นักวิทยาศาสตร์นาซาเสนอให้ดาวพลูโตกลับมาเป็นดาวเคราะห์อีกครั้ง

นักวิทยาศาสตร์ของนาซาได้ออกแถลงการณ์ที่นำเสนอนิยามใหม่ของดาวเคราะห์ ถ้าได้รับการยอมรับจะทำให้ดาวพลูโตได้กลับมาเป็นดาวเคราะห์อีกครั้งหนึ่ง และรวมถึงดวงจันทร์ของโลกเราด้วย

ดาวพลูโตถูกถอดถอนออกจากการเป็นดาวเคราะห์เมื่อปี 2006 ด้วยนิยามของดาวเคราะห์ที่กำหนดขึ้นใหม่ในที่ประชุมสหพันธ์ดาราศาสตร์สากล (IAU) ซึ่งนิยามว่าดาวเคราะห์คือเทหวัตถุบนท้องฟ้าที่

  1. โคจรรอบดวงอาทิตย์ (เท่านั้น)
  2. มีมวลมากพอที่จะมีแรงโน้มถ่วงดึงดูดตัวเองให้มีรูปร่างใกล้เคียงกับทรงกลม
  3. สามารถกวาดเทหวัตถุอื่นบริเวณใกล้เคียงวงโคจรของมันไปได้ หรือไม่มีวัตถุอื่นที่มีขนาดใกล้เคียงกันและลักษณะทางกายภาพคล้ายคลึงกันอยู่ใกล้วงโคจร

ดาวพลูโตไม่ผ่านเกณฑ์ข้อ 3 ทำให้ถูกลดชั้นเป็นดาวเคราะห์แคระจนถึงปัจจุบัน

pluto-planet-2

ทีมนักวิทยาศาสตร์ที่นำเสนอนิยามใหม่ของดาวเคราะห์นำโดย Alan Stern ผู้ตรวจการณ์คนสำคัญของภารกิจส่งยานนิวฮอไรซันส์ไปดาวพลูโต ซึ่งประสบความสำเร็จในการบินเฉียดผ่านดาวพลูโตเป็นครั้งแรกในปี 2015 มีการพบภูมิประเทศรูปหัวใจขนาดใหญ่บนผิวดาวเป็นที่ฮือฮาไปทั่วโลก และขณะนี้ก็ยังสำรวจและส่งข้อมูลใหม่ๆของดาวพลูโตกลับมาอยู่ตลอด

“ทำไมต้องไปฟังนักดาราศาสตร์ในเรื่องเกี่ยวกับดาวเคราะห์” Stern ที่เป็นนักวิทยาศาสตร์ด้านดาวเคราะห์ ผู้ซึ่งเจ็บแค้นมากกับการที่ดาวพลูโตถูกถอดถอนจากการเป็นดาวเคราะห์ กล่าว

เขาหมายถึงว่าทำไมต้องเชื่อนักดาราศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับเทหวัตุบนท้องฟ้าหลายๆอย่างและปรากฏการณ์ในอวกาศ แทนที่จะเชื่อนักวิทยาศาสตร์ดาวเคราะห์ (อย่างพวกเขา) ที่ศึกษาเฉพาะเรื่องดาวเคราะห์และดวงจันทร์บริวารเท่านั้น

Stern เปรียบเทียบการให้นักดาราศาสตร์กำหนดนิยามของดาวเคราะห์คล้ายกับการไปหาหมอบำบัดเท้าเพื่อให้ผ่าตัดสมอง

“แม้ว่าจะเป็นแพทย์ทั้งสองคน แต่พวกเขามีความเชี่ยวชาญแตกต่างกัน” Stern กล่าว “คุณควรจะฟังนักวิทยาศาสตร์ดาวเคราะห์ที่รู้จริงในเรื่องนี้ เมื่อเรามองไปที่ดาวพลูโต เราไม่มีคำอื่นเรียกมันเลย นอกจากดาวเคราะห์เท่านั้น”

Stern และทีมงานได้เขียนนิยามของดาวเคราะห์ใหม่และกำลังส่งไปให้ IAU พิจารณา

“เราเสนอนิยามทางธรณีฟิสิกส์ของดาวเคราะห์สำหรับการใช้งานโดยผู้ให้การศึกษา นักวิทยาศาสตร์ นักเรียน และสาธารณชน” พวกเขาอธิบาย “ดาวเคราะห์คือเทหวัตถุที่ไม่ใช่ดาวฤกษ์และมีแรงโน้มถ่วงมากพอที่จะดึงดูดตัวเองให้มีรูปร่างเป็นทรงกลม โดยไม่คำนึงถึงปัจจัยที่เกี่ยวกับวงโคจรของมัน”

หรือจะพูดง่ายๆแบบชาวบ้าน ดาวเคราะห์ก็คือ “วัตถุทรงกลมในอวกาศที่เล็กกว่าดาวฤกษ์”

ตามนิยามนี้จะหมายถึงว่าดวงจันทร์ของเรา รวมไปถึงดวงจันทร์บริวารในระบบสุริยะอื่นๆ เช่น ไททัน เอนเซลาดัส ยูโรปา และแกนีมีด ก็จะมีคุณสมบัติเป็นดาวเคราะห์ด้วย เช่นเดียวกับดาวพลูโตที่นับวันก็ดูคล้ายดาวเคราะห์เข้าไปทุกที (จากข้อมูลใหม่ๆที่ได้รับจากยานนิวฮอไรซันส์)

แน่นอนว่ายังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงจนกว่า IAU จะตัดสินใจ และถ้าหากจะมีการกำหนดนิยามของดาวเคราะห์ขึ้นใหม่จริง ไม่ว่าจะโดยข้อเสนอแนะในครั้งนี้หรือครั้งอื่นในอนาคตก็ตาม มันจะต้องผ่านการพิจารณาใคร่ครวญอย่างรอบคอบก่อนที่จะนำมาใช้อย่างเป็นทางการ

ข้อมูลและภาพจาก  sciencealert, nasa

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *