น้ำแข็งที่ทวีปแอนตาร์กติกาละลายเร็วกว่าเดิม 3 เท่านับจากปี 2012

ทีมนักวิทยาศาสตร์จากกว่า 40 องค์กรทั่วโลกเสร็จสิ้นการประเมินผลการเปลี่ยนแปลงของน้ำแข็งที่ทวีปแอนตาร์กติกาในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาแล้ว และก็เป็นไปตามคาดผลลัพธ์ที่ออกมาน่าวิตกต่ออนาคตของโลกอย่างยิ่ง อัตราการละลายของน้ำแข็งนับจากปี 2012 เป็นต้นมาสูงกว่าอัตราการละลายที่ค่อนข้างคงที่ในช่วง 25 ปีก่อนถึง 3 เท่า และนั่นก็ส่งผลทำให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นเร็วกว่าเดิม 3 เท่าตามไปด้วย

การประเมินผลครั้งล่าสุดนี้มีนักวิทยาศาสตร์เข้าร่วมด้วย 84 คน จากกว่า 40 สถาบัน ใช้ข้อมูลจากการสำรวจทางดาวเทียมศึกษาการเปลี่ยนแปลงของแผ่นน้ำแข็งของทวีปแอนตาร์กติการะหว่างปี 1992 ถึงปี 2017 และผลของมันต่อการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล ก่อนปี 2012 น้ำแข็งของทวีปแอนตาร์กติกาลดปริมาณลงในอัตราค่อนข้างคงที่ราว 83.8 พันล้านตันต่อปี หลังจากนั้นปริมาณน้ำแข็งที่สูญหายไปก็เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในอัตรา 241.1 พันล้านตันต่อปี หรือเพิ่มขึ้นราว 3 เท่า

น้ำแข็งที่ละลายหายไปนี้ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของน้ำทะเล ทำให้ระดับน้ำทะเลสูงเพิ่มขึ้นตามไปด้วย นักวิจัยบอกว่าในช่วง 25 ปีที่ผ่านมานับจากปี 1992 ถึงปี 2017 ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นมาทั้งหมดราว 7.6 มิลลิเมตร แต่เกือบครึ่งหนึ่งของจำนวนนั้นคือ 3 มิลลิเมตรเกิดขึ้นในช่วง 5 ปีหลังสุดระหว่างปี 2012 ถึงปี 2017 คำนวณดูแล้ว 5 ปีหลังนี้ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นเร็วกว่าเดิมราว 3 เท่าด้วยเช่นกัน

antarctic-ice-loss-2

“เราสงสัยกันมานานแล้วว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกจะส่งผลกระทบต่อแผ่นน้ำแข็งที่ขั้วโลกใต้” Andrew Shepherd หนึ่งในหัวหน้าทีมวิจัยกล่าว “หลังจากดาวเทียมสำรวจถูกส่งขึ้นไปแล้วทำให้เราสามารถติดตามการละลายของน้ำแข็งและผลของมันที่มีต่อระดับน้ำทะเลได้อย่างมั่นใจ จากการวิเคราะห์ของเราน้ำแข็งของทวีปแอนตาร์กติกาสูญหายไปรวดเร็วขึ้นในช่วงทศวรรษหลังสุด และเป็นเหตุให้ระดับน้ำทะเลในปัจจุบันเพิ่มสูงขึ้นเร็วกว่าเมื่อ 25 ปีก่อน”

antarctic-ice-loss-3

ทวีปแอนตาร์กติกาฝั่งตะวันตกคือบริเวณที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด จากปี 2012 เป็นต้นมามีน้ำแข็งละลายด้วยอัตรา 175.3 พันล้านตันต่อปี จากเดิมที่มีอัตราการละลายราว 58.4 พันล้านตันต่อปีในช่วงทศวรรษ 1990 ส่วนที่บริเวณ Antarctic Peninsula ทางตอนเหนือก็มีอัตราการละลายเพิ่มขึ้น 27.6 พันล้านตันต่อปีเริ่มจากปี 2001 รวมทั้งภูเขาน้ำแข็งขนาดยักษ์ที่แตกหลุดจากหิ้งน้ำแข็ง Larsen C เมื่อปีที่แล้วด้วย

น่าสนใจที่ทางฝั่งตะวันออกกลับมีปริมาณน้ำแข็งเพิ่มขึ้นในอัตราเฉลี่ยราว 5.5 พันล้านตันต่อปี แต่น่าเสียดายที่มันเป็นปริมาณเพียงนิดเดียวเมื่อเทียบกับน้ำแข็งส่วนอื่นทั้งหมดของทวีปที่กำลังละลายหายไปอย่างรวดเร็ว

“ข้อมูลจากดาวเทียมได้ให้ภาพโดยรวมของการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นของทวีปแอนตาร์กติกา” Pippa Whitehouse นักวิจัยอีกคนหนึ่งกล่าว “บันทึกข้อมูลดาวเทียมช่วยให้เราสามารถระบุบริเวณที่มีการสูญเสียน้ำแข็งอย่างต่อเนื่องนานกว่าทศวรรษ ชิ้นต่อไปในการไขปริศนาคือการทำความเข้าใจในกระบวนการที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนี้ ซึ่งเราจะต้องเฝ้าสังเกตแผ่นน้ำแข็งอย่างใกล้ชิดต่อไป แต่เราก็จำเป็นต้องมองย้อนกลับและพยายามทำความเข้าใจว่าแผ่นน้ำแข็งตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอดีตอย่างไรด้วย”

 

ข้อมูลและภาพจาก   Newatlas, sciencealert

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *