หลุมศพของ “เจงกิส ข่าน” อยู่ที่ไหน? ความลับ 800 ปีที่ชาวมองโกลไม่ต้องการทราบคำตอบ

เจงกิส ข่าน คือจักรพรรดินักรบชาวมองโกลผู้ยิ่งใหญ่ที่เป็นผู้รวบรวมชนเผ่าเร่ร่อนต่างๆก่อตั้งเป็นจักรวรรดิมองโกล เขาเป็นจักรพรรดิผู้พิชิตสามารถครอบครองดินแดนขยายอาณาจักรจากมหาสมุทรแปซิฟิกไปจรดยูเครน นอกเหนือจากการสู้รบพิชิตดินแดนไปครึ่งค่อนโลกแล้ว เจงกิส ข่าน ยังได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้สร้างอารยธรรมเชื่อมโยงโลกตะวันออกและตะวันตก เขาทำให้เส้นทางสายไหมเจริญรุ่งเรือง จัดตั้งบริการไปรษณีย์ และการใช้เงินกระดาษ รวมทั้งส่งเสริมภูมิคุ้มกันทางการทูตและเสรีภาพทางศาสนา

จักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่ของโลกคนนี้จะมีสุสานขนาดมหึมาเหมือนปิรามิดที่สร้างขึ้นสำหรับฟาโรห์อียิปต์โบราณ หรือสุสานที่มีนักรบซึ่งสร้างจากดินเผาหลายพันนายเหมือนกับที่สร้างขึ้นสำหรับจักรพรรดิฉินองค์แรกของจีนหรือไม่? และเหตุไฉนจนถึงปัจจุบันจึงไม่มีใครรู้ว่าหลุมศพของเขาอยู่ที่ไหน?

เจงกิส ข่าน เสียชีวิตในปี 1227 การตายของของเขาถูกปกปิดเป็นความลับ ไม่มีผู้ใดทราบลักษณะการตายที่แท้จริงของเขา แต่มีเหตุผลที่เชื่อได้ว่าเขาไม่ได้เสียชีวิตจากการบาดเจ็บด้วยอาวุธของศัตรู แต่น่าจะมาจากผลของการบาดเจ็บอันเกิดจากการตกจากหลังม้าระหว่างการล่าสัตว์ แต่ด้วยความลับที่ล้อมรอบความตายของเจงกีสข่านจึงทำให้เกิดการคาดเดาและก่อเกิดเรื่องราวที่ไม่มีหลักฐานมากมายจนยากที่จะแยกความจริงออกจากเรื่องที่เล่าต่อๆกันมา

ว่ากันว่าก่อนที่จะเสียชีวิตเจงกีส ข่าน มีความประสงค์ที่จะให้หลุมศพของเขาอยู่ที่ภูเขา Burkhan Khaldun ตามประวัติลับของชาวมองโกลเจงกีส ข่าน กำลังล่าสัตว์ใกล้ภูเขา Burkhan Khaldun ในเทือกเขา Khentii ที่บ้านเกิดของเขา เมื่อนั่งลงเพื่อพักผ่อนใต้ต้นไม้เขาประทับใจในความงามของภูมิทัศน์ตรงหน้าเขามาก จึงขอให้ฝังเขาไว้ในภูเขาแห่งนี้ ภูเขา Burkhan Khaldun ยังมีความสำคัญอีกอย่างหนึ่งในชีวิตของเจงกีส ข่าน ครั้งหนึ่งในขณะที่ต่อสู้กับชนเผ่า Merkit เจงกีส ข่าน รอดพ้นจากความตายอย่างหวุดหวิดและหนีไปที่บริเวณอันศักดิ์สิทธิ์ของภูเขา Burkhan Khaldun ซึ่งเขาได้รับการช่วยเหลือและที่พักพิงจากหญิงชราคนหนึ่ง ภูเขา Burkhan Khaldun จึงมีความผูกพันกับเขาเป็นพิเศษ

หลังจากที่เขาเสียชีวิต ศพของเจงกิส ข่านก็ถูกทหารคุ้มกันกลับบ้านเกิดที่ซึ่งเขาถูกฝังไว้ตามความปรารถนาของเขา ในหลุมฝังศพที่ไม่มีเครื่องหมาย ที่ไหนสักแห่งในใจกลางของภูเขา Burkhan Khaldun ไม่มีอะไรบ่งบอกสถานที่ ไม่มีสุสาน ไม่มีวิหาร ไม่มีแผ่นจารึกใดๆ ไม่มีใครรู้ว่าศพเจงกิส ข่านอยู่ที่ไหน

หลังจากการฝังศพอย่างลับๆ ทหารของเจงกีส ข่านสังหารทุกคนที่เข้าร่วมงานศพเพื่อเก็บสถานที่นี้เป็นความลับ ทหารของเจงกีสข่านกลุ่มนั้นก็ถูกทหารอีกกลุ่มหนึ่งสังหารจนหมดเพื่อให้แน่ใจว่าความลับจะถูกปกปิดไว้ได้ หลังจากการฝังศพม้านับพันตัวถูกปล่อยออกไปเหยียบย่ำพื้นที่ซ้ำแล้วซ้ำเล่าเพื่อปิดบังตำแหน่งของหลุมศพ และยังมีรายงานอีกฉบับหนึ่งระบุว่ามีแม่น้ำสายหนึ่งถูกเปลี่ยนเส้นทางข้ามหลุมศพของเขาเพื่อมิให้หาหลุมศพพบ

ไม่นานหลังการฝังศพเจงกีส ข่าน ทหารได้ปิดล้อมพื้นที่มากกว่า 600 ตารางกิโลเมตรซึ่งเข้าถึงได้ยากอันประกอบด้วยภูเขาหลายลูกที่ปกคลุมไปด้วยป่าทึบ พื้นที่นั้นได้กลายเป็น Great Taboo และได้รับการประกาศให้เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์และห้ามทุกคนยกเว้นสมาชิกในครอบครัวเข้าไป กลุ่มนักรบชั้นยอดถูกมอบหมายให้ดูแล การลงโทษสำหรับการล่วงละเมิดคือความตาย

เมื่อสาธารณรัฐประชาชนมองโกเลียซึ่งเป็นรัฐบริวารของสหภาพโซเวียตก่อตั้งขึ้นในปี 1924 ผู้ปกครองโซเวียตยังคงให้เกียรติประเพณีนี้โดยเกรงว่าหากไม่ทำเช่นนั้นจะก่อให้เกิดชาตินิยมมองโกเลีย โซเวียตประกาศให้ดินแดนนี้เป็น “เขตหวงห้าม” และปิดล้อมพื้นที่ 10,400 ตารางกิโลเมตรโดยรอบ จนถึงในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมานี่เองที่การรักษาความปลอดภัยผ่อนคลายลง ทำให้นักโบราณคดีจากต่างประเทศจำนวนมากเริ่มตามล่าหาหลุมฝังศพของเจงกีสข่านที่หายสาบสูญไป

ในปี 1990 มีการเปิดตัวการสำรวจของญี่ปุ่น-มองโกเลียที่เรียกว่า Gurvan Gol อันหมายถึง “แม่น้ำสามสาย” ที่สื่อถึงบ้านเกิดของเจงกีส ข่าน ซึ่งมีแม่น้ำ Onon, Kherlen และ Tuul ไหลผ่าน เพื่อค้นหาหลุมฝังศพของข่านผู้ยิ่งใหญ่ ทีมงานใช้คลื่นเสียงความถี่สูงในการค้นหาหลุมศพที่เป็นไปได้มากถึง 1,380 แห่ง แต่การวิจัยเพิ่มเติมต้องหยุดชะงักลงเนื่องจากการประท้วงในที่สาธารณะอย่างโกรธจัด ชาวมองโกเลียหลายคนเชื่อว่าสถานที่พำนักแห่งสุดท้ายของฮีโร่คนสำคัญของชาติไม่ควรถูกรบกวน และตอนนี้ภูเขา Burkhan Khaldun ได้กลายเป็นมรดกโลกขององค์การยูเนสโก การดำเนินการทางโบราณคดีเชิงปฏิบัติก็ยิ่งยากขึ้นไปอีก

นักวิจัยบางคนหันไปใช้ภาพถ่ายดาวเทียม ในปี 2010 ทีมงานที่นำโดย Albert Yu-Min Lin นักวิทยาศาสตร์การวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานดิเอโก ได้เชิญอาสาสมัครออนไลน์ให้นำภาพถ่ายความละเอียดสูงหลายพันภาพของประเทศมองโกเลียที่ถ่ายโดยดาวเทียมเพื่อหาสัญญาณบอกหลุมศพ แต่มันเป็นงานที่ยากมากเหมือนงมเข็มในมหาสมุทร ในขณะที่นักวิจัยบางคนเริ่มใช้โดรนเพื่อดูภูมิทัศน์ให้ใกล้ขึ้นโดยไม่ต้องเหยียบย่ำดินแดนศักดิ์สิทธิ์

แม้จะมีนักวิจัยจำนวนมากพยายามค้นหาหลุมศพของเจงกีส ข่าน และมีนักวิจัยหลายคนที่เสียชีวิตไปแล้วพร้อมกับความล้มเหลว เห็นได้ชัดว่าความลับที่ตั้งหลุมศพของเจงกีส ข่าน ที่ยืนยงมานนาน 800 ปีและชาวมองโกลเองก็ไม่ได้ต้องการทราบคำตอบนี้จะยังคงเป็นความลับต่อไปอีกนานแสนนาน
 

ข้อมูลและภาพจาก amusingplanet, livescience

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *