อเล็กซานเดอร์ เกรแฮม เบลล์ ยอดนักประดิษฐ์ผู้เปลี่ยนโลกการสื่อสารด้วยโทรศัพท์

อเล็กซานเดอร์ เกรแฮม เบลล์ (Alexander Graham Bell) เป็นนักประดิษฐ์และนักวิทยาศาสตร์ผู้ประดิษฐ์โทรศัพท์และได้รับสิทธิบัตรเป็นคนแรก ผลงานนี้ได้สร้างความเจริญก้าวหน้าในการติดต่อสื่อสารของมนุษย์ชนิดพลิกโลก ทั้งในแง่ความสะดวก รวดเร็ว ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย จนทำให้โทรศัพท์กลายเป็นสิ่งจำเป็นที่สุดอย่างหนึ่งของมนุษย์ตั้งแต่ตอนนั้นจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้เบลล์ยังประดิษฐ์โทรศัพท์แบบไร้สายซึ่งส่งสัญญาณผ่านลำแสงที่เรียกว่า Photophone และเป็นผู้พัฒนาเครื่องตรวจจับโลหะรุ่นแรกๆ รวมทั้งประดิษฐ์เรือไฮโดรฟอยล์ที่เคยเป็นเจ้าของสถิติโลกความเร็วทางน้ำนานนับทศวรรษ หน่วยวัดระดับความดังของเสียงถูกเรียกว่า “เดซิเบล” ตามชื่อของเบลล์เพื่อเป็นเกียรติแก่ยอดนักประดิษฐ์คนเก่งผู้นี้

 
ฉายแววนักประดิษฐ์คนเก่งตั้งแต่เด็ก

alexander-graham-bell-2

อเล็กซานเดอร์ เกรแฮม เบลล์ เป็นชาวสกอตแลนด์-อเมริกัน เกิดเมื่อปี 1847 ที่เมืองเอดินเบอระ ประเทศสกอตแลนด์ เป็นลูกคนกลางในลูกชายล้วนสามคนของครอบครัว ตอนเด็กเบลล์เรียนหนังสืออยู่ที่บ้านกับแม่จนถึงอายุ 11 ปีจึงเข้าเรียนระดับมัธยมเป็นเวลา 4 ปี เขาสนใจวิทยาศาสตร์แต่มีผลการเรียนค่อนข้างแย่ แม้ว่าจะเรียนหนังสือได้ไม่ดีแต่เบลล์เป็นเด็กที่กระตือรือร้นอยากรู้อยากเห็นและชอบทดลอง ตอนอายุ 12 ปีเขาเริ่มฉายแววความเก่งด้านการประดิษฐ์เมื่อเขาไปเล่นที่บ้านของเพื่อนซึ่งเป็นโรงสีข้าวสาลี เขาพบว่าขั้นตอนการกระเทาะเปลือกเมล็ดข้าวยุ่งยากใช้เวลานาน จึงประดิษฐ์เครื่องกระเทาะเปลือกเมล็ดข้าวแบบง่ายๆติดตั้งเพิ่มเข้าไปในระบบสีข้าวซึ่งมันถูกใช้งานอย่างได้ผลราบรื่นเป็นเวลาหลายปี

แม่ของเบลล์เป็นนักเปียโนและจิตรกร พรสวรรค์ด้านศิลปะถูกถ่ายทอดไปที่เบลล์ เขาเล่นเปียโนได้ดีมาก เป็นนักเปียโนประจำครอบครัว แม่ของเบลล์เริ่มมีปัญหาด้านการฟังตั้งแต่ตอนเบลล์อายุ 12 ปีและมีค่อยๆปัญหามากขึ้นกระทั่งหูของเธอแทบหนวกสนิท สิ่งนี้มีผลกระทบต่อชีวิตของเบลล์อย่างมาก เขาเรียนภาษามือเพื่อจะได้สื่อสารกับแม่ได้ ความห่วงใยในปัญหาหูหนวกของแม่นี้ทำให้เขาศึกษาวิชาอะคูสติก (Acoustics) ซึ่งเป็นความรู้เกี่ยวกับเสียง การได้ยิน และคลื่นเสีียงที่ผ่านตัวกลางต่างๆอันเป็นพื้นฐานสำคัญต่อการคิดสร้างสิ่งประดิษฐ์ยิ่งใหญ่ที่เปลี่ยนโลกในอนาคต

 
ครูสอนการออกเสียงตามรอยบรรพบุรุษ

alexander-graham-bell-12

ครอบครัวของเบลล์เป็นครูสอนการออกเสียง (Elocution) กันหลายคน ปู่ของเขาสอนอยู่ที่กรุงลอนดอน ลุงสอนอยู่ที่กรุงดับลิน และพ่อของเขาสอนอยู่ที่เอดินเบอระ พ่อของเบลล์เชี่ยวชาญเรื่องการออกเสียงมาก เขียนหนังสือ The Standard Elocutionist ที่ได้รับความนิยมมาก และยังสร้างระบบสัญลักษณ์แสดงตำแหน่งของอวัยวะในการออกเสียงที่เรียกว่า Visible Speech เพื่อช่วยคนหูหนวกหัดออกเสียงและพูดได้ เบลล์เรียนรู้จากพ่อจนเชี่ยวชาญและเป็นผู้ช่วยคนสำคัญของพ่อในการสาธิตต่อสาธารณชน เขาเก่งขนาดถอดรหัส Visible Speech ได้แทบทุกภาษา

หลังจากออกจากโรงเรียนมัธยมเบลล์ไปอยู่กับปู่ที่ลอนดอนหนึ่งปี เป็นช่วงเวลาที่ปู่ได้ฝึกฝนเขาในเรื่องการพูดและพัฒนาเขาให้เป็นคุณครู ปีถัดมาเบลล์ในวัย 16 ปีเข้าเรียนด้านภาษาที่สถาบัน Weston House Academy ในสกอตแลนด์พร้อมกับเป็นครูสอนการออกเสียงและดนตรีไปด้วย ปีต่อมาเขาเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยเอดินบะระที่เดียวกับพี่ชายซึ่งเข้าเรียนก่อนหน้าปีหนึ่ง เขากับพี่ชายมีกิจกรรมพัฒนาความสามารถด้านการออกเสียงด้วยการช่วยกันสร้างหุ่นยนต์พูดได้โดยใช้การปั๊มลมผ่านกล่องเสียงที่ประดิษฐ์ขึ้นซึ่งสามารถออกเสียงพูดได้หลายคำ

ปี 1865 ครอบครัวของเบลล์ย้ายไปอยู่ที่ลอนดอน ส่วนเขากลับไปเป็นผู้ช่วยอาจารย์ที่สถาบัน Weston House Academy เขาใช้เวลาว่างทำการทดลองเกี่ยวกับเสียงโดยมุ่งความสนใจไปที่การใช้ไฟฟ้าในการถ่ายทอดเสียง ปี 1867 สุขภาพของเบลล์เริ่มไม่ดีขณะที่น้องชายเขาป่วยเป็นวัณโรคและเสียชีวิต เขากลับมาอยู่ที่บ้านและตั้งใจจะเรียนให้จบปริญญาที่มหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอนซึ่งเขาสอบเข้าได้แล้ว แต่ต่อมาในปี 1870 พี่ชายของเขามาเสียชีวิตด้วยวัณโรคไปอีกคน ครอบครัวของเขาหวั่นวิตกมากว่าจะเสียลูกชายคนสุดท้ายด้วยโรคนี้อีกเพราะเบลล์ก็มีสุขภาพไม่สู้ดี พ่อของเบลล์เคยป่วยหนักแต่กลับมาหายดีจากการได้พักฟื้นที่ประเทศแคนาดา พวกเขาจึงตัดสินใจย้ายครอบครัวไปอยู่ที่แคนาดา ความหวังของเบลล์ในการได้รับปริญญาจากมหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอนเป็นอันหมดไป

 
ศาสตราจารย์ผู้ไม่เคยได้รับปริญญา

alexander-graham-bell-3

ที่แคนาดาครอบครัวของเบลล์ไปอาศัยอยู่ที่เมืองแบรนท์ฟอร์ด รัฐออนแทรีโอ ด้วยสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อมที่เบลล์ชื่นชอบทำให้สุขภาพของเขาดีขึ้นอย่างรวดเร็ว เขาดัดแปลงโรงเก็บของเก่าเป็นห้องทดลองทางด้านเสียงของเขา ที่นี่เขาได้พบกับกลุ่มชนพื้นเมืองแคนาดา เขาเรียนรู้ภาษาโมฮอก (Mohawk) ซึ่งเป็นภาษาพูดของชนเผ่า แล้วเขียนเป็นตัวอักษรสัญลักษณ์แบบ Visible Speech ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ภาษานี้ถูกใช้แบบภาษาเขียน ผลงานนี้ทำให้เขาได้รับการแต่งตั้งจากชาวชนเผ่าให้เป็นหัวหน้าเผ่ากิตติมศักดิ์

พ่อของเบลล์ได้รับเชิญจากโรงเรียนสอนคนหูหนวกในเมืองบอสตัน รัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกาให้ไปเปิดคอร์สสอนวิชา Visible Speech แก่บรรดาคุณครูของโรงเรียน เบลล์ไปสอนแทนพ่อและประสบความสำเร็จ โรงเรียนสอนคนหูหนวกจากอีกหลายรัฐเชิญเขาให้ไปเปิดสอนคอร์สนี้ให้แก่คุณครูของพวกเขา ปี 1872 เบลล์เปิดโรงเรียนสอนการออกเสียงให้กับคนหูหนวกที่เมืองบอสตันและก็ประสบความสำเร็จอย่างสูงมีคนหูหนวกมาเป็นนักเรียนของเขาจำนวนมาก และทั้งๆที่เบลล์ไม่เคยได้รับปริญญามาก่อนในปีถัดมาเขาได้กลายเป็นศาสตราจารย์ด้านสรีระและการออกเสียงที่มหาวิทยาลัยบอสตัน

 
ความเข้าใจผิดนำพาสู่ความสำเร็จ

alexander-graham-bell-4

แม้จะต้องทำงานสอนคนหูหนวกทั้งช่วงกลางวันและตอนเย็น เบลล์ยังมุ่งมั่นศึกษาวิจัยเรื่องการส่งสัญญาณเสียงผ่านเส้นลวดของเขาต่อไปโดยใช้เวลาตอนกลางคืนแทนซึ่งทำให้สุขภาพของเขาเริ่มทรุดโทรมลง จนถึงปีปลายปี 1873 เบลล์ตัดสินใจอย่างเด็ดขาดที่จะทำงานการทดลองทางด้านเสียงอย่างจริงจัง เขาจึงเริ่มลดจำนวนนักเรียนพวกลูกเศรษฐีที่มาเรียนส่วนตัวกับเขาจนเหลือเพียงแค่ 2 คน และทั้งสองคนมีส่วนสำคัญต่อความสำเร็จในการสร้างสิ่งประดิษฐ์ยิ่งใหญ่ในอนาคตของเขา คนหนึ่งเป็นลูกชายของ Thomas Sanders ผู้สนับสนุนและผู้ลงทุนคนสำคัญในโครงการคิดค้นพัฒนาโทรศัพท์ของเบลล์ อีกคนหนึ่งคือคนที่เขาหมายปอง เป็นแรงบันดาลใจและแรงผลักดันให้เขาต้องทำโครงการนี้ให้สำเร็จเพื่อโอกาสที่จะได้แต่งงานกับเธอผู้เป็นลูกสาวของเศรษฐี

เมื่อตอนที่เขาอายุ 19 ปีเบลล์เขียนจดหมายอธิบายการทดลองส่งสัญญาณเสียงของเขาให้นักภาษาศาสตร์ Alexander Ellis เพื่อนร่วมงานของพ่อ Ellis ตอบกลับเขาแทบจะทันทีบอกว่าการทดลองของเขาคล้ายกับงานของ Hermann von Helmholtz นักฟิสิกส์ชาวเยอรมัน พร้อมทั้งส่งสำเนาผลงานวิจัยของ Helmholtz มาให้ด้วย เบลล์อ่านมันอย่างกระตือรือร้นแต่งานชิ้นนั้นเขียนด้วยภาษาเยอรมันซึ่งเขาอ่านไม่รู้เรื่อง เลยต้องทำความเข้าใจจากแผนภาพที่มีอยู่แทน เบลล์เข้าใจผิดคิดว่า Helmholtz สามารถแปลงเสียงพูดเป็นสัญญาณไฟฟ้าได้ทั้งหมดทั้งๆที่จริงเขาทำได้เฉพาะเสียงสระเท่านั้น ความเชื่อจากการเข้าใจผิดนี้ทำให้เบลล์มุ่งมั่นทำการศึกษาทดลองแปลงเสียงพูดให้เป็นสัญญาณไฟฟ้าโดยเริ่มจากการทดลองแปลงเสียงดนตรีเป็นสัญญาณไฟฟ้าซึ่งเขาได้ทำการทดลองที่ห้องทดลองส่วนตัวหลังบ้านที่แคนาดา

ในช่วงเวลานั้นกิจการโทรเลขมีการขยายตัวอย่างแพร่หลายทั่วโลก ในสหรัฐอเมริกามีบริษัท Western Union เป็นผู้ผูกขาดอุตสาหกรรมนี้เพียงผู้เดียว เป้าหมายการทดลองของเบลล์คือการสร้าง “harmonic telegraph” หรือโทรเลขที่สามารถส่งสัญญาณเสียงที่มีท่วงทำนองประสานกันหลายเสียงพร้อมกันได้ ไม่ใช่แค่ส่งเสียงเคาะสั้นๆยาวๆแบบโทรเลข จากนั้นจึงพัฒนาเป็นการส่งเสียงพูดกลายเป็นโทรศัพท์ซึ่งเป็นสิ่งประดิษฐ์ในฝันของผู้คนทั่วโลก นักวิทยาศาสตร์และนักประดิษฐ์ทั่วโลกแข่งขันคิดค้นพัฒนาสิ่งนี้กันอย่างเข้มข้น เบลล์ได้ Gardiner Hubbard และ Thomas Sanders ซึ่งเป็นพ่อของนักเรียนพิเศษของเขาสองคนเข้ามาเป็นผู้สนับสนุนด้านการเงินในโครงการทดลองของเขาทำให้งานของเขาก้าวหน้าอย่างมาก แต่ยังมีอุปสรรคอีกอย่างคือเบลล์ขาดความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในเรื่องอุปกรณ์ไฟฟ้า แต่เมื่อมีผู้สนับสนุนทางการเงินเขาจึงสามารถจ้าง Thomas A. Watson ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแแบบไฟฟ้าและเครื่องกลมาเป็นผู้ช่วยของเขา และเมื่อทั้งสองคนทำงานร่วมกันความสำเร็จจึงบังเกิดขึ้น

 
เปลี่ยนโลกการสื่อสารด้วยโทรศัพท์

alexander-graham-bell-5

14 กุมภาพันธ์ 1876 ทนายความของเบลล์ยื่นจดสิทธิบัตรโทรศัพท์เพียงไม่กี่ชั่วโมงก่อนหน้าที่ Elisha Gray จะยื่นจดสิทธิบัตรโทรศัพท์ที่มีหลักการทำงานเหมือนกับของเบลล์ ต่างกันแค่วัสดุที่ใช้เป็นตัวต้านทานแปรผัน เบลล์ได้รับสิทธิบัตรในวันที่ 7 มีนาคม 1876 สามวันหลังได้รับสิทธิบัตรเบลล์กับ Watson ได้ทำการทดลองระบบโทรศัพท์สำเร็จเป็นครั้งแรก เบลล์พูดกับผู้ช่วยของเขาที่อยู่คนละห้องผ่านโทรศัพท์ว่า “Mr. Watson, come here. I want to see you.” หลังจากนั้นในเดือนสิงหาคมปีเดียวกันเบลล์ได้ทดลองพูดโทรศัพท์จากบ้านที่เมืองแบรนท์ฟอร์ดไปยังสำนักงานโทรเลขซึ่งอยู่ห่างกัน 8 กิโลเมตรโดยมีผู้สังเกตการณ์หลายคนซึ่งได้ยินเสียงเบาๆของเขาจากโทรศัพท์ เป็นการพิสูจน์ว่าโทรศัพท์ใช้งานในระยะไกลได้จริง ปี 1915 เบลล์กับ Watson ได้ทดลองโทรศัพท์กันอีกครั้งด้วยคำพูดประโยคเดิมแต่คราวนี้เบลล์อยู่ที่นิวยอร์กส่วน Watson อยู่ที่ซานฟรานซิสโกซึ่งห่างกันกว่า 4,000 กิโลเมตร

สิทธิบัตรของเบลล์ถูกนำไปเสนอขายต่อบริษัท Western Union ในราคา 100,000 ดอลลาร์ แต่ถูกปฏิเสธเพราะประธานบริษัทคิดว่ามันเป็นเพียงแค่ของเล่นไม่มีทางสร้างกำไรได้ สองปีต่อมาเขาพูดกับเพื่อนว่าเขายอมจ่าย 25 ล้านดอลลาร์เพื่อซื้อสิทธิบัตรของเบลล์ แต่พอถึงเวลานั้นเบลล์ไม่ขายแล้วเพราะเขาและหุ้นส่วนได้จัดตั้งบริษัท Bell Telephone Company ขึ้นในปี 1877 เพื่อให้บริการโทรศัพท์ในสหรัฐอเมริกา ต่อมาบริษัทนี้ได้พัฒนาเป็นบริษัทเอทีแอนด์ที (AT&T Inc.) ซึ่งเป็นยักษ์ใหญ่ด้านโทรคมนาคมของสหรัฐอเมริกาและของโลก ระบบโทรศัพท์ของเบลล์ได้รับการปรับปรุงพัฒนาให้มีประสิทธิภาพดีขี้นอย่างต่อเนื่อง เครือข่ายโทรศัพท์ถูกติดตั้งและแพร่ขยายไปทั่วโลก โทรศัพท์สร้างความเจริญก้าวหน้าในการติดต่อสื่อสารของมนุษย์ชนิดพลิกโลก ทั้งในแง่ความสะดวก รวดเร็ว ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย จนทำให้โทรศัพท์กลายเป็นสิ่งจำเป็นที่สุดอย่างหนึ่งของมนุษย์ตั้งแต่ตอนนั้นจนถึงปัจจุบัน

 
หลากหลายรางวัลแห่งความสำเร็จ

alexander-graham-bell-6

จากผลงานการประดิษฐ์โทรศัพท์ทำให้เบลล์ได้รับชื่อเสียงและเงินทองมากมาย เขากลายเป็นหนึ่งในนักประดิษฐ์ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในโลก เป็นผู้ถือหุ้นจำนวนมากในบริษัท Bell Telephone Company ที่มีอนาคตสดใส แต่รางวัลแห่งความสำเร็จที่เขาพอใจที่สุดอาจจะไม่ใช่ชื่อเสียงและเงินทอง แต่เป็นการได้แต่งงานกับ Mabel Hubbard ลูกศิษย์หูหนวกของเขาผู้เป็นลูกสาวของ Gardiner Hubbard ผู้สนับสนุนด้านการเงินคนสำคัญที่กลายเป็นหุ้นส่วนของเขา ของขวัญการแต่งงานที่เขามอบให้กับภรรยาคือหุ้นในบริษัท Bell Telephone Company จำนวน 1,487 หุ้นจากที่เขามีทั้งหมด 1,497 หุ้น เหลือให้ตัวเองเพียง 10 หุ้นเท่านั้น นี่อาจเป็นอีกครั้งหนึ่งที่พิสูจน์ว่าพลานุภาพแห่งความรักสามารถบันดาลให้บังเกิดสิ่งยิ่งใหญ่ขึ้นในโลกใบนี้ได้

นอกจากนี้ความสำเร็จจากผลงานของเขายังทำให้เบลล์ได้รับสิ่งที่เขาไม่ต้องการด้วย นั่นคือการที่เขาถูกฟ้องร้องจำนวนมากถึงประมาณ 600 คดี ส่วนใหญ่เป็นการฟ้องร้องเพื่อแย่งชิงหรือมีส่วนร่วมในสิทธิบัตรโทรศัพท์ของเบลล์ โดยอ้างว่าเบลล์ขโมยแนวคิดหรือคัดลอกหลักการทำงานของพวกเขา คดีที่เขาถูกฟ้องร้องมากขนาดที่เขาต้องซื้อบ้านในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เพื่อความสะดวกตอนมาขึ้นศาล แต่ปรากฏว่าไม่มีคดีใดเลยที่เขาถูกศาลตัดสินว่ามีความผิด แม้ว่าจะมีบางคดีที่ “เกือบ” ไปเหมือนกัน นั่นทำให้สิทธิบัตรโทรศัพท์ของเขาได้รับการยอมรับทางกฎหมายอย่างสมบูรณ์

 
นักประดิษฐ์ผู้ยิ่งใหญ่ที่ทั่วโลกยกย่อง

alexander-graham-bell-7

นอกจากการประดิษฐ์โทรศัพท์แล้วเบลล์ยังมีผลงานอื่นอีกหลายอย่าง ในปี 1879 รัฐบาลฝรั่งเศสได้มอบรางวัล Volta Prize แก่เบลล์สำหรับการประดิษฐ์โทรศัพท์เป็นเงิน 270,000 ดอลลาร์ เบลล์ได้ใช้เงินจำนวนดังกล่าวจัดตั้งห้องทดลอง Volta Laboratory เพื่อการวิจัยและพัฒนาการสื่อสารโทรคมนาคม การบันทึกเสียง และเทคโนโลยีอื่นๆ ต่อมาได้จัดตั้ง Volta Bureau เพื่อเพิ่มพูนและเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับคนหูหนวก ผลงานการประดิษฐ์ การพัฒนา และผลงานอื่นของเบลล์ที่สำคัญมีดังต่อไปนี้

โทรศัพท์ไร้สาย

เบลล์และผู้ช่วยของเขา Charles Sumner Tainter ที่ห้องทดลอง Volta Laboratory ได้ประดิษฐ์โทรศัพท์ไร้สายที่เขาเรียกว่า Photophone ซึ่งส่งสัญญาณเสียงและคำพูดด้วยลำแสง เบลล์กับผู้ช่วยทดลองส่งสัญญาณเสียงด้วยโทรศัพท์ไร้สายของเขาที่ระยะห่างกว่า 200 เมตรได้สำเร็จในปี 1880 ก่อนหน้าการส่งสัญญาณเสียงด้วยวิทยุครั้งแรกถึง 19 ปี เทคโนโลยีไร้สายของเบลล์ถือว่าเป็นต้นธารของระบบการสื่อสารด้วยใยแก้วนำแสง

เครื่องตรวจจับโลหะ

เบลล์ได้ชื่อว่าเป็นผู้พัฒนาเครื่องตรวจจับโลหะรุ่นแรกๆในปี 1881 เมื่อประธานาธิบดี James Garfield ถูกยิง เครื่องมือดังกล่าวจึงถูกเบลล์สร้างขึ้นอย่างรวดเร็วเพื่อใช้ตรวจหาลูกกระสุนปืนที่ฝังในร่างของประธานาธิบดี เครื่องตรวจจับโลหะของเขาใช้งานได้แต่ลูกกระสุนฝังลึกเกินกว่าเครื่องมือที่เพิ่งพัฒนาขึ้นใหม่จะตรวจจับได้

เรือไฮโดรฟอยล์

เบลล์และผู้ช่วยของเขา Frederick Walker Baldwin ได้สร้างเรือไฮโดรฟอยล์เริ่มต้นจากปี 1908 และมีการปรับปรุงพัฒนาเรื่อยมาจนกระทั่งในปี 1919 เรือไฮโดรฟอยล์รุ่น HD-4 ของเบลล์ก็ได้สร้างสถิติโลกความเร็วทางน้ำที่ความเร็ว 114 กม./ชม. และสถิตินี้ยืนยงอยู่ได้นับสิบปี

พัฒนาด้านการบิน

เบลล์เริ่มทดลองพัฒนาอากาศยานที่ใช้เครื่องยนต์ในปี 1891 จากนั้นในปี 1907 เบลล์และทีมงานหลายคนได้ก่อตั้งสมาคม Aerial Experiment Association (AEA) เพื่อพัฒนาอากาศยาน และในปี 1909 เครื่องบินรุ่น Silver Dart ของพวกเขาสามารถขึ้นบินได้สำเร็จเป็นการบินเที่ยวแรกในแคนาดา

นิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก

เบลล์ได้รับเลือกเป็นประธานสมาคมเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิกระหว่างปี 1898 – 1903 เขามีส่วนสำคัญที่ทำให้นิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิกได้รับความนิยม เบลล์ให้เพิ่มภาพถ่ายคุณภาพสูงลงในนิตยสารซึ่งกลายเป็นจุดดึงดูดความสนใจและเป็นเอกลักษณ์โดดเด่นของนิตยสารฉบับนี้จนได้รับความนิยมมาถึงปัจจุบัน นอกจากนี้เบลล์ยังมีส่วนร่วมในการก่อตั้งนิตยสาร Science อีกด้วย

เบลล์เสียชีวิตในปี 1922 มีอายุ 75 ปี ด้วยผลงานสำคัญมากมายโดยเฉพาะการประดิษฐ์โทรศัพท์ที่สร้างประโยชน์ให้กับผู้คนทั่วโลกอย่างมหาศาล (แม้ว่าแม่และภรรยาของเบลล์เองไม่มีโอกาสได้ใช้งานเพราะหูหนวก) เบลล์จึงได้รับการยกย่องในฐานะบุคคลสำคัญของโลกและได้รับรางวัลเกียรติยศมากมาย ในระหว่างพิธีฝังศพของเขาโทรศัพท์ทุกเครื่องในทวีปอเมริกาเหนือหยุดใช้งานเพื่อเป็นเกียรติเขา ปี 1928 หน่วยวัดระดับความดังของเสียงซึ่งเดิมเรียกว่า Transmission Unit (TU) ได้ถูกปรับเปลี่ยนและเรียกชื่อใหม่เป็นเดซิเบล (Decibel – dB) ตามชื่อของเบลล์เพื่อเป็นเกียรติแก่ยอดนักประดิษฐ์คนเก่งผู้นี้

alexander-graham-bell-11

 

ข้อมูลและภาพจาก wikipedia, famousscientists.org, history

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *