ต้นทุนผลิตไฟฟ้าด้วยแผงโซลาร์เซลล์ทั้งระบบในสหรัฐลดลง 30% ภายในปีเดียว

ห้องปฏิบัติการพลังงานหมุนเวียนในกระทรวงพลังงานของสหรัฐอเมริกา (NREL) ได้เผยแพร่รายงานที่แสดงให้เห็นว่าต้นทุนของพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดใหญ่ได้ลดลงถึง 30% ภายในหนึ่งปี สำหรับแบบมุมรับแสงคงที่ (Fixed Tilt System) ตอนนี้มีราคาเฉลี่ยเพียงแค่ 1.03 ดอลลาร์ต่อวัตต์ ส่วนแบบที่มีระบบติดตามดวงอาทิตย์ (Solar Tracking System) ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 1.11 ดอลลาร์ต่อวัตต์

ข้อมูลนี้สอดคล้องกับกำหนดเป้าหมายราคาระบบพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดใหญ่ที่ประกาศโดยโครงการ SunShot initiative ของกระทรวงพลังงานสหรัฐที่ตั้งขึ้นเมื่อปี 2011 มีเป้าหมายมุ่งผลักดันให้พลังงานแสงอาทิตย์แข่งขันเชิงพาณิชย์ได้ภายในปี 2020 ราคาของแผงโซลาร์เซลล์ที่ลดลงอย่างมากเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ต้นทุนโดยรวมลดลงอย่างรวดเร็ว

จีนคือประเทศที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์และมียอดการผลิตแผงโซลาร์เซลล์มากกว่าความต้องการใช้ในประเทศ ผู้นำเข้าในสหรัฐสามารถซื้อได้ในราคาที่ถูกลง และส่งผลให้ต้นทุนพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดใหญ่ทั้งระบบลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

us-solar-pv-cost-fall-30%-2

NREL ยังได้แปลงต้นทุนที่ระดับนี้ไปเป็นราคาไฟฟ้าได้ที่ประมาณ 55 – 60 ดอลลาร์ต่อเมกะวัตต์-ชั่วโมงสำหรับแบบมุมรับแสงคงที่ และประมาณ 44 – 61 ดอลลาร์ต่อเมกะวัตต์-ชั่วโมงสำหรับแบบติดตามดวงอาทิตย์ ซึ่งต่ำกว่าเดิมอย่างมาก

จากรายงานยังพบว่าต้นทุนพลังงานแสงอาทิตย์สำหรับหน่วยงานธุรกิจและอุตสาหกรรมก็ลดลงไปถึง 15% จากปีที่แล้วเหลือเพียง 1.85 ดอลลาร์ต่อวัตต์ ขณะที่ต้นทุนสำหรับบ้านพักอาศัยลดลง 6% มาอยู่ที่ 2.8 ดอลลาร์ต่อวัตต์

ในช่วง 2 – 3 ปีล่าสุดแผงโซลาร์เซลล์ถูกนำมาติดตั้งใช้งานที่บ้านมากขึ้นเรื่อยๆ กระเบื้องหลังคาโซลาร์ของ Tesla ก็ดูเหมือนจะดึงดูดให้คนหันมาใช้เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน

นอกจากนี้ดูเหมือนว่าเราน่าจะได้เห็นบริษัทใหญ่ๆหันมาลงทุนในพลังงานแสงอาทิตย์เพิ่มมากขึ้น เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมาบริษัท Duke Energy Florida ได้ประกาศแผนการลงทุน 6 พันล้านดอลลาร์สร้างโซลาร์ฟาร์มขนาด 700 เมกะวัตต์แทนการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ที่ต้องใช้เงินลงทุนมากกว่า

การลดลงของราคาและประสิทธิภาพของอุปกรณ์ที่ดีขึ้นทำให้พลังงานแสงอาทิตย์ประสบความสำเร็จมากกว่าที่ผ่านมา งานวิจัยที่เผยแพร่เมื่อเดือนสิงหาคมได้บ่งชี้ว่ามี 139 ประเทศที่สามารถใช้พลังงานทั้งหมดจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนภายในปี 2050 และพลังงานแสงอาทิตย์ก็เป็นหนึ่งในแหล่งพลังงานที่สำคัญที่สุด

 

ข้อมูลและภาพจาก futurism, reneweconomy

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *