Nuatan พลาสติกชีวภาพ ย่อยสลายเองได้ ปลากินได้ อาจช่วยลดปัญหาขยะพลาสติก

Nuatan เป็นพลาสติกชีวภาพทำจากแป้งข้าวโพด, น้ำตาล และน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้ว สร้างขึ้นโดย Crafting Plastics Studio มีคุณสมบัติเด่นคือคงทน ย่อยสลายเองได้ ปลาและสัตว์น้ำสามารถกินได้ ผู้ออกแบบมีเป้าหมายจะให้มันมาแทนบรรจุภัณฑ์ทุกอย่างที่มีในปัจจุบัน เพื่อจะได้ลดขยะพลาสติกที่กำลังทำลายสภาพแวดล้อมของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมหาสมุทร

ผลิตภัณฑ์จาก Nuatan ซึ่งถูกนำเสนอที่นิทรรศการในงาน London Design Festival 2018 มีความคงทนมากกว่าพลาสติกชีวภาพที่เคยมีมาก่อนหน้านี้ และสามารถย่อยสลายได้โดยไม่เป็นอันตรายเมื่อกลายเป็นปุ๋ยหรือถูกกินเข้าไป

Vlasta Kubušová นักออกแบบที่ Crafting Plastics Studio บอกว่าเมื่อพลาสติกชีวภาพ Nuatan ได้รับใบรับรองความปลอดภัยด้านอาหารแล้วมันก็สามารถใช้ทำเป็นบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มได้ นั่นหมายถึงมันสามารถใช้ประโยชน์ได้เกือบไม่มีข้อจำกัด

“เมื่อเราได้รับใบรับรอง มันสามารถทดแทนบรรจุภัณฑ์ทุกอย่างที่เรารู้จัก” Kubušová กล่าว

nuatan-bioplastic-2

Nuatan เป็นผลลัพธ์จากงานวิจัยนาน 6 ปีโดยนักวัสดุศาสตร์ที่มหาวิทยาลัย Slovak University of Technology มันเป็นวัสดุผสมจากพอลิเมอร์ชีวภาพ 2 ชนิด ได้แก่ Polyacid Acid (PLA) พลาสติกธรรมชาติที่ทำจากแป้งข้าวโพด และ Polyhydroxybutyrate (PHB) ที่ทำจากแป้งข้าวโพดซึ่งได้รับการเผาผลาญโดยจุลินทรีย์

ส่วนผสมทั้งสองถูกผสมด้วยสูตรเฉพาะกลายเป็นวัสดุชนิดใหม่ที่สามารถฉีดเข้าไปในแม่พิมพ์หรือแบบหล่อ สามารถใช้กับเครื่องพิมพ์สามมิติ และใช้เป่าขึ้นรูปเหมือนพลาสติกแบบดั้งเดิมได้ ผู้ออกแบบอ้างว่าวัสดุใหม่ของเขาสามารถทนความร้อนได้มากกว่า 100 °C และมีอายุใช้งานนานถึง 15 ปี

มันสามารถใช้แทนผลิตภัณฑ์พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง เช่น ขวดน้ำ ถุงใส่ของ และหลอดดูดเครื่องดื่ม หรือทุกอย่างที่มีผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม ที่สำคัญ Nuatan ไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต

“มันย่อยสลายภายในร่างกายมนุษย์หรือสัตว์” Kubušová กล่าว “ถ้าปลากินมัน มันก็แค่ย่อยสลายในตัวปลา”

อย่างไรก็ตามต้นทุนในการผลิตวัสดุใหม่นี้จะต้องลดลงเสียก่อนมันถึงจะถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลายได้ ผู้ออกแบบกำลังมองหาหุ้นส่วนที่จะช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อเพิ่มความต้องการและปริมาณการใช้ ซึ่งจะทำให้มีราคาลดลง

nuatan-bioplastic-3

ผู้ออกแบบเริ่มต้นสาธิตการใช้ Nuatan ด้วยผลิตภัณฑ์โก้หรูซึ่งไม่ได้รับผลกระทบจากต้นทุนวัตถุดิบ เมื่อสองปีก่อนพวกเขาได้พัฒนาแว่นตาที่มีกรอบสีโดยใช้สีธรรมชาติ เช่น กากกาแฟ, ขมิ้น และคราม ตอนนี้พวกเขากำลังมองหาลู่ทางพัฒนาผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่กว้างขึ้น

นี่เป็นอีกตัวเลือกหนึ่งที่อาจช่วยลดปัญหาขยะพลาสติกในมหาสมุทรที่นับวันยิ่งเพิ่มมากขึ้น ถึงเวลาแล้วที่นักออกแบบผลิตภัณฑ์ทั้งหลายต้องหันมาใช้วัสดุแบบนี้เพื่อลดปัญหาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โลกของเราจะได้น่าอยู่มากยิ่งขึ้น

 

ข้อมูลและภาพจาก dezeen, trendhunter

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *