พิษของหอยเต้าปูนอาจนำมาใช้ในการผลิตอินซูลินชนิดออกฤทธิ์เร็วมากได้

หอยเต้าปูนใช้พิษที่ออกฤทธิ์อย่างรวดเร็วทำให้เหยื่อของพวกมันเป็นอัมพาต นั่นคือข่าวร้ายสำหรับปลาที่มักตกเป็นเหยื่อ แต่อาจเป็นข่าวดีสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน งานวิจัยใหม่ชี้ให้เห็นว่า “อินซูลินสังหาร” ที่ผลิตโดยสัตว์ทะเลเหล่านี้มีประสิทธิภาพมากกว่ายาทั่วไปที่ใช้ในการรักษาโรคระดับน้ำตาลในเลือดสูงอย่างมาก

หอยเต้าปูน (Cone snail) เป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง พบได้ตามแถบแนวปะการังเปลือกมีสีสันสดใส และมีลวดลายสวยงาม ดึงดูดสายตา จัดเป็นสัตว์นักล่า กินเนื้อ มักจะล่าหนอนทะเล ปลาเล็กๆ หอย หรือแม้กระทั่งหอยเต้าปูนด้วยกันเองเป็นอาหาร

ในขณะที่ล่าสัตว์หอยเต้าปูนจะหลั่งอินซูลินออกมาพร้อมกับสารพิษอื่นๆลงไปในน้ำ เมื่อปลาที่ไม่รู้ตัวว่ายเข้ามาใกล้ๆ น้ำพิษนี้จะทำให้น้ำตาลในเลือดของมันลดดิ่งต่ำลงอย่างเร็ว ส่งผลให้ปลามีอาการมึนงงอยู่ในภวังค์จากภาวะขาดน้ำตาลในเลือด หอยเต้าปูนจึงเข้าไปจับกินได้อย่างง่ายดาย

ในงานวิจัยใหม่ทีมวิจัยจากประเทศสหรัฐอเมริกาและออสเตรเลียแสดงให้เห็นว่าอาวุธใต้น้ำนี้อาจสร้างแรงบันดาลใจในการพัฒนายารักษาโรคเบาหวานที่ออกฤทธิ์เร็วในมนุษย์ การวิเคราะห์โมเลกุลของพิษของหอยเต้าปูนได้เผยศักยภาพของมัน มันออกฤทธิ์เร็วกว่าอินซูลินชนิดออกฤทธิ์เร็วตัวที่ดีที่สุด มันเริ่มทำงานในเวลาเพียง 5 นาที ขณะที่อินซูลินชนิดออกฤทธิ์เร็วที่สุดใช้เวลา 15 นาทีจึงจะเริ่มทำงาน

“คุณพิจารณาสิ่งที่หอยเต้าปูนทำให้เกิดผลต่อร่ายกายของเหยื่อ และคุณใช้มันเป็นจุดเริ่มต้น” Helena Safavi นักชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยยูทาห์ กล่าว “คุณจะได้ความคิดใหม่ๆจากพิษของมัน การที่มีสิ่งที่ได้รับการพัฒนามาแล้วย่อมเป็นประโยชน์มาก”

เช่นเดียวกับหอยเต้าปูน มนุษย์ก็ผลิตอินซูลินด้วย แต่ใช้ในการควบคุมปริมาณของน้ำตาลในเลือด เมื่อร่างกายไม่สามารถผลิตอินซูลินได้เพียงพอ (ซึ่งก็คือการเป็นโรคเบาหวาน) จะทำให้น้ำตาลในเลือดสูง ผู้ป่วยโรคเบาหวานบางคนจะได้รับการฉีดอินซูลินสังเคราะห์ในการรักษา

Safavi และเพื่อนร่วมงานค้นพบว่าอินซูลินของหอยเต้าปูนแตกต่างจากอินซูลินของมนุษย์และอินซูลินสังเคราะห์ในเรื่องที่สำคัญมาก คือ มันไม่มีโมเลกุลบางส่วนที่ทำให้เกิดการติดแน่นกับโมเลกุลอื่นๆ ทำให้มันทำงานได้อย่างรวดเร็ว

ตามรูปด้านล่างเปรียบเทียบโครงสร้างอินซูลินของหอยเต้าปูน (สีแดง-ขาว) กับ โครงสร้างอินซูลินของมนุษย์ (สีน้ำเงิน-ขาวและเขียว) จะเห็นว่าส่วนสีเขียวจะไม่มีในหอยเต้าปูน

cone-snail-insulin-2

การทดสอบกับตัวรับอินซูลินแสดงให้เห็นว่าอินซูลินของหอยเต้าปูนไม่ดีเท่ากับอินซูลินของมนุษย์ แต่ความสามารถในการออกฤทธิ์ได้เร็วมันน่าสนใจสำหรับการรักษาในอนาคต มีความจำเป็นที่จะต้องทำการทดสอบอีกมากเพื่อตรวจสอบว่าอินซูลินของหอยเต้าปูนส่งผลต่อร่างกายมนุษย์อย่างไร และจะเป็นไปอย่างที่นักวิจัยคาดหวังไว้หรือไม่

“คนมักคิดว่าการคิดค้นยาเป็นเรื่องง่าย” Safavi กล่าว “แต่คุณจะเริ่มต้นอย่างไร คุณต้องมีแนวคิดบางอย่างว่ายาควรมีลักษณะแบบไหน มีคุณสมบัติอย่างไร มันเป็นเรื่องยากมากในการออกแบบยาชนิดใหม่ มันเป็นเรื่องที่ต้องเรียนรู้จากธรรมชาติ”

“ขั้นต่อไปของงานวิจัยของเราซึ่งกำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้ คือ นำผลที่ได้จากการค้นพบในครั้งนี้ไปทำการออกแบบการรักษาโรคเบาหวานใหม่ที่ดีกว่าเดิม เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงอินซูลินที่ออกฤทธิ์ได้เร็ว” Safavi กล่าวสรุป

 

ข้อมูลและภาพจาก  gizmodo, newatlas

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *