ราเชล คาร์สัน นักนิเวศวิทยาผู้ยิ่งใหญ่หัวขบวนต่อสู้เพื่อปกป้องและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

ราเชล คาร์สัน (Rachel Carson) เป็นนักชีววิทยาทางทะเลและนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมผู้สร้างแรงกระตุ้นทำให้เกิดกระแสการรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมอย่างกว้างขวางไปทั่วประเทศสหรัฐอเมริกาและทั่วโลก เธอใช้เวลาหลายปีในการศึกษาวิจัยผลกระทบและอันตรายที่เกิดจากการใช้สารเคมีกำจัดแมลงและศัตรูพืช จากนั้นเขียนหนังสือ Silent Spring อธิบายจนเห็นภาพชัดถึงอันตรายและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดการโต้เถียงครั้งใหญ่ของผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่ายก่อให้เกิดกระแสต่อต้านการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชในสหรัฐอเมริกาและการรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมอย่างกว้างขวางทั่วโลก ผลงานของคาร์สันได้สร้างคุณประโยชน์ต่อชาวโลกอย่างมาก เธอคือนักนิเวศวิทยาผู้ยิ่งใหญ่เป็นหัวขบวนของการต่อสู้เพื่อปกป้องและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องมานานหลายทศวรรษจวบจนปัจจุบัน

 
เด็กหญิงผู้รักธรรมชาติและการประพันธ์

rachel-carson-02

ราเชล คาร์สัน เป็นชาวอเมริกัน เกิดเมื่อปี 1907 ที่เมืองเล็กๆในชนบทชื่อ Springdale ในรัฐเพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา เป็นลูกคนสุดท้องของครอบครัว มีพี่สาว 1 คนพี่ชาย 1 คน แม้ครอบครัวของเธอเป็นเจ้าของที่ดินผืนใหญ่กว่า 160 ไร่แต่ว่าอยู่ห่างไกล ไม่มีน้ำประปา ไม่มีไฟฟ้า และที่สำคัญไม่ค่อยมีเงิน ในวัยเด็กแม่ของเธอมักจะพาเธอไปสำรวจสิ่งต่างๆชมนกชมไม้รอบบริเวณบ้านและฟาร์ม สิ่งนี้ปลูกฝังให้เธอรักในธรรมชาติตั้งแต่เด็ก นอกจากนี้คาร์สันยังชอบอ่านหนังสือ เรื่องที่เธอชอบอ่านส่วนใหญ่เกี่ยวกับสัตว์และนิยายเกี่ยวกับธรรมชาติโดยเฉพาะเรื่องของทะเล

คาร์สันเริ่มเขียนนิยายตอนอายุราว 8 ปี นิตยสาร St. Nicholas ที่เธออ่านเป็นประจำเล่มหนึ่งเปิดรับผลงานของผู้อ่านตีพิมพ์ลงหนังสือด้วย ดังนั้นในปี 1918 คาร์สันจึงส่งเรื่องที่เธอเขียนไปให้พิจารณา ปรากฏว่านิยายของเธอได้รับการตีพิมพ์ ตอนนั้นเธอเพิ่งมีอายุ 11 ปีเท่านั้น งานเขียนของคาร์สันถูกตีพิมพ์ลงหนังสือเล่มนั้นอีกหลายเรื่อง และเธอก็ได้รับค่าตอบแทนจากผลงานการประพันธ์ของเธอ แม้ว่าจะเพียงน้อยนิดก็ตาม

คาร์สันเข้าโรงเรียนที่เมือง Springdale เธอเป็นเด็กฉลาดมีผลการเรียนดี แม่ของเธอตั้งใจส่งเสริมให้คาร์สันได้เรียนหนังสืออย่างดีที่สุด เธอเรียนอยู่ที่โรงเรียนที่บ้านเกิดจนจบชั้นมัธยมต้น แล้วจึงไปเข้าเรียนต่อชั้นมัธยมปลายที่โรงเรียน Parnassus High School ที่อยู่ไม่ไกลจากบ้าน ปี 1925 คาร์สันเรียนจบชั้นมัธยมปลายโดยมีคะแนนเป็นที่ 1 ของโรงเรียน

 
สาวน้อยนักประพันธ์ผู้หลงใหลชีววิทยา

rachel-carson-03

ปลายปี 1925 คาร์สันไปเป็นน้องใหม่ที่วิทยาลัย Pennsylvania College for Women ซึ่งเป็นวิทยาลัยของลูกหลานคนรวยในเมืองพิตต์สเบิร์ก คาร์สันเลือกเรียนวิชาเอกภาษาอังกฤษเพื่อที่พอจบออกไปจะได้เป็นครูสอนภาษาและเป็นนักเขียนที่เธอใฝ่ฝัน แต่เมื่อได้เรียนวิชาชีววิทยากับอาจารย์ชื่อ Mary Scott Skinker ก็พบว่าเธอชื่นชอบและหลงใหลในวิชานี้มากจนถึงกับเปลี่ยนวิชาเอกมาเป็นชีววิทยา แต่อย่างไรก็ตามเธอไม่ได้ทิ้งงานเขียนที่เธอชอบ เธอสมัครเป็นทีมงานและเขียนเรื่องลงหนังสือพิมพ์ของวิทยาลัยเป็นประจำ

คาร์สันได้รับทุนการศึกษาจำนวนหนึ่งแต่ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูงและนั่นเป็นจุดเริ่มต้นปัญหาด้านการเงิน เธอต้องค้างค่าเทอมเป็นประจำ แม่ของเธอต้องเอาที่ดินไปจำนองและหางานทำเพิ่มเพื่อให้เธอผ่านช่วงเวลาสำคัญไปให้ได้ ปี 1929 คาร์สันเรียนจบปริญญาตรีด้วยผลคะแนนยอดเยี่ยมระดับเกียรตินิยมซึ่งในปีนั้นมีเพียง 3 คนเท่านั้น

คาร์สันเรียนต่อระดับปริญญาโทด้านสัตววิทยาที่มหาวิทยาลัย Johns Hopkins เมืองบัลติมอร์ ในรัฐแมริแลนด์ เรื่องเงินยังคงเป็นปัญหาอยู่เช่นเดิม จนเธอต้องเรียนแบบไม่เต็มเวลาเพื่อทำงานพิเศษด้วยการเป็นผู้ช่วยที่ห้องทดลองและสอนหนังสือทั้งที่มหาวิทยาลัย Johns Hopkins และที่มหาวิทยาลัยแมริแลนด์ คาร์สันสำเร็จปริญญาโทในปี 1932 และหวังจะต่อปริญญาเอกให้จบแต่ทางบ้านไม่ไหวแล้ว พ่อและพี่สาวของเธอก็ป่วยหนัก เธอจึงต้องหยุดแผนการเรียนต่อเพื่อออกมาหางานทำในปี 1934 รวมทั้งยังต้องขายที่ดินของครอบครัวบางส่วนเพื่อเคลียร์หนี้ที่ติดค้างทางวิทยาลัย ปีถัดมาพ่อของเธอเสียชีวิต เธอจึงต้องเป็นผู้ดูแลแม่ที่อายุมากแล้ว

 
นักชีววิทยาผู้ชื่นชอบทะเลเป็นชีวิตจิตใจ

rachel-carson-04

คาร์สันชื่นชอบทะเลมาก เธอเห็นความสวยงามของนกทะเลเวลาบินกันเป็นฝูง ปลาหลากหลายชนิดและสัตว์ทะเลรูปร่างแปลกตา น้ำขึ้น น้ำลง คลื่นทะเลซัดฝั่ง บรรยากาศแสนสดชื่นของริมฝั่งทะเลยามเช้า สิ่งต่างๆเหล่านี้ทำให้เธอรู้สึกรักและผูกพันกับทะเล ซึ่งนั่นคงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เธอเลือกเรียนด้านชีววิทยาของสัตว์ทะเลตอนเรียนระดับปริญญาโท และแน่นอนว่าการทำงานของเธอจะต้องเกี่ยวข้องกับทะเล

คาร์สันเริ่มต้นทำงานที่กรมประมงของสหรัฐอเมริกา (U.S. Bureau of Fisheries) ในปี 1935 เป็นตำแหน่งงานชั่วคราวมีหน้าที่เขียนบทวิทยุเพื่อการศึกษาเกี่ยวกับชีววิทยาของปลา ขนาดยาวตอนละ 7 นาทีจำนวน 52 ตอนออกอากาศในรายการ Romance Under the Waters เป็นประจำทุกสัปดาห์ บทวิทยุของคาร์สันได้รับการตอบรับจากผู้ฟังอย่างกระตือรือร้นเหนือกว่าของรุ่นก่อนๆมากและใน ปี 1936 คาร์สันได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการของกรมประมงในตำแหน่งนักชีววิทยาทางน้ำ

ในตำแหน่งนักชีววิทยาทางน้ำคาร์สันรับผิดชอบงานศึกษาวิจัยและทำรายงานเรื่องประชากรของปลา และมีหน้าที่เขียนแผ่นพับและเอกสารอื่นสำหรับการประชาสัมพันธ์ การได้ทำงานประจำทำให้เรื่องการเงินของเธอเริ่มมีความมั่นคง แต่อย่างไรก็ตามในปี 1937 พี่สาวของเธอเสียชีวิตทิ้งลูกกำพร้าไว้ 2 คน คาร์สันจึงกลายเป็นหัวหน้าครอบครัวเลี้ยงดูแม่และหลานตัวเล็ก 2 คน ปัญหาด้านการเงินของเธอเริ่มกลับมาอีก

 
หลอมรวมสามสิ่งที่รักเป็นผลงานสร้างชื่อ

rachel-carson-05

นอกจากทำงานประจำแล้วคาร์สันยังเขียนบทความเกี่ยวกับโลกธรรมชาติโดยเฉพาะเรื่องของทะเลส่งให้หนังสือพิมพ์และนิตยสารเพื่อหารายได้เสริม จนถึงปี 1941 คาร์สันใช้ความรู้ทางชีววิทยาเรื่องระบบนิเวศและพฤติกรรมของสัตว์ที่มีปฏิสัมพันธ์กับทะเลหลอมรวมกับฝีมือการประพันธ์ของเธอเขียนเป็นหนังสือเล่มแรกชื่อ Under the Sea Wind โดยถ่ายทอดเรื่องราวผ่านมุมมองของนก ปลาแมกเคอเรล และปลาไหล เมื่อหนังสือตีพิมพ์ออกมาได้รับการชื่นชมจากนักวิจารณ์อย่างมาก แต่โชคไม่ดีหลังจากหนังสือออกวางขายไม่กี่สัปดาห์กองทัพญี่ปุ่นได้โจมตีเพิร์ลฮาร์เบอร์ ประเทศเข้าอยู่ในภาวะสงคราม หนังสือของคาร์สันจึงถูกมองข้ามไป

ถึงแม้ไม่ประสบความสำเร็จในแง่ยอดขายกับหนังสือเล่มแรก คาร์สันยังเดินหน้าทำตามฝันของเธอต่อไป สำหรับงานประจำเธอก้าวหน้าไปได้ด้วยดี ปี 1949 คาร์สันได้รับการแต่งตั้งเป็นหัวหน้าบรรณาธิการสื่อสิ่งพิมพ์ของหน่วยงาน U.S. Fish and Wildlife Service ซึ่งเปิดโอกาสให้เธอสามารถทำงานในภาคสนามในเรื่องที่เธอสนใจได้มากขึ้นแต่ก็มีงานบริหารที่น่าเบื่อสำหรับเธอเพิ่มตามมาด้วย ปี 1950 คาร์สันเขียนหนังสือเล่มที่สองสำเร็จ หนังสือ The Sea Around Us ที่เริ่มวางขายในปีถัดมาประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม ติดอันดับหนังสือขายดีนานถึง 86 สัปดาห์ หนังสือได้รับรางวัลต่างๆมากมายรวมทั้งรางวัลหนังสือแห่งชาติประจำปี 1952 และยังส่งผลให้หนังสือเล่มแรก Under the Sea Wind กลายเป็นหนังสือขายดีไปด้วย

ปี 1952 คาร์สันลาออกจากราชการเพื่อมาเป็นนักเขียนเต็มตัว เธอซื้อบ้านพักตากอากาศบนเกาะ Southport Island ในรัฐเมน พาแม่มาพักผ่อนอย่างมีความสุขอยู่กับทะเลและชายฝั่งเป็นประจำในช่วงฤดูร้อน ที่นั่นเธอได้พบกับ Dorothy Freeman ซึ่งได้กลายเป็นเพื่อนรักที่สุดของเธอไปจนตลอดชีวิต ทั้งคู่เขียนจดหมายถึงกันนับพันฉบับ ปี 1953 คาร์สันเริ่มงานศึกษาวิจัยระบบนิเวศและสิ่งมีชีวิตในชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก หนังสือเกี่ยวกับทะเลเล่มที่สามของเธอ The Edge of the Sea เขียนเสร็จในปี 1955 หนังสือได้รับคำชมจากนักวิจารณ์มากมายและเป็นหนังสือขายดีเช่นกันแม้ว่ายังไม่เท่า The Sea Around Us ถึงตรงนี้คาร์สันก็เป็นนักเขียนที่มีชื่อเสียงโด่งดังระดับประเทศมีฐานะการเงินที่มั่นคง แต่งานชิ้นสำคัญที่สุดของเธอเพิ่งจะเริ่มต้น

 
“Silent Spring” หนังสือเปลี่ยนโลก

rachel-carson-06

ยาฆ่าแมง DDT ถูกสังเคราะห์ขึ้นตั้งแต่ปี 1874 แต่นักวิทยาศาสตร์เพิ่งทราบคุณสมบัติในการกำจัดแมลงเมื่อปี 1939 DDT ถูกนำมาใช้ในการควบคุมโรคมาลาเรียและไข้รากสาดใหญ่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง และนิยมใช้กำจัดแมลงศัตรูพืชและผลผลิตทางเกษตรกรรมในช่วงหลังสงคราม ปี 1957 รัฐบาลสหรัฐมีโครงการกำจัดผีเสื้อกลางคืน (Gypsy moth) โดยการฉีดพ่น DDT และยาฆ่าแมลงตัวอื่นทางอากาศในพื้นที่จำนวนมากทั้งในที่ดินของรัฐและเอกชน มีเจ้าของที่ดินบางรายฟ้องศาลให้รัฐหยุดฉีดพ่นยาฆ่าแมลงแต่ไม่เป็นผล

คาร์สันกังวลว่าสารเคมีพวก DDT ถูกนำไปใช้เป็นวงกว้างอย่างรวดเร็วก่อนที่จะมีใครทำการวิจัยผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เธอเข้าร่วมเป็นคณะทำงานของสมาคม Audubon Naturalist Society ที่ต่อต้านการฉีดพ่นยาฆ่าแมลงของรัฐบาล และเริ่มทำการศึกษาวิจัยผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของการใช้ DDT และยาฆ่าแมลง เธอใช้เวลาหลายปีในการวิจัยและรวบรวมผลงานวิจัยของนักวิทยาศาสตร์จำนวนมากจากหลายหน่วยงาน จนมีข้อสรุปที่ชัดเจนว่าสารเคมีเหล่านี้เป็นอันตรายต่อทั้งพืชและสัตว์รวมทั้งมนุษย์ซึ่งอยู่บนสุดของห่วงโซ่อาหาร จากนั้นคาร์สันใช้ความสามารถพิเศษของเธอถ่ายทอดข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ในเรื่องผลกระทบของ DDT และยาฆ่าแมลงที่มีต่อสิ่งแวดล้อมออกมาเป็นหนังสือชื่อ Silent Spring อธิบายจนเห็นภาพชัดถึงอันตรายและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วยสำนวนภาษาที่คนทั่วไปสามารถรับรู้และเข้าใจได้เป็นอย่างดี

หนังสือ Silent Spring ได้รับความสนใจอย่างมากตั้งแต่ยังไม่ได้ตีพิมพ์ บรรดาบริษัทในอุตสาหกรรมสารเคมีโดยเฉพาะผู้ผลิต DDT พากันออกมาต่อต้านและกล่าวหาโจมตีคาร์สันต่างๆนานา เกิดการโต้เถียงครั้งใหญ่ของผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่ายทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย กลุ่มอุตสาหกรรมสารเคมีพยายามกดดันให้สำนักพิมพ์ยกเลิกการพิมพ์หนังสือ Silent Spring เสีย แต่สำนักพิมพ์ไม่สนใจพิมพ์หนังสือออกวางตลาดในเดือนกันยายน ปี 1962 และ Silent Spring ก็กลายเป็นหนังสือติดอันดับขายดีที่สุดของอเมริกาในทันที ด้วยเนื้อหาที่ยอดเยี่ยมและยอดขายเกิน 2 ล้านเล่ม หนังสือ Silent Spring ได้รับการยกย่องเป็นหนังสือที่ดีที่สุดเป็นลำตับต้นๆแห่งศตวรรษที่ 20

 
หัวขบวนต่อสู้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

rachel-carson-07

เมื่อความนิยมหนังสือ Silent Spring แผ่ขยายไปทั่วประเทศก่อให้เกิดกระแสการตื่นตัวในเรื่องการปกป้องและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม สถานีโทรทัศน์ CBS สัมภาษณ์คาร์สันออกทีวีมีคนดูมากถึง 12.5 ล้านคนและส่วนใหญ่เห็นด้วยกับเธอ วุฒิสภาสหรัฐเชิญเธอไปปราศรัยและขอความเห็นในเรื่องนี้ ประชาชนเริ่มรู้สึกไม่พอใจรัฐบาลที่ไม่ได้ทำหน้าที่ปกป้องสิ่งแวดล้อม กระแสวิพากษ์วิจารณ์เริ่มมากขึ้นเป็นลำดับจนประธานธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดี ต้องตั้งคณะทำงานศึกษาเรื่องดังกล่าว และในรายงานของคณะกรรมการส่วนใหญ่เห็นสอดคล้องกับคาร์สัน

ผลงานคาร์สันมีผลกระทบอย่างมากต่อการเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม หนังสือ Silent Spring ก่อให้เกิดกระแสต่อต้านการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชและถือเป็นจุดรวมพลของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในช่วงทศวรรษ 1960 ทั้งในประเทศสหรัฐอเมริกาและทั่วโลก ปี 1970 รัฐบาลของประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสันได้ก่อตั้งหน่วยงาน EPA ขึ้นมาเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของประเทศ ตามมาด้วยการรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมอย่างกว้างขวางมีการก่อตั้งหน่วยงานอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทุกประเทศทั่วโลก ปี 1972 สหรัฐมีการแบนห้ามใช้ DDT อย่างเป็นทางการ แต่ปัญหาก็มิได้หมดไปเพราะถึงแม้ DDT ถูกแบนไปสารเคมีตัวใหม่ก็ถูกผลิตขึ้นมาอีก อย่างเช่น พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต ที่กำลังเป็นปัญหาอยู่ในปัจจุบัน จึงเป็นหน้าที่ของนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่จะต้องเดินตามรอยคาร์สันทำหน้าที่อย่างเข้มแข็งต่อไป

 
นักนิเวศวิทยาผู้ทรงอิทธิพลต่อโลก

rachel-carson-08

คาร์สันเป็นอีกผู้หนึ่งที่อุทิศเวลาให้แก่งานที่เธอรักอย่างเต็มที่ เธอไม่เคยแต่งงาน ไม่มีลูก เธออยู่กับแม่และเลี้ยงดูหลาน 2 คนโดยตลอดจนแม่ของเธอเสียชีวิตไปเมื่อปี 1958 ระหว่างที่คาร์สันเขียนหนังสือ Silent Spring เธอป่วยเป็นมะเร็งเต้านมต้องเข้าผ่าตัดเอาก้อนเนื้อออก ความอ่อนล้าจากการรักษาส่งผลให้เธอป่วยเป็นโรคทางเดินหายใจ ต่อมาตรวจพบว่าเธอเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด คาร์สันเสียชีวิตจากภาวะหัวใจล้มเหลวในปี 1964 ด้วยวัย 56 ปี

โลกต้องสูญเสียผู้หญิงเก่งนักนิเวศวิทยาผู้ทรงอิทธิพลต่อความคิดของผู้คนมากมายทั่วโลก ผลงานของคาร์สันได้สร้างคุณประโยชน์ต่อชาวโลกอย่างมาก ปี 1980 ประธานาธิบดีจิมมี คาร์เตอร์ได้มอบรางวัล Presidential Medal of Freedom ให้แก่เธอซึ่งถือเป็นเกียรติสูงสุดสำหรับพลเมืองชาวอเมริกัน ราเชล คาร์สันคือนักนิเวศวิทยาผู้ยิ่งใหญ่เป็นผู้นำและสัญลักษณ์ของการต่อสู้เพื่อปกป้องและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่จะยังอยู่ในใจของผู้คนทั่วโลกตลอดไป

 
rachel-carson-09

 

ข้อมูลและภาพจาก wikipedia, famousscientists.org, rachelcarson.org

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *