ความสนใจได้มุ่งเน้นไปที่โลงศพหินแกะสลักที่ใช้ฝังกษัตริย์ Pakal ซึ่งมีบางคนเชื่อแบบผิดๆว่าผู้ปกครองเมืองมายานั่งอยู่ที่แผงควบคุมของยานอวกาศ
แต่ Gonzalez กล่าวว่ารูปแกะสลักบนหินอุดหูคู่หนึ่งที่พบในหลุมฝังศพบอกว่า “พระเจ้าจะนำทางไปสู่ยมโลกโดยการจุ่มพวกเขาลงไปในน้ำ แล้วพวกเขาจะได้รับการต้อนรับที่นั่น”
วิหารแห่งศิลาจารึกเป็นหนึ่งในโครงการก่อสร้างที่ซับซ้อนที่สุดเท่าที่ชาวมายันเคยทำมา และเป็นเวลาหลายร้อยปีที่พีระมิดหินได้ตั้งตระหง่านเหนือเมืองโบราณและเก็บซ่อนความลับลึกอยู่ภายใน
จนกระทั่งถึงปีค.ศ. 1952 นักโบราณคดีชาวเม็กซิกัน Alberto Ruz Lhuillier ค้นพบบันไดที่ซ่อนอยู่ภายในวิหาร ซึ่งได้นำไปสู่หลุมฝังศพที่มีโครงกระดูกที่ถูกตกแต่งด้วยอัญมณี สวมหน้ากากหยกโมเสค โครงกระดูกเป็นของกษัตริย์ Pakal ผู้ปกครองอาณาจักรมายันในช่วงศตวรรษที่ 7 และเป็นผู้สร้างพีระมิดในช่วงปลายของการครองบัลลังก์เกือบ 70 ปีของเขา
ภายในหลุมฝังศพมีรูปแกะสลัก 640 รูป เขียนโดยอาลักษณ์หลวงบอกเล่าเรื่องราวของการครองราชย์ของกษัตริย์ Pakal จนกระทั่งตายในปี ค.ศ. 683 รูปแกะสลักบนฝาโลงศพหินปูนบรรยายการฟื้นคืนชีพของกษัตริย์และการเดินทางไปสู่ชีวิตหลังความตาย
ในปี 2012 นักวิจัยได้พบความผิดปกติของสภาพใต้พื้นดินที่ด้านหน้าของพีระมิดจากการสำรวจโดยเรดาร์ พวกเขากลัวว่าอาจจะเป็นหลุมหรือรอยเลื่อนที่อาจทำให้พีระมิดทรุดตัวหรือพังทลายลงมาได้ พวกเขาจึงขุดที่บริเวณนั้น แล้วก็พบก้อนหินที่วางเรียงอย่างดี 3 ชั้นปิดทับอยู่เหนืออุโมงค์
Gonzalez กล่าวว่าหินที่ใช้ปิดทับอุโมงค์เป็นชนิดเดียวกับหินที่พื้นของหลุมฝังศพกษัตริย์ Pakal ภายในพีระมิด
เขากล่าวว่าดูเหมือนจะไม่มีช่องที่เชื่อมต่อระหว่างหลุมฝังศพกับอุโมงค์ แต่อุโมงค์ยังไม่ได้ถูกสำรวจทั้งหมดเพราะมันมีขนาดเล็กเกินกว่าที่จะคลานผ่านไปได้ ซึ่งนักวิจัยได้มีการส่งหุ่นยนต์พร้อมกล้องลงไปสำรวจดูเพิ่มเติมแล้ว
Francisco Estrada-Belli ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านโบราณคดีที่มหาวิทยาลัยบอสตันที่ไม่ได้มีส่วนร่วมในการค้นพบครั้งนี้กล่าวว่า “ผมเชื่อว่าการสร้างหลุมฝังศพเหนือลำธารสอดคล้องกับความเชื่อที่ว่าลำธารเป็นประตูสู่ยมโลก”
ข้อมูลและภาพจาก sci-tech-today, history