เตรียมชมจันทรุปราคา ‘พระจันทร์สีเลือด’ ที่ยาวนานที่สุดในศตวรรษที่ 21

ในคืนวันที่ 27 ต่อเช้าวันที่ 28 กรกฏาคม 2018 จะมีปรากฏการณ์พิเศษบนท้องฟ้าคือจันทรุปราคาที่นอกจากจะเป็นพระจันทร์สีเลือดหรือ Blood Moon แล้ว มันยังเป็นจันทรุปราคาที่ยาวนานที่สุดในศตวรรษที่ 21 นี้ด้วย และในเวลาเดียวกันยังจะมีโอกาสได้เห็นดาวอังคารที่โคจรมาอยู่ในตำแหน่งที่ใกล้ๆกันอีกด้วย

นักดาราศาสตร์ระบุว่าช่วงเวลาที่เกิดจันทรุปราคาแบบเต็มดวงในคืนดังกล่าวจะยาวนานถึง 1 ชั่วโมง 43 นาที เป็นจันทรุปราคาเต็มดวงที่ยาวนานที่สุดในศตวรรษที่ 21 เกือบจะยาวนานที่สุดตลอดกาลด้วย เพราะจันทรุปราคาเต็มดวงที่ยาวนานที่สุดเท่าที่เป็นไปได้นั้นคือ 1 ชั่วโมง 47 นาที และในครั้งนี้จะมีจันทรุปราคาบางส่วนที่เกิดก่อนและหลังจันทรุปราคาเต็มดวงอีกช่วงละ 1 ชั่วโมง 6 นาที รวมช่วงเวลาที่เกิดจันทรุปราคาทั้งหมดเกือบ 4 ชั่วโมงเลยทีเดียว

จันทรุปราคาเกิดขึ้นเมื่อดวงอาทิตย์, โลก, ดวงจันทร์อยู่ในแนวเดียวกัน และดวงจันทร์โคจรเข้ามาในเงาของโลก ในครั้งนี้เกิดจันทรุปราคายาวนานเป็นพิเศษเนื่องจากดวงจันทร์โคจรผ่านกลางเงามืด (Umbra) พอดีและดวงจันทร์ยังอยู่ในตำแหน่งไกลจากโลกมากที่สุด (Apogee) ซึ่งทำให้มันต้องโคจรผ่านเงามืดที่กว้างที่สุดอีกด้วย และเมื่อมันอยู่ในตำแหน่งไกลจากโลกมากที่สุดในคืนนั้นเราจะได้เห็นพระจันทร์เต็มดวงขนาดเล็กที่สุดด้วย

longest-lunar-eclipse-2

ช่วงเวลาเดียวกันนั้นบังเอิญว่าดวงอาทิตย์, โลก และดาวอังคารโคจรมาอยู่ในแนวเดียวกันหรือดาวอังคารอยู่ตรงข้ามกับดวงอาทิตย์พอดี และดาวอังคารอยู่ในตำแหน่งที่ใกล้โลกมากๆด้วยซึ่งทำให้เราสามารถมองเห็นมันสว่างมาก ลองนึกภาพดูในคืนพิเศษนี้มีดาวสีแดง 2 ดวงปรากฏอยู่ใกล้ๆกันและมองเห็นได้อย่างชัดเจน มันจะเป็นภาพที่น่าดูน่าประทับใจและหาดูได้ยากมาก

ผู้ที่อยู่ในซีกโลกตะวันออกเท่านั้นถึงจะสามารถมองเห็นจันทรุปราคาคราวนี้ได้อย่างชัดเจน ถือเป็นโชคดีของชาวไทยที่มีโอกาสได้เห็นปรากฏการณ์พิเศษครั้งนี้ สำหรับกำหนดเวลาการเกิดจันทรุปราคาเป็นดังนี้

01.24 น. : เริ่มเกิดจันทรุปราคาบางส่วน
02.30 น. : เริ่มเกิดจันทรุปราคาเต็มดวง
03.22 น. : ดวงจันทร์เข้าไปในเงามืดลึกที่สุด
04.13 น. : สิ้นสุดจันทรุปราคาเต็มดวง
05.19 น. : สิ้นสุดจันทรุปราคาบางส่วน

longest-lunar-eclipse-3

แม้ว่าจะต้องอดตาหลับขับตานอนกันสักหน่อยแต่เชื่อว่าสำหรับผู้ที่หลงใหลในความสวยงามของปรากฏการณ์ธรรมชาติคงจะไม่ยอมพลาดคืนพิเศษแบบนี้เป็นแน่ เตรียมตัวเตรียมอุปกรณ์กันให้พร้อมหากได้ภาพสวยๆอย่าลืมแชร์ให้ดูกันด้วยนะครับ

 

ข้อมูลและภาพจาก   earthsky.org, sciencealert

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *