เทคนิคใหม่หารอยรั่วในท่อประปาใต้ดินโดยการฟังเสียง

ในระบบการจ่ายน้ำประปาโดยเฉลี่ยแล้วมีน้ำรั่วออกจากท่อมากถึง 30 เปอร์เซ็นต์ แต่ปัญหามักจะเกิดอยู่ใต้ดินจึงยากที่จะระบุตำแหน่งที่แน่ชัดได้ ตอนนี้นักวิจัยที่มหาวิทยาลัย Concordia ประเทศแคนาดา ได้มีการพัฒนาเทคนิคสำหรับแก้ปัญหาเรื่องนี้ โดยใช้เครื่องบันทึกเสียงในการตรวจสอบจุดรั่วไหลใต้ดินที่มีความแม่นยำถึง 99.5 เปอร์เซ็นต์

เรื่องน้ำเป็นปัญหาใหญ่ระดับโลก และหนึ่งในสถานการณ์ที่เลวร้ายมากก็คือหนึ่งในสามของประชากรโลกคาดว่าจะประสบปัญหาขาดแคลนน้ำภายในปี 2025 และเมื่อเร็วๆนี้ MIT ได้ทำการศึกษาเรื่องนี้โดยใช้แบบจำลองคอมพิวเตอร์พบว่าประชากรจำนวนมากในเอเชียจะประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำภายในปี 2050

ทีมวิจัยของมหาวิทยาลัย Concordia จึงตัดสินใจที่จะมุ่งมั่นพัฒนาวิธีการที่ถูกต้องแม่นยำในการตรวจสอบหารอยรั่วไหลของน้ำซึ่งคาดว่าเป็นสาเหตุให้เกิดการสูญเสียน้ำประปาโดยเฉลี่ยระหว่าง 20 – 30 เปอร์เซ็นต์

หากคุณต้องการซ่อมแซมท่อประปาที่สงสัยว่ามีการรั่วไหล สิ่งสำคัญคือจะต้องรู้ให้แน่นอนว่าปัญหาเกิดตรงไหน การขุดหาจะเกิดความผิดพลาดง่าย ทำให้เสียเวลาและสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายที่มีราคาแพงทั้งการขุดและการถมปรับหน้าดินกลับคืน

วิธีการแก้ปัญหาของนักวิจัยคือการติดตั้งเครื่องบันทึกเสียง (Noise loggers) ทั่วทั้งเครือข่ายระบบท่อส่งน้ำ โดยติดตั้งที่บ่อพัก วาล์วหรือประตูน้ำ และให้เปิดเครื่องตามเวลาที่กำหนดไว้ซึ่งโดยปกติจะเป็นเวลากลางคืนเพราะมีเสียงรบกวนน้อยที่สุด เครื่องจะบันทึกความดังและการแพร่กระจายของเสียงเป็นเวลาสองชั่วโมง

จากข้อมูลที่ได้จากการบันทึก พวกเขาจะทำการวิเคราะห์เปรียบเทียบความดังและการแพร่กระจายของเสียง หากพบความผิดปกติอย่างคงเส้นคงวาแสดงว่ามีรอยรั่ว จากนั้นนักวิจัยจะใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์ในการระบุตำแหน่งที่แน่นอนของแต่ละจุดที่เกิดรอยรั่ว

“โดยวิธีนี้สามารถลดช่วงเวลาที่มีการรั่วไหล ลดค่าใช้จ่ายและเวลาในซ่อมแซม” Tarek Zayed หนึ่งในทีมวิจัย กล่าว

ทีมวิจัยได้ทำการทดสอบเทคนิคนี้ในประเทศกาตาร์ซึ่งมีอัตราปริมาณน้ำฝนต่ำสุดและอัตราการระเหยของน้ำสูงที่สุดในโลก ปัญหาการรั่วไหลของน้ำในประเทศนี้อยู่ในสถานการณ์ที่เลวร้ายมาก คาดว่ามีการรั่วไหลโดยเฉลี่ยที่ประมาณ 35 เปอร์เซ็นต์

ทีมวิจัยเปิดเผยว่าการทำงานที่กาตาร์โดยใช้เทคนิคดังกล่าวสามารถชี้ตำแหน่งรอยรั่วของระบบท่อประปาได้อย่างแม่นยำถึง 99.5 เปอร์เซ็นต์

ทีมงานมีความตั้งใจที่จะทดลองเทคนิคนี้ในสถานที่อื่นๆ ในขณะเดียวกันก็จะพัฒนาและปรับปรุงรูปแบบการทำนายตำแหน่งรอยรั่วให้ดียิ่งขึ้น

 

ข้อมูลและภาพจาก  gizmag, concordia

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *