นักวิทยาศาสตร์จีนโคลนนิ่ง ‘ลิง’ สำเร็จแล้ว ขั้นต่อไปอาจโคลนนิ่ง ‘มนุษย์’

ตั้งแต่แกะดอลลี (Dolly) ถือกำเนิดขึ้นเมื่อปี 1996 นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกได้ใช้เทคนิคเดียวกันทำการโคลนนิ่งสัตว์ชนิดอื่นกว่า 20 ชนิดแล้ว เช่น แมว สุนัข หมู หนู วัว ฯลฯ แต่สำหรับไพรเมต (Primates) ซึ่งเป็นสัตว์ในตระกูลลิงและมนุษย์เทคนิคดังกล่าวยังใช้ไม่ได้ผล ทว่าตอนนี้นักวิทยาศาสตร์ชาวจีนทำได้สำเร็จแล้ว

ทีมวิจัยที่สถาบัน Chinese Academy of Sciences Institute of Neuroscience ในเซี่ยงไฮ้ที่นำโดย Qiang Sun เปิดเผยว่าพวกเขาค้นพบวิธีดัดแปลงเทคนิคที่ใช้โคลนนิ่งดอลลีให้ใช้ได้ผลกับสัตว์ไพรเมตด้วย และความพยายามของพวกเขาก็ให้ผลเป็นเจ้าลิงวอกโคลนนิ่งเพศเมีย 2 ตัวชื่อว่า Zhong Zhong และ Hua Hua

เทคนิคที่ใช้ในการโคลนดอลลีเรียกว่าการถ่ายฝากนิวเคลียส (somatic cell nuclear transfer) เป็นการแทนที่นิวเคลียสในไข่ด้วยนิวเคลียสที่เอามาจากเซลล์ของสัตว์ตัวอื่น แล้วใช้กระแสไฟฟ้าทำให้ไข่เข้าใจว่าได้รับการผสมพันธ์ ซึ่งจะทำให้มันเริ่มพัฒนากลายเป็นตัวอ่อนที่สามารถนำไปฝังไว้ในตัวเมียเพื่อตั้งครรภ์ สัตว์ในครรภ์จะเติบโตมีรูปร่างลักษณะทุกอย่างเหมือนกับสัตว์เจ้าของนิวเคลียสที่ถูกนำไปไว้ในไข่

สำหรับสัตว์ไพรเมตกระบวนการโคลนนิ่งแบบเดิมจะล้มเหลวในขั้นตอนการพัฒนาของตัวอ่อนก่อนนำไปฝัง (Blastocyst ) เพื่อให้ผ่านอุปสรรคสำคัญนี้ ทีมงานของ Sun ได้เพิ่มสารชนิดใหม่ 2 ตัวเพื่อใช้เก็บสารอาหารและปัจจัยในการเจริญเติบโตซึ่งตามปกติแล้วจะนำไปใช้กับตัวอ่อนก่อนที่จะฝังในสัตว์ที่อุ้มท้อง สารชนิดใหม่นี้ซึ่งเรียกว่า trichostatin A และ messenger RNA จะช่วยโดยตรงต่อ DNA ให้เจริญเติบโตอย่างเหมาะสม ด้วยการกระตุ้นยีนจำนวนมากที่จำเป็นสำหรับการพัฒนาของตัวอ่อน

ทีมวิจัยทดสอบเทคนิคนี้โดยใช้เซลล์จากลิงวอกทั้งที่โตเต็มที่แล้วและที่ยังเป็นทารกในครรภ์ แม้ว่าการใช้เซลล์จากลิงวอกโตเต็มวัยจะให้กำเนิดทารกได้ 2 ตัวแต่อยู่รอดได้ไม่นานหลังจากเกิด และมีตัวหนึ่งที่ร่างกายพัฒนาไม่สมบูรณ์ด้วย การใช้เซลล์จากลิงวอกที่ยังเป็นทารกกลับให้ผลดีกว่า พวกเขาฝังตัวอ่อน 79 ตัวในลิงวอกตัวเมีย 21 ตัว มีการตั้งครรภ์ 6 ตัว และ Zhong Zhong กับ Hua Hua เป็น 2 ตัวที่สามารถเกิดมาได้สำเร็จ

china-monkey-clones-2

การที่สามารถโคลนนิ่งลิงวอกที่มีพันธุกรรมเหมือนกันได้นี้อาจมีประโยชน์กับงานวิจัยทางการแพทย์อย่างมหาศาล เพราะลิงวอกมีพันธุกรรมที่ใกล้เคียงกับมนุษย์มากกว่าหนู จึงสามารถใช้ในงานวิจัยหาวิธีรักษาโรคบางอย่าง เช่น โรคอัลไซเมอร์และโรคพาร์คินสัน การทดลองแนวทางรักษาโรคเหล่านี้ในหนูมีการตอบสนองที่แตกต่างกับในคนมาก หากใช้ลิงวอกโคลนนิ่งแทนหนูก็น่าจะมีโอกาสประสบความสำเร็จได้ดีกว่า

กับคำถามที่ว่าเมื่อสามารถโคลนนิ่งลิงได้สำเร็จแล้วในขั้นต่อไปจะทำการโคลนนิ่งมนุษย์หรือไม่ Mu-Ming Poo หนึ่งในทีมวิจัยบอกว่าพวกเขาไม่มีความตั้งใจที่จะใช้เทคนิคนี้กับมนุษย์ เพราะไม่มีแรงจูงใจใดๆให้ทำเช่นนั้น

“มันเป็นอีกก้าวหนึ่งที่เข้าไปใกล้การโคลนนิ่งมนุษย์ แต่ทำไมจึงต้องทำมันล่ะ?” Peter Andrews อาจารย์วิทยาศาสตร์ชีวการแพทย์ที่มหาวิทยาลัยเชฟฟีลด์กล่าว “ในทางชีววิทยาการโคลนนิ่งมนุษย์เป็นเรื่องถูกกฎหมายในอังกฤษและอีกหลายประเทศ แต่ผมไม่คิดว่าใครต้องการทำมันจริงๆ”

อย่างไรก็ตามต้องจำเอาไว้ว่าตอนนี้เราได้ทำลายกำแพงทางเทคนิคของการโคลนนิ่งมนุษย์ไปแล้ว และมันจะไม่มีวันย้อนกลับ ถึงจะมีกฎหมายห้ามทำโคลนนิ่งมนุษย์แต่ใช่ว่าทุกคนจะปฏิบัติตามกฎหมาย เราสามารถต่อต้านความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ได้ทุกเรื่อง แต่เราหยุดมันไม่ได้หรอก


 
 

ข้อมูลและภาพจาก futurism, newscientist

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *