10 สถิติทางวิทยาศาสตร์อันน่าทึ่งและน่าสนใจที่ถูกทำลายไปในปี 2020

ปี 2020 เต็มไปด้วยการค้นพบทางวิทยาศาสตร์ที่มีการทำลายสถิติ “ที่สุด” เท่าที่เคยมีการบันทึกเอาไว้จำนวนมาก สถิติประเภท “เก่าแก่ที่สุด”, “ยาวที่สุด”, “ไกลที่สุด” และ “ใหญ่ที่สุด” หลายอย่างได้รับการบันทึกสถิติใหม่ บางเรื่องก็เกิดขึ้นโดยไม่ได้ตั้งใจ และต่อไปนี้คือ 10 สถิติทางวิทยาศาสตร์น่าสนใจและน่าประหลาดใจที่ถูกทำลายในปี 2020

 
1. เที่ยวบินของนกที่ยาวที่สุด

10-science-records-broken-in-2020-01

นกปากแอ่นหางลาย (Bar-tailed Godwit) ได้ชื่่อว่าเป็นสุดยอดนกนักบินมีลักษณะเด่นตรงที่มีจงอยปากยาวมาก พวกมันขยายพันธ์ุอยู่ในอลาสกาและไซบีเรียแต่อพยพไปใช้ชีวิตช่วงฤดูหนาวในออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ที่น่าทึ่งคือพวกมันสามารถบินต่อเนื่องนานหลายวันโดยไม่มีการหยุดพักเลย สถิติใหม่เที่ยวบินของนกที่ยาวที่สุดเกิดขึ้นในวันที่ 16 กันยายน 2020 เมื่อนกปากแอ่นหางลายตัวผู้ที่รู้จักกันในชื่อ “4BBRW’ เดินทางออกจากทางตะวันตกเฉียงใต้ของอลาสกาบินตรงไปยังนิวซีแลนด์เป็นเวลา 11 วัน ระยะทางประมาณ12,200 กิโลเมตร ทำลายสถิติเดิมที่พวกพ้องของมันทำเอาไว้ที่ 11,500 กิโลเมตรเมื่อปี 2007

 
2. สัตว์ตัวยาวที่สุดเท่าที่เคยพบ

10-science-records-broken-in-2020-02

ในขณะที่กำลังสำรวจหุบเขาลึกใต้ทะเลนอกชายฝั่งออสเตรเลียนักวิจัยได้ค้นพบสิ่งมีชีวิตที่มีความยาวถึง 45 เมตร ยาวกว่าวาฬสีน้ำเงินตัวใหญ่ที่สุดถึง 15 เมตร สิ่งมีชีวิตชนิดนี้เรียกว่า Siphonosphore เป็นญาติของแมงกระพรุน และแท้จริงแล้วพวกมันเป็นสัตว์ที่อยู่กันแบบโคโลนีประกอบด้วยสัตว์ขนาดเล็กจำนวนมากที่เรียกว่า Zooid มาเชื่อมต่อกัน Zooid แต่ละตัวมีชีวิตของตัวเองแต่มีสัมพันธ์แนบแน่นกับตัวอื่นๆคล้ายมีชีวิตเดียว หากมีสิ่งมีชีวิตใดว่ายผ่านมาโดนผิวหนังของมันที่เต็มไปด้วยเซลล์เข็มพิษก็อาจตายได้ เมื่อเหยื่อถูกย่อยสลาย ณ ตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งของเส้นสายมันจะแชร์สารอาหารไปตลอดตามความยาวของพวกมันได้

 
3. ภาพถ่ายที่เปิดรับแสงนานที่สุด

10-science-records-broken-in-2020-03

เมื่อ 8 ปีที่แล้วนักศึกษาศิลปศาสตร์ปริญญาโทที่มหาวิทยาลัย Hertfordshire ประเทศอังกฤษได้สร้างกล้องรูเข็มขึ้นเองโดยใช้กระป๋องเบียร์กับกระดาษโฟโต้นำไปติดไว้บนกล้องโทรทรรศน์ที่หอดูดาว Bayfordbury ของมหาวิทยาลัยแล้วลืมทิ้งไว้ กล้องโลว์เทคอันนั้นได้เปิดรับแสงบันทึกภาพนานถึง 8 ปีโดยไม่ได้ตั้งใจ ภาพถ่ายแสดงการเดินทางของดวงอาทิตย์ผ่านท้องฟ้าตั้งแต่ปี 2012 ถึงปี 2020 ประกอบด้วยเส้นโค้งของแสงจำนวน 2,953 เส้นตามเส้นทางของมันตั้งแต่ดวงอาทิตย์ขึ้นจนถึงดวงอาทิตย์ตกในแต่ละวัน เป็นภาพที่ไม่ได้ตั้งใจถ่ายแต่ออกมาสวยงามน่าอัศจรรย์เลยทีเดียว

 
4. เต่าที่ใหญ่ที่สุดที่เคยมีชีวิตอยู่

10-science-records-broken-in-2020-04

ในงานวิจัยใหม่เมื่อต้นปี 2020 รายงานว่ากระดองเต่าอายุ 8 ล้านปีที่ขุดพบในเวเนซุเอลามีความยาวถึง 2.4 เมตรซึ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยพบ กระดองนี้เป็นของเต่าที่สูญพันธุ์ไปแล้วชื่อ Stupendemys Geographicus ซึ่งอาศัยอยู่ทางตอนเหนือของทวีปอเมริกาใต้ในยุคไมโอซีนเมื่อราว 12 ล้านถึง 5 ล้านปีก่อน ประมาณน้ำหนักได้ 1,145 กิโลกรัมซึ่งมีขนาดเกือบ 100 เท่าของญาติที่มีสายพันธุ์ใกล้ชิดที่สุดคือเต่าแม่น้ำอเมซอน (Peltocephalus dumerilianus) และมีขนาดใหญ่เป็น 2 เท่าของเต่าที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในปัจจุบันคือเต่ามะเฟือง (Dermochelys coriacea)

 
5. ฝาแฝดแท้ที่เก่าแก่ที่สุด

10-science-records-broken-in-2020-05

หลุมฝังศพรูปวงรีอายุ 31,000 ปีที่พบในแหล่งโบราณคดี Krems-Wachtberg ในออสเตรียมีซากเด็กทารกฝาแฝดแท้ซึ่งน่าจะเก่าแก่ที่สุดในโลก สุสานแห่งนี้ถูกพบตั้งแต่ปี 2005 แต่นักวิจัยทำการวิเคราะห์ DNA ใหม่ยืนยันว่าเด็กทารกทั้งสองเป็นฝาแฝดแท้ (Identical Twins) ที่เกิดจากไข่ใบเดียวกัน ทารกคนหนึ่งเสียชีวิตหลังจากคลอดไม่นานและอีกคนมีชีวิตอยู่ได้ประมาณ 50 วัน และทั้งคู่น่าจะเป็นลูกพี่ลูกน้องของทารกอายุ 3 เดือนที่ค้นพบในหลุมฝังศพที่บริเวณใกล้เคียง

 
6. อสุจิที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่เคยพบ

10-science-records-broken-in-2020-06

ภายในก้อนอำพันที่พบในเหมืองทางตอนเหนือของพม่านักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบอสุจิ (Sperm) ที่เก่าแก่ที่สุดในโลก อำพันก้อนนั้นมีแพลงตอนสัตว์ขนาดเล็กที่เรียกว่า Ostracods จำนวน 39 ตัว และมีถึง 31 ตัวเป็นสปีชีย์ที่เพิ่งค้นพบใหม่ที่เรียกว่า Myanmarcypris hui และภายในของ Ostracods สปีชีย์ใหม่เพศเมียตัวหนึ่งนักวิจัยได้ค้นพบไข่ 4 ฟองและมวลที่คล้ายกับสปาเก็ตตี้ซึ่งเป็นอสุจิอายุ 100 ล้านปีและกลายเป็นอสุจิที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่เคยพบ ก่อนหน้านี้มีการค้นพบอสุจิที่ได้รับการยืนยันว่าเก่าแก่ที่สุดมีอายุ 50 ล้านปีจากรังหนอนในแอนตาร์กติกา

 
7. วัสดุที่เก่าแก่ที่สุดที่พบบนโลก

10-science-records-broken-in-2020-07

นักวิทยาศาสตร์พบว่าฝุ่นดาวที่ซ่อนตัวอยู่ในหินอุกกาบาตขนาดมหึมาที่พุ่งชนโลกเมื่อครึ่งศตวรรษก่อนมีอายุถึง 7 พันล้านปีทำให้มันเป็นวัสดุที่เก่าแก่ที่สุดที่พบบนโลก ฝุ่นอวกาศโบราณถูกกลืนเข้าไปในจักรวาลโดยดาวฤกษ์ที่กำลังจะตายในช่วงสุดท้ายของชีวิต ในที่สุดฝุ่นดาวนี้ก็มาถึงโลกของเราด้วยการอาศัยอยู่บนอุกกาบาต Murchison ซึ่งตกลงในออสเตรเลียเมื่อปี 2512 นี่เป็นครั้งแรกที่นักวิจัยค้นพบเมล็ดฝุ่นที่มีอายุมากกว่าดวงอาทิตย์ในชั้นหินของโลก

 
8. ความเร็วของเสียงที่เร็วที่สุด

10-science-records-broken-in-2020-08

เสียงเดินทางได้เร็วแค่ไหน? นักวิทยาศาสตร์ค้นพบว่าความเร็วของเสียงที่เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ในทุกตัวกลางคือ 36 กม./วินาที หรือ 129,600 กม./ชม. เสียงสามารถเคลื่อนที่ด้วยความเร็วที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับว่ามันเคลื่อนที่ผ่านวัสดุชนิดใด ตัวอย่างเช่นเสียงเดินทางได้เร็วขึ้นในของเหลวที่อุ่นกว่าเมื่อเทียบกับของเหลวที่เย็นกว่า การคำนวณชี้ให้เห็นว่าเสียงเดินทางเร็วที่สุดในอะตอมที่มีมวลต่ำสุด ดังนั้นเพื่อหาความเร็วสูงสุดที่เสียงสามารถเดินทางได้นักวิจัยกลุ่มหนึ่งจึงคำนวณความเร็วของเสียงผ่านอะตอมของไฮโดรเจนที่เป็นของแข็ง ไฮโดรเจนเป็นอะตอมที่มีมวลต่ำที่สุดแต่ไม่เป็นของแข็งเว้นแต่จะอยู่ภายใต้ความกดดันอันมหาศาลสูงกว่าความดันบรรยากาศของโลกถึงล้านเท่า และในสภาวะที่เฉพาะเจาะจงนี้นักวิจัยพบว่าเสียงสามารถเดินทางได้ใกล้ถึงขีดจำกัดทางทฤษฎีที่ 127,460 กม./ชม.

 
9. สายฟ้าที่ยาวที่สุดที่เคยบันทึก

10-science-records-broken-in-2020-09

นักวิทยาศาสตร์ที่องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) ได้วิเคราะห์เหตุการณ์ในวันฮาโลวีนปี 2018 ที่เกิดสายฟ้าขนาดมหึมาตัดผ่านท้องฟ้าเหนือประเทศบราซิลโดยใช้เทคโนโลยีดาวเทียมใหม่แล้วยืนยันว่าสายฟ้าที่เกิดขึ้นในวันนั้นมีความยาวมากกว่า 700 กม. และทอดยาวจากชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกไปจนถึงขอบประเทศอาร์เจนตินาทำให้เป็นสายฟ้าที่ยาวที่สุดเท่าที่เคยมีการบันทึกมา นอกจากนี้ในการวิเคราะห์คราวนี้ยังได้เปิดเผยว่ามีทำลายสถิติการเกิดสายฟ้าที่ยาวนานที่สุดด้วยเวลาเกือบ 17 วินาที่เมื่อเดือนมีนาคม ปี 2019 บนท้องฟ้าเหนืออาร์เจนตินา

 
10. ลำไส้ที่เก่าแก่ที่สุดที่เคยพบมา

10-science-records-broken-in-2020-10

นักวิทยาศาสตร์พบซากฟอสซิลลำไส้ในรัฐเนวาดา สหรัฐอเมริกาซึ่งมีอายุย้อนหลังกลับไปราว 550 ล้านปีก่อนทำให้พวกมันเป็นทางเดินอาหารที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่เคยพบมา มีอายุมากกว่าเจ้าของสถิติเดิมซึ่งเป็นของสิ่งมีชีวิตคล้ายท่อเล็กๆที่เรียกว่า Cloudinomorphs ประมาณ 30 ล้านปี และลำไส้ที่เก่าแก่ที่สุดนี้ยังช่วยให้นักวิทยาศาสตร์เข้าใจว่า Cloudinomorphs เป็นสิ่งมีชีวิตประเภทใดกันแน่ จากสมมุติฐานเดิมเชื่อว่ามันเป็นพวกไนดาเรียน (Cnidarian) ที่คล้ายกับปะการังในปัจจุบันหรือไม่ก็เป็นพวกแอนเนลิด (Annelid) ที่คล้ายกับหนอนท่อในปัจจุบัน จากการวิเคราะห์พบว่ามันน่าจะเป็นพวกแอนเนลิดมากกว่า

 

ข้อมูลและภาพจาก livescience

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *