โรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลฟื้นคืนชีพอีกครั้งหลังถูกปิดมานานแต่คราวนี้ใช้พลังแสงอาทิตย์

กว่า 30 ปีหลังจากเกิดภัยพิบัติครั้งเลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์พลังงานนิวเคลียร์ โรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลถูกปลุกให้ฟื้นคืนชีพอีกครั้งหลังถูกปิดไปนาน เศษซากของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ถูกปรับเปลี่ยนให้เป็นโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์เชอร์โนบิล เริ่มเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลเดิมเป็นโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ประกอบด้วยเครื่องปฏิกรณ์ 4 ตัวแต่ละตัวผลิตไฟฟ้าได้ 1,000 เมกะวัตต์ เริ่มใช้งานตั้งแต่ปี 1977 เมื่อเดือนเมษายน ปี 1986 เครื่องปฏิกรณ์ตัวที่ 4 เกิดระเบิดขึ้น ผลจากการระเบิดทำให้เกิดขี้เถ้าปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีพวยพุ่งขึ้นสู่บรรยากาศ ปกคลุมทางตะวันตกของสหภาพโซเวียต ยุโรปตะวันออก ยุโรปตะวันตก ยุโรปเหนือ ต้องอพยพประชากรมากกว่า 300,000 คนออกจากพื้นที่อย่างฉุกเฉิน

มีผู้เสียชีวิตทันทีจากการระเบิดครั้งนั้น 31 คน และมีผู้ได้รับผลกระทบในระยะยาวอีกจำนวนมากถึงกว่า 600,000 คน รวมทั้งมีผู้เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งจากการสัมผัสกัมมันตรังสีที่อาจสูงถึง 4,000 คน เครื่องปฏิกรณ์ถูกทยอยปิดใช้งานเป็นลำดับจนครบทั้งหมดในปี 2000 ปล่อยให้โรงไฟฟ้ารวมทั้งเมือง Pripyat ที่อยู่ใกล้กันถูกทิ้งร้างนาน 18 ปีมาแล้ว

solar-chernobyl-3

ปี 2013 บริษัท RODINA – ENERPARC AG ผุดไอเดียทำโครงการโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ในโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลเดิมซึ่งมีพื้นกว้างใหญ่ มีอุปกรณ์และระบบส่งไฟฟ้าเชื่อมต่อกับระบบสายส่งไฟฟ้าของประเทศยูเครนพร้อมสรรพอยู่แล้ว งานก่อสร้างเริ่มในปี 2017 การติดตั้งแล้วเสร็จและเริ่มผลิตไฟฟ้าได้เมื่อเดือนกรกฏาคม ปี 2018

โรงไฟฟ้าใหม่นี้ใช้เงินลงทุนราว 1 ล้านยูโร ประกอบด้วยแผ่นโซลาร์เซลล์มากกว่า 3,700 แผ่น ติดตั้งบนพื้นที่ 16,000 ตารางเมตร ห่างจากเครื่องปฏิกรณ์ตัวที่ 4 จุดที่เกิดระเบิดเมื่อ 30 กว่าปีก่อนแค่เพียง 100 เมตรเท่านั้น กำลังการผลิตของโรงไฟฟ้าใหม่คือ 1 เมกะวัตต์ ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เดิมที่มีกำลังการผลิตรวม 4,000 เมกะวัตต์ แต่พวกเขามีแผนที่จะเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 100 เมกะวัตต์ในอนาคต

การเลือกใช้พื้นที่ในโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลมาใช้ทำประโยชน์สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์นี้เป็นทางเลือกที่เหมาะสมและลงตัว เพราะมีพื้นที่มากถึง 2,600 ตารางกิโลเมตรที่ต้องปล่อยว่างเอาไว้ ใช้อยู่อาศัยไม่ได้เพราะไม่ปลอดภัย ใช้เป็นพื้นที่เกษตรกรรมก็ไม่เหมาะสม แต่พวกสัตว์ป่าท้องถิ่นดูเหมือนมีความสุขมากขึ้นเมื่อไม่มีคนมาวุ่นวายแถวนี้ และที่สำคัญเป็นโบนัสพิเศษคือการมีโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการจ่ายไฟฟ้าเข้าสู่โครงข่ายหลักอย่างเพียบพร้อมอยู่แล้วนั่นเอง

solar-chernobyl-2

 

ข้อมูลและภาพจาก solarchernobyl, newatlas

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *