นักวิทยาศาสตร์พบหมึกยักษ์กำลังฟักไข่ที่บริเวณเดียวกันใต้ทะเลลึกจำนวนกว่า 1,000 ตัว

ในน่านน้ำนอกชายฝั่งแคลิฟอร์เนียนักวิทยาศาสตร์ทางทะเลกำลังค้นหาโลกอันน่ามหัศจรรย์ของสัตว์จำพวกเซฟาโลพอด (Cephalopod) ในเที่ยวล่าสุดพวกเขาพบหมึกยักษ์จำนวนมากมายอย่างที่ไม่เคยพบมาก่อนกำลังกกไข่ของพวกมันอยู่ในบริเวณเดียวกันตามรอยแตกของภูเขาไฟที่ดับสนิทใต้ทะเลลึก

หมึกยักษ์หรือหมึกสาย (Octopus) เป็นสัตว์จำพวกเซฟาโลพอดที่มีลักษณะแปลกพิเศษ มีหัวใจทั้งหมด 3 ดวง และมีสมองแยกออกจากกันอยู่ในโคนหนวดแต่ละหนวดถึง 9 สมอง หมึกสายชอบอาศัยอยู่ตามลำพังไม่เป็นอยู่ฝูงเหมือนหมึกกล้วย หรือเป็นคู่เหมือนหมึกกระดอง โดยหลบซ่อนตัวอยู่ตามรูหรือโพรงใต้น้ำ สายพันธุ์ที่พวกเขาพบครั้งนี้เรียกว่า Muusoctopus robustus

จำนวนหมึกยักษ์ที่นักวิทยาศาสตร์พบในครั้งนี้มีมากกว่า 1,000 ตัว เกือบทั้งหมดเป็นแม่หมึกที่กำลังฟักไข่ พวกมันจับกลุ่มเบียดเสียดกันและใช้ร่างกายของมันปกป้องไข่ที่ถูกวางอยู่ในหินที่ระดับความลึก 3,200 เมตรของพื้นที่ที่เรียกว่า Davidson Seamount หมึกยักษ์ที่รวมอยู่ในที่เดียวกันมากเท่านี้ถือว่าเป็นประวัติการณ์เลยทีเดียว เพราะเรารู้กันดีว่ามันเป็นสัตว์โดดเดี่ยวยากที่จะพบเห็นเป็นกลุ่ม และบริเวณดังกล่าวนับเป็นสถานเลี้ยงตัวอ่อนของหมึกยักษ์ที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยพบมา


 
“สิ่งนี้ไม่เคยถูกพบบนชายฝั่งตะวันตกของสหรัฐฯ ไม่เคยพบในเขตอนุรักษ์ของเรา และไม่เคยพบที่ใดในโลกที่มีจำนวนมากมายเท่านี้” Chad King หัวหน้าคณะนักวิทยาศาสตร์บนเรือสำรวจกล่าว

นักวิทยาศาสตร์สังเกตเห็นน้ำรอบตัวปลาหมึกมีแสงวูบวาบระยิบระยับ ซึ่งอาจเป็นตัวชี้บอกว่ามีน้ำอุ่นซึมออกมาจากภายในภูเขาไฟแม้ว่ามันจะดับสนิทไปแล้ว และหากเป็นเช่นนั้นมันอาจหมายถึงว่าแม่หมึกกำลังพยายามหาน้ำอุ่นเพื่อฟักไข่ของพวกมัน

ทีมงานอาจต้องส่งยานสำรวจใต้น้ำ (ROV) กลับลงไปตรวจสอบอีกครั้งหนึ่ง โดยอาจต้องวัดอุณหภูมิของน้ำเพื่อให้แน่ใจ เมื่อถึงตอนนั้นเรื่องนี้คงมีความชัดเจนมากขึ้น และเมื่อวันก่อนพวกเขายังพบกับหมึกยักษ์ดัมโบ้ (Dumbo Octopus) สัตว์ที่แปลกประหลาดและพบเจอได้ยากยิ่งกำลังแหวกว่ายอยู่ในทะเลน้ำลึกอีกด้วย


 
 

ข้อมูลและภาพจาก businessinsider, nationalgeographic

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *