พายุทะเลทรายในแอฟริกาพัดฝุ่นก้อนมหึมาข้ามมหาสมุทรไปถึงสหรัฐอเมริกา

พายุที่ทะเลทรายซาฮาราได้พัดเอาก้อนฝุ่นขนาดมหึมาใหญ่กว่าพื้นที่ประเทศไทยฟุ้งข้ามทวีปแอฟริกาและมหาสมุทรแอตแลนติกเป็นระยะทางกว่า 8,000 กม.ไปถึงประเทศสหรัฐอเมริกา ก้อนเมฆฝุ่นยักษ์นี้ถูกเรียกว่า “Godzilla” เพราะมันเป็นก้อนฝุ่นจากทะเลทรายซาฮาราที่ใหญ่ที่สุดในรอบ 50 ปี

ทุกๆปีในช่วงฤดูร้อนฝุ่นที่ทะเลทรายซาฮาราจำนวนนับ 100 ล้านตันจะถูกพายุพัดหอบข้ามทวีปแอฟริกาไปตกในมหาสมุทรแอตแลนติกและทวีปอเมริกา เป็นปรากฏการณ์ประจำปีที่เรียกว่า “Saharan Air Layer” เพียงแต่ว่าในปีนี้ก้อนฝุ่นมีขนาดใหญ่มากมีความยาวถึง 5,600 กม.และความสูงของก้อนฝุ่นประมาณ 1.5 – 6.0 กม. ความสูงของมันพอๆกับภูเขา Denali ซึ่งเป็นภูเขาที่สูงที่สุดในทวีปอเมริกาเหนือ ด้วยความใหญ่ยักษ์ของมันนี่เองมันจึงถูกเรียกว่า “Godzilla” มาตั้งแต่ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

องค์การอวกาศยุโรป (ESA) ได้เฝ้าติดตามปรากฏการณ์นี้มาตลอดทั้งเดือนมิถุนายนด้วยดาวเทียม Copernicus Sentinel-5P ที่ถูกออกแบบมาเพื่อศึกษาอนุภาคขนาดเล็กในอากาศ เช่น ฝุ่นและมลพิษ พวกเขาพบว่า “Godzilla” มีฝุ่นมากกว่า “Saharan Air Layer” ครั้งที่มีฝุ่นมากที่สุดเท่าที่เคยบันทึกเอาไว้ราว 60 – 70% วิดีโอด้านล่างแสดงเส้นทางการเดินทางข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกของ “Godzilla”


 
ปรากฏการณ์ Saharan Air Layer หรือฝุ่นจากทะเลทรายซาฮารานี้มีผลกระทบต่อสภาพล้อมและระบบนิเวศหลายอย่าง โดยทั่วไปแล้วฝุ่นจะตกและจมลงในมหาสมุทรแอตแลนติกและกลายเป็นอาหารของแพลงตอน และเมื่อไปถึงพื้นดินของทวีปอเมริกามันก็จะไปมีส่วนเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศ รวมทั้งไปเพิ่มปุ๋ยให้กับป่าอเมซอนในทวีปอเมริกาใต้

อีกทั้งมันยังมีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศได้อีกด้วย โดยมันสามารถรบกวนการก่อตัวของพายุโซนร้อนและพายุเฮอริเคนให้มีน้อยลง แต่ถ้ามันไปถึงบริเวณที่มีคนอาศัยอยู่ละก็มันจะเป็นมลพิษทางอากาศที่เป็นอันตรายซึ่งอาจก่อให้เกิดอาการแพ้และการโจมตีของโรคหอบหืด

อีกเหตุการณ์หนึ่งที่นักวิทยาศาสตร์คาดว่าจะได้เห็นจากอิทธิพลของเจ้า “Godzilla” เมื่อมันมาถึงชายฝรั่งสหรัฐอเมริกา เม็ดฝุ่นจำนวนมหาศาลจะสะท้อนแสงอาทิตย์ในทุกทิศทุกทางทำให้สีสันบรรยากาศบนท้องฟ้าจะเปลี่ยนไปจากเดิม คลื่นแสงสีแดงและสีส้มมีแนวโน้มที่จะแทรกซึมเข้าไปในก้อนเมฆที่มีฝุ่นนี้มากขึ้น ส่งผลให้พระอาทิตย์ขึ้นและตกดินน่าจะสวยงามเป็นพิเศษ

saharan-dust-plume-2

 

ข้อมูลและภาพจาก space, livescience

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *