ฟริทซ์ ฮาเบอร์ วีรบุรุษนักเคมีผู้ปราดเปรื่องหรืออาชญากรใจบาปในสงครามเคมี?

ฟริทซ์ ฮาเบอร์ (Fritz Haber) เป็นนักเคมีผู้คิดค้นวิธีสังเคราะห์แอมโมเนียจากก๊าซไนโตรเจนและก๊าซไฮโดรเจนให้ได้ในปริมาณมากๆ ทำให้สามารถผลิตแอมโมเนียในระดับอุตสาหกรรมได้ซึ่งมีประโยชน์ต่อโลกอย่างมหาศาลเพราะแอมโมเนียเป็นส่วนประกอบสำคัญในการผลิตปุ๋ยไนโตรเจน ทำให้เกษตรกรสามารถเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรได้มากจนเพียงพอสำหรับจำนวนประชากรโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว กระบวนการสังเคราะห์แอมโมเนียของฮาเบอร์ถือเป็นหนึ่งในความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่สำคัญที่สุดในศตวรรษที่ 20 แต่ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 ฮาเบอร์ช่วยกองทัพเยอรมันพัฒนาก๊าซพิษจากก๊าซคลอรีนและก๊าซอื่นๆใช้เป็นอาวุธสงครามซึ่งได้คร่าชีวิตทหารฝ่ายสัมพันธมิตรไปหลายพันคน ทำให้เขากลายเป็นอาชญากรสงครามในสายตาของชาวโลก

 
ลูกพ่อค้าสารเคมีมุ่งมั่นเป็นนักเคมี

fritz-haber-02

ฟริทซ์ ฮาเบอร์ เป็นชาวเยอรมัน เกิดเมื่อปี 1868 ที่เมือง Breslau ในเขตปรัสเซียแคว้นหนึ่งของชนชาติเยอรมัน ครอบครัวของฮาเบอร์เป็นชาวยิวมีฐานะดี พ่อของเขาเป็นพ่อค้าคนสำคัญในเมืองเป็นเจ้าของกิจการค้าสีย้อม เม็ดสี และยา แม่ของฮาเบอร์เสียชีวิตไปหลังคลอดเขาได้เพียง 3 สัปดาห์ พ่อของเขาแต่งงานใหม่ตอนเขาอายุ 6 ปี ความสัมพันธ์ระหว่างเขากับพ่อไม่ค่อยดีนัก แต่เขากลับใกล้ชิดสนิทสนมกับแม่เลี้ยงและน้องต่างมารดาอีก 3 คนมากกว่า

ฮาเบอร์เข้าเรียนที่โรงเรียนในเมืองบ้านเกิดซึ่งมีเด็กนักเรียนจากหลายศาสนามาเรียนรวมกัน แม้ว่าครอบครัวของเขายังคงปฏิบัติตามประเพณีของชาวยิวหลายอย่าง แต่ฮาเบอร์ได้หลอมรวมเข้ากับสังคมเยอรมันทำให้เขามีความเป็นเยอรมันมากกว่ายิว ฮาเบอร์เรียนจบชั้นมัธยมในปี 1886 ตอนแรกพ่ออยากให้เขาไปฝึกงานในบริษัททำสีย้อมเพื่อจะได้มาช่วยงานที่บ้านได้ แต่เขาอยากเรียนต่อในวิชาเคมีซึ่งก็ถือว่าไม่ขัดกับวัตถุประสงค์ของพ่อ ฮาเบอร์จึงได้เรียนวิชาเคมีในระดับมหาวิทยาลัยอย่างที่ตั้งใจ

 
ย้ายที่เรียนหลายที่กว่าจะเรียนจบ

fritz-haber-03

ฮาเบอร์เลือกไปเรียนที่มหาวิทยาลัย Friedrich Wilhelm ในกรุงเบอร์ลิน แต่เรียนได้แค่เทอมเดียวก็ย้ายไปเรียนที่มหาวิทยาลัยไฮเดลเบิร์ก ซึ่งเรียนได้เทอมเดียวก็ย้ายอีก คราวนี้เขากลับมาเรียนในกรุงเบอร์ลินอีกครั้งที่วิทยาลัย Technical College of Charlottenburg ถึงปี 1889 ก็ต้องหยุดเรียน 1 ปีเพราะถูกเรียกตัวไปเป็นทหารตามกฎหมาย พอครบกำหนดก็กลับมาเรียนที่เดิมจนกระทั่งทำวิทยานิพนธ์เสร็จ แต่เขาต้องไปเสนอวิทยานิพนธ์ที่มหาวิทยาลัย Friedrich Wilhelm เพราะในขณะนั้นวิทยาลัย Charlottenburg ยังไม่สามารถให้การรับรองในระดับปริญญาเอกได้ ฮาเบอร์ได้รับอนุมัติวิทยานิพนธ์และจบปริญญาเอกเกียรตินิยมอันดับ 3 ในปี 1891

หลังจากเรียนจบฮาเบอร์ก็กลับบ้านไปทำงานในธุรกิจด้านสารเคมีของพ่อ แต่พวกเขาเข้ากันไม่ได้มีปัญหาขัดแย้งกันอยู่เรื่อย ด้วยความยินยอมพร้อมใจกันของทั้งคู่ฮาเบอร์จึงออกไปทำงานหาประสบการณ์ในบริษัทด้านเคมีหลายแห่งซึ่งทำให้เขาพบว่าตัวเองต้องเรียนเกี่ยวกับกระบวนการด้านเทคนิคเพิ่มเติม เขาจึงไปลงเรียนที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์เทอมหนึ่งก่อนที่จะกลับมาทำงานในบริษัทของพ่ออีกครั้งหนึ่ง แต่ปัญหาเดิมๆก็กลับมาจนในที่สุดฮาเบอร์ตัดสินใจหันหลังให้กับธุรกิจของพ่อแล้วเลือกไปทำงานด้านวิชาการเป็นอาจารย์สอนหนังสือและทำวิจัยซึ่งเขาคิดว่าน่าทำได้ดีกว่า

 
กว่าจะเป็นศาสตราจารย์ก็ไม่ได้ง่าย

fritz-haber-04

ปี 1892 ฮาเบอร์เริ่มต้นเข้าสู่แวดวงงานทางวิชาการด้วยการไปเป็นผู้ช่วย Ludwig Knorr ที่มหาวิทยาลัยเยนาราว 2 ปีแล้วย้ายไปเป็นผู้ช่วยของ Carl Engler ที่มหาวิทยาลัย Karlsruhe อยู่พักหนึ่งก่อนย้ายไปเป็นผู้ช่วยของ Hans Bunte ที่มหาวิทยาลัยเดียวกัน ผลงานการทำวิจัยกับ Bunte ช่วยให้เขาได้เป็นอาจารย์ผู้สอนที่มหาวิทยาลัย Karlsruhe พร้อมกับทำงานวิจัยด้านเทคโนโลยีสีย้อม ปี 1897 ฮาเบอร์เริ่มสนใจศึกษาและทำวิจัยด้านไฟฟ้าเคมี (Electrochemistry) มีผลงานเขียนหนังสือด้านไฟฟ้าเคมีออกมาในปี 1898 ซึ่งมีส่วนช่วยให้เขาได้รับตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ในปลายปีเดียวกัน

ฮาเบอร์ทำงานวิจัยและมีผลงานสำคัญออกมาหลายด้าน ทั้งเรื่องสีย้อมและสิ่งทอ, ไฟฟ้าเคมี, อิเล็กโทรลิซิส และเทอร์โมไดนามิกส์ รวมทั้งได้ออกหนังสือเล่มที่สองของเขา Thermodynamics of technical gas-reactions ในปี 1905 ที่ต่อมาได้รับการยกย่องว่าเป็นแบบอย่างของความถูกต้องและความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในสาขาเคมีอุณหพลศาสตร์ และในปี 1906 ฮาเบอร์ได้รับการแต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์เคมีฟิสิกของมหาวิทยาลัย Karlsruhe อย่างเต็มตัว

 
วีรบุรุษนักเคมีช่วยให้โลกพ้นวิกฤต

fritz-haber-05

ปี 1898 William Crookes นักเคมีและนักฟิสิกส์คนสำคัญของอังกฤษได้กล่าวเตือนว่าโลกกำลังจะเผชิญกับวิกฤตการณ์อาหารขาดแคลน เนื่องจากประชากรของโลกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในขณะที่ผลผลิตทางการเกษตรไม่สามารถเพิ่มได้มากเนื่องจากมีปุ๋ยไนโตรเจนไม่เพียงพอ สาเหตุเป็นเพราะแอมโมเนียที่เป็นส่วนประกอบสำคัญของปุ๋ยไนโตรเจนเป็นสารเคมีที่พบในปริมาณน้อยมากในธรรมชาติและการสังเคราะห์แอมโมเนียในเวลานั้นก็ทำได้ในปริมาณที่น้อยมากเช่นกัน Crookes ได้เรียกร้องนักเคมีให้พัฒนาวิธีการผลิตปุ๋ยจากไนโตรเจนที่มีอยู่ในชั้นบรรยากาศจำนวนมหาศาล (อากาศมีก๊าซไนโตรเจนประมาณ 78%) แม้จะเป็นเรื่องที่ยากมากเพราะก๊าซไนโตรเจนค่อนข้างเฉื่อยต่อปฏิกิริยา

ในหนังสือ Thermodynamics of technical gas-reactions ฮาเบอร์ได้บันทึกการผลิตแอมโมเนีย (NH3) จำนวนเล็กน้อยจากก๊าซไนโตรเจน (N2) และ ก๊าซไฮโดรเจน (H2) ด้วยฏิกิริยาเคมี 3H2 + N2 → 2NH3 ที่อุณหภูมิ 1,000 °C โดยใช้เหล็กเป็นตัวเร่งปฏิกิริยา ต่อมาเขาตัดสินใจพยายามสังเคราะห์แอมโมเนียและทำได้สำเร็จในปี 1909 หลังจากค้นหาตัวเร่งปฏิกิริยาที่เหมาะสมโดยการหมุนเวียนไนโตรเจนและไฮโดรเจนเหนือตัวเร่งปฏิกิริยาที่ความดัน 150 – 200 บรรยากาศและอุณหภูมิประมาณ 500 °C จากนั้นฮาเบอร์ได้ร่วมมือกับ Carl Bosch นักเคมีชาวเยอรมันจากบริษัท BASF ช่วยกันคิดค้นวิธีขยายขนาดกระบวนการสังเคราะห์แอมโมเนียให้ได้ปริมาณมากๆสามารถนำไปผลิตในระดับอุตสาหกรรมได้สำเร็จ ต่อมากระบวนการดังกล่าวว่าถูกเรียกว่ากระบวนการฮาเบอร์-บ็อช (Haber–Bosch process)

fritz-haber-09

กระบวนการฮาเบอร์-บ็อชทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในอุตสาหกรรมเคมี เพราะแอมโมเนียที่เป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีไนโตรเจนเป็นส่วนประกอบหลักซึ่งเคยเป็นของหายากและมีอยู่จำกัดได้กลายเป็นสารที่ผลิตขึ้นได้อย่างมากมายแทบไม่มีขีดจำกัด ปุ๋ยไนโตรเจนถูกผลิตออกมาเป็นจำนวนมากช่วยเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรได้มากเพียงพอรองรับประชากรของโลกที่เพิ่มขึ้นได้ ฮาเบอร์จึงเป็นเหมือนวีรบุรุษนักเคมีที่ช่วยให้โลกพ้นวิกฤตการขาดแคลนอาหาร ปัจจุบันมีการผลิตปุ๋ยไนโตรเจนสังเคราะห์ทั่วโลกมากกว่า 100 ล้านตันต่อปี และจากผลงานนี้ทำให้ฮาเบอร์ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมีในปี 1918

 
ยอมเป็นอาชญากรใจบาปเพื่อชาติ

fritz-haber-06

เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 1 เริ่มขึ้นในปี 1914 ฮาเบอร์เป็นหนึ่งในนักวิทยาศาสตร์ นักวิชาการ และศิลปินคนสำคัญจำนวน 93 คนที่ได้ร่วมลงนามในแถลงการณ์ Manifesto of the Ninety-Three ซึ่งให้การสนับสนุนการทำสงครามของเยอรมัน เขาเข้าไปเป็นหัวหน้าแผนกเคมีของกองทัพเยอรมันและเป็นหัวหน้าทีมพัฒนาอาวุธเคมีอันได้แก่ก๊าซคลอรีนและก๊าซพิษอื่นๆสำหรับใช้ในสงครามสนามเพลาะ กองทัพเยอรมันใช้อาวุธเคมีของฮาเบอร์สังหารชีวิตทหารฝ่ายสัมพันธมิตรไปหลายพันคน ฮาเบอร์เคยกล่าวไว้ว่าในช่วงเวลาที่สงบนักวิทยาศาสตร์ทำงานให้กับโลก แต่เวลาเกิดสงครามเขาจะต้องทำงานเพื่อประเทศชาติของเขา

ฮาเบอร์เป็นชาวเยอรมันผู้รักชาติ เขาภูมิใจในสิ่งที่ได้ทำลงไปในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 แต่ในสายตาของชาวโลกเขากลายเป็นอาชญากรสงครามใจบาป แม้แต่ Clara Immerwahr ภรรยาของเขาเองยังประท้วงเขาด้วยการฆ่าตัวตายหลังการใช้ก๊าซคลอรีนครั้งแรกในสงครามที่เบลเยียมซึ่งทำให้มีผู้บาดเจ็บมากกว่า 67,000 คน หลังสงครามผู้คนในแวดวงนักวิชาการพากันวิพากษ์วิจารณ์ฮาเบอร์ว่าเป็นคนไร้มนุษยธรรม รวมทั้งประท้วงการมอบรางวัลโนเบลให้แก่เขา แต่ฮาเบอร์บอกว่าความตายก็คือความตายไม่ว่าจะตายด้วยวิธีใดก็ตาม Alfred Nobel ผู้ให้กำเนิดรางวัลโนเบลเป็นผู้ประดิษฐ์ดินระเบิดไดนาไมท์ที่ใช้สร้างอาวุธฆ่าคน แม้กระทั่งเงินรางวัลโนเบลก็มาจากเงินที่ได้จากการขายอาวุธสงคราม

 
บั้นปลายของบิดาแห่งสงครามเคมี

fritz-haber-07

หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ฮาเบอร์ผู้ซึ่งในเวลาต่อมาถูกเรียกเป็น “บิดาแห่งสงครามเคมี” ยังคงช่วยกองทัพเยอรมันพัฒนาอาวุธเคมีต่อไป รวมทั้งยังพยายามค้นหาวิธีการสกัดทองคำจากน้ำทะเลเพื่อนำมาช่วยเยอรมันชดใช้ค่าปฏิกรรมสงครามตามสนธิสัญญาแวร์ซาย แต่หลังจากทำวิจัยอยู่หลายปีเขาก็ได้ข้อสรุปว่าความเข้มข้นของทองคำที่ละลายอยู่ในน้ำทะเลนั้นต่ำกว่าที่นักวิจัยรายงานไว้ก่อนหน้านี้มากและการสกัดทองคำจากน้ำทะเลนั้นไม่คุ้มค่า นอกจากนี้เขายังร่วมกับ Max Born คิดค้น Born-Haber cycle ซึ่งเป็นวิธีหาพลังงานโครงผลึก ครั้นถึงปี 1932 พรรคนาซีขึ้นครองอำนาจในเยอรมันฮาเบอร์ก็ต้องพบกับปัญหาอย่างหนักเนื่องจากเขามีเชื้อสายยิว

อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ผู้ยึดอุดมการณ์รวมกลุ่มเยอรมันต่อต้านยิวได้ออกคำสั่งปลดเจ้าหน้าที่ชาวยิวทั้งหมด การเป็นผู้รักชาติและช่วยเหลือกองทัพเยอรมันอย่างเต็มที่ในสงครามโลกครั้งที่ 1 ของฮาเบอร์ไม่ได้ช่วยอะไรเลย เขาลาออกจากทุกตำแหน่งแล้วเดินทางออกจากเยอรมันในปี 1933 การหนีไปอยู่ต่างประเทศของฮาเบอร์ทำให้เขาต้องมีชีวิตอยู่อย่างยากลำบาก ไม่ค่อยมีใครต้อนรับ ไม่มีงานทำ เขาต้องไปพักช่วงสั้นๆหลายที่ทั้งปารีส สเปน และสวิตเซอร์แลนด์ ยังดีที่มีนักวิทยาศาสตร์บางคนซึ่งเคยอยู่ฝั่งตรงข้ามตอนสงครามโลกครั้งที่ 1 ให้การช่วยเหลือจนได้พักและทำงานที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์อยู่ระยะหนึ่ง

ต่อมาฮาเบอร์ได้รับข้อเสนอให้ไปเป็นศาสตราจารย์ที่สถาบัน Sieff Research Institute ในอิสราเอล ปี 1934 ระหว่างที่ฮาเบอร์ซึ่งเป็นโรคหลอดเลือดสมองและโรคหัวใจอยู่แล้วเดินทางไปที่นั่นเขาเกิดหัวใจวายเสียชีวิตในวัย 65 ปี ฮาเบอร์เป็นนักเคมีที่ประสบความสำเร็จด้วยผลงานอันยอดเยี่ยม แม้ว่าบางคนมองเขาเป็นอาชญากรสงครามใจบาปไร้มนุษยธรรม แต่ผลงานของฮาเบอร์มีคุณค่ามหาศาลต่อชาวโลกเพราะอาหารพื้นฐานของประชากรโลกในปัจจุบันครึ่งหนึ่งขึ้นอยู่กับกระบวนการฮาเบอร์-บ็อชที่เขาเป็นผู้คิดค้น

fritz-haber-08

 
ข้อมูลและภาพจาก wikipedia, nobelprize.org, britannica

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *