อี. โอ. วิลสัน นักชีววิทยาผู้เชี่ยวชาญเรื่องมด “บิดาแห่งชีววิทยาสังคม”

อี. โอ. วิลสัน (Edward Osborne Wilson) เป็นนักชีววิทยาผู้เชี่ยวชาญเรื่องมด, ชีววิทยาสังคม และความหลากหลายทางชีวภาพ เขาศึกษาวิวัฒนาการของมดและการพัฒนาไปสู่สปีชีส์ใหม่ รวมทั้งเป็นผู้ค้นพบวิธีการติดต่อสื่อสารของมดด้วยสารฟีโรโมน วิลสันศึกษาวิจัยและพัฒนาทฤษฎีเกี่ยวกับชีวภูมิศาสตร์และทฤษฎีด้านระบบนิเวศวิทยา เขามีผลงานสำคัญด้านชีววิทยาสังคมทั้งของสัตว์และมนุษย์โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับยีนส์ แต่ผลงานที่สร้างชื่อเสียงให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างคือการเขียนหนังสือด้านชีววิทยาโดยเขาได้รับรางวัลพูลิตเซอร์ (Pulitzer Prizes) ถึง 2 ครั้ง นอกจากนี้เขายังมีบทบาทสำคัญในการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอดอีกด้วย วิลสันได้รับยกย่องเป็นทั้ง “บิดาแห่งชีววิทยาสังคม” และ “บิดาแห่งความหลากหลายทางชีวภาพ”

 
เด็กตาขวาบอดผู้สนใจในมดและแมลง

e-o-wilson-02

อี. โอ. วิลสัน เป็นชาวอเมริกัน เกิดเมื่อปี 1929 ที่เมืองเมืองเบอร์มิ่งแฮม รัฐแอละแบมา ประเทศสหรัฐอเมริกา พ่อกับแม่ของเขาหย่ากันตอนเขาอายุ 7 ปี เขาอยู่กับพ่อและแม่เลี้ยง เนื่องจากพ่อเป็นนักบัญชีที่ย้ายที่ทำงานบ่อยเขาจึงเติบโตอยู่แถวรอบกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.และในชนบทที่เมือง Mobile รัฐแอละแบมา ในวัยเด็กวิลสันสนใจใคร่รู้ในเรื่องธรรมชาติวิทยาโดยเฉพาะพวกแมลง นก และสัตว์เลื้อยคลาน ปีเดียวกับที่พ่อแยกทางกับแม่เขาประสบอุบัติเหตุขณะกำลังตกปลาโดนครีบของปลาแทงเข้าที่ตาข้างขวาต้องเข้ารับการผ่าตัด ตาข้างขวาของเขาเกือบบอดความสามารถในการมองเห็นลดลงมากและไม่สามารถมองเห็นภาพแบบสามมิติได้อีก ยังดีที่ตาข้างซ้ายมีความพิเศษสามารถมองเห็นรายละเอียดของสิ่งเล็กๆได้ดีกว่าคนอื่นมาก ดังนั้นเขาจึงหันไปมุ่งความสนใจที่พวกมดและแมลงโดยอัตโนมัติ

วิลสันในวัย 9 ปีได้มีโอกาสเดินทางไปที่สวนสาธารณะ Rock Creek Park ในกรุงวอชิงตันซึ่งอยู่ไม่ไกลจากบ้าน เด็กน้อยเริ่มเก็บรวมรวมแมลงและผีเสื้อที่เขาชื่นชอบ จนวันหนึ่งเขาดึงเปลือกต้นไม้ที่เน่าเปื่อยออกและค้นพบมดชนิดหนึ่งทำรังอยู่ใต้เปลือกไม้มีลักษณะตัวอ้วนสั้นสีเหลืองสดใสและปล่อยกลิ่นออกมาคล้ายกลิ่นมะนาว เหตุการณ์นี้ทำให้เขาประทับใจอย่างไม่รู้ลืมและนั่นคือจุดเริ่มต้นที่เขาได้ทำการศึกษาเรื่องมดอย่างจริงจัง วิลสันทำการสำรวจมดทุกชนิดที่มีในรัฐแอละแบมาโดยได้รับการสนับสนุนจากผู้เชี่ยวชาญเรื่องมดคนหนึ่งที่พิพิธภัณฑ์ National Museum of Natural History ในกรุงวอชิงตัน ผลจากการสำรวจดังกล่าวทำให้เขาเป็นผู้รายงานการพบฝูงมดคันไฟ (Fire ants) ฝูงแรกบนแผ่นดินสหรัฐอเมริกาเมื่อตอนเขาอายุ 13 ปี พอใกล้เรียนจบชั้นมัธยมวิลสันจึงตัดสินใจที่จะเป็นนักกีฏวิทยาและเป็นผู้รอบรู้เชี่ยวชาญเรื่องมด

 
นักวิจัยคนเก่งเจ้าของฉายา “Dr. Ant”

e-o-wilson-03

ตอนแรกวิลสันกลัวว่าครอบครัวจะไม่สามารถส่งเสียเขาเรียนในมหาวิทยาลัยได้ เขาจึงไปสมัครเป็นทหารในกองทัพสหรัฐหวังจะได้เงินสนับสนุนในการศึกษาของเขา แต่ก็ต้องผิดหวังเนื่องจากปัญหาความพิการทางสายตา วิลสันจึงไปเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยแอละแบมาเพราะค่าเล่าเรียนถูก เขาเรียนจบทั้งระดับปริญญาตรีและปริญญาโทสาขาชีววิทยาที่นี่ จากนั้นในปี 1951 จึงไปเรียนต่อในระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดและเลือกทำวิทยานิพนธ์เรื่องมด เขาเดินทางไปค้นหาและศึกษามดทั่วโลก ปี 1955 วิลสันได้รับปริญญาเอกสาขาชีววิทยาพร้อมกับจัดทำการวิเคราะห์ทางอนุกรมวิธานของมดชนิด Lasius เสร็จสมบูรณ์

ปี 1956 วิลสันได้รับการแต่งตั้งเป็นนักวิจัยที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ช่วงแรกเขาทำงานเป็นนักอนุกรมวิธานเรื่องมดซึ่งเป็นงานที่ต่อเนื่องจากการทำวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกโดยเน้นไปที่วิวัฒนาการของมดและวิธีการพัฒนาไปสู่สปีชีส์ใหม่ของพวกมัน มดเป็นสัตว์สังคมอยู่รวมกันเป็นฝูง มีการแบ่งหน้าที่กันทำงาน มีการสื่อสารถึงกันอยู่ตลอดเวลา แต่พวกมันไม่มีหูในการติดต่อสื่อสารโดยตรง วิลสันจึงค้นหาวิธีการสื่อสารของพวกมันแล้วก็พบว่ามดใช้สารฟีโรโมนในการติดต่อสื่อสาร มดจะปล่อยสารฟีโรโมนซึ่งมดด้วยกันสามารถรับรู้และแปลความหมายได้ เช่น บอกทิศทางแหล่งอาหารหรือแจ้งเตือนว่ากำลังมีศัตรูเข้ามารุกราน เป็นต้น การที่วิลสันมุ่งศึกษาเรื่องมดมาตั้งแต่เด็กจนกระทั่งเรียนจบปริญญาเอกแล้วยังทำวิจัยเกี่ยวกับมดอย่างต่อเนื่องจนเริ่มมีผลงานที่โดดเด่นทำให้เขาถูกตั้งฉายาเป็น “Dr. Ant” ซึ่งบ่งบอกตัวตนของเขาได้เป็นอย่างดี

 
พัฒนาทฤษฎีนิเวศวิทยา : ชีวภูมิศาสตร์

e-o-wilson-04

จากการไปศึกษาวิจัยมดที่หมู่เกาะเมลานีเซียในมหาสมุทรแปซิฟิกทำให้วิลสันสนใจศึกษาชีวภูมิศาสตร์ (Biogeography) ซึ่งว่าด้วยการกระจายของสายพันธุ์สิ่งมีชีวิตและระบบนิเวศในพื้นที่ต่างๆของโลกผ่านช่วงเวลาทางธรณีวิทยา โดยเขาเลือกศึกษาชีวภูมิศาสตร์ของเกาะเนื่องจากเป็นพื้นที่ขนาดเล็กมีความซับซ้อนน้อยกว่า สามารถดำเนินการวิจัยสร้างแบบจำลองภาคสนามได้ง่ายกว่า อีกทั้งมีสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศแบบทั่วไปผลที่ได้จากการศึกษาชีวภูมิศาสตร์ที่เกาะสามารถนำไปปรับใช้กับระบบนิเวศอื่นทั้งหมดได้ วิลสันได้ทำการศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลร่วมกับ Robert MacArthur นักคณิตศาสตร์และนักนิเวศวิทยาที่มหาวิทยาลัยพรินซ์ตันแล้วตั้งทฤษฎีมีใจความสำคัญ 3 ประการคือ

1. จำนวนสปีชีส์บนเกาะเป็นปฏิภาคโดยตรงกับขนาดของเกาะ

2. จำนวนสปีชีส์บนเกาะเป็นปฏิภาคผกผันกับระยะทางระหว่างเกาะกับแผ่นดินใหญ่

3. จำนวนสปีชีส์บนเกาะจะรักษาความสมดุลอยู่ตลอดเวลา เมื่อมีการเพิ่มจำนวนของสปีชีส์บนเกาะอัตราการอพยพเข้ามาบนเกาะของสปีชีส์ใหม่จะลดลง ในขณะที่อัตราการสูญพันธุ์ของสปีชีส์ที่อาศัยอยู่เดิมจะเพิ่มขึ้นจนในที่สุดก็จะเข้าสู่จุดสมดุล

วิลสันกับ Daniel S.Simberloff ลูกศิษย์ของเขาได้ทำการทดสอบทฤษฎีดังกล่าวที่เกาะเล็กๆแห่งหนึ่งในหมู่เกาะ Florida Keys ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด พวกเขาทำการสำรวจและติดตามผลอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 3 ปีผลที่ได้เป็นการพิสูจน์ชัดว่าทฤษฎีชีวภูมิศาสตร์ของเขาถูกต้องและเป็นจริงทุกประการ MacArthur กับเขาได้เขียนหนังสือ The Theory of Island Biogeography ตีพิมพ์เผยแพร่ในปี 1967 ที่ต่อมากลายเป็นตำราแม่บทของวิชานิเวศวิทยา

 
เปลี่ยนความคิดด้วยทฤษฎีชีววิทยาสังคม

e-o-wilson-05

มีการพูดถึงชีววิทยาสังคม (Sociobiology) มาตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1940 เพียงแต่ว่ามันยังไม่โดดเด่นจนเป็นที่สนใจในวงกว้าง วิลสันเข้ามาสัมผัสกับชีววิทยาสังคมครั้งแรกในปี 1956 ตอนนั้นเขาเพิ่งเรียนจบไม่นานและได้ควบคุมดูแลการทำวิจัยของ Stuart A. Altmann ในเรื่องพฤติกรรมทางสังคมของลิงวอก (Rhesus macaques) ซึ่งทำให้เขาเกิดแนวคิดเกี่ยวกับทฤษฎีทางชีววิทยาสังคม ต่อมาในปี 1971 วิลสันได้ตีพิมพ์หนังสือ The Insect Societies ซึ่งเป็นงานวิจัยที่ครอบคลุมทุกแง่มุมของการจำแนก, วิวัฒนาการ, กายวิภาค, สรีรวิทยา และพฤติกรรมของแมลงที่เป็นสัตว์สังคม 4 ชนิดคือ มด, ตัวต่อ, ปลวก และผึ้ง รวมทั้งเปรียบเทียบสังคมของแมลงกับสัตว์มีกระดูกสันหลังในแง่ทฤษฎีพื้นฐานที่เป็นไปในลักษณะเดียวกัน

จากนั้นในปี 1975 วิลสันได้ตีพิมพ์หนังสือ Sociobiology: The New Synthesis ซึ่งเป็นการขยายทฤษฎีพฤติกรรมทางสังคมแมลงมาใช้กับสัตว์มีกระดูกสันหลังและมนุษย์ โดยมีหลักการสำคัญคือพฤติกรรมของสิ่งมีชีวิตทุกชนิดรวมทั้งมนุษย์ขึ้นอยู่กับยีนซึ่งมีวิวัฒนาการผ่านทางการถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรมตามกฎของ Gregor Mendel และการคัดเลือกโดยธรรมชาติตามทฤษฎีของ Charles Darwin ทฤษฎีชีววิทยาสังคมของวิลสันก่อให้เกิดการอภิปรายโต้เถียงกันขนานใหญ่เป็นหนึ่งในข้อถกเถียงทางชีววิทยาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในศตวรรษที่ 20 วิลสันถูกต่อต้านและติเตียนจากนักวิชาการและบุคคลในหลายวงการ แต่วิลสันยังคงยืนยันในความคิดนี้โดยเขาได้ตีพิมพ์บทความและหนังสืออีกจำนวนมากที่สนับสนุนทฤษฎีชีววิทยาสังคม ในที่สุดกระแสการต่อต้านก็ลดลงจนแทบจะไม่มีเหลืออยู่แล้วในปัจจุบัน

 
นักเขียนดังเจ้าของ 2 รางวัลพูลิตเซอร์

e-o-wilson-06

วิลสันเป็นนักวิจัยทางชีววิทยาที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงมีบทความวิจัยกว่า 400 เรื่อง แต่ผลงานที่สร้างชื่อเสียงให้เขาเป็นที่รู้จักในวงกว้างคือการเขียนหนังสือ เขาตีพิมพ์หนังสือจากผลงานการค้นคว้าวิจัยของเขาเป็นจำนวนมากและประสบความสำเร็จตั้งแต่หนังสือเล่มแรกๆคือ The Theory of Island Biogeography (1967) ตามมาด้วยหนังสือ The Insect Societies (1971) ที่ได้ปูพื้นฐานด้านชีววิทยาสังคมเอาไว้ ไม่กี่ปีต่อมาเขาก็ได้เสนอทฤษฎีชีววิทยาสังคมในหนังสือ Sociobiology: The New Synthesis (1975) จนสร้างความฮือฮาในวงการวิทยาศาสตร์เป็นอย่างมาก และวิลสันมาประสบความสำเร็จสูงสุดเมื่อเขาตีพิมพ์หนังสือ On Human Nature (1978) ที่เขียนเกี่ยวกับบทบาทของชีววิทยาในวิวัฒนาการของวัฒนธรรมของมนุษย์ซึ่งทำให้เขาได้รับรางวัลพูลิตเซอร์อันเป็นรางวัลเกียรติยศสูงสุดระดับชาติในวงการสิ่งพิมพ์ของสหรัฐอเมริกา

วิลสันตีพิมพ์หนังสือควบคู่กับการทำงานวิจัยของเขามาโดยตลอดและมาประสบความสำเร็จสูงสุดอีกครั้งเมื่อเขียนหนังสือเกี่ยวกับพฤติกรรมของมดซึ่งเป็นเรื่องที่เขามีความเชี่ยวชาญมากที่สุด หนังสือ The Ants (1990) ที่เขาเขียนร่วมกับ Bert Hölldobler ทำให้เขาได้รับรางวัลพูลิตเซอร์เป็นครั้งที่ 2 ตลอดกว่า 50 ปีที่ผ่านมาวิลสันมีผลงานหนังสือออกมาแล้วกว่า 40 เล่มและมีหนังสือที่เขียนร่วมกับคนอื่นอีกนับร้อยเล่ม หนังสือของวิลสันที่ได้รับความนิยมในลำดับต้นๆนอกเหนือจากที่กล่าวถึงข้างต้นได้แก่ The Diversity of life (1992), Naturalist (1994), Consilience: The Unity of Knowledge (1998), The Future of Life (2002), The Social Conquest of Earth (2012) และ Half-Earth: Our Planet’s Fight for Life (2016) เป็นต้น

 
ส่งเสริมความหลากหลายทางชีวภาพ

e-o-wilson-07

จากการทำวิจัยเรื่องชีวภูมิศาสตร์ของเกาะทำให้วิลสันตระหนักถึงวิกฤติการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ในอนาคตและความสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพ เขาจึงเริ่มรณณรงค์การอนุรักษ์ป่าไม้เพราะการตัดไม้ทำลายป่าเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้สปีชีส์ต่างๆเกิดการสูญพันธุ์ อีกทั้งยังเคยเรียกร้องให้แบ่งพื้นที่โลก 50% เพื่อให้สปีชีส์อื่นๆเจริญเติบโตโดยมนุษย์ไม่ไปยุ่งเกี่ยวเพื่อแก้ปัญหาวิกฤติการสูญพันธุ์ นอกจากนี้เขายังส่งเสริมการศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพเพราะเรายังมีความรู้ด้านนี้น้อยมาก ปัจจุบันนักชีววิทยามีความรู้เกี่ยวกับสปีชีส์ราว 2 ล้านสปีชีส์เท่านั้นจากที่อาจมีทั้งหมดถึง 100 ล้านสปีชีส์ คำว่า Biodiversity ที่หมายถึงความหลากหลายทางชีวภาพนี้วิลสันก็เป็นคนคิดขึ้นจากคำว่า biological diversity

วิลสันทำงานอยู่ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดนานถึง 40 ปี ตั้งแต่ปี 1956 ถึงปี 1996 หลังเกษียณอายุเขายังคงดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์กิตติคุณและภัณฑารักษ์กิตติมศักดิ์ด้านกีฏวิทยาของมหาวิทยาลัยต่อไปและยังเป็นผู้บรรยายพิเศษที่มหาวิทยาลัย Duke University อีกด้วย วิลสันก่อตั้งมูลนิธิ E.O. Wilson Biodiversity Foundation ขึ้นในปี 2005 เพื่อส่งเสริมการวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพ รวมทั้งให้ความรู้และส่งเสริมการอนุรักษ์มรดกทางชีวภาพทั่วโลก นอกจากนี้เขายังเป็นกรรมการและบอร์ดบริหารขององค์กร สถาบัน และพิพิธภัณฑ์สำคัญเกี่ยวกับการอนุรักษ์ธรรมชาติในสหรัฐอเมริกาอีกนับสิบแห่ง เช่น American Museum of Natural History, The Nature Conservancy และ Scientific Committee of the Ministry of the Environment เป็นต้น

 
นักอนุรักษ์ผู้เป็นบิดาแห่งชีววิทยาสังคม

e-o-wilson-08

อี. โอ. วิลสัน เป็นนักชีววิทยาที่มีผลงานและความสำเร็จมากที่สุดคนหนึ่งในศตวรรษที่ 20 เขาเริ่มต้นศึกษาเรื่องมดตั้งแต่เด็กจนเรียนจบปริญญาเอกทางชีววิทยาด้วยวิทยานิพนธ์เรื่องมดและยังทำวิจัยต่อจนกลายเป็นผู้รอบรู้เชี่ยวชาญเรื่องมดมากที่สุดคนหนึ่ง จากนั้นจึงศึกษาวิจัยและตั้งทฤษฎีชีวภูมิศาสตร์ของเกาะนำไปสู่ความรู้ความเข้าในเรื่องระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพที่กว้างขวางมากขึ้น ต่อมาได้เสนอทฤษฎีชีววิทยาสังคมที่กลายเป็นสาขาหนึ่งในชีววิทยา วิลสันมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในวงกว้างด้วยการเขียนหนังสือจำนวนมากจากผลงานการค้นคว้าวิจัยของเขา หนังสือของเขาได้รับความนิยมและยังได้รับรางวัลพูลิตเซอร์ถึง 2 ครั้ง และเขายังเป็นนักอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรวมทั้งเป็นผู้ส่งเสริมการศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพคนสำคัญของโลกมาตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา วิลสันได้รับยกย่องเป็นทั้ง “บิดาแห่งชีววิทยาสังคม” และ “บิดาแห่งความหลากหลายทางชีวภาพ”

e-o-wilson-09

 

ข้อมูลและภาพจาก wikipedia, famousscientists, britannica

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *