หลุยส์ ปาสเตอร์ ผู้พิชิตจุลินทรีย์ต้นเหตุโรคร้ายทำลายชีวิตชาวโลก

หลุยส์ ปาสเตอร์ (Louis Pasteur) นักจุลชีววิทยาและนักเคมีผู้วางรากฐานการแพทย์สมัยใหม่ เป็นผู้ค้นพบว่าการเน่าเสียของอาหารเกิดจากจุลินทรีย์ และค้นพบวิธีการฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ได้ด้วยการพาสเจอร์ไรส์ (Pasteurization) ซึ่งช่วยให้สามารถเก็บนม เครื่องดื่ม และอาหารไว้ได้นานโดยไม่เน่าเสีย การค้นพบนี้ทำให้สาขาวิชาจุลชีววิทยาโดดเด่นก้าวหน้าขึ้นอย่างรวดเร็ว ปาสเตอร์ยังเป็นผู้คิดค้นทฤษฎีการติดเชื้อจากจุลินทรีย์และค้นพบวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้า อหิวาตกโรค วัณโรค และโรคคอตีบ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อวงการแพทย์เป็นอย่างมาก ช่วงปั้นปลายชีวิตเขาได้ก่อตั้งสถาบันปาสเตอร์ที่มุ่งทำงานวิจัยต่อสู้กับเชื้อโรคต่างๆจนกลายเป็นสถาบันวิจัยที่สำคัญของโลก ปาสเตอร์เป็นนักวิทยาศาสตร์ที่อุทิศตนให้กับงานค้นคว้าวิจัยด้วยความพยายามและมุ่งมั่น ผลงานของเขาสร้างประโยชน์ให้กับโลกอย่างมหาศาล ปาสเตอร์เป็นหนึ่งในนักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ที่ได้รับการยกย่องจากผู้คนทั่วโลกอย่างสูง

 
จากศิลปินน้อยกลายเป็นนักเคมี

louis-pasteur-2

ปาสเตอร์เป็นชาวฝรั่งเศส เกิดเมื่อปี 1822 ที่เมือง Dole ทางภาคตะวันออกของประเทศฝรั่งเศส เป็นลูกของช่างฟอกหนังฐานะไม่ค่อยดี ตอนเป็นเด็กปาสเตอร์ไม่สนใจเรียน แต่วาดรูปเก่ง เขาวาดรูปของพ่อแม่ เพื่อน และเพื่อนบ้านไว้จำนวนมาก เป็นเด็กที่มีแววด้านศิลปะดีทีเดียว แต่พ่อไม่สนับสนุนจึงไม่ได้ไปต่อ ปี 1838 ถูกส่งไปเรียนต่อที่กรุงปารีส แต่เรียนได้ไม่นานนักก็ป่วยและเป็นโรคคิดถึงบ้านอย่างหนักจนพ่อต้องไปรับตัวกลับบ้าน

ปีถัดมาปาสเตอร์เข้าเรียนที่ Collège Royal ในเมือง Besançon ซึ่งอยู่ใกล้บ้านและจบปริญญาตรีสาขาวิทยาศาสตร์ในปี 1842 ด้วยคะแนนที่ค่อนข้างต่ำ ปี 1843 ปาสเตอร์เข้าเรียนต่อในสาขาวิทยาศาสตร์ที่สถาบัน École Normale Supérieure ในกรุงปารีส จบระดับปริญญาโทในปี 1845 และได้รับปริญญาเอกสาขาวิทยาศาสตร์ในปี 1847

ปาสเตอร์ในวัย 26 ปีเริ่มทำงานเป็นอาจารย์สอนวิชาฟิสิกส์ช่วงสั้นๆที่โรงเรียนมัธยมในเมือง Dijon ก่อนที่จะไปรับตำแหน่งศาสตราจารย์เคมีที่มหาวิทยาลัยสตราสบูร์ก ที่ซึ่งเขาได้พบกับ Marie Laurent ลูกสาวของอธิการบดีของมหาวิทยาลัย ได้แต่งงานกันและเธอกลายเป็นผู้ช่วยคนสำคัญในงานวิจัยของปาสเตอร์ไปตลอดชีวิต ทั้งคู่มีลูกด้วยกัน 5 คนแต่รอดชีวิตจนโตเพียง 2 คน ที่เหลือเสียชีวิตด้วยโรคไทฟอยด์

 
จากนักเคมีกลายเป็นนักชีววิทยา

louis-pasteur-3

ปาสเตอร์ประสบความสำเร็จกับการทำงานในฐานะนักเคมีด้วยดี เขาทำวิจัยเกี่ยวกับคุณสมบัติทางแสงและการตกผลึกของกรดทาร์ทาริก (Tartaric acid) จนทราบสาเหตุของปัญหาที่ทำให้การเลี้ยวเบนของแสงเมื่อผ่านผลึกของกรดทาร์ทาริกที่ได้จากสิ่งมีชีวิตกับที่ได้จากการสังเคราะห์แตกต่างกัน ด้านตำแหน่งทางวิชาการก็ก้าวหน้าด้วยดี ปี 1852 ได้เป็นหัวหน้าแผนกเคมีของมหาวิทยาลัยสตราสบูร์ก และในปี 1854 เขาได้รับแต่งตั้งให้เป็นคณบดีคณะวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยลีลล์ และที่นี่เองที่เขาเริ่มเบนเข็มไปค้นคว้าทางชีววิทยาด้วยการศึกษาเรื่องการหมัก (Fermentation) ปี 1857 ย้ายไปอยู่ที่ปารีสเป็นผู้อำนวยการวิทยาศาสตร์ของสถาบัน École Normale Supérieure ที่เขาเป็นศิษย์เก่านานเกือบ 10 ปี

การศึกษาในเรื่องการหมักทำให้ปาสเตอร์พบว่าชีวิตใหม่ต้องเกิดจากสิ่งมีชีวิตที่มีอยู่เดิมเท่านั้น ซึ่งขัดแย้งกับหลักคำสอนและความเชื่อพื้นฐานในขณะนั้นที่ว่าสิ่งมีชีวิตสามารถเกิดขึ้นได้เองจากสิ่งไม่มีชีวิต (Spontaneous Generation) เช่น กบเกิดขึ้นมาเองจากโคลน แมลงเกิดขึ้นมาจากเศษอาหารที่เหลือทิ้งไว้ ฯลฯ เป็นความเชื่อที่มีมายาวนานนับพันปี พอปาสเตอร์เสนอแนวคิดที่ตรงกันข้ามจึงเกิดการคัดค้านจากนักปราชญ์รุ่นเก่าอย่างหนักจนกลายเป็นสงครามปากกา สถาบันวิทยาศาสตร์ฝรั่งเศสได้เสนอเงินรางวัล 2,500 ฟรังก์ให้กับผู้ที่สามารถทดลองพิสูจน์หักล้างกับหลักคำสอนได้ ปาสเตอร์ทำการทดลองใส่น้ำต้มในขวด ใช้อากาศร้อนฆ่าเชื้อภายในขวดแล้วปิดฝาสนิททิ้งไว้ เทียบกับขวดอื่นที่ใส่น้ำต้มแต่เปิดฝาทิ้งไว้ พบว่าไม่มีสิ่งมีชีวิตในขวดปิดฝา แต่ในขวดเปิดฝามี และยังพบว่ามีสิ่งมีชีวิตน้อยลงในขวดเปิดฝาที่วางไว้ที่ระดับสูงเพราะที่ระดับสูงมีฝุ่นน้อยกว่า คณะกรรมการที่ประกอบไปด้วยศาสตราจารย์ชั้นอาวุโสลงมติว่าแนวคิดของปาสเตอร์ถูกต้อง เขาจึงได้รับการยอมรับและมีชื่อเสียงในฐานะนักชีววิทยา

 
คิดค้นวิธีการทำพาสเจอร์ไรซ์

louis-pasteur-4

ฝรั่งเศสเกิดปัญหาเรื่องไวน์หรือเหล้าองุ่นมีรสเปรี้ยวสร้างความเสียหายไปทั่ว ปาสเตอร์ได้ศึกษาปัญหานี้และพบว่ามีการปนเปื้อนของจุลินทรีย์ในขั้นตอนการหมัก จึงคิดค้นวิธีการแก้ปัญหาโดยวิธีฆ่าเชื้อโรคด้วยความร้อน เขาทำการทดลองจนพบว่าการให้ความร้อนที่ 55 °C สามารถฆ่าเชื้อและไม่ทำให้รสเหล้าองุ่นเสียไป ผู้ผลิตเหล้าองุ่นนำวิธีของปาสเตอร์ไปใช้ปรากฏว่าได้ผลดี วิธีนี้ยังสามารถใช้ได้กับนม เครื่องดื่มและอาหารบางชนิดที่บรรจุกระป๋องได้ผลดีอีกด้วย การถนอมอาหารวิธีนี้เรียกว่าการพาสเจอร์ไรส์ (Pasteurization) ตามชื่อของปาสเตอร์ และยังเป็นวิธีที่นิยมใช้กันทั่วโลกจนถึงปัจจุบัน

 
แก้ปัญหาโรคระบาดในตัวไหม

louis-pasteur-5

ปี 1865 เกิดโรคระบาดในตัวไหมอย่างหนักทางภาคใต้ของฝรั่งเศส ปาสเตอร์ได้รับมอบหมายให้แก้ปัญหานี้ เขาเดินทางไปที่เมืองอาร์ลเพื่อศึกษาและหาทางแก้ปัญหา ปาสเตอร์ต้องอยู่ที่นี่ถึง 5 ปี ใช้ความอดทนและความพยายามอย่างมากในการค้นคว้าทดลอง ในที่สุดเขาก็ทำสำเร็จ เขาค้นพบตัวยาที่ใช้รักษาโรคไหม สถิติการตายของตัวไหมลดลงอย่างรวดเร็วและหยุดระบาดไป แถมตัวไหมยังให้ผลดียิ่งขึ้นกว่าเดิมอีกด้วย

ความสำเร็จในการคิดค้นวิธีทำพาสเจอร์ไรส์และการแก้ปัญหาโรคไหมทำให้ปาสเตอร์มีชื่อเสียงโด่งดัง มหาวิทยาลัยบอนน์ในประเทศเยอรมันได้มอบปริญญาแพทยศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์แก่ปาสเตอร์ (ภายหลังเขาส่งคืนเมื่อเกิดสงครามระหว่างฝรั่งเศสกับเยอรมนีขึ้น) เขาได้เข้าเฝ้าพระเจ้านโปเลียนที่ 3 และพระราชินี ซึ่งทั้งสองพระองค์ประหลาดใจมากที่ผู้ปราบโรคไหมและโรคเหล้าองุ่นที่เป็นสินค้าสำคัญที่สุดของประเทศฝรั่งเศสซึ่งสร้างความมั่งคั่งให้กับมหาเศรษฐีมากมายกลับเป็นคนที่มีฐานะยากจนมาก

 
ทฤษฎีการติดเชื้อจากจุลินทรีย์

louis-pasteur-6

จากงานค้นคว้าเกี่ยวกับจุลินทรีย์อย่างต่อเนื่องทำให้ปาสเตอร์ได้ข้อสรุปว่าความเจ็บไข้ได้ป่วยของคนและสัตว์ รวมไปถึงต้นไม้เกิดจากการติดเชื้อจุลินทรีย์ หากสามารถฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ก็จะหายป่วยกลับเป็นมาปกติได้ งานวิจัยของเขาจึงมุ่งไปทางนี้ ปาสเตอร์ได้เสนอว่าในอากาศ เครื่องมือเครื่องใช้ เสื้อผ้า รวมไปถึงเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์ล้วนแต่มีเชื้อโรคปนเปื้อนอยู่ โดยเฉพาะการผ่าตัดมีโอกาสติดเชื้อสูงมาก ควรฆ่าเชื้อโรคจากแหล่งต่างๆเหล่านั้นให้หมดเพื่อป้องกันการติดเชื้อ

อังกฤษได้นำเอาคำแนะนำของปาสเตอร์ไปใช้ทันที รวมถึงใช้กับการคลอดบุตรในโรงพยาบาลด้วย แต่ฝรั่งเศสกลับไม่เชื่อ แถมบางคนยังเยาะเย้ยถากถางเรื่องจุลินทรีย์ของปาสเตอร์ ผ่านไปหลายปีมีสถิติที่เชื่อถือได้ว่าโรงพยาบาลในประเทศอังกฤษที่ปฏิบัติตามแนวคิดของปาสเตอร์มีจำนวนผู้ป่วยและตายหลังผ่าตัดและคลอดบุตรลดน้อยไปมาก การเข้มงวดในการฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ตามหลักของปาสเตอร์ให้ความปลอดภัยแก่คนป่วยอย่างแท้จริง ฝรั่งเศสจึงยอมเชื่อหลักการนี้และนำมาใช้บ้าง เรื่องนี้ยังสะท้อนมุมมองที่เปิดกว้างยอมรับสิ่งใหม่ของคนอังกฤษมีสูงกว่าคนฝรั่งเศสที่มักยึดมั่นกับความเชื่อดั้งเดิม

 
วัคซีนป้องกันโรคในคนและสัตว์

louis-pasteur-7

ระหว่างที่ปาสเตอร์กำลังศึกษาเรื่องโรคอหิวาต์ไก่ โดยเพาะเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคนี้แล้วนำมาฉีดในไก่ เขาพบโดยบังเอิญว่าถ้าไก่ที่แข็งแรงปกติได้รับเชื้อแบคทีเรียที่อ่อนแอจะไม่เป็นโรคและสร้างภูมิคุ้มกันโรคนี้ขึ้นได้เอง หลังจากนั้นเมื่อให้เชื้อปกติไก่ก็จะไม่เป็นโรค ซึ่งสามารถแก้ปัญหาการเกิดโรคอหิวาต์ไก่ได้ ปาสเตอร์เสนอเรื่องนี้ต่อสถาบันวิทยาศาสตร์ฝรั่งเศสในปี 1880 และได้บอกว่าแบคทีเรียถูกทำให้อ่อนแอลงได้เมื่อให้สัมผัสกับออกซิเจน

ปลายทศวรรษ 1870 ปาสเตอร์นำวิธีสร้างภูมิคุ้มกันมาใช้กับโรคแอนแทรกซ์ที่ระบาดในปศุสัตว์แล้วทำให้สัตว์เลี้ยงล้มตายจำนวนมาก สร้างกระแสความสนใจในการเอาชนะโรคร้ายอื่นๆได้เป็นอย่างดี เขาเพาะเชื้อแบคทีเรียจากเลือดของสัตว์ที่เป็นโรคแอนแทรกซ์ นำไปฉีดให้กับสัตว์แล้วสัตว์เป็นโรคแอนแทรกซ์ เป็นการพิสูจน์ว่าแบคทีเรียนั้นเป็นสาเหตุของการเกิดโรค ต่อมาเขาค้นพบว่าการเพาะเชื้อแบคทีเรียที่ 42 °C ทำให้มันไม่สร้างสเปอร์ นำไปสู่เทคนิคการทำให้เชื้อแบคทีเรียอ่อนแอ หลังจากนั้นปาสเตอร์จึงได้ทดลอง “วัคซีน” ของเขากับแกะ แพะ และวัว ซึ่งประสบความสำเร็จทั้งหมด

