งานวิจัยใหม่โดยนักวิจัยโรงเรียนสิ่งแวดล้อมนิโคลัส มหาวิทยาลัยดุ๊ก ประเทศสหรัฐฯ อ้างว่าได้พบแหล่งก๊าซไฮโดรเจนอย่างมากมายในหินเซอร์เพนทีนที่เกิดจากการเคลื่อนที่ของแผ่นเปลือกโลก หินเซอร์เพนทีนตั้งชื่อตามพื้นผิวที่มีลักษณะคล้ายงู เกิดขึ้นเมื่อน้ำทะเลเข้าไปในหินเพอร์โดไทต์ซึ่งเป็นส่วนประกอบของเปลือกโลก กระบวนการก่อตัวนี้ยังได้ผลิตโมเลกุลของแก๊สไฮโดรเจนด้วย
นักวิจัยมหาวิทยาลัยดุ๊กได้สร้างแบบจำลองที่แสดงให้เห็นว่าไฮโดรเจนจำนวนมากอาจจะก่อตัวอยู่ใต้พื้นมหาสมุทร “ในปริมาณมหาศาล” และแหล่งไฮโดรเจนฟรีเหล่านี้อาจจะไม่ได้หายากอย่างที่เคยคิดกัน
หากทฤษฎีของการศึกษานี้ถูกต้อง อาจนำไปสู่แหล่งเชื้อเพลิงไฮโดรเจนที่ใช้งานได้โดยไม่จำเป็นต้องมีแหล่งพลังงานอื่นเพื่อที่จะสร้างมันขึ้นมา
“ประโยชน์ที่สำคัญของงานนี้ก็คือว่ามันให้แบบจำลองของเปลือกโลกที่ไม่เพียงแต่จะระบุว่าก๊าซไฮโดรเจนอาจจะก่อตัวอยู่ใต้พื้นมหาสมุทร แต่ยังบอกอัตราและปริมาณการก่อตัวทั้งหมดทั่วโลก” Lincoln F. Pratson หนึ่งในนักวิจัยกล่าว
การเข้าถึงแหล่งเชื้อเพลิงดังกล่าวจะเป็นข่าวที่น่ายินดียิ่งของผู้ผลิตรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยก๊าซไฮโดรเจน เพราะพวกเขาจะสามารถแข่งขันในตลาดได้ดียิ่งขึ้น