พอกลุ่มเมฆฝุ่นและก๊าซที่หมุนรอบตัวเองเริ่มยุบตัวมันก็เริ่มแบนราบลง คล้ายๆกับที่แผ่นแป้งพิซซ่าถูกขว้างให้หมุนติ้วอยู่ในอากาศ ในขณะกำลังหมุนนั้นแผ่นแป้งจะขยายตัวออกแต่จะบางและแบนลง นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นกับระบบสุริยะยุคแรกๆ
ขณะเดียวกันในใจกลางของเมฆที่แบนราบลงตลอดเวลานี้ โมเลกุลของก๊าซทั้งหมดถูกบีบรวมเข้าด้วยกันและร้อนขึ้น ภายใต้ความร้อนและความดันมหาศาลอะตอมของไฮโดรเจนและฮีเลียมหลอมรวมและกระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยานิวเคลียร์กลายเป็นดวงอาทิตย์ดวงน้อย จากนั้นมันรวบรวมก๊าซและฝุ่นจากบริเวณโดยรอบและทำให้เกิดคลื่นความร้อนและรังสีที่รุนแรง ดวงอาทิตย์เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอด 50 ล้านปีต่อมาและเกิดอวกาศโดยรอบตัวมัน
ขณะที่ดวงอาทิตย์เติบโตขึ้นเมฆยังคงยุบตัวจนกระทั่งกลายเป็นแผ่นจานกลมอยู่โดยรอบดวงอาทิตย์ แผ่นจานเมฆจะขยายตัวออกไปเรื่อยๆในขณะที่แบนและบางลงทุกขณะ ในที่สุดเมฆก็กลายเป็นโครงสร้างแบนๆที่เรียกว่าจานดาวเคราะห์ก่อนเกิด (Protoplanetary disk) ซึ่งโคจรรอบดาวฤกษ์อายุน้อย จานดาวเคราะห์ก่อนเกิดขยายออกไปหลายร้อย AU และมีความหนาเพียงหนึ่งในสิบของระยะทางนั้น
หลายสิบล้านปีหลังจากนั้นอนุภาคฝุ่นในจานดาวเคราะห์ก่อนเกิดจะหมุนวนไปมา กระทบกันเป็นบางครั้ง บางทีก็มาเกาะติดกัน ในที่สุดสสารส่วนใหญ่ก็เกาะติดกันจนเกิดเป็นวัตถุขนาดใหญ่ วัตถุบางชิ้นมีขนาดใหญ่มากมีแรงโน้มถ่วงที่ทำให้พวกมันกลายเป็นดาวเคราะห์ทรงกลม ดาวเคราะห์แคระ ดวงจันทร์ และวัตถุท้องฟ้าอื่นๆ เช่น ดาวเคราะห์น้อยและดาวหาง แม้สสารมีการเปลี่ยนรูปร่างไปแต่โมเมนตัมเชิงมุมยังคงรักษาไว้เสมอ ดังนั้นดาวเคราะห์ทุกดวง ดาวเคราะห์แคระ และดาวเคราะห์น้อย จึงโคจรอยู่ในระนาบเดียวกับจานดาวเคราะห์ก่อนเกิดและโคจรไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งหากมีการก่อตัวของวัตถุที่โคจรในทิศทางอื่นมันจะถูกชนและแตกสลายไป
แม้ว่าดาวเคราะห์จะมีขนาดแตกต่างกันมากแต่พวกมันก็ยังอยู่บนระนาบเดียวกับระนาบของสสารที่ให้กำเนิดพวกมัน ด้วยเหตุนี้จนกระทั่งทุกวันนี้ดาวเคราะห์ทั้งแปดดวงของระบบสุริยะ (รวมถึงวัตถุท้องฟ้าอื่นๆ) จึงโคจรอยู่ในระนาบเดียวกันโดยประมาณ แม้จะไม่เป็นระนาบเดียวกันเป๊ะแต่ส่วนใหญ่อยู่ไม่เกิน 3° จากระนาบเฉลี่ย ยกเว้นดาวพุธที่ระนาบโคจรเอียงออกจากแนวระนาบเฉลี่ยมากหน่อยราว 6.3°
ข้อมูลและภาพจาก livescience, forbes, stackexchange