ปี 1885 ปาสเตอร์หันมาสนใจกับโรคพิษสุนัขบ้าซึ่งเป็นโรคที่ทำให้คนตายไปพอสมควร งานนี้ทำให้เขาต้องเสี่ยงชีวิตอยู่ไม่น้อย เพราะต้องดูดเอาน้ำลายพิษออกจากปากของสุนัขบ้า ปาสเตอร์ทำการเพาะเชื้อไวรัสที่เป็นต้นเหตุของโรคในกระต่าย แล้วทำให้มันอ่อนแอลงด้วยการนำเนื้อเยื่อประสาทที่ติดเชื้อไปตากแห้ง เขาทดลองกับสุนัขจำนวนมาก มันได้ผลดี แต่ไม่กล้าทดลองกับคน จนวันหนึ่งมีเด็กอายุ 9 ปีติดเชื้อพิษสุนัขบ้าอาการใกล้ตายถูกนำมาให้ปาสเตอร์ทดสอบวัคซีน หลังจากชั่งใจอยู่นานเขาตัดสินใจให้วัคซีนกับเด็ก เด็กมีอาการดีขึ้นเป็นลำดับและหายดีภายใน 3 เดือน ต่อมามีคนมาให้เขารักษามากขึ้น ปี 1886 เขารักษาให้กับคนเป็นโรคนี้ 350 คน ไม่สำเร็จเพียงคนเดียว ความสำเร็จในเรื่องนี้ของปาสเตอร์เป็นรากฐานสำหรับการผลิตวัคซีนอื่นๆตามมาอีกมากมาย

 
ก่อตั้งสถาบันวิจัยชั้นนำของโลก

louis-pasteur-8

หลังจากการพัฒนาวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้าปาสเตอร์เสนอให้จัดตั้งสถาบันเพื่อการรักษาโรคพิษสุนัขบ้าและศึกษาวิจัยเกี่ยวกับโรคติดต่อร้ายแรง โดยมีการระดมทุนจากผู้บริจาคหลายประเทศ สถาบันปาสเตอร์ได้รับการสถาปนาขึ้นเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 1888 ปาสเตอร์เป็นผู้อำนวยการสถาบันคนแรกจนกระทั่งเขาเสียชีวิตในปี 1895 ด้วยวัย 73 ปี ปัจจุบันสถาบันปาสเตอร์เป็นสถาบันวิจัยชั้นนำของโลก มีการขยายสาขาออกไปเป็น 32 แห่งใน 29 ประเทศทั่วโลก สำหรับประเทศไทยใช้ชื่อว่าสถานเสาวภา

 
เขาคือผู้สร้างคุณูปการแก่ชาวโลก

louis-pasteur-9

ผลงานจากความมุ่งมั่นและพยายามของปาสเตอร์สร้างประโยชน์ให้กับโลกอย่างมหาศาล ช่วยชีวิตผู้คนจากโรคร้ายมากมาย รวมทั้งได้วางรากฐานสำคัญต่อการแพทย์สมัยใหม่ให้มีความเจริญก้าวหน้าอย่างมาก ในวาระฉลองอายุครบ 70 ปีของปาสเตอร์รัฐบาลฝรั่งเศสได้ประกาศให้วันเกิดของเขาเป็นวันหยุดทั่วประเทศ นับว่าเป็นเกียรติสูงสุดที่ไม่มีใครได้รับมาก่อนแม้กระทั่งประธานาธิบดี ผู้คนต่างยกย่องชื่นชมในความสามารถและผลงานของเขาในฐานะนักชีววิทยาคนสำคัญของโลก มีสถานที่ ถนน โรงเรียน มหาวิทยาลัยในหลายประเทศตั้งชื่อตามชื่อของเขาเพื่อเชิดชูเกียรติ ปาสเตอร์เป็นหนึ่งในนักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ที่ได้รับการยกย่องจากผู้คนทั่วโลกอย่างสูง

louis-pasteur-10

 
 
ข้อมูลและภาพจาก   wikipedia, bbc.co.uk, silpathai.net

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *