เด็กหญิงมากพรสวรรค์เหนือกว่าบุพการี
อาร์เตมีเซีย เจนตีเลสกี เป็นชาวอิตาลี เกิดที่กรุงโรมเมื่อปี 1593 พ่อของเธอเป็นจิตรกรผู้พอจะมีชื่อเสียงในกรุงโรมและเป็นคนแรกๆในกลุ่มจิตรกรที่ชื่นชอบสไตล์การเขียนภาพของ Caravaggio และใช้เป็นแบบอย่างในการสร้างผลงาน เจนตีเลสกีเติบโตคลุกคลีอยู่ในสตูดิโอของพ่อพร้อมกับน้องชายสองคน เธอเรียนรู้เทคนิคและซึมซับวิธีการเขียนภาพจากพ่อซึ่งได้รับอิทธิพลจากงานของ Caravaggio และสิ่งนั้นได้ถ่ายทอดต่อไปยังลูกสาวผู้เต็มไปด้วยพรสวรรค์ในการเขียนภาพที่มีมากกว่าน้องชายและยังเด่นล้ำเหนือกว่าบุพการี อายุแค่ 17 ปีก็แสดงฝีมือให้เห็นประจักษ์
ปี 1610 เจนตีเลสกีสร้างผลงานสำคัญชิ้นแรกในชีวิตคือภาพ Susanna and the Elders เป็นภาพหญิงสาวที่กำลังกระอักกระอ่วนใจกับผู้ชายสองคนที่แอบซุ่มมองขณะที่เธอกำลังอาบน้ำ ภาพนี้มาจากคัมภีร์ไบเบิลเป็นฉากที่ได้รับความนิยมเขียนมากในยุคนั้น พ่อของเจนตีเลสกีก็เคยเขียนภาพนี้มาก่อนแต่ผลงานของเธองดงามกว่ามาก ทั้งท่าทางการสื่อบุคลิกอารมณ์อย่างชัดเจนของบุคคลในภาพรวมถึงลายเส้นและการลงสีที่เหนือชั้นเข้าขั้นมืออาชีพ เจนตีเลสกีเขียนภาพนี้โดยใช้สไตล์เหมือนจริงของ Caravaggio แต่ยังคงรักษาวิธีการเขียนบางอย่างในภาพดั้งเดิมจากฝีมือของ Annibale Carracci เอาไว้ด้วย
สาวน้อยถูกย่ำยีโดยอาจารย์ของตัวเอง
ในช่วงต้นศตวรรษที่ 17 ผู้หญิงยังไม่ได้รับการยอมรับและเชื่อถือในฐานะจิตรกร ยังไม่มีจิตรกรผู้หญิงคนใดที่ประสบความสำเร็จในอาชีพนี้ แต่ด้วยพรสวรรค์อันล้ำเลิศของลูกสาวทำให้พ่อของเจนตีเลสกีจำต้องสนับสนุนเธอ ปี 1611 พ่อของเธอกำลังทำงานชิ้นใหญ่ร่วมกับจิตรกรฝีมือดี Agostino Tassi อยู่พอดีเขาจึงให้เพื่อนผู้นี้มาเป็นอาจารย์สอนเขียนภาพให้กับลูกสาวที่บ้าน วันหนึ่งขณะอยู่ด้วยเพียงลำพัง Tassi ได้ข่มขืนย่ำยีพรากพรหมจารีของสาวน้อยไป ตอนแรกเขาสัญญาว่าจะแต่งงานกับเจนตีเลสกีเพื่อรักษาศักดิ์ศรีและชื่อเสียงของเธอ แต่ต่อมาเขากลับบิดพริ้วไม่ยอมทำตามสัญญา พ่อของเจนตีเลสกีจึงฟ้องร้องต่อศาล
ระหว่างการพิจารณาคดีที่ใช้เวลา 7 เดือนมีการพบว่า Tassi วางแผนที่จะฆ่าภรรยาของเขา, เป็นชู้กับน้องสะใภ้ และวางแผนที่จะขโมยภาพวาดของพ่อของเจนตีเลสกีด้วย ในการพิจารณาคดีเจนตีเลสกีถูกทรมานด้วยเครื่องบีบนิ้วเพื่อเป็นการตรวจสอบยืนยันว่าคำให้การของเธอเป็นจริง ในที่สุดศาลได้พิพากษาให้เนรเทศ Tassi ออกไปจากกรุงโรม แต่อาศัยอิทธิพลของผู้มากบารมีเพียงไม่นานเขาก็กลับมาอยู่ที่กรุงโรมได้เหมือนเดิม หนึ่งเดือนหลังจากการพิจารณาคดีพ่อของเจนตีเลสกีจัดการให้ลูกสาวแต่งงานกับ Pierantonio Stiattesi ศิลปินคนหนึ่งจากเมืองฟลอเรนซ์ หลังจากนั้นไม่นานทั้งคู่ก็ย้ายไปอยู่ที่ฟลอเรนซ์ ในปีที่มีการพิจารณาคดีนี้เจนตีเลสกีได้สร้างผลงานสำคัญอีกชิ้นหนึ่งคือภาพ Danae
ล้างไฟแค้นแน่นอกผ่านผลงานชิ้นเอก
หลังการพิจารณาคดีเจนตีเลสกีได้สร้างผลงานชิ้นเอกอันถือเป็นสัญลักษณ์ของเธอคือภาพ Judith Slaying Holofernes ซึ่งเป็นฉากในเรื่องราวจากพระคัมภีร์ไบเบิลตอนที่ Judith หญิงม่ายสาวสวยผู้กล้าหาญชาวยิวได้ทำการตัดศีรษะของ Holofernes แม่ทัพของศัตรูจนทำให้อิสราเอลรอดพ้นจากการรุกราน ฉากเหตุการณ์นี้ศิลปินนิยมนำมาทำเป็นภาพเขียนจนกลายเป็นผลงานสร้างชื่อให้ตัวเองมาแล้วหลายคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาพของเหตุการณ์นี้คือหนี่งในผลงานชิ้นเอกของ Caravaggio ศิลปินที่เป็นไอดอลของเจนตีเลสกีเองอีกด้วย แต่ถึงจะเป็นเรื่องเดียวกันฉากเดียวกันแต่การจัดองค์ประกอบและอารมณ์ในภาพมีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด
ภาพ Judith Slaying Holofernes ของเจนตีเลสกีดูเหมือนมีความดุดันและอารมณ์ที่พลุ่งพล่าน
มากกว่า เชื่อกันว่า Judith ในภาพเป็นภาพเหมือนของเจนตีเลสกีเองส่วน Holofernes ก็คือ Tassi เมื่อการเอาผิดทางกฎหมายมิอาจทำให้ผู้ที่ทำให้เธอเสื่อมเสียเกียรติได้รับการลงโทษอย่างสาสม เธอจึงต้องล้างไฟแค้นแน่นอกผ่านทางภาพเขียนแทน และภาพนี้ก็ได้สะท้อนความรู้สึกของเธอต่อสิ่งที่เธอถูกกระทำย่ำยีได้เป็นอย่างดี เจนตีเลสกีได้เขียนภาพนี้ไว้อีกเวอร์ชั่นหนึ่งในอีกหลายปีต่อมาในชื่อ Judith Beheading Holofernes ภาพหลังยิ่งดุดันกว่าภาพแรกขนาดเลือดของ Holofernes ถึงกับพุ่งกระเซ็นไปโดนหน้าอกของ Judith เลยทีเดียว และยิ่งตอกย้ำความเชื่อที่ว่าเจนตีเลสกีใช้ตัวเองเป็น Judith เพราะบนสร้อยข้อมือที่ Judith สวมอยู่เป็นภาพของ Artemis เทพผู้ปกป้องความบริสุทธิ์ของเธอจากผู้ที่พยายามข่มขืนเธอนั่นเอง
สมาชิกหญิงคนแรกของสถาบันศิลปะ
ที่เมืองฟลอเรนซ์เจนตีเลสกีได้สร้างผลงานชั้นยอดออกมาอย่างต่อเนื่อง เธอยังคงใช้เทคนิคการให้แสงเงาตามแบบฉบับของ Caravaggio และได้พัฒนาสไตล์ของตัวเองจนโดดเด่นจนมีชื่อเสียงเลื่องลือ ได้เป็นจิตรกรราชสำนักของตระกูล Medici ผู้ปกครองเมืองฟลอเรนซ์ เธอประสบความสำเร็จอย่างสูงในฐานะจิตรกรชั้นแนวหน้าและกลายเป็นจิตรกรผู้หญิงคนแรกที่ได้รับการยอมรับให้เป็นสมาชิกของสถาบันศิลปะ Accademia delle Arti del Disegno แห่งเมืองฟลอเรนซ์ อีกทั้งยังมีสัมพันธภาพที่ดีกับสมาชิกราชวงศ์และบุคคลสำคัญหลายคนอย่างเช่นดยุก Cosimo II de’ Medici, ดัชเชส Christina of Lorraine รวมทั้งนักวิทยาศาสตร์เอกของโลก Galileo Galilei
ผลงานภาพเขียนของเจนตีเลสกีช่วงที่อยู่ที่เมืองฟลอเรนซ์มีหลากหลายแนว หลักๆเป็นเรื่องแนวศาสนาที่ส่วนใหญ่มาจากเรื่องในพระคัมภีร์ไบเบิล นอกจากภาพ Judith Slaying Holofernes ทั้งสองเวอร์ชั่นอันเป็นผลงานชิ้นเอกแล้วยังมีภาพที่ยอดเยี่ยมอีกหลายภาพได้แก่ ภาพ Judith and her Maidservant, Mary Magdalene และภาพ Jael and Sisera เป็นต้น ภาพเหมือนบุคคลเป็นอีกแนวหนึ่งที่เธอทำออกมาได้งดงามอย่างมีเอกลักษณ์ทั้งภาพเหมือนตัวเองและภาพบุคคลอื่น เช่น ภาพ Self-Portrait as Saint, Self-Portrait as a Lute Player และภาพ Catherine of Alexandria Portrait of a Lady, Three-Quarter Length Seated, Dressed in a Gold Embroidered Elaborate Costume ส่วนในแนวอื่นมีภาพที่โดดเด่นได้แก่ภาพ Cleopatra และภาพ Allegory of Inclination ที่ทำให้ Michelangelo Buonarroti the Younger เพื่อเชิดชูเกียรติให้กับลุงของเขาผู้เป็นศิลปินเอกของโลกนาม Michelangelo
สร้างชื่อกระฉ่อนต่อเนื่องที่เมืองหลวง
การที่เจนตีเลสกีได้คลุกคลีอยู่ในแวดวงสังคมชั้นสูงทำให้เธอเกิดไปมีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับขุนนางชาวฟลอเรนซ์ผู้มั่งคั่งชื่อ Francesco Maria Maringhi ในปี 1620 ข่าวลือเรื่องความสัมพันธ์ดังกล่าวได้เริ่มแพร่กระจายทั่วราชสำนักประกอบกับปัญหาด้านการเงินที่รุมเร้าทำให้เจนตีเลสกีตัดสินใจย้ายกลับไปอยู่ที่บ้านเกิด การมาอยู่ที่กรุงโรมส่งผลให้ปัญหาด้านการเงินของเธอคลี่คลายเพราะที่นี่เป็นศูนย์กลางแห่งศิลปะมีความต้องการผลงานภาพเขียนสูงมาก แม้เธอจะไม่ได้รับงานใหญ่อย่างภาพแท่นบูชาหรือภาพตกแต่งโบสถ์วิหารขนาดใหญ่เนื่องจากเชื่อกันว่าผู้หญิงไม่สามารถเขียนภาพขนาดใหญ่ได้ แต่ที่โรมมีผู้อุปถัมภ์และนักสะสมศิลปะมากมายว่าจ้างให้เธอเขียนภาพให้ อีกทั้งอิทธิพลและความนิยมในสไตล์ของ Caravaggio ในกรุงโรมยังไม่เสื่อมคลายเจนตีเลสกีจึงประสบความสำเร็จได้แบบไม่ยากเย็น
ผลงานของเจนตีเลสกีในช่วงเวลานี้ที่โดดเด่นมากคือภาพ Judith and Her Maidservant ซึ่งเป็นฉากเหตุการณ์หลังจากที่ Judith ได้ตัดศีรษะของ Holofernes เสร็จแล้ว ภาพนี้มีความโดดเด่นที่การใช้แสงและเงาในการสร้างมิติและอารมณ์ในภาพได้อย่างยอดเยี่ยมสมจริง นอกจากนี้ยังมีภาพของ Mary Magdalene ที่เขียนไว้หลายเวอร์ชั่น รวมทั้งภาพ An Allegory of Painting ช่วงปลายทศวรรษ 1620 เจนตีเลสกีไปอยู่ที่เมืองเวนิสระยะหนึ่ง เธอได้ซึมซับสไตล์การเขียนภาพแบบชาวเวนิสและนำมาใช้ในผลงานอันยอดเยี่ยมของเธอหลายภาพอย่างเช่นภาพ Venus and Cupid (Sleeping Venus) และภาพ Esther before Ahasuerus เป็นต้น
ศิลปินหญิงผู้ยิ่งใหญ่ดังไกลถึงต่างแดน
ปี 1630 เจนตีเลสกีย้ายไปอยู่ที่เมืองเนเปิลส์ที่เป็นศูนย์กลางของศิลปะอีกแห่งหนึ่งในอิตาลี ที่เนเปิลส์ เธอมีโอกาสเขียนภาพในมหาวิหารเป็นครั้งแรก เจนตีเลสกีทยอยสร้างผลงานอันงดงามออกมาไม่ขาดสายที่โดดเด่นได้แก่ภาพ The Birth of Saint John the Baptist, Esther and Ahasuerus, Bathsheba และ Cleopatra Discovered by Her Servants เป็นต้น ปี 1638 พ่อของเจนตีเลสกีไปเป็นจิตรกรราชสำนักอังกฤษและเธอก็ได้รับเชิญจากกษัตริย์ Charles I แห่งอังกฤษที่ชื่นชอบผลงานของเธอ พ่อลูกจึงได้ทำงานด้วยกันอีกครั้งที่กรุงลอนดอน นอกจากเจนตีเลสกีจะได้ช่วยพ่อทำงานแล้วเธอยังสร้างผลงานชิ้นเอกอีกชิ้นหนึ่งคือภาพ Self-Portrait as the Allegory of Painting ซึ่งเป็นภาพที่ดูเหมือนจะบ่งบอกถึงพลังความสามารถของผู้หญิงผ่านทางการเป็นจิตรกร
พ่อของเจนตีเลสกีเสียชีวิตในปี 1639 แต่เธอยังคงทำงานที่กรุงลอนดอนอีกระยะหนึ่งก่อนจะกลับมาอยู่ที่เมืองเนเปิลส์ตอนเริ่มเกิดสงครามกลางเมืองอังกฤษในปี 1642 หลังกลับมาจากต่างแดนแล้วพลังแห่งการสร้างสรรค์ของเจนตีเลสกีก็ยังไม่หมดสิ้น เธอยังคงสร้างผลงานชั้นยอดในสไตล์ของตัวเองต่อไป ผลงานที่ยอดเยี่ยมในช่วงทศวรรษหลังนี้ได้แก่ภาพ Lucretia, Bathsheba Bathing และ Susanna and the Elders near a Balcony เป็นต้น เจนตีเลสกีเสียชีวิตตอนเกิดโรคระบาดครั้งใหญ่ที่พรากชีวิตศิลปินชาวเนเปิลส์ไปเกือบหมดเมื่อราวปี 1656
ผลงานงดงามเร้าอารมณ์ดุจผสมไฟแค้น
ภาพเขียนของเจนตีเลสกีมิเพียงงดงามด้วยลายเส้นและสีสันที่เหมือนจริง แต่ยังโดดเด่นด้วยองค์ประกอบและท่าทางของบุคคลในภาพ รวมถึงการให้แสงเงาที่สร้างมิติและสื่ออารมณ์ที่สมจริง โดยเฉพาะในภาพชุดของ Judith กับภาพชุด Susanna ที่ดูเหมือนเธอได้นำไฟแค้นของตัวเองเข้าไปผสมอยู่ในภาพเขียนจนทำให้ยิ่งเพิ่มความเร้าอารมณ์และดูสมจริงอย่างยิ่ง และต่อไปนี้คือส่วนหนึ่งของผลงานอันยอดเยี่ยมของศิลปินหญิงผู้โดดเด่นแห่งยุคบาโรก
Early and Florentine Period (1610 – 1620)
Rome and Venice Period (1620 – 1630)
Naples and London period (1630 – 1656)
อาร์เตมีเซีย เจนตีเลสกี เป็นจิตรกรผู้หญิงหนึ่งเดียวแห่งยุคบาโรกที่มีความสามารถและชื่อเสียงทัดเทียมกับจิตรกรชายชั้นนำในยุคเดียวกัน ผลงานอันยอดเยี่ยมของเธอทำให้นักวิชาการยอมรับและรวมเอาศิลปินผู้หญิงเข้ากับประวัติศาสตร์ศิลปะและวัฒนธรรม ในปัจจุบันเรื่องราวในชีวิตและผลงานศิลปะที่ทรงพลังของเธอยังคงถูกกล่าวถึงและเป็นแรงบันดาลใจในการเอาชนะอคติที่มีต่อผู้หญิงอยู่เสมอ เจนตีเลสกีจึงเป็นทั้งศิลปินหญิงผู้ยิ่งใหญ่และวีรสตรีคนสำคัญอีกคนหนึ่งในประวัติศาสตร์
ข้อมูลและภาพจาก wikipedia, britannica, biography