อาณาจักรมายาปกครองด้วยระบบกษัตริย์ มีเมืองใหญ่หลายเมือง แต่ละเมืองมีการสร้างพีระมิดขั้นบันไดไว้จำนวนมาก เพื่อใช้เป็นวิหาร สถานที่บูชาเทพเจ้า หรือใช้เป็นสุสาน บางเมืองยังมีสนามกีฬาอีกด้วย แต่แล้วอาณาจักรที่เจริญรุ่งเรืองมานับพันปีกลับล่มสลายไปอย่างรวดเร็วด้วยสาเหตุที่ยังคงเป็นปริศนาลึกลับอยู่ถึงปัจจุบัน
นักวิทยาศาสตร์มีทฤษฎีของสาเหตุแห่งการล่มสลายของอาณาจักรมายาหลายทฤษฎี อย่างเช่น การตัดไม้ทำลายป่า, การมีประชากรมากเกินไป และเกิดภัยแล้งรุนแรง ในงานวิจัยล่าสุดบ่งชี้ว่าสาเหตุมาจากภัยแล้ง และเป็นครั้งแรกที่มีการระบุระดับความรุนแรงของภัยแล้งที่เกิดขึ้น
ภัยแล้งดังกล่าวเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้ว แต่นี่เป็นครั้งแรกที่มีการระบุปริมาณน้ำฝน, ความชื้นสัมพัทธ์ และการระเหยของน้ำในเวลานั้น นอกจากนี้ยังเป็นครั้งแรกที่มีการวิเคราะห์แร่ธาตุต่างๆและการสร้างแบบจำลองเพื่อตรวจสอบบันทึกสภาพภูมิอากาศในช่วงอารยธรรมของชาวมายันอีกด้วย
งานวิจัยใหม่นี้ได้วิเคราะห์แกนตะกอนดินซึ่งเป็นสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพภูมิอากาศมักจะทำเพื่อกำหนดเงื่อนไขหรือเหตุการณ์ในอดีต โดยใช้ตะกอนโคลนโบราณเป็นเหมือน “แคปซูลเวลา” ทางธรณีวิทยา แต่ละชั้นของตะกอนที่ฝังอยู่ใต้ดินมีข้อมูลปริมาณฝนตก อุณหภูมิ และมีแม้กระทั่งมลพิษทางอากาศ สภาพอากาศจะถูก “บันทึก” ในพื้นผิวดินในเวลานั้นและถูกฝังเอาไว้ นักวิทยาศาสตร์สามารถเจาะเอาตะกอนดินถึงระดับลึก และวิเคราะห์อย่างรอบคอบแต่ละชั้นแต่ละปีเพื่อสร้างไทม์ไลน์ขึ้นใหม่
ความแห้งแล้งครั้งใหญ่นี้เกิดขึ้นพร้อมๆกับปรากฏการณ์โลกร้อนในยุคกลาง (Medieval Warm Period) ซึ่งเชื่อว่าเกิดจากการลดลงของเถ้าภูเขาไฟในบรรยากาศและการเพิ่มขึ้นของอิทธิพลของแสงอาทิตย์ งานวิจัยก่อนหน้านี้แสดงให้เห็นว่าการตัดไม้ทำลายป่าของชาวมายันมีส่วนต่อการเกิดภัยแล้งด้วย
Nick Evans นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยแคมบริดจ์หนึ่งในทีมวิจัยบอกว่าเขาและทีมงานหวังว่างานวิจัยของพวกเขาจะมีส่วนช่วยนักโบราณคดีเข้าใจถึงผลกระทบของภัยแล้งในสมัยโบราณที่มีต่อการเพาะปลูกของชาวมายันในช่วงที่เกิดวิกฤติ
ข้อมูลและภาพจาก washingtonpost, sciencealert