นักวิจัยสร้างใบไม้เทียมสามารถผลิตยาต้นทุนต่ำได้ทุกที่ที่มีแสงอาทิตย์

วิศกรเคมีที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีไอนด์โฮเวน ประเทศเนเธอร์แลนด์ ได้พัฒนาอุปกรณ์ต้นแบบที่ได้รับแรงบันดาลใจจากใบไม้ที่สามารถจับพลังงานจากแสงอาทิตย์ และใช้มันในการผลิตยาได้อย่างยั่งยืนในราคาถูกในทุกๆที่แม้กระทั่งในป่าลึกหรือบนดาวอังคาร

ก่อนหน้านี้การทำผลิตภัณฑ์เคมีด้วยการใช้แสงอาทิตย์แทบจะเป็นไปไม่ได้ เนื่องจากพลังงานที่ได้จากแสงอาทิตย์น้อยเกินไป ไม่เพียงพอที่จะทำให้เกิดปฏิกิริยาเคมีขึ้นได้ แต่ในธรรมชาติใบไม้ทำได้ด้วยการสังเคราะห์แสง ตัวรับพลังงานแสง (Antenna molecules) ในใบไม้จะจับพลังงานจากแสงอาทิตย์และเก็บสะสมไว้ทำให้มันมีพลังงานมากพอที่จะทำให้เกิดปฏิกิริยาเคมีที่ได้ผลลัพธ์เป็นอาหารของพืช

ทีมวิจัยที่นำโดย Timothy Noel ได้สร้างใบไม้เทียมโดยใช้วัสดุชนิดใหม่เรียกว่า Luminescent Solar Concentrator (LSC) โมเลกุลรับแสงใน LSC จะเก็บรวบรวมรังสีอาทิตย์จนในที่สุดจะเปลี่ยนสี ก่อนที่จะนำไปไว้ตามขอบ

Noel ฝังท่อบางๆขนาดเล็กผ่านไปใน LSC ที่ทำจากยางซิลิกอนมีรูปร่างเหมือนเส้นใบในใบไม้ เมื่อปั๊มสารเคมีที่เป็นของเหลวเข้าไปในท่อ จะทำให้โมเลกุลในของเหลวสัมผัสกับแสงอาทิตย์ที่มีความเข้มข้นสูงสามารถทำให้เกิดปฏิกิริยาเคมีขึ้นได้

artificial-leaf-produce-drug-2

ใบไม้เทียมของ Noel จึงเป็นเหมือนโรงงานขนาดจิ๋วที่สามารถสร้างผลิตภัณฑ์เคมีได้โดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ผลการทดสอบผ่านเหนือเกณฑ์ที่คาดหวัง ไม่เพียงแต่เฉพาะในห้องแล็บเท่านั้น แม้กระทั่งการทดลองในวันที่มีเมฆมากยังให้ผลผลิตทางเคมีมากกว่าการทดลองที่คล้ายกันแต่ไม่มี LSC ถึง 40%

เนื่องจากใบไม้เทียมต้องอาศัยท่อเล็กจิ๋วในการนำสารเคมีให้ไปสัมผัสกับแสงอาทิตย์ความเข้มข้นสูงแต่ละใบจึงมีขนาดเล็ก แต่พวกมันสามารถเชื่อมต่อเข้าด้วยกันอย่างง่ายๆเพื่อเพิ่มผลผลิต

“คุณสามารถสร้างต้นไม้ที่ประกอบด้วยใบไม้จำนวนมากได้” Noel กล่าว “มันเป็นสิ่งที่ทำขึ้นได้ในราคาถูกมาก ดังนั้นมันจึงมีศักยภาพสูง”

artificial-leaf-produce-drug-3

“เรายังมองเห็นช่องทางที่จะปรับปรุงให้ดีขึ้นอีกมาก ตอนนี้เรามีเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพที่สามารถทำผลิตภัณฑ์เคมีที่สำคัญ เช่น ยาหรือสารกำจัดศัตรูพืชได้อย่างยั่งยืนโดยการใช้พลังงานแสงอาทิตย์” Noel กล่าว

ใบไม้เทียมพลังแสงอาทิตย์นี้มีประโยชน์อย่างมากในการใช้ผลิตยาในพื้นที่ห่างไกล เช่น ตามชนบท หรือบนดาวอังคารที่มนุษย์อาจไปสร้างเป็นอาณานิคมในอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้า

 

ข้อมูลและภาพจาก   tue.nl, perfscience

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *