ต่อมามีการพบว่าสัตว์เลื้อยคลานบางชนิดมีสถานะการหลับทั้งแบบ REM และ non-REM รวมทั้งมีการค้นพบสถานะการหลับที่คล้าย REM ในหมึกกระดอง (Cuttlefish) ซึ่งเป็นสัตว์จำพวกปลาหมึกเหมือนกับหมึกยักษ์ จึงทำให้ทีมวิจัยที่สถาบัน Brain Institute of the Federal University ประเทศบราซิลสงสัยว่าอาจมีสถานะการหลับสองแบบในหมึกยักษ์ด้วยเนื่องจากหมึกยักษ์มีระบบประสาทส่วนกลางมากที่สุดในบรรดาสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังและมีความสามารถในการเรียนรู้สูง
เพื่อหาคำตอบนักวิจัยได้บันทึกวิดีโอของหมึกในห้องแล็บและพัฒนาแบบทดสอบการกระตุ้นด้วยภาพและการกระตุ้นทางกลเพื่อวัดการตอบสนองของมันในจุดต่างๆตลอดช่วงการนอนของหมึกยักษ์ พวกเขาพบว่าหมึกยักษ์มีการสถานะการหลับทั้งแบบ Quiet Sleep และ Active sleep โดยในช่วง Quiet Sleep หมึกยักษ์จะสงบมาก ผิวซีด และรูม่านตาหดเป็นร่อง ส่วนในช่วง Active sleep มันจะมีการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงสีผิวและลักษณะของผิวรวมทั้งเคลื่อนไหวลูกตาอยู่ตลอด และมีการหดปุ่มดูดและร่างกายด้วยการกระตุกกล้ามเนื้อพร้อมกันไปด้วย Active sleep มักเกิดขึ้นเป็นช่วงเวลาสั้นๆหลังจาก Quiet Sleep เป็นเวลานานอย่างน้อยหกนาทีขึ้นไปและมักจะเกิดซ้ำทุกๆ 30 – 40 นาที
นักวิจัยกล่าวว่าการค้นพบนี้มีความน่าสนใจในแง่การทำความเข้าใจเกี่ยวกับการรับรู้ วิวัฒนาการการนอนหลับ และความสัมพันธ์ที่เป็นไปได้ระหว่างการนอนหลับและการรับรู้ของสัตว์จำพวกนี้ และทีมวิจัยยังต้องการที่จะทำการวิจัยต่อไปเพื่อให้เข้าใจได้ดีขึ้นว่าเกิดอะไรขึ้นเมื่อสัตว์กำลังนอนหลับ
“มันเป็นเรื่องน่าดึงดูดใจที่จะคาดเดาว่าการฝันในปลาหมึกอาจช่วยในการปรับตัวให้เข้ากับความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมและการเรียนรู้เช่นเดียวกับในมนุษย์” Sidarta Ribeiro ทีมวิจัยอีกคนหนึ่งกล่าว “หมึกยักษ์มีฝันร้ายหรือไม่ ความฝันของปลาหมึกจะถูกจารึกไว้บนรูปแบบและสีผิวที่มีชีวิตชีวาของพวกมันได้หรือไม่ เราจะเรียนรู้ที่จะอ่านความฝันของพวกมันโดยการหาจำนวนการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ได้หรือไม่”
ข้อมูลและภาพจาก treehugger, theconversation