ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Leuven และมหาวิทยาลัย Antwerp ที่ประเทศเบลเยียมได้ค้นพบวิธีในการจับมลพิษในอากาศและเปลี่ยนให้เป็นพลังงานในรูปของก๊าซไฮโดรเจนโดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์ อาจเป็นเทคโนโลยีที่จะเข้ามาแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมแบบยาอเนกประสงค์ได้เลย
ปกติเราสามารถผลิตก๊าซไฮโดรเจนได้ด้วยกระบวนการอิเล็กโทรลิซิส โดยการผ่านกระแสไฟฟ้าไปในน้ำเพื่อให้แยกน้ำออกมาเป็นก๊าซไฮโดรเจนและก๊าซออกซิเจน แต่วิธีการของพวกเขาไม่ได้ใช้ไฟฟ้าเลย และยังดึงเอาอนุภาคที่เป็นพิษออกมาจากอากาศได้อีกด้วย
“สิ่งที่แตกต่างจากกระบวนการอิเล็กโทรลิซิสก็คือกระบวนการของเราไม่จำเป็นต้องใช้ไฟฟ้า” Sammy Verbruggen นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Leuven กล่าว “อุปกรณ์นี้ทำงานกับอากาศเสียและแสงแดดเท่านั้น การคิดค้นเริ่มจากการค้นพบโดยสมาชิกในทีมวิจัยของมหาวิทยาลัย Leuven ที่พบว่าการผลิตก๊าซไฮโดรเจนด้วยอุปกรณ์นี้ไม่จำเป็นต้องใช้น้ำสะอาด มันสามารถจับเอาโมเลกุลของน้ำในอากาศได้ด้วย และในขั้นถัดมาเมื่อใช้กับอากาศที่มีมลพิษดูเหมือนมันจะทำงานได้ดีกว่าเสียอีก”
“จริงๆแล้วเราตั้งเป้าไปที่สารอินทรีย์ที่ระเหยได้ทุกชนิด” Verbruggen กล่าว “ตอนนี้เราศึกษาไปแล้วสำหรับเมทานอล เอทานอล และกรดอะซิติก และเราไม่หยุดเพียงแค่สามอย่างนี้แน่นอน”
ความสำเร็จในครั้งนี้ต้องนับว่าเป็นข่าวดีสำหรับเมืองปักกิ่ง นิวเดลี ลอสแอนเจลิส และอีกหลายๆแห่งทั่วโลก
“ไอเดียคือเราพยายามพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับจัดการกับมลพิษทางอากาศ ที่คุณสามารถทำให้อากาศบริสุทธิ์และให้สภาพแวดล้อมการอยู่อาศัยที่สะอาด ขณะเดียวกันก็ยังสามารถผลิตพลังงานทางเลือกได้อีกด้วย” Verbruggen กล่าว “แต่มันแค่เพิ่งจะผ่านการพิสูจน์แนวคิดเป็นครั้งแรกเท่านั้น”
“ยังมีงานที่ต้องทำอีกมากเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน มันไม่เหมือนกับการพบจอกศักดิ์สิทธิ์หรอกนะ แต่ว่ามันเป็นโอกาสใหม่ๆสำหรับอนาคต” Verbruggen กล่าว
ข้อมูลและภาพจาก kuleuven.be, newatlas