ฟิล์มกรองแสงชนิดใหม่ดูดซับแสงอาทิตย์เก็บไว้แล้วค่อยๆปล่อยออกมาตอนกลางคืน

เมื่อสองปีก่อนมีการเสนอระบบ MOST (Molecular Solar Thermal Storage) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีสำหรับใช้เก็บพลังงานแสงอาทิตย์ไว้ในของเหลวระหว่างฤดูร้อนถึงฤดูหนาว แล้วนำพลังงานนั้นมาใช้ทำความร้อนให้กับบ้านทั้งหลังในฤดูหนาว ขณะนี้เทคโนโลยีดังกล่าวถูกนำมาประยุกต์ใช้กับฟิล์มใสเพื่อใช้ติดที่หน้าต่างเพื่อประหยัดการใช้พลังงานในอาคาร

ฟิล์มกรองแสงชนิดใหม่ถูกพัฒนาขึ้นที่มหาวิทยาลัย Chalmers University of Technology ประเทศสวีเดน ด้วยแนวคิดที่แตกต่างโดยสิ้นเชิงจากฟิล์มกรองแสงที่มีใช้อยู่ในปัจจุบันซึ่งใช้การย้อมให้มีสีทึบเพื่อป้องกันความร้อนจากแสงสว่างที่มองเห็น (Visible Light) กับการเคลือบโลหะหรือสารพิเศษเพื่อสะท้อนรังสีอินฟาเรดออกไป แต่ฟิล์ม MOST ใช้วิธีใส่โมเลกุลชนิดพิเศษเข้าไปในฟิล์มซึ่งทำให้มันมีสีส้ม-เหลืองตอนที่ยังไม่โดนแดด

เมื่อดวงอาทิตย์ขึ้นในตอนเช้าและรังสีของมันไปกระทบฟิล์ม MOST ที่หน้าต่าง โมเลกุลพิเศษในฟิล์มจะจับโฟตอนเอาไว้ทำให้เกิดการไอโซเมอไรเซชั่น (Isomerization) มีการจัดเรียงโครงสร้างของโมเลกุลใหม่ ผลคือทำให้ฟิล์มกลายเป็นใสไม่มีสีและสามารถเก็บความร้อนของแสงอาทิตย์ส่วนใหญ่เอาไว้ไม่ให้เข้าไปในห้อง อากาศภายในอาคารจึงยังเย็นอยู่ได้นานลดความจำเป็นที่จะต้องใช้เครื่องปรับอากาศ

พอถึงตอนกลางคืนเมื่อไม่มีแสงอาทิตย์มากระทบโมเลกุลพิเศษในฟิล์มจะเปลี่ยนกลับไปอยู่ในรูปแบบเดิม พร้อมกับค่อยๆปล่อยความร้อนที่มันเก็บสะสมเอาไว้ออกมาภายในห้องในระยะเวลานานถึง 8 ชั่วโมงซึ่งช่วยลดความจำเป็นที่จะต้องเปิดฮีทเตอร์ เป็นการประหยัดพลังงาน 2 ต่อทั้งในตอนกลางวันและตอนกลางคืน เหมาะมากสำหรับอาคารในภูมิภาคที่มีสภาพอากาศกลางวันร้อนกลางคืนหนาว

สิ่งที่นักวิจัยกำลังดำเนินการอยู่คือการเพิ่มความเข้มข้นของโมเลกุลพิเศษและทำให้ต้นทุนของโมเลกุลต่ำลง เชื่อว่าเป้าหมายทั้งสองอย่างจะสำเร็จในเวลาอันสั้น และเราคงจะได้เห็นฟิล์มกรองแสงชนิดใหม่นี้ถูกนำมาใช้งานในเชิงพาณิชย์ในเร็วๆนี้

คลิกชมวิดีโอร่นเวลาแสดงเทคโนโลยีนี้ที่ข้างล่าง

 

ข้อมูลและภาพจาก chalmers.se, azocleantech

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *