จีนคุยโวจะสร้าง “รถไฟบิน” ที่แล่นด้วยความเร็วสูงสุดถึง 4,000 กม./ชม.

กระแสความคลั่งไคล้ Hyperloop กำลังลามระบาดไปทั่วโลก และยิ่งเพิ่มความร้อนแรงขึ้นอีกกับข่าวเมื่อเร็วๆนี้ว่า Elon Musk ซีอีโอของ SpaceX เจ้าของแนวคิดเรื่องนี้มีแผนจะสร้างระบบ Hyperloop ของเขาเอง ล่าสุดจีนได้ประกาศแผนการที่ดูเหมือนจะข่มรัศมี Hyperloop ให้หมองลงด้วยการทำวิจัยเพื่อสร้าง “รถไฟบิน” ที่แล่นด้วยความเร็วสูงสุดถึง 4,000 กม./ชม.

บริษัทแห่งชาติด้านกิจการการบินและอวกาศของจีนหรือ CASIC ได้ประกาศแผนการวิจัยระบบรถไฟแห่งอนาคตที่เรียกว่า T-Flight ซึ่งในขั้นแรกจะวิ่งระหว่างเมืองด้วยความเร็ว 1,000 กม./ชม. และในที่สุดจะพัฒนาให้ถึงความเร็วสูงสุดที่ 4,000 กม./ชม.

ความเร็วเป้าหมายนี้เร็วกว่ารถไฟหัวกระสุน (Bullet Train) ที่มีอยู่ในปัจจุบันถึง 10 เท่า และยังเร็วกว่าความเร็วสูงสุดของเครื่องบินเจ็ตพาณิชย์มาก เช่น Airbus A380 มีความเร็วสูงสุดที่ 1,020 กม./ชม. และ Boeing 787 ที่ 954 กม./ชม. ขณะที่ระบบ Hyperloop มีความเร็วเป้าหมายอยู่ที่ 1,200 กม./ชม.

รถไฟบิน (Flying Train) ของจีนนี้ไม่ได้ ‘บิน’ ได้จริงๆ แต่เป็นรถไฟแม่เหล็ก (Maglev) ในอุโมงค์สูญญากาศ ที่ได้แนวคิดและแรงบันดาลใจมาจากรถไฟหัวกระสุน, เครื่องบินความเร็วเหนือเสียง และ Hyperloop แต่ด้วยความเร็วเป้าหมายที่สูงขนาดนั้นจึงทำให้มีคำถามและข้อสงสัยมากมาย

china-flying-train-2

CASIC ไม่ได้พูดถึงเรื่องกำหนดเวลาว่าเมื่อไรจะได้เห็นรถไฟบินตัวจริง เพียงแต่บอกว่าไม่ต้องกังวลในความปลอดภัยของผู้โดยสารเนื่องจากอัตราการเร่งความเร็วจะไม่เร็วกว่าเครื่องบินตอนขึ้นบิน รถไฟบินจะไม่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลและจะไม่ได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศ มันยังจะเชื่อมต่อกับระบบรถไฟฟ้าใต้ดิน และทีมงานกำลังทำงานร่วมอยู่กับสถาบันวิจัยกว่า 20 แห่งเพื่อทำให้มันเป็นจริง

ผู้เชี่ยวชาญบางคนได้ตั้งข้อสงสัยถึงความเป็นไปได้ Zhao Jian จากมหาวิทยาลัยการขนส่งปักกิ่งบอกว่าร่างกายของมนุษย์สามารถทนต่อความเร็วระดับ 4,000 กม./ชม. ได้แค่เพียงช่วงสั้นๆเท่านั้น และในกรณีนั้นผู้โดยสารก็จะกลายเป็นนักบินอวกาศ เขายังตั้งคำถามถึงความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจในโครงการนี้ที่จะต้องมีต้นทุนที่แพงอย่างมโหฬาร  

มีบางคนบอกว่าไม่มีระบบเบรกใดที่สามารถหยุดรถไฟบินในกรณีฉุกเฉินลงได้โดยที่ยังมีผู้โดยสารรอดชีวิต ขณะเดียวกันผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตบอกว่ารัฐบาลควรให้ความสนใจกับปัญหาสำคัญอย่างอื่นมากกว่า มีคอมเมนต์หนึ่งบอกว่า “รัฐบาลช่วยคิดค้นเทคโนโลยีที่แก้ปัญหารถติดให้ได้ก่อนจะดีกว่ามั้ย?”

 

ข้อมูลและภาพจาก  scmp, inhabitat

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *