นักวิจัยไขปริศนาอุปกรณ์ดาราศาสตร์สมัยโบราณ “กลไกแอนติคิเธียรา” สำเร็จ

“กลไกแอนติคิเธียรา” เป็นอุปกรณ์ของชาวกรีกโบราณมีอายุมากกว่า 2,000 ปี หลังจากที่มันถูกพบโดยบังเอิญเมื่อร้อยกว่าปีก่อนนักวิจัยก็พยายามค้นหาว่ามันถูกสร้างขึ้นมาเพื่ออะไร จนพบว่าอุปกรณ์สมัยโบราณนี้สามารถแสดงการโคจรของดาวเคราะห์ได้โดยใช้กลไกฟันเฟืองที่ซับซ้อน แต่ปริศนาข้อสงสัยต่างๆของกลไกแอนติคิเธียรายังมีอีกมาก เช่น ใครเป็นผู้สร้างและเขาใช้หลักการใดในการคำนวณการโคจรของดาวเคราะห์ ล่าสุดนักวิจัยที่มหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอนเผยว่าพวกเขาสามารถไขปริศนาสำคัญของกลไกแอนติคิเธียราได้แล้ว

กลไกแอนติคิเธียรา (Antikythera mechanism) ถูกพบโดยนักดำน้ำหาฟองน้ำชาวกรีกที่ซากเรืออับปางใกล้กับเกาะ Antikythera ของประเทศกรีซเมื่อปี 1900 อุปกรณ์นี้มีขนาดเท่ากล่องใส่รองเท้า ทำจากสำริดติดตั้งไว้บนกรอบไม้มีข้อความจารึกไว้กว่า 2,000 ตัว มีลักษณะและกลไกการทำงานคล้ายนาฬิกาประกอบด้วยหน้าปัดมีเข็มชี้ ภายในมีเพลาล้อและฟันเฟืองกว่า 30 ตัว มีแขนมือหมุนเป็นตัวขับเคลื่อนการทำงานของระบบ เชื่อกันว่าอุปกรณ์นี้ได้รับการออกแบบและสร้างโดยนักวิทยาศาสตร์ชาวกรีกในช่วงเวลาก่อนเรืออับปางเมื่อราว 100 ปีก่อนคริสต์ศักราช

ตอนแรกยังไม่ค่อยมีคนสนใจอุปกรณ์นี้มากนักเนื่องจากมันเป็นวัตถุโบราณที่มีสนิมจับเขรอะและที่พบเป็นเพียงบางส่วนของอุปกรณ์ไม่ใช่ทั้งหมดจึงยากที่จะวิเคราะห์กลไกการทำงานและประโยชน์ของอุปกรณ์ชิ้นนี้ ต่อมาเมื่อมีการใช้เครื่องการถ่ายภาพรังสีส่วนตัดอาศัยคอมพิวเตอร์ (X-ray computed tomography) และเครื่องสแกนที่ทันสมัยตรวจวิเคราะห์จึงรู้ว่าอุปกรณ์นี้สามารถแสดงการโคจรของดาวเคราะห์ 5 ดวงที่รู้จักในสมัยนั้นได้แก่ดาวพุธ ดาวอังคาร ดาวพฤหัส ดาวยูเรนัส และดาวเสาร์ รวมทั้งการโคจรของดวงจันทร์ด้วย และยังสามารถคำนวณการเกิดสุริยุปราคาและจันทรุปราคาได้ล่วงหน้า กลไกแอนติคิเธียราจึงถูกเรียกว่าคอมพิวเตอร์อะนาล็อกเครื่องแรกของโลก

unlock-on-antikythera-mechanism-2

unlock-on-antikythera-mechanism-3

ทีมนักวิจัยที่มหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอนต้องการไขปริศนาทั้งหลายของอุปกรณ์นี้ จึงได้ทำการออกแบบกลไกแอนติคิเธียราทั้งหมดขึ้นใหม่โดยรวบรวมแนวคิดจากงานวิจัยที่ผ่านมาทั้งหมด รวมทั้งของ Michael Wright อดีตภัณฑารักษ์ที่พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ในลอนดอนซึ่งเคยสร้างแบบจำลองอุปกรณ์นี้มาก่อน ด้วยการใช้คำจารึกที่พบบนอุปกรณ์นี้และแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ของการเคลื่อนที่ของดาวเคราะห์ซึ่งได้รับการคิดค้นขึ้นครั้งแรกโดย Parmenides นักปรัชญาชาวกรีกโบราณ พวกเขาสามารถสร้างแบบจำลองคอมพิวเตอร์สำหรับอุปกรณ์นี้ได้สำเร็จ

“ผลงานของเราเผยให้เห็นว่ากลไกแอนติไคธีราเป็นแนวคิดที่สวยงามซึ่งถูกแปลงโดยวิศวกรรมที่ยอดเยี่ยมให้กลายเป็นอุปกรณ์อัจฉริยะ” นักวิจัยกล่าว “มันท้าทายความคิดทั้งหมดของเราเกี่ยวกับความสามารถทางเทคโนโลยีของชาวกรีกโบราณ”

แบบจำลองของพวกเขาสร้างเฟืองแต่ละอันและแป้นหมุนเพื่อแสดงให้เห็นว่าดาวเคราะห์ ดวงอาทิตย์ และดวงจันทร์เคลื่อนที่ผ่านจักรราศี (แผนที่ดวงดาวโบราณ) ในลักษณะอย่างไรไว้ที่ด้านหน้า และแสดงข้างขึ้นข้างแรมของดวงจันทร์และสุริยุปราคาไว้ที่ด้านหลัง มันจำลองข้อสันนิษฐานของชาวกรีกโบราณที่ว่าวัตถุบนท้องฟ้าทั้งหมดโคจรรอบโลกซึ่งปัจจุบันเป็นเรื่องล้าสมัยไปแล้ว แบบจำลองนี้ได้ยืนยันถึงความสามารถทางวิศวกรรมที่ยอดเยี่ยมของชาวกรีกโบราณ แต่ก็มีข้อสงสัยอย่างมากว่าพวกเขาสร้างกลไกโลหะที่ละเอียดอ่อนนี้ได้อย่างไรในเมื่อพวกเขายังไม่มีเครื่องกลึงโลหะ และนั่นนำมาซึ่งความต้องการที่จะสร้างอุปกรณ์นี้จริงๆขึ้นมาด้วยเทคนิคของชาวกรีกโบราณเพื่อพิสูจน์ว่ามันเป็นไปได้จริง

unlock-on-antikythera-mechanism-4

“ไม่มีหลักฐานว่าชาวกรีกโบราณสามารถสร้างอะไรแบบนี้ได้ มันเป็นเรื่องลึกลับจริงๆ” Adam Wojcik หนึ่งในทีมวิจัยกล่าว “วิธีเดียวที่จะทดสอบว่าพวกเขาทำได้หรือไม่คือพยายามสร้างตามแบบกรีกโบราณ”

ยังมีประเด็นที่ถกเถียงกันมากว่าใครคือผู้สร้างอุปกรณ์กลไกแอนติคิเธียรา หลายคนบอกว่าน่าจะเป็นอาร์คิมิดีสเพราะเขามีชีวิตอยู่ในช่วงเวลาเดียวกับที่มันถูกสร้างขึ้น และไม่มีใครมีความสามารถทางวิศวกรรมระดับเดียวกับที่เขาทำได้อีกแล้ว อีกทั้งเรือที่อับปางยังเป็นเรือของโรมันสอดคล้องกับการที่อาร์คิมิดีสถูกสังหารโดยทหารโรมันระหว่างการบุกโจมตีเมืองซีราคิวส์ซึ่งในสงครามครั้งนั้นอาร์คิมิดีสมีบทบาทอย่างสูงในการสร้างอาวุธต่างๆที่ใช้ในการป้องกันการยึดเมือง

ความลึกลับในแง่วิธีการสร้างกลไกแอนติคิเธียรายังคงอยู่เนื่องจากอุปกรณ์นี้มีความซับซ้อนมากกว่าอุปกรณ์อื่นที่สร้างในสมัยเดียวกันหลายเท่านัก เราไม่เคยพบอะไรที่คล้ายกับมันมาก่อนเลยราวกับว่าไม่มีอยู่จริงในโลกใบนี้ นักวิจัยถึงกับเปรียบเทียบว่ามันเหมือนกับมี TARDIS (เครื่องไทม์แมชชีนในหนังทีวีเรื่อง Doctor Who) ปรากฏขึ้นในยุคหินเลยทีเดียว

 
ข้อมูลและภาพจาก livescience, theguardian

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *