ไขปริศนาหมวกหินยักษ์หนัก 12 ตันถูกยกขึ้นไปวางบนหัว ‘โมอาย’ ได้อย่างไร

รูปปั้นหินแกะสลักรูปหน้าคน ‘โมอาย’ ที่ตั้งอยู่บนเกาะอีสเตอร์เป็นมรดกโลกที่ทรงคุณค่าทั้งในด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี ที่แปลกเป็นพิเศษคือรูปปั้นโมอายบางตัวมีหมวกบนหัวด้วย และดูเหมือนว่าหมวกดังกล่าวจะถูกนำไปวางหลังจากที่ได้ติดตั้งรูปปั้นเข้าที่แล้ว น่าสนใจว่าหมวกหินยักษ์หนัก 12 ตันถูกนำไปวางบนหัวรูปปั้นสูง 10 เมตรได้อย่างไร ชาวโพลิเนเชียนที่มีชีวิตอยู่เมื่อกว่า 1,000 ปีก่อนใช้เทคนิคอะไรในการยกมันขึ้นไป ล่าสุดนักวิจัยบอกว่าพวกเขาไขปริศนาเรื่องนี้ได้แล้ว

มีปริศนาที่มักถามกันบ่อยๆว่าชาวโพลิเนเชียนเคลื่อนย้ายรูปปั้นโมอายขนาดใหญ่จากเหมืองหินจุดที่ทำการแกะสลักไปยังจุดที่ติดตั้งซึ่งห่างกันราว 18 กิโลเมตรกับนำหมวกหินสีแดงที่เรียกว่า “pukao” ขึ้นไปวางบนหัวของรูปปั้นได้อย่างไร

hats-pukao-moai-2

สำหรับคำถามแรกนักวิจัยมีคำตอบมานานแล้วว่าพวกเขาใช้เทคนิคทำให้โมอาย “เดิน” ได้ โดยใช้เพียงเชือก 3 เส้นและคนจำนวนหนึ่งกับกลยุทธ์บางอย่างเท่านั้น และได้ทำการสาธิตให้เห็นประจักษ์ดังในวิดีโอด้านล่าง แต่สำหรับคำถามที่สองยังคงเป็นปริศนาที่ต้องการตำตอบที่ชัดเจน


 

“ผู้คนจำนวนมากมีแนวคิดในเรื่องนี้ที่แตกต่างกันออกไป แต่เราเป็นกลุ่มแรกที่ได้แนวคิดโดยใช้หลักฐานทางโบราณคดี” Sean W Hixon หนึ่งในทีมวิจัยกล่าว

ทีมวิจัยชี้ว่าหมวก pukao รูปทรงกระบอกขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2 เมตร หนัก 12 ตัน น่าจะถูกกลิ้งมาจากเหมืองหินสคอเรีย (Scoria) สีแดงซึ่งเป็นจุดที่พวกมันถูกตัดออกมา พวกเขาใช้การกลิ้งหมวกหินจนมาถึงรูปปั้น ส่วนการยกหมวกหินขึ้นไปวางบนหัวรูปปั้นนั้นใช้ทางลาดและเชือกกับเทคนิคที่เรียกว่า Parbuckling

hats-pukao-moai-3

“เทคนิค Parbuckling เป็นการใช้เชือกพันรอบหมวกหินรูปทรงกระบอก จากนั้นใช้คนจำนวนหนึ่งดึงเชือกจากด้านบน” Carl Lipo นักวิจัยอีกคนหนึ่งอธิบาย “วิธีนี้จะช่วยลดการใช้แรงในการกลิ้งหมวกหินขึ้นไปบนทางลาดได้อย่างมาก เช่นเดียวกับการเคลื่อนย้ายตัวรูปปั้น พวกเขาใช้วิธีที่เรียบง่าย แก้ปัญหาได้อย่างสละสลวย ใช้ทรัพยากรและกำลังแรงงานน้อยที่สุด”

เพื่อยืนยันว่าสมมติฐานนี้สามารถปฏิบัติได้จริงสำหรับชาวโพลิเนเชียน นักวิจัยได้สร้างแบบจำลอง 3 มิติของหมวก pukao ที่พบบนเกาะจำนวน 50 อัน ทำการประมาณกำลังของคนดึง น้ำหนักของหมวกหิน ความสูงของรูปปั้น และทำการคำนวณโดยหลักการทางฟิสิกส์อย่างละเอียด พวกเขาพบว่าใช้คนเพียงไม่เกิน 15 คนก็สามารถดึงหมวกหินขึ้นไปวางบนหัวรูปปั้นได้แล้ว

“การแกะสลักรูปปั้นโมอาย หมวก pukao และการเคลื่อนย้ายพวกมัน แสดงถึงความสามารถอันยอดเยี่ยมของชาวเกาะแห่งนี้” ทีมวิจัยกล่าว “หลักฐานหลายประการ รวมทั้งการใช้วิศวกรรมที่ชาญฉลาดในการทำให้รูปปั้นเดินได้และการยกหมวกหินขึ้นตั้งบนหัวรูปปั้น ชี้ให้เห็นถึงความสำเร็จของชาวโพลิเนเชียนในสถานที่ที่ไม่น่าเป็นไปได้”

 

ข้อมูลและภาพจาก sciencealert, iflscience

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *