ไมเคิล ฟาราเดย์ “บิดาแห่งไฟฟ้า” นักวิทยาศาสตร์ยิ่งใหญ่ผู้สงบเสงี่ยมเจียมตัว

ไมเคิล ฟาราเดย์ (Michael Faraday) เป็นนักฟิสิกส์และนักเคมีผู้ค้นพบการเหนี่ยวนำแม่เหล็กไฟฟ้าและเป็นผู้ตั้งกฏของอิเล็กโทรลิซิส ที่สำคัญเขาได้ประดิษฐ์คิดค้นเครื่องกำเนิดไฟฟ้าที่ไม่ต้องใช้ปฏิกิริยาเคมีเป็นครั้งแรกคือไดนาโม (Dynamo) อันเป็นต้นแบบของเครื่องกำเนิดไฟฟ้าในปัจจุบัน ซึ่งนำไปสู่ความก้าวหน้าและการใช้ประโยชน์จากไฟฟ้าอย่างอเนกอนันต์ ได้รับการยกย่องเป็น “บิดาแห่งไฟฟ้า” ฟาราเดย์เป็นนักทดลองผู้มุ่งมั่นพยายามและไม่เคยย่อท้อ เขาจึงมีผลงานที่ยอดเยี่ยมทั้งสาขาฟิสิกส์และเคมีมากมาย เป็นนักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในยุคสมัยของเขาและเป็นหนึ่งในนักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ของโลกตลอดกาล แต่เขากลับใช้ชีวิตแบบเรียบง่ายสงบเสงี่ยมเจียมตัว ไม่สนใจแสวงหาฐานะทางสังคม เขาคือตัวอย่างของผู้ประสบความสำเร็จยิ่งใหญ่ด้วยความมานะพยายามอย่างแท้จริง

 
เด็กด้อยโอกาสมุ่งมั่นศึกษาด้วยตัวเอง

michael-faraday-02

ไมเคิล ฟาราเดย์ เป็นชาวอังกฤษ เกิดเมื่อปี 1791 ที่หมู่บ้านเล็กๆชื่อ Newington Butts อยู่ทางตอนใต้ของกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ มีพี่น้องสี่คนเขาเป็นคนที่สาม พ่อเป็นช่างตีเหล็กมีฐานะยากจน เขาจึงมีโอกาสเรียนในโรงเรียนแค่ระดับชั้นประถมแล้วก็ต้องออกมาทำงานหาเงินช่วยครอบครัว ตอนอายุ 14 ปีได้ทำงานในร้านหนังสือเริ่มต้นจากการเป็นเด็กส่งหนังสือพิมพ์ ฟาราเดย์ทำงานด้วยความตั้งใจและขยันขันแข็ง เจ้าของร้านจึงเลื่อนขั้นเป็นช่างเย็บปกและซ่อมหนังสือ ซึ่งเป็นโอกาสให้เขาเข้าถึงหนังสือต่างๆมากมาย ฟาราเดย์สนใจในวิชาเคมีและไฟฟ้า หนังสือเคมีเล่มโปรดของเขาคือ Conversations on Chemistry ส่วนเรื่องไฟฟ้าและอื่นๆเขาศึกษาจากหนังสือ The Encyclopedia Britannica เป็นหลัก

ฟาราเดย์นอกจากจะมานะพยายามอ่านหนังสือศึกษาความรู้อย่างมุ่งมั่นแล้ว เขายังเป็นคนที่มีความจำดีมากและชอบจดบันทึกสิ่งที่ศึกษาเอาไว้ ทำให้เขาเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็ว พอเขามีความรู้มากขึ้นจึงเริ่มเจียดเงินที่อยู่น้อยนิดไปซื้ออุปกรณ์และสารเคมีเพื่อทำการทดลองพิสูจน์ยืนยันสิ่งที่เขาเรียนรู้จากการอ่านหนังสือ นอกจากนี้เขายังพยายามหาโอกาสเข้าไปฟังการบรรยายทางวิทยาศาสตร์ในเรื่องที่เขาสนใจของนักวิทยาศาสตร์คนสำคัญที่ได้จัดการบรรยายต่อสาธารณะเป็นครั้งคราว โดยมีพี่ชายซึ่งเป็นช่างตีเหล็กคอยช่วยเหลือเรื่องเงินค่าตั๋ว ฟาราเดย์ทำงานไปพร้อมกับมุ่งมั่นศึกษาหาความรู้และทำการทดลองด้วยตัวเองจนกระทั่งเขาเป็นคนที่มีความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ดีมากคนหนึ่ง

 
รางวัลของความพยายามหรือโชคช่วย?

michael-faraday-03

ปี 1812 ขณะที่ฟาราเดย์มีอายุ 20 ปีเขาได้รับโอกาสสำคัญในชีวิตอย่างไม่คาดฝัน เมื่อลูกค้าร้านหนังสือคนหนึ่งมอบตั๋วเข้าฟังการบรรยายของ Sir Humphry Davy ศาสตราจารย์เคมีที่กำลังโด่งดังที่ราชสมาคมแห่งอังกฤษ (Royal Institution) เขาเข้าฟังการบรรยายและการทดลองของนักวิทยาศาสตร์ชื่อดังผู้นี้รวม 4 ครั้งเป็นเรื่องเกี่ยวกับการกำหนดความเป็นกรดซึ่งเป็นเรื่องใหม่ทางเคมีในตอนนั้น ฟาราเดย์เขียนหนังสือโดยอาศัยสิ่งที่เขาจดบันทึกไว้ระหว่างฟังการบรรยายเป็นหนังสือเขียนด้วยมือจำนวน 300 หน้าเข้าเล่มอย่างดีแล้วส่งไปให้ Davy ซึ่งได้ตอบกลับเขามาทันทีว่าชื่นชอบหนังสือของฟาราเดย์มาก

ปีเดียวกันนั่นเอง Davy ได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุในห้องทดลองทำให้เขาเขียนหนังสือไม่สะดวก เขาจึงติดต่อให้ฟาราเดย์มาทำงานเป็นผู้ช่วยจดบันทึกต่างๆให้เป็นการชั่วคราวจนกว่าเขาจะทำเองได้ หลังจากฟาราเดย์เสร็จสิ้นการไปช่วยงาน Davy ไม่นานนัก มีผู้ช่วยในห้องทดลองคนหนึ่งของ Davy ถูกไล่ออกเพราะประพฤติมิชอบ Davy จึงติดต่อให้ฟาราเดย์มาทำงานเป็นผู้ช่วยด้านเคมีของเขาแบบถาวร ไม่ว่ามันจะเป็นรางวัลของความพยายามหรือว่าโชคช่วยก็ตาม แต่นี่คือฝันที่เป็นจริงของฟาราเดย์ เพราะเขามีโอกาสเป็นส่วนหนึ่งของการทำงานด้านวิทยาศาสตร์ที่เขารักในสถาบันที่ยิ่งใหญ่อย่างราชสมาคมแห่งอังกฤษ และยังได้เป็นผู้ช่วยของนักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังมากที่สุดคนหนึ่งของโลกด้วย

 
จากเด็กรับใช้ไต่เต้าจนเป็นศาสตราจารย์

michael-faraday-04

ฟาราเดย์เริ่มทำงานที่ราชสมาคมแห่งอังกฤษในปี 1813 และพักอาศัยอยู่ที่ห้องใต้หลังคาของสถาบัน เขาทำงานหลายอย่างตั้งแต่ล้างทำความสะอาดและเก็บเครื่องมืออุปกรณ์ในห้องทดลอง เตรียมสารเคมีและเครื่องมือสำหรับการทดลอง รวมทั้งเป็นผู้ช่วยในห้องบรรยาย ฟาราเดย์ได้เห็นการทำงานของ Davy ที่สำคัญเขาได้อ่านหนังสือในห้องสมุดของสถาบันซึ่งเป็นคลังความรู้ที่ทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่ง ฟาราเดย์ขยันทำงานเก่ง และมีความรู้ดีเป็นที่ไว้วางใจของ Davy มอบหมายการเตรียมการทดลองสำคัญโดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับไนโตรเจนไตรคลอไรด์ (NCl3) ซึ่งเคยทำให้ Davy ได้รับบาดเจ็บมาแล้ว และทั้งคู่ก็ได้รับบาดเจ็บจากมันอีกจนได้

ปลายปี 1813 Davy มีทัวร์เดินทางไปหลายประเทศในยุโรปนานถึง 18 เดือนเพื่อไปบรรยาย แสดงการทดลองทางวิทยาศาสตร์ และรับเหรียญเกียรติยศ เขาให้ฟาราเดย์เดินทางไปกับเขาด้วยในฐานะผู้ช่วยและเลขานุการ รวมทั้งได้ขอร้องให้ฟาราเดย์ช่วยทำหน้าที่คนรับใช้ของครอบครัวของเขาในช่วงการเดินทางด้วยเนื่องจากผู้รับใช้ประจำไม่ยอมไป ภรรยาของ Davy กลับมองเขาเป็นแค่เด็กรับใช้ต่ำชั้น คอยกีดกันไม่ให้ร่วมโต๊ะ และมิได้ปฏิบัติต่อเขาอย่างเท่าเทียมในฐานะผู้ช่วยด้านวิทยาศาสตร์ของสามี สิ่งนี้สร้างความขมขื่นอนาถใจแก่ฟาราเดย์มาก แต่ผลพวงของการไปทัวร์ยุโรปมีประโยชน์ต่อเขาอย่างมาก ไม่เพียงได้เปิดโลกทัศน์ด้านวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ เขายังได้พบปะกับนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำของโลกหลายคนรวมทั้ง André-Marie Ampère และ Alessandro Volta

หลังกลับจากทัวร์ยุโรปทางสถาบันได้เพิ่มเงินเดือนให้ฟาราเดย์ จากนั้นไม่นานเขาก็เริ่มทำงานวิจัยด้วยตัวเอง ปี 1816 ฟาราเดย์เริ่มตีพิมพ์ผลงานทางวิชาการและเป็นผู้บรรยายครั้งแรกด้วยเรื่องเกี่ยวกับสมบัติของสสาร ต่อมาเขาริเริ่มการบรรยายวิชาการประจำปีของสถาบันที่เรียกว่า Royal Institution Christmas Lectures ซึ่งดำเนินมาอย่างต่อเนื่องถึงปัจจุบัน ฟาราเดย์เป็นผู้บรรยายในรายการนี้ถึง 19 ครั้ง หลังจากนั้นเขาก็มีผลงานการคิดค้นวิจัยมากมาย ตำแหน่งหน้าที่ทางวิชาการที่สถาบันก็ก้าวหน้าเป็นลำดับ ปี 1824 ฟาราเดย์ได้รับเลือกเป็นสมาชิกของราชสมาคมแห่งลอนดอน (Royal Society) ปีถัดมาได้เป็นผู้อำนวยการห้องทดลองของสถาบัน ในปี 1833 ได้รับตำแหน่งศาตราจาร์วิชาเคมีของสถาบัน และเขาดำรงตำแหน่งนี้ไปจนกระทั่งเสียชีวิต

 
ประดิษฐ์มอเตอร์ไฟฟ้าสำเร็จเป็นคนแรก

michael-faraday-05

ปี 1820 Hans Christian Ørsted ค้นพบเรื่องแม่เหล็กไฟฟ้าทำให้บรรดานักวิทยาศาสตร์ทำการค้นคว้าเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับแม่เหล็กไฟฟ้ากันอย่างมากมาย รวมทั้ง Davy และ William Hyde Wollaston นักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษอีกคนหนึ่งที่ได้พยายามออกแบบมอเตอร์ไฟฟ้าแต่ไม่สำเร็จ ฟาราเดย์ได้สนทนาหารือในปัญหาเรื่องนี้กับทั้งสองคน จากนั้นเขาได้คิดประดิษฐ์อุปกรณ์ที่ทำให้เกิดการหมุนด้วยแม่เหล็กไฟฟ้า อุปกรณ์นี้ปัจจุบันเรียกว่า Homopolar motor มันสามารถเคลื่อนที่หมุนเป็นวงกลมอย่างต่อเนื่องด้วยแรงแม่เหล็กรอบเส้นลวดที่แหย่ลงไปที่ปรอทซึ่งบรรจุอยู่ในภาชนะที่ได้ติดตั้งแท่งแม่เหล็กเอาไว้ เมื่อจ่ายกระแสไฟฟ้าเข้าไปเส้นลวดจะหมุนรอบแท่งแม่เหล็ก แม้ว่ามอเตอร์ของฟาราเดย์ยังนำไปใช้งานจริงไม่ได้ แต่ได้แสดงให้เห็นว่าพลังงานไฟฟ้าสามารถเปลี่ยนเป็นพลังงานกลได้ เป็นการเริ่มต้นและปูพื้นฐานของเทคโนโลยีแม่เหล็กไฟฟ้าเอาไว้แล้ว

michael-faraday-06

ด้วยความตื่นเต้นในความสำเร็จของผลงานชิ้นนี้ ฟาราเดย์ได้ตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานไปโดยไม่ได้แสดงการขอบคุณต่อ Davy และ Wollaston เรื่องนี้ก่อให้เกิดความตึงเครียดเกิดขึ้นในสถาบันและความสัมพันธ์ที่แย่ลงกับ Davy และอาจมีส่วนต่อการที่ฟาราเดย์ได้รับการมอบหมายให้ทำงานด้านอื่นเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เขามีส่วนร่วมกับงานวิจัยเกี่ยวกับแม่เหล็กไฟฟ้านานหลายปี

 
เปลี่ยนวิถีชาวโลกด้วยเครื่องกำเนิดไฟฟ้า

michael-faraday-07

ปี 1831 หลังจาก Davy เสียชีวิต 2 ปีฟาราเดย์ได้ทำการทดลองเกี่ยวกับแม่เหล็กไฟฟ้าครั้งใหญ่ เขาทำการทดลองหลายอย่างและได้ค้นพบเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งนั่นคือการเหนี่ยวนำแม่เหล็กไฟฟ้า (Electromagnetic induction) เขาค้นพบการเหนี่ยวนำไฟฟ้าจากการทดลองพันลวดหุ้มฉนวนกับวงแหวนเหล็กสองด้านแยกเป็นสองวงจร เมื่อจ่ายกระแสไฟฟ้าให้ขดลวดด้านหนึ่งจะมีการเหนี่ยวนำให้เกิดกระแสไฟฟ้าในขดลวดอีกวงจรหนึ่ง ปรากฏการณ์นี้ปัจจุบันเรียกว่าการเหนี่ยวนำซึ่งกันและกัน (Mutual induction)

michael-faraday-08

ในการทดลองต่อมาฟาราเดย์พบว่าเมื่อเขาเคลื่อนที่แท่งแม่เหล็กผ่านขดลวดจะเกิดกระแสไฟฟ้าไหลในขดลวดนั้น และหากเขาเคลื่อนที่ขดลวดผ่านแท่งแม่เหล็กที่หยุดนิ่งอยู่กับที่ก็จะมีกระแสไฟฟ้าไหลในขดลวดเช่นกัน เขาทำการทดลองจนค้นพบว่าขนาดของแรงเคลื่อนไฟฟ้าเหนี่ยวนําเป็นปฏิภาคโดยตรงกับอัตราการเปลี่ยนแปลงฟลักซ์แม่เหล็กที่ผ่านพื้นที่ในวงจรนั้น เขียนเป็นสมการได้ว่า michael-faraday-13 สิ่งที่เขาค้นพบจากการทดลองนี้ต่อมาเรียกว่ากฎการเหนี่ยวนำของฟาราเดย์ (Faraday’s law of induction) ซึ่งเป็นหลักการสำคัญพื้นฐานที่นำไปสู่การพัฒนาสร้างหม้อแปลงไฟฟ้า, มอเตอร์ไฟฟ้า, เครื่องกำเนิดไฟฟ้า และอุปกรณ์ไฟฟ้าอื่นอีกหลายชนิด เช่น ตัวเหนี่ยวนำและโซลินอยด์ เป็นต้น

ฟาราเดย์ใช้การเหนี่ยวนำแม่เหล็กไฟฟ้าที่เขาค้นพบประดิษฐ์เครื่องกำเนิดไฟฟ้าที่สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าอย่างต่อเนื่องเครื่องแรกของโลกที่เรียกว่า Faraday disk ปัจุบันเรียกเครื่องกำเนิดไฟฟ้ากระแสตรงชนิดนี้ว่า Homopolar generator หรือไดนาโม (Dynamo) อันเป็นต้นแบบของเครื่องกำเนิดไฟฟ้าในปัจจุบันนั่นเอง ไดนาโมของฟาราเดย์ใช้แม่เหล็กรูปเกือกม้าสร้างสนามแม่เหล็กผ่านแผ่นจาน เมื่อจานถูกหมุนจะเหนี่ยวนำให้เกิดกระแสไฟฟ้าเป็นรัศมีจากศูนย์กลางออกไปยังขอบจาน กระแสไฟฟ้าไหลผ่านหน้าสัมผัสที่เป็นสปริงผ่านออกไปสู่วงจรภายนอก และกลับเข้ามาที่ศูนย์กลางจานทางแกนของจาน ผลงานนี้ได้นำไปสู่ความก้าวหน้าและการใช้ประโยชน์จากไฟฟ้าอย่างอเนกอนันต์ เป็นปัจจัยหลักในการดำรงชีวิตของชาวโลกในปัจจุบัน

michael-faraday-09

 
ผลงานยอดเยี่ยมทั้งสาขาฟิสิกส์และเคมี

michael-faraday-10

ฟาราเดย์เชื่อว่าการทดลองเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการพิสูจน์ยืนยันความเป็นจริงในธรรมชาติ เขาจึงกระหายการทดลองแบบไม่มีขีดจำกัด เมื่อเขามีแนวคิดเรื่องใดขึ้นมาเขาจะหาวิธีทดลองพิสูจน์ให้รู้แน่ชัด แม้ว่าการทดลองของเขาจะล้มเหลวมากเพียงใดก็ตามเขาไม่เคยย่อท้อ เขาจะพยายามทำการทดลองต่อไปจนกว่าจะสำเร็จ สิ่งนี้มีส่วนสำคัญที่ทำให้เขามีผลงานที่ยอดเยี่ยมจำนวนมาก นอกเหนือจากความพยายามศึกษาเรียนรู้ที่เป็นนิสัยติดตัวเขามาตั้งแต่เด็ก และต่อไปนี้เป็นผลงานสำคัญบางส่วนของเขาซึ่งมีมากมายทั้งสาขาฟิสิกส์และเคมี

ประดิษฐ์มอเตอร์ไฟฟ้า – ฟาราเดย์สร้างอุปกรณ์ที่ทำให้เกิดเคลื่อนที่เป็นวงกลมด้วยแรงแม่เหล็กไฟฟ้าซึ่งเขาเรียกว่า “Electromagnetic Rotation” เมื่อปี 1821 ซึ่งถือว่าเป็นมอเตอร์ไฟฟ้าตัวแรก และยังถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของเทคโนโลยีแม่เหล็กไฟฟ้า

การทำความเย็น – ปี 1823 ฟาราเดย์ค้นพบวิธีทำให้ก๊าซแอมโมเนียกลายเป็นของเหลวที่อุณหภูมิห้องได้โดยใช้แรงดันสูง และเมื่อปล่อยให้มันระเหยเป็นก๊าซจะทำให้เกิดความเย็น หลักการนี้ถูกนำไปพัฒนาสร้างตู้เย็นและตู้แช่แข็ง

คิดค้นเหล็กกล้าไร้สนิม – ปี 1823 ฟาราเดย์ค้นพบวิธีการทำเหล็กกล้ามีความแข็งแรงทนทานมากกว่าเดิมและไม่เป็นสนิม โดยการนำเหล็กมาผสมกับนิเกิลกลายเป็นเหล็กสเตนเสส (Stainless Steel) ซึ่งถูกนำมาใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวาง

ค้นพบเบนซิน – ฟาราเดย์ค้นพบเบนซินเมื่อปี 1825 เบนซินมีสูตรเคมี C6H6 จัดเป็นหนึ่งในสารไฮโดรคาร์บอน สามารถนำมาใช้ประโยชน์หลายอย่างในอุตสาหกรรม

ค้นพบการเหนี่ยวนำแม่เหล็กไฟฟ้า – ฟาราเดย์ทำการทดลองจนค้นพบการเหนี่ยวนำแม่เหล็กไฟฟ้าในปี 1831 เขาใช้หลักการสำคัญนี้ประดิษฐ์เครื่องกำเนิดไฟฟ้าหรือไดนาโมเป็นครั้งแรกในปีเดียวกัน

คิดค้นกฏอิเล็กโทรลิซิส – ปี 1834 ฟาราเดย์ได้คิดค้นหลักการสำคัญของกระบวนการอิเล็กโทรลิซิสตั้งเป็นกฎสองข้อเรียกกันว่า Faraday’s Laws of Electrolysis ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของวิชาไฟฟ้าเคมี (Electrochemistry)

ประดิษฐ์กรงฟาราเดย์ – ฟาราเดย์ค้นพบหลักการและประดิษฐ์กรงฟาราเดย์ในปี 1836 กรงฟาราเดย์สร้างจากตัวนำไฟฟ้าหรือร่างแห (mesh) ของตัวนำนั้น มีคุณสมบัติสามารถกีดขวางไม่ให้สนามไฟฟ้าเข้าไปภายในกรงได้ หลักการนี้ถูกนำไปใช้ประโยชน์หลายอย่าง เช่น ไมโครเวฟ เป็นต้น

ค้นพบไดอะแมกเนติก – ปี 1845 ฟาราเดย์ค้นพบว่าวัสดุจำนวนมากแสดงให้เห็นถึงแรงผลักดันอย่างอ่อนจากสนามแม่เหล็กซึ่งเป็นสมบัติเฉพาะของวัสดุแต่ละอย่าง เขาเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า ไดอะแมกเนติก (Diamagnetism)

 
นักวิทยาศาสตร์ยิ่งใหญ่ผู้สงบเสงี่ยมเจียมตัว

michael-faraday-11

แม้ว่าฟาราเดย์จะเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในยุคสมัยของเขา แต่เขากลับใช้ชีวิตแบบเรียบง่ายสงบเสงี่ยมเจียมตัว ไม่สนใจแสวงหาฐานะทางสังคม เขากับภรรยาพักอาศัยในห้องพักของสถาบันราชสมาคมแห่งอังกฤษอย่างยาวนานถึง 46 ปีจวบจนกระทั่งเขาเสียชีวิตในปี 1867 ด้วยวัย 75 ปี ฟาราเดย์เคยได้รับการเสนอให้เป็นอัศวินซึ่งถือว่าเป็นเกียรติยศสูงสุดแต่เขาปฏิเสธเพราะเห็นว่าขัดกับหลักศาสนาที่เขานับถือ และเคยได้รับการเสนอให้ดำรงตำแหน่งนายกราชสมาคมแห่งอังกฤษอันทรงเกียรติถึงสองครั้งในปี 1848 และปี 1858 แต่เขาก็ปฏิเสธเช่นกัน

Sir Humphry Davy สุดยอดนักเคมีคนหนึ่งของโลกซึ่งเป็นผู้ค้นพบธาตุใหม่จำนวนมากเคยพูดแบบขำๆว่าการค้นพบที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของเขาคือไมเคิล ฟาราเดย์ Albert Einstein สุดยอดนักวิทยาศาสตร์ของโลกติดรูปฮีโรในดวงใจของเขาไว้ที่ห้องทำงาน 3 คน หนึ่งในนั้นเป็นรูปของฟาราเดย์ (อีกสองคนคือ Isaac Newton และ James Maxwell) เขาคือตัวอย่างของผู้ประสบความสำเร็จยิ่งใหญ่ด้วยความมานะพยายามอย่างแท้จริง ฟาราเดย์ผู้ได้รับการยกย่องเป็น “บิดาแห่งไฟฟ้า” คือหนึ่งในนักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ของโลกตลอดกาล

michael-faraday-12

 

ข้อมูลและภาพจาก   famousscientists.org, wikipedia, britannica

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *