva) (คบกันระหว่างปี 1912 – 1915)
  3. Gaby Lespinasse มีสัมพันธ์กันตอนที่เขาอายุ 34 ปี (คบกันระหว่างปี 1915 – 1916)
  4. Olga Khokhlova เป็นภรรยาคนแรกของปีกัสโซ เจอกันตอนเธออายุ 26 ปี ส่วนเขา 36 ปี ใบหน้าของ Olga ปรากฏอยู่ในผลงานของเขามากมาย หนึ่งในนั้นคือภาพ Olga in an Armchair (คบกันระหว่างปี 1917 – 1927)
  5. Marie-Thérèse Walter คบกันตอนเธออายุแค่ 17 ปี ส่วนเขา 46 ปี เธอเป็นอีกคนที่เป็นแรงขับเคลื่อนในการสร้างผลงาน มีภาพจากการใช้เธอเป็นแบบมากมาย รวมทั้งภาพ Nude, Green Leaves and Bust, The Dream และ Girl before a Mirror (คบกันระหว่างปี 1927 – 1936)
  6. Dora Maar เป็นแฟนกันตอนเธออายุ 29 ปี ส่วนเขา 55 ปี เขาใช้เธอเป็นแบบในการเขียนภาพในหลากหลายอารมณ์ ใบหน้าของผู้หญิงในภาพ The Weeping Woman เป็นของเธอผู้นี้เอง (คบกันระหว่างปี 1936 – 1944)
  7. Françoise Gilot คบกันตอนเธออายุ 21 ปี ส่วนเขา 61 ปี ปีกัสโซเขียนภาพใบหน้าของเธอไว้มากมาย ที่คุ้นเคยกันเป็นพิเศษคือภาพ Portrait of Françoise ที่เขียนบนกระดาษด้วยดินสอ (คบกันระหว่างปี 1943 – 1953)
  8. Geneviève Laporte เป็นแฟนกันตอนเธออายุ 24 ปี ส่วนเขา 70 ปีแล้ว (1951 – 1953)
  9. Jacqueline Roque เป็นภรรยาคนที่สองและเป็นแฟนคนสุดท้าย (เท่าที่ทราบ) คบกันตอนเธออายุ 27 ปี ส่วนเขา 79 ปี เธอเป็นอีกคนที่เขาใช้เป็นแบบในภาพเขียนจำนวนมาก ภาพผู้หญิงในช่วงทศวรรษ 1950s เป็นภาพของเธอผู้นี้เกือบทั้งนั้น ภาพ Jacqueline with Flowers ก็เป็นหนึ่งในนั้น (คบกันระหว่างปี 1953 – 1973)

Pablo-Pablo-Picasso-women-1

Portrait of Françoise

Pablo-Picasso-women-2

Geneviève Laporte

 
ศิลปินผู้ประสบความสำเร็จสูงสุด

ด้วยผลงานชั้นยอดจากพรสวรรค์และความคิดสร้างสรรค์ที่โดดเด่นเหนือใครในหลากหลายสไตล์ ทำให้ผลงานของปิกัสโซเป็นที่ต้องการและซื้อขายกันในราคาแพงระยับ ภาพเขียนของเขามากมายหลายชิ้นมีราคาติดอันดับต้นๆของโลก ผู้คนต่างหาโอกาสไปชมผลงานของปิกัสโซที่จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ชั้นนำหลายแห่งทั่วโลก รวมทั้งที่พิพิธภัณฑ์ปีกัสโซที่ฝรั่งเศสและสเปน

ปีกัสโซได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินเอกของโลกตั้งแต่ยังมีชีวิตอยู่ มีโอกาสได้ชื่นชมกับความสำเร็จของตัวเอง ได้ใช้ชีวิตที่ร่ำรวยหรูหราไม่ได้เป็นศิลปินไส้แห้งแบบคนอื่น ปีกัสโซเสียชีวิตในปี 1973 ด้วยวัย 91 ปี ฝากผลงานอันทรงคุณค่าให้โลกได้ชื่นชมด้วยภาพเขียนกว่า 13,000 ภาพและงานศิลปะอื่นอีกมากมาย สมกับเป็นผู้ที่ได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินที่มีพรสวรรค์ในการสร้างสรรค์มากที่สุดในศตวรรษที่ 20 เขาเป็นหนึ่งในศิลปินที่ประสบความสำเร็จสูงที่สุดในประวัติศาสตร์

Picasso-2

 
 

ข้อมูลและภาพจาก wikipedia, pablo-ruiz-picasso.net, pablopicasso.org

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *