Death Spiral เกลียวมรณะ เส้นทางสู่ความตายที่ทุกคนต้องเจอ

ความตายเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่นักวิจัยบอกว่ามันพอที่จะทำนายได้

นักชีววิทยาได้แบ่งช่วงชีวิตออกเป็นสามช่วงคือช่วงวัยเด็ก วัยผู้ใหญ่ และวัยชรา แต่งานวิจัยล่าสุดบ่งชี้ว่ายังมีช่วงที่สี่ก่อนตายเพียงไม่นาน นักวิทยาศาสตร์เรียกช่วงเวลานี้ว่า เกลียวมรณะ (Death Spiral)

แม้ว่างานวิจัยส่วนใหญ่เกี่ยวกับเกลียวมรณะจะมุ่งเน้นไปที่แมลงวันผลไม้ นักวิทยาศาสตร์คิดว่างานวิจัยเหล่านี้สามารถนำเสนอข้อมูลเชิงลึกสำหรับวาระสุดท้ายของชีวิตมนุษย์ได้เช่นกัน

“เราเชื่อว่านี่เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการของการเสียชีวิตตามกำหนดการทางพันธุกรรม” Laurence Mueller หัวหน้าภาควิชานิเวศวิทยาและชีววิทยาวิวัฒนาการที่มหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนีย กล่าว

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมามีงานวิจัยหลายชิ้นเกี่ยวกับแมลงวันผลไม้แสดงให้เห็นว่าเกลียวมรณะสามารถรู้ได้จากการลดลงของอัตราการสืบพันธุ์ เช่น ในปี 2015 นักวิจัยพบว่าวันแรกที่แมลงวันผลไม้ตัวเมียหยุดวางไข่คือตัวบ่งชี้ที่สำคัญของการเสียชีวิต การวางไข่ของพวกมันจะเริ่มลดลงราว 10 วันก่อนที่จะหยุดวางไข่ นักวิจัยคิดว่าสิ่งที่นำแมลงวันผลไม้ไปสู่​​ความตายส่งผลต่อความสามารถในการสืบพันธุ์ในช่วงวาระสุดท้ายของพวกมัน

death-spiral-2

สอดคล้องกับงานวิจัยในปี 2002 ซึ่งพบว่าร้อยละ 97 ของแมลงวันผลไม้เมดิเตอร์เรเนียนตัวผู้เริ่มนอนหงายประมาณ 16 วันก่อนที่จะตาย

ในงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งนักวิทยาศาสตร์สังเกตแมลงวันผลไม้ ไส้เดือนฝอย และปลาม้าลาย เพื่อดูว่าลำไส้ของพวกมันมีการรั่วไหลเพิ่มมากขึ้นก่อนที่จะตายหรือไม่ นักวิจัยได้ทดสอบการรั่วไหลโดยการให้อาหารย้อมสีกับสัตว์แต่ละชนิด หากการซึมผ่านเพิ่มขึ้นสีจะรั่วไหลเข้าไปในร่างกายทำให้พวกมันเปลี่ยนสี สีฟ้าสำหรับแมลงวันผลไม้และปลาม้าลาย สีเขียวเรืองแสงสำหรับไส้เดือนฝอย ผลการวิจัยสรุปว่าการรั่วไหลของลำไส้เป็นเครื่องหมายแห่งความตายในทั้งสามสายพันธุ์

Mueller กล่าวว่าเกลียวมรณะในมนุษย์อาจจะเป็นความไร้ความสามารถบางอย่างที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนก่อนที่จะตาย สำหรับมนุษย์มีความท้าทายในการทำวิจัยด้วยเหตุผลทั้งทางด้านจริยธรรมและชีวภาพ แต่การศึกษาเรื่องเกลียวมรณะในสิ่งมีชีวิตอื่นๆสามารถให้แนวทางในเรื่องนี้แก่นักวิจัยได้

death-spiral-3

Mueller กล่าวถึงการวิจัยในขั้นต่อไปที่อาจจะมีการคัดเลือกสายพันธุ์แมลงวันผลไม้เพื่อสร้างกลุ่มที่มีช่วงเวลาของเกลียวมรณะที่แตกต่างกัน

“เมื่อคุณสร้างประชากรที่มีความแตกต่างทางพันธุกรรมในลักษณะนั้น คุณจะสามารถค้นหาว่ายีนอะไรที่ทำให้ช่วงเวลาของเกลียวมรณะลดลงได้” Mueller กล่าว ยีนของมนุษย์บางส่วนคล้ายกับยีนของแมลงวันผลไม้ มียีนที่ทำให้เกิดโรคในมนุษย์ถึง 75 เปอร์เซ็นต์ที่ปรากฏอยู่ในยีนของแมลงวันผลไม้

Mueller กล่าวว่างานวิจัยไม่ได้เกี่ยวข้องกับการหยุดความตายหรือแม้กระทั่งทำให้การตายช้าลง แต่เขาเห็นว่ามันเป็นวิธีที่จะปรับปรุงคุณภาพชีวิตของผู้คนเมื่อพวกเขามาถึงช่วงสุดท้ายของชีวิต และอาจช่วยประหยัดเงินจำนวนมหาศาลในการรักษาโรคในวาระสุดท้ายของชีวิต

“การศึกษาของเราจะไม่ส่งผลกระทบว่าเมื่อไรคุณจะตาย เราเพียงต้องการที่จะทำให้คุณมีสุขภาพดีจนถึงวันที่คุณสิ้นลม” เขากล่าว

 

ข้อมูลและภาพจาก  livescience, bbc

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *