กังหันลมลอยน้ำดีไซน์ใหม่ชุดเดียวจ่ายไฟฟ้าเพียงพอสำหรับบ้าน 80,000 หลัง

เทคโนโลยีกังหันลมมีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ขณะที่แนวโน้มการพัฒนาประสิทธิภาพและลดต้นทุนคือการสร้างกังหันลมที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ปัจจุบันกังหันลมขนาดใหญ่ที่สุดในโลกมีขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้าถึง 15 เมกะวัตต์ แต่บริษัทสัญชาตินอร์เวย์ได้คิดค้นเทคโนโลยีใหม่ใช้กังหันลมขนาดเล็กจำนวนนับร้อยสร้างเป็นชุดกังหันลมลอยน้ำขนาดมหึมาสามารถผลิตไฟฟ้าได้มากกว่ากังหันลมขนาดใหญ่ที่สุดในโลกถึง 5 เท่า ที่สำคัญต้นทุนต่ำกว่าสามารถแข่งขันกับไฟฟ้าในระบบปกติได้ทันที

บริษัท Wind Catching Systems (WCS) ได้เปิดตัวระบบกังหันลมแบบใหม่ลักษณะเป็นโครงสร้างสูงกว่า 1,000 ฟุต (324 m) โครงสร้างขนาดมหึมานี้จะติดตั้งกังหันลมขนาดเล็กจำนวนมากนับร้อยตัว (ดูตามภาพไม่น้อยกว่า 117 ตัว) ในรูปแบบเหลื่อมสลับกัน โครงสร้างทั้งชุดวางอยู่บนแท่นลอยน้ำที่จอดอยู่กับพื้นมหาสมุทรโดยใช้แนวทางปฏิบัติเดียวกับอุตสาหกรรมก๊าซและน้ำมัน

WCS กล่าวว่ากังหันลมลอยน้ำของพวกเขาแค่ชุดเดียวสามารถให้พื้นที่กวาดรับลมเป็นสองเท่าของกังหันลม 15 MW Vestas V236 ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก และใบพัดขนาดเล็กกว่าของมันสามารถทำงานได้ดีกว่ามากในความเร็วลมมากกว่า 40 ถึง 43 กม./ชม. ขณะที่พอถึงความเร็วลมระดับนี้กังหันขนาดใหญ่มีแนวโน้มที่จะเริ่มปรับมุมใบพัดเพื่อจำกัดการผลิตและป้องกันตัวเองจากความเสียหาย ทำให้โดยรวมแล้วสามารถเพิ่มผลผลิตพลังงานไฟฟ้าประจำปีได้มากกว่าถึง 5 เท่าตัว โดยกังหันลมแต่ละชุดสามารถผลิตไฟฟ้าได้เพียงพอสำหรับบ้านในยุโรปถึง 80,000 หลัง

เนื่องจากกังหันลมของ WCS สร้างขึ้นด้วยชิ้นส่วนขนาดเล็กแทนการใช้ส่วนประกอบชิ้นเดียวขนาดใหญ่ ดังนั้นการทำงานในทุกขั้นตอนจะง่ายกว่ามาก หลังจากที่ได้ติดตั้งแท่นลอยน้ำแล้วงานส่วนที่เหลือสามารถทำได้บนดาดฟ้าของแท่นโดยไม่ต้องใช้เครนหรือเรือพิเศษ และด้วยการออกแบบกริดของใบพัดที่เหมาะสมช่วยให้เข้าถึงการบำรุงรักษาอย่างต่อเนื่องได้ง่าย ที่สำคัญมันมีอายุการใช้งานได้ถึง 50 ปี เทียบกับอายุใช้งานของกังหันลมขนาดใหญ่ที่มีเพียง 30 ปี

floating-wind-catching-system-2ขนาดของ Wind Catching System เมื่อเทียบกับหอไอเฟลและอื่นๆ

 

บริษัท WCS กล่าวว่ากังหันลมลอยน้ำดีไซน์ใหม่ของพวกเขาพร้อมแล้วที่จะเริ่มส่งพลังงานไฟฟ้าจากนอกชายฝั่งในราคาเปิดตัวเท่ากับ Grid Parity หรือต้นทุนเฉลี่ยในปัจจุบันหรืออาจจะต่ำกว่าด้วยซ้ำ ในนอร์เวย์และสหรัฐอเมริกาปัจจุบันมีค่าเฉลี่ยต้นทุนผลิตไฟฟ้าที่ประมาณ 105 ดอลลาร์สหรัฐต่อเมกะวัตต์-ชั่วโมง สำนักงานบริหารข้อมูลด้านพลังงานของสหรัฐคาดการณ์ต้นทุนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมนอกชายฝั่งแห่งใหม่ซึ่งจะเปิดตัวในปี 2026 มีค่าเฉลี่ย 115.04 ดอลลาร์สหรัฐต่อเมกะวัตต์-ชั่วโมง

อย่างไรก็ดีระบบกังหันลมลอยน้ำของ WCS ยังเป็นวิธีที่ค่อนข้างแพงในการผลิตไฟฟ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับกังหันลมบนบกและแสงอาทิตย์ แต่ก็ยังสามารถประหยัดต้นทุนได้มากกว่าเมื่อเทียบกับกังหันลมนอกชายฝั่งระบบอื่น WCS ยังกล่าวว่าการคาดการณ์ราคาของพวกเขาขึ้นอยู่กับขนาดการติดตั้งเริ่มต้น เชื่อว่าเมื่อขยายขนาดขึ้นต้นทุนจะต่ำลงอีกมาก

บริษัท WCS ได้รับการสนับสนุนจากบริษัทการลงทุน North Energy และ Ferd และได้พัฒนาเทคโนโลยีร่วมกับ Aibel ผู้จัดหาพลังงานลมนอกชายฝั่งและสถาบัน IFE ขณะนี้ WCS ยังไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับต้นแบบหรือการติดตั้งครั้งแรก เราคงจะได้ติดตามว่าเทคโนโลยีกังหันลมลอยน้ำใหม่นี้กันต่อไปว่าจะมีบทบาทในการผลิตพลังงานไฟฟ้าของโลกมากน้อยแค่ไหนในอนาคต

 

ข้อมูลและภาพจาก windcatching, newatlas

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *