นักวิจัยอังกฤษไขปริศนาหนังสือลึกลับที่สุดในโลก Voynich Manuscript สำเร็จแล้ว?

เมื่อปี 1912 พ่อค้าหนังสือชาวโปแลนด์ Wilfrid M. Voynich ได้รับหนังสือแปลกประหลาดมาเล่มหนึ่ง เขาอ่านมันไม่เข้าใจเพราะเขียนด้วยภาษาที่ไม่รู้จัก ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาเป็นเวลานานกว่าศตวรรษแล้วที่ได้มีผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกจำนวนมากได้พยายามถอดรหัสภาษาที่เขียนในหนังสือที่เรียกว่า Voynich Manuscript เล่มนี้แต่ยังไม่มีใครทำสำเร็จ จนมันถูกเรียกเป็นหนังสือลึกลับที่สุดในโลก แต่แล้วนักวิชาการที่มหาวิทยาลัยบริสตอล สหราชอาณาจักร ได้รายงานว่าเขาใช้เวลาแค่ 2 สัปดาห์ไขปริศนาอันลึกลับนี้ได้สำเร็จอย่างเหลือเชื่อ

หนังสือ Voynich Manuscript มีขนาด 6 x 9 นิ้ว เดิมมี 272 หน้าปัจจุบันหลงเหลือเพียง 240 หน้า ถูกเขียนด้วยปากกาขนนก แต่ละหน้าประกอบด้วยข้อความและภาพประกอบที่มีการระบายสีหยาบๆ ตัวหนังสือได้ถูกตรวจหาอายุด้วยคาร์บอนกัมมันตรังสีพบว่ามีอายุราว 600 ปี หรือย้อนหลังถึงราวต้นศตวรรษที่ 15 ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยเยล สหรัฐอเมริกา ตัวเนื้อหาในหนังสือหากดูจากภาพประกอบจะมี 5 หัวข้อได้แก่ พฤกษศาสตร์ ดาราศาสตร์ ชีววิทยา เภสัชศาสตร์ และสูตรยา แต่ตัวอักษรที่บันทึกไว้เป็นตัวอักษรที่ไม่เคยพบเห็นที่ใดในโลกมาก่อน

ปี 2018 Greg Kondrak และ Bradley Hauer สองนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Alberta ที่แคนาดา ได้พัฒนา AI ที่เรียนรู้ภาษาต่างๆหลายร้อยภาษา การทดสอบความสามารถทางภาษาของ AI ทำโดยให้แปลปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนเป็นภาษาต่างๆ 380 ภาษา ผลปรากฏว่ามันแปลได้ถูกต้อง 97% ทีมวิจัยใช้ AI อ่านและถอดรหัสในหนังสือ Voynich Manuscript ที่ตอนแรกพวกเขาคิดว่ามันน่าจะถูกเขียนด้วยภาษาอารบิก แต่ AI สรุปว่าภาษาที่เป็นไปได้มากที่สุดคือภาษาฮิบรู

แต่หลังจากที่ Dr. Gerard Cheshire นักวิชาการที่มหาวิทยาลัยบริสตอลได้ศึกษาหนังสือเล่มนี้เป็นเวลา 2 สัปดาห์เขาสรุปว่ามันถูกเขียนด้วยภาษา proto-Romance ซึ่งเป็นภาษาที่หายสาบสูญไปนานแล้ว ภาษา proto-Romance เป็นรากเหง้าของภาษาสมัยใหม่จำนวนมาก รวมทั้งภาษาฝรั่งเศส อิตาลี สเปน โปรตุเกส และโรมาเนีย เชื่อกันว่าภาษานี้ได้หายสาบสูญไปเนื่องจากความโดดเด่นของภาษาละตินที่ถูกใช้ในการเขียนเอกสารอย่างแพร่หลายในช่วงเวลานั้น

ไม่เพียงเท่านี้ Cheshire ยังบอกด้วยว่าจากข้อความในหนังสือระบุว่ามันถูกจัดทำขึ้นโดยแม่ชีชาวโดมินิกันเพื่อมอบให้กับพระนางกาตาลินาแห่งอารากอน (Catherine of Aragon) พระราชินีแห่งอังกฤษ พระมเหสีพระองค์แรกในพระเจ้าเฮนรีที่ 8 แห่งอังกฤษ ในหนังสือยังมีแผนที่เพื่อระลึกถึงการช่วยเหลือผู้รอดชีวิตจากเกาะ Vulcano หลังจากการระเบิดของภูเขาไฟในบริเวณใกล้เคียงในปี 1444 ซึ่งนำโดยตัวพระราชินีเอง การถอดรหัสแผนที่ดังกล่าวทำให้สามารถระบุช่วงเวลาจัดทำหนังสือเล่มนี้ได้แม่นยำมากยิ่งขึ้น

voynich-code-2

“ผมได้อยู่ในอารมณ์ดีใจที่ค้นพบข้อเท็จจริง (Eureka Moment) หลายต่อหลายครั้งในระหว่างการถอดรหัสภาษาโบราณนี้ ตามมาด้วยความรู้สึกไม่เชื่อและความตื่นเต้นเมื่อผมตระหนักถึงความสำคัญของความสำเร็จ” Cheshire กล่าว “ทั้งในแง่ความสำคัญทางภาษาศาสตร์และในแง่การเปิดเผยเกี่ยวกับที่มาและเนื้อหาของหนังสือเล่มนี้”

อย่างไรก็ตามยังคงมีความสงสัยมากมายต่อการเอ่ยอ้างความสำเร็จของนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยบริสตอล มีนักวิจัยคนหนึ่งเปิดเผยว่าหลังจากที่ได้ศึกษาวิจัยหนังสือเล่มนี้นานนับสิบปีเขาพบว่าภาษาที่ซับซ้อนในหนังสือเล่มนี้อาจเป็นการปลอมแปลงขึ้นมาได้อย่างง่ายดายหากคนทำรู้เทคนิคการเขียนรหัสพื้นฐานเพียงไม่กี่อย่าง และถึงแม้จะเป็นที่ยอมรับว่า Cheshire ค้นพบวิธีการถอดความข้อเขียนในหนังสือเล่มนี้ได้จริง การจะแปลความหมายข้อเขียนทั้งหมดยังคงต้องทำงานอย่างหนักกันอีกนาน

voynich-code-3

voynich-code-4

 

ข้อมูลและภาพจาก newatlas, bbc

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *