ภาพเมฆหมุนวนบนดาวพฤหัสดูราวกับท้องฟ้าในภาพเขียนดังของแวนโก๊ะ

jupiter-swirling-cloud-2

Amelia Carolina Sparavigna เป็นนักวิทยาศาสตร์คนหนึ่งที่ได้เห็นความคล้ายคลึงกันของภาพเมฆหมุนวนบนดาวพฤหัสในภาพถ่ายจากยานอวกาศจูโน กับภาพท้องฟ้าในภาพเขียนสุดดังของแวนโก๊ะ ‘The Starry Night‘ เธอจึงนำภาพนั้นไปแทนที่ท้องฟ้าในภาพเขียน ภาพที่ออกมาแสดงถึงความคล้ายคลึงของผลงานศิลปะจากจินตนาการกับธรรมชาติแท้จริงได้อย่างน่าทึ่ง

วัตถุประสงค์หลักของภารกิจการส่งยานอวกาศจูโนไปดาวพฤหัสคือการศึกษาสภาพบริเวณที่อยู่ใต้ผิวนอกที่เต็มไปด้วยก้อนเมฆของดาวเคราะห์ดวงนี้ และกล้องถ่ายรูปของยานจูโน (JunoCam) ได้ส่งภาพถ่ายที่น่าตะลึงของดาวแก๊สยักษ์ที่มีบรรยากาศเป็นพายุหมุนวนกลับลงมายังโลกอย่างต่อเนื่อง

ภาพที่ Sparavigna ใช้ถูกถ่ายระหว่างที่ยานจูโนบินเฉียดเข้าใกล้ดาวพฤหัสครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2017 ขณะนี้ยานจูโนกำลังโคจรรอบดาวพฤหัสด้วยวงโคจรที่จะนำมันเข้าใกล้ผิวดาวทุก 53 วัน วงโคจรแบบนี้จะช่วยป้องกันตัวยานจากแถบรังสีเข้มข้นที่ห่อหุ้มดาวแก๊สยักษ์นี้

ภาพที่ยานจูโนส่งกลับมายังโลกโดยปกติจะไม่เหมือนแบบนี้ แต่จะมีข้อมูลที่สามารถดึงออกมาด้วยกระบวนการทางภาพและการปรับแก้โทนสี ภาพที่ผ่านกระบวนการแล้วจะถูกสร้างขึ้นใหม่ให้คล้ายกับดวงตามนุษย์ได้มองดาวเคราะห์ดวงนี้อย่างใกล้ๆ งานส่วนใหญ่ที่ดำเนินการกับภาพจากยานจูโนทำโดยนักวิทยาศาสตร์ทั่วไป ทีมงานของ JunoCam จะโพสต์ไฟล์ภาพบนเว็บไซต์ ทุกๆคนสามารถดาวน์โหลดภาพ นำไปผ่านกระบวนการ เสร็จแล้วจะโพสต์กลับไปที่เว็บไซต์ของ JunoCam บางคนใช้กระบวนการที่ซับซ้อนสร้างออกมาเป็นงานศิลปะที่น่าอัศจรรย์ บางคนก็มุ่งเน้นที่การเผยโฉมหน้าใหม่ๆและช่วยในการไล่ติดตามความรู้เกี่ยวกับดาวเคราะห์ดวงนี้

ยังมีอีกภาพที่โพสต์ไปที่เว็บไซต์ของ JunoCam ใช้ภาพที่ถ่ายจากยานจูโนในวันเดียวกันกับภาพแรก แสดงให้เห็นเส้นทางคดเคี้ยวเหมือนไม้เลื้อยของแก๊สที่หมุนวนในชั้นบรรยากาศของดาวพฤหัส ภาพที่ผ่านกระบวนการในคอมพิวเตอร์แล้วดูเหมือนกับครีมที่หมุนวนอยู่ในถ้วยกาแฟ หรือดูคล้ายปอยขนมสายไหม (อาจจะเป็นเพราะสีของมันที่ออกชมพูและฟ้าก็ได้)

jupiter-swirling-cloud-3

 

ข้อมูลและภาพจาก space.com

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *