สโตนเฮนจ์ถูกสร้างขึ้นโดยใช้ทฤษฎีบทของพีทาโกรัสเมื่อกว่า 2,000 ปีก่อนที่เขาจะเกิด

เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2018 มีผู้คนกว่า 9,500 คนไปรวมตัวกันที่สโตนเฮนจ์ (Stonehenge) อนุสรณ์สถานยุคก่อนประวัติศาสตร์ทางภาคใต้ของเกาะอังกฤษ เพื่อชมดวงอาทิตย์ขึ้นเหนือแท่งหิน Heel Stone ในวันครีษมายัน (summer solstice) ซึ่งเป็นวันที่มีกลางวันยาวนานที่สุดในรอบปี ในวันเดียวกันนั้นหนังสือ Megalith ที่ใช้วันครีษมายันเป็นวันเริ่มเผยแพร่ได้ระบุว่าผู้สร้างสโตนเฮนจ์เมื่อราว 4,500 ปีมาแล้วได้ใช้ทฤษฎีบทของพีทาโกรัสในการกำหนดตำแหน่งก้อนหิน ก่อนที่ตัวพีทาโกรัสเองจะเกิดมากกว่า 2,000 ปี

stonehenge-pythagoras-theorem-2

สโตนเฮนจ์ประกอบด้วยแท่งหินขนาดยักษ์ 112 ก้อน ตั้งเรียงกันเป็นวงกลมซ้อนกัน 3 วง แท่งหินบางอันตั้งขึ้น บางอันวางนอนลง และบางอันก็ถูกวางซ้อนอยู่ข้างบน นักโบราณคดีเชื่อว่าถูกสร้างขึ้นในยุคหินใหม่ (Neolithic age) แต่ที่ยังคงเป็นปริศนาอยู่คือกลุ่มหินประหลาดนี้สร้างขึ้นเพื่ออะไรและผู้คนในยุคนั้นซึ่งไม่มีเทคโนโลยีการทุ่นแรงใดๆสามารถยกก้อนหินหนัก 30 ตันขึ้นไปวางเรียงบนแท่งหินสูง 4 เมตรได้อย่างไร สโตนเฮนจ์ถูกจัดให้เป็นหนึ่งในเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคกลางและยังเป็นมรดกโลกอีกด้วย

stonehenge-pythagoras-theorem-3

ในหนังสือ Megalith เปิดเผยว่ามีการตรวจสอบลักษณะทางเรขาคณิตของสโตนเฮนจ์ แล้วได้ข้อสรุปที่น่าสนใจยิ่งว่ามันถูกสร้างขึ้นโดยนักดาราศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญที่เข้าใจวงโคจรของดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ และวัฏจักรการเกิดสุริยุปราคาเป็นอย่างดี และได้สร้างปฏิทินหินขนาดใหญ่โดยใช้ความรู้ทางเรขาคณิตขั้นสูง

Robin Heath หนึ่งในผู้ร่วมเขียนหนังสือได้เสนอว่ามีรูปสามเหลี่ยมพีทาโกรัสในพื้นที่ของอังกฤษที่เกิดจากการเชื่อมโยงของสถานที่สำคัญยุคก่อนประวัติศาสตร์ได้แก่ สโตนเฮนจ์ ทางตอนใต้,Preseli bluestones ในเวลส์ และเกาะ Lundy Island

stonehenge-pythagoras-theorem-4

พีทาโกรัสนักคณิตศาสตร์ชาวกรีกโบราณผู้มีชีวิตอยู่ในช่วงเวลาราว 500 ปีก่อนคริสต์ศักราชได้ค้นพบทฤษฏีบทสำคัญของเรขาคณิตเกี่ยวกับรูปสามเหลี่ยมมุมฉากที่บอกว่าผลรวมของค่ากำลังสองของความยาวด้านประกอบฉากเท่ากับค่ากำลังสองของความยาวด้านตรงข้ามฉากหรือสูตรอันโด่งดัง a² + b² = c² ซึ่งช่วยให้ช่างก่อสร้างใช้ในการสร้างมุมฉากที่สมบูรณ์แบบได้สำเร็จมานานนับพันปีมาแล้ว

หนังสือเล่มใหม่นี้ได้ระบุว่าภายในสโตนเฮนจ์มีรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่เกิดจากแท่งหิน 4 แท่ง ที่เมื่อแบ่งด้วยเส้นทแยงมุมจะได้รูปสามเหลี่ยมพีทาโกรัสที่สมบูรณ์แบบด้วยอัตราส่วนของความยาวด้านเท่ากับ 5:12:13

เส้น 8 เส้นที่ลากต่อจากรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าและสามเหลี่ยมยังสอดคล้องอย่างแม่นยำกับวันสำคัญในปฏิทินยุคหินใหม่อย่างเช่นวันครีษมายัน (summer solstice), วันเหมายัน (winter solstice) – วันที่มีกลางคืนยาวนานที่สุดในรอบปี, วันวสันตวิษุวัต (spring equinox) และวันศารทวิษุวัต (autumnal equinox) ซึ่งสองวันหลังนี้คือวันที่ดวงอาทิตย์อยู่ในตำแหน่งตั้งฉากกับเส้นศูนย์สูตรของโลกพอดี

stonehenge-pythagoras-theorem-5

นอกจากนี้มันยังกำหนดวันสำคัญในสมัยโบราณได้แก่วัน Imbolc วันเริ่มต้นฤดูใบไม้ผลิ, วัน Lammas วันเริ่มต้นฤดูเก็บเกี่ยว และวัน Samhain ตรงกับวันที่ 31 ตุลาคมซึ่งเป็นประเพณีที่มีการนำสัตว์เลี้ยงมาฆ่าบูชายัญที่ต่อมากลายเป็นวันฮาโลวีน

“ผู้คนมักคิดว่าบรรพบุรุษของเราเป็นมนุษย์ถ้ำที่หยาบกร้าน แต่พวกเขาเป็นนักดาราศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญ” John Matineau ผู้ร่วมเขียนหนังสืออีกคนหนึ่งกล่าว “พวกเขาใช้ทฤษฏีบทเรขาคณิตของพีทาโกรัสเมื่อกว่า 2,000 ปีก่อนที่พีทาโกรัสจะเกิด”

ใกล้ๆกับสโตนเฮนจ์ห่างออกไปทางตะวันออกเฉียงเหนือราว 2 ไมล์มีสิ่งก่อสร้างยุคเดียวกันคือ Woodhenge ซึ่งก็สร้างขึ้นโดยใช้สามเหลี่ยมมุมฉากด้วยเช่นกัน แต่เป็นสามเหลี่ยมที่อัตราส่วนความยาวด้านเท่ากับ 12:35:37

สามเหลี่ยมพีทาโกรัสยังถูกพบที่ Avebury ภายในวิหาร Druid Temple ในสกอตแลนด์, วงกลมหินแคสต์เลอร์ริกก์ (Castlerigg Stone Circle) ที่เมือง Keswick ทางตะวันตกเฉียงเหนือของอังกฤษ, วงกลมหิน Borrowston Rig และ Daviot Stone Circle ในสกอตแลนด์ แม้วงกลมหินเหล่านี้จะไม่ได้เป็นรูปวงกลมเต็มวง แต่มีการใช้เรขาคณิตของสามเหลี่ยมพีทาโกรัสซึ่งมักจะใช้ในอัตราส่วนของตัวเลขเต็มจำนวนหน่วยวัดในสมัยนั้นโดยอาจจะมีการใช้เชือกและหมุด

“นี่เป็นการละเลยต่อประวัติศาสตร์ของวิทยาศาสตร์ครั้งสำคัญที่เราไม่ได้มองเห็นอนุสรณ์สถานเหล่านี้อย่างที่มันเป็น” Robin Heath กล่าว “ผู้คนเห็นผู้สร้างสโตนเฮนจ์เป็นคนป่าเถื่อน แม้พวกเขาเรียนรู้มากมาย แต่มันถูกลืมไปหมดแล้ว”

 

ข้อมูลและภาพจาก telegraph.co.uk, fortune

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *