ดาวเทียมใหม่ของ NOAA ได้ส่งภาพแรกของภาพโลกเต็มใบที่คมชัดที่สุดเท่าที่เคยมี

องค์การบริหารสมุทรศาสตร์และบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา หรือ NOAA ได้ปล่อยภาพถ่ายชุดแรกจากดาวเทียม GOES-16 ซึ่งมีภาพถ่ายของโลกแบบเต็มใบที่มีรายละเอียดคมชัดที่สุดเท่าที่เคยมีรวมอยู่ด้วย ดาวเทียมดวงนี้จะมีบทบาทสำคัญในความพยายามที่จะให้มีการเตือนตั้งแต่แรกเริ่มของสภาพอากาศที่มีแนวโน้มจะเป็นอันตราย และช่วยในการวางแผนช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมภายหลังการเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติอีกด้วย

noaa-goes16-first-images-2

ดาวเทียม GOES-16 เดิมชื่อ GOES-R ถูกส่งขึ้นสู่วงโคจรเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2016 เป็นดาวเทียมอุตุนิยมวิทยาที่ทันสมัยที่สุดหนึ่งในสี่ดวงที่ NOAA มีแผนส่งขึ้นสู่อวกาศ อีกสามดวงที่จะทยอยส่งตามขึ้นไปได้แก่ GOES-S, GOES-T และ GOES-U ดาวเทียม GOES-16 โคจรอยู่เหนือระดับพื้นโลก 35,900 กม. ซึ่งเป็นวงโคจรค้างฟ้า

วงโคจรค้างฟ้า (Geostationary Earth Orbit) เป็นวงโคจรที่มีระยะทางห่างจากพื้นโลก 35,786 กม.ขึ้นไปเหนือเส้นศูนย์สูตรของโลก มีทิศทางการโคจรทวนเข็มนาฬิกาเหมือนทิศทางการหมุนของโลก วัตถุที่อยู่ในวงโคจรดังกล่าวจะมีคาบการโคจรเกือบเท่ากับของโลก คือ 23 ชั่วโมง 56 นาที 4 วินาที ซึ่งเมื่อสังเกตวัตถุที่อยู่ในวงโคจรนี้จากโลก วัตถุจะปรากฏนิ่งในตำแหน่งเดิมตลอดเวลา

noaa-goes16-first-images-3

ดาวเทียม GOES-16 สามารถถ่ายภาพที่ความยาวคลื่นแสงที่มากกว่าเดิม มีความละเอียดเพิ่มมากกว่าเดิม 4 เท่า และส่งสัญญาณกลับถี่กว่าเดิม 5 เท่า ซึ่งนั่นจะทำให้ได้รับภาพโลกซีกตะวันตกแบบเต็มใบทุก 15 นาที ภาพทวีปอเมริกาทุก 5 นาที และได้ภาพสภาพอากาศอย่างเช่นภาพพายุเฮอริเคนทุกๆ 30 วินาที

GOES-16 สามารถถ่ายภาพย่านคลื่นแสงที่มองเห็นได้ 2 แชนเนล ย่านใกล้อินฟราเรด 4 แชนเนล และย่านอินฟราเรด 10 แชนเนล ซึ่งทำให้สามารถเลือกถ่ายเฉพาะลักษณะสภาพบรรยากาศที่แตกต่างกันได้ เช่น เมฆ ไอน้ำ ควัน น้ำแข็ง และฝุ่นภูเขาไฟ

GOES-16 สามารถใช้ทำงานได้หลายอย่าง เช่น การติดตามและพยากรณ์พายุฝนฟ้าคะนอง พายุทอร์นาโด พายุเฮอริเคน รวมไปถึงการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศ การปะทุของภูเขาไฟ และการติดตามการลุกลามของไฟป่า นอกจากนี้ยังช่วยในการให้ข้อมูลสำหรับการช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมภายหลังการเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติอีกด้วย

นาซายังบอกว่าความสามารถในการพยากรณ์อากาศของดาวเทียม GOES ใหม่นี้ เปรียบเสมือนเปลี่ยนจากทีวีขาวดำไปเป็น HDTV เลยทีเดียว

noaa-goes16-first-images-4

ราวสิ้นปีนี้ GOES-16 จะสิ้นสุดการทดสอบและเข้าแทนที่ดาวเทียมดวงเก่า GOES-15 ที่ใช้งานมาเกิน 10 ปี หรืออาจใช้แทนที่ GOES-13 ที่ถูกหินเล็กๆในอวกาศชนเสียหาย ส่วนดาวเทียมใหม่ดวงถัดไปคือ GOES-S หรือ GOES-17 มีแผนจะส่งขึ้นสู่วงโคจรเพื่อทดแทนดาวเทียมเก่าดวงอื่นในปี 2018

Louis Uccellini ผู้อำนวยการสำนักงานอากาศแห่งชาติ หน่วยงานหนึ่งใน NOAA บอกว่าจากการได้รับภาพที่มีรายละเอียดมากขึ้นและรวดเร็วขึ้นจะช่วยให้เห็นรายละเอียดของสภาพอากาศที่เลวร้ายได้ดีขึ้น ทำให้สามารถติดตามและคาดการณ์ความเป็นไปของสภาพอากาศได้แม่นยำมากขึ้น

“มันมากกว่าภาพที่สวยงามภาพหนึ่ง มันคืออนาคตของการสำรวจและพยากรณ์สภาพอากาศโลก” Uccellini กล่าว

 

ทวีปอเมริกาเหนือที่มีสภาพอากาศแบบมีฝนและหิมะกำลังเคลื่อนที่ผ่านประเทศสหรัฐอเมริกา และภาพที่เป็นข้อมูลดิบจากดาวเทียม GOES-16

noaa-goes16-first-images-5

noaa-goes16-first-images-6

 

ฝุ่นจากทะเลทรายซาฮารา (ด้านขวา) กำลังพัดไปสู่มหาสมุทรแอตแลนติก

noaa-goes16-first-images-7

 

พายุกำลังตั้งเค้าทางตะวันออกเฉียงเหนือและคลื่นความโน้มถ่วงมองเห็นได้ทางตะวันตกเฉียงใต้ของทวีปอเมริกาใต้ บริเวณประเทศอาร์เจนตินา

noaa-goes16-first-images-8

 

ข้อมูลและภาพจาก  sciencealert, noaa

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *