อันโตนี ฟัน เลเวินฮุก “บิดาแห่งจุลชีววิทยา” ผู้ค้นพบแบคทีเรียเป็นคนแรก

อันโตนี ฟัน เลเวินฮุก (Antonie van Leeuwenhoek) เป็นนักวิทยาศาสตร์ผู้คนพบแบคทีเรียเป็นคนแรกและเป็นผู้เปิดโลกแห่งจุลชีววิทยา เขาใช้กล้องจุลทรรศน์ที่ประดิษฐ์ขึ้นเองส่องพบแบคทีเรียและจุลินทรีย์อีกมากมายหลายชนิดเป็นคนแรก รวมทั้งเซลล์เม็ดเลือดแดงและการไหลของเลือดในเส้นเลือดฝอย แม้ว่าฟัน เลเวินฮุกไม่เคยตีพิมพ์ผลงานของเขาแต่จดหมายที่เขาเขียนรายงานผลงานการค้นคว้าตลอดหลายสิบปีต่อราชสมาคมแห่งลอนดอนจำนวนเกือบ 200 ฉบับได้แสดงถึงผลงานอันยิ่งใหญ่ของเขาจนได้รับการยกย่องให้เป็น “บิดาแห่งจุลชีววิทยา” ฟัน เลเวินฮุกถือเป็นหนึ่งในนักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ของโลกทั้งๆที่เขาไม่เคยเข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัยมาก่อนเลย

 
เด็กร้านขายผ้าที่สร้างกิจการตัวเองได้ดี

antonie-van-leeuwenhoek-02

อันโตนี ฟัน เลเวินฮุก เป็นชาวดัตช์ เกิดเมื่อปี 1632 ที่เมืองเดลฟท์เมืองสำคัญแห่งหนึ่งของเนเธอร์แลนด์ ชีวิตวัยเด็กของเขาค่อนข้างลำบาก พ่อเสียชีวิตไปตอนที่เขามีอายุเพียง 5 ปี แม่แต่งงานใหม่ เขาต้องไปอยู่กับลุงที่เป็นนักกฎหมายอยู่ช่วงหนึ่ง ลุงของเขาช่วยสอนการอ่านเขียนและการคิดเลขขั้นพื้นฐานเพิ่มเติมให้แก่เขานอกเหนือจากที่ได้เรียนในโรงเรียนแถวบ้าน แต่ฟัน เลเวินฮุกได้เรียนเฉพาะภาษาดัตช์ไม่มีโอกาสได้เรียนภาษาละตินหรือภาษาอื่นที่จำเป็นต้องใช้ในการเรียนระดับสูงขึ้นไป

ปี 1648 พ่อเลี้ยงของฟัน เลเวินฮุกเสียชีวิต เขาถูกส่งไปเป็นเด็กฝึกงานที่ร้านขายผ้าในกรุงอัมสเตอร์ดัม เขาเรียนรู้และทำงานได้ดีจนได้เลื่อนตำแหน่งเป็นแคชเชียร์และผู้ดูแลบัญชี ที่ร้านขายผ้าฟัน เลเวินฮุกได้รู้จักไข่มุกแก้ว (Glass Pearl) ที่ถูกใช้เป็นแว่นขยายส่องตรวจสอบความหนาแน่นของด้ายและคุณภาพของเนื้อผ้าเป็นครั้งแรก และสิ่งนี้ได้กลายเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้เขาได้สร้างผลงานสำคัญทางวิทยาศาสตร์ในอีกหลายสิบปีต่อมา

ปี 1654 ฟัน เลเวินฮุกในวัย 21 ปีได้กลับมาอยู่ที่เมืองเดลฟท์บ้านเกิดและเริ่มต้นสร้างกิจการของตัวเอง เขาใช้ความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับจากกรุงอัมสเตอร์ดัมเปิดร้ายขายผ้าในเมืองเดลฟท์ นอกจากผ้าเขายังขายกระดุม โบว์ และอุปกรณ์ในการทำเสื้อผ้าทุกอย่าง รวมทั้งเครื่องแต่งตัวของผู้ชาย เพียงไม่กี่ปีร้านของเขาก็ประสบความสำเร็จเติบโตอย่างมั่นคง ฟัน เลเวินฮุกแต่งในกับ Barbara de Mey ลูกสาวของเจ้าของร้านขายผ้าแห่งหนึ่งในปีแรกที่เขากลับมาจากกรุงอัมสเตอร์ดัม ทั้งคู่มีลูกด้วยกัน 5 คนแต่มีเพียงลูกสาว Maria คนเดียวเท่านั้นที่รอดชีวิตจนโตเป็นผู้ใหญ่

 
พ่อค้าผ้าผู้หันมาสนใจการประดิษฐ์เลนส์

antonie-van-leeuwenhoek-03

ภายในเวลาไม่กี่ปีฟัน เลเวินฮุกได้กลายเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในเมืองเดลฟท์ ปี 1660 เขาได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้จัดการที่ประชุมสภาแห่งเมืองเดลฟท์ ตำแหน่งนี้ใช้เวลาในการทำงานไม่มากแต่ได้รับค่าตอบแทนสูง มีส่วนช่วยเสริมสร้างชื่อเสียงและความมั่นคงด้านการเงินของเขาได้มาก และด้วยการที่เป็นคนเก่งหลายด้านเขาจึงได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ดูแลการค้าและเรียกเก็บภาษีไวน์นำเข้าของเมืองเดลฟท์ รวมทั้งยังได้รับการแต่งตั้งเป็นนักสำรวจที่ดินของทางการอีกด้วย

ปี 1668 ฟัน เลเวินฮุกเดินทางไปประเทศอังกฤษและมีโอกาสได้เห็นหนังสือ Micrographia ที่เป็นงานวิจัยผ่านกล้องจุลทรรศน์ของ Robert Hooke ซึ่งได้รวบรวมภาพขยายของสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กจำนวนมาก และในหนังสือเล่มนี้ยังได้อธิบายวิธีสร้างเลนส์ทรงกลมที่คล้ายกับไข่มุกแก้วเอาไว้ด้วยทั้งๆที่ Hooke ไม่ได้สร้างกล้องจุลทรรศน์จากเลนส์ชนิดนี้เนื่องจากการทำเลนส์ทรงกลมยุ่งยากมากและตอนใช้งานจะปวดตาได้ง่าย แต่สิ่งนี้กลับเป็นแรงบันดาลใจให้ฟัน เลเวินฮุกคิดสร้างเลนส์ทรงกลมขึ้นเองเพราะเขาต้องการเครื่องมือตรวจสอบผ้าที่ดีกว่าเดิม เรื่องที่น่าแปลกใจก็คือฟัน เลเวินฮุกสามารถอ่านหนังสือของ Hooke ที่เขียนเป็นภาษาอังกฤษได้อย่างไรเพราะเขารู้แต่ภาษาดัตช์เท่านั้น

ฟัน เลเวินฮุกสร้างเลนส์ทรงกลมได้สำเร็จและยังพัฒนาเทคนิคการสร้างเลนส์ให้มีกำลังขยายมากขึ้นเป็นลำดับ เลนส์ทรงกลมยิ่งมีขนาดเล็กจะยิ่งมีกำลังขยายมาก แต่การทำเลนส์ทรงกลมให้ได้ขนาดเล็กมากนั้นเป็นเรื่องที่ยากมาก ฟัน เลเวินฮุกพัฒนาเทคนิคการสร้างเลนส์จนสามารถสร้างเลนส์ทรงกลมที่มีขนาดเพียง 1 มิลลิเมตรซึ่งมีกำลังขยายถึง 300 เท่า ขณะที่กล้องจุลทรรศน์ชนิดเลนส์ประกอบของ Hooke มีกำลังขยายราว 40 – 50 เท่าเท่านั้น ฟัน เลเวินฮุกไม่เคยเขียนหรือบอกเทคนิคการสร้างเลนส์ของเขากับใครเลยมันจึงเป็นความลับตลอดมา เขาไม่ได้หยุดแค่สร้างเลนส์เพื่อตรวจสอบคุณภาพผ้า แต่ยังนำมันไปประดิษฐ์เป็นกล้องจุลทรรศน์ชนิดเลนส์เดี่ยวเพื่อส่องดูสิ่งต่างๆ ตลอดชีวิตของฟัน เลเวินฮุกเขาสร้างเลนส์มากกว่า 500 ชิ้นและประดิษฐ์กล้องจุลทรรศน์ไม่น้อยกว่า 25 อันและใช้มันเปิดเผยสิ่งที่ไม่มีใครเคยเห็นมาก่อน

 
เปิดโลกสิ่งมีชีวิตเล็กจิ๋วที่ไม่มีใครเคยเห็น

antonie-van-leeuwenhoek-04

ฟัน เลเวินฮุกใช้กล้องจุลทรรศน์ที่เขาประดิษฐ์ขึ้นเองส่องดูสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กและบันทึกสิ่งที่ค้นพบ แม้ว่าเขาเป็นพ่อค้าผ้าที่ไม่เคยเรียนในมหาวิทยาลัยหรือได้รับการฝึกฝนทางด้านวิทยาศาสตร์ แต่คุณภาพในการสังเกต วาดภาพ และบันทึกสิ่งที่ค้นพบนั้นยอดเยี่ยมมาก ช่วงแรกเป็นการค้นพบหลายสิ่งที่เคยถูกบันทึกไว้ในหนังสือ Micrographia ของ Robert Hooke จากนั้นก็เป็นเหล็กไนผึ้ง รา เหามนุษย์ ฯลฯ และเมื่อกล้องจุลทรรศน์ของเขามีกำลังขยายมากขึ้นเขาก็มีค้นพบที่สำคัญหลายอย่างดังต่อไปนี้

สิ่งมีชีวิตเซลล์เดียว (Single-Celled Life) – เป็นการค้นพบสำคัญครั้งแรกของฟัน เลเวินฮุกในปี 1674 สิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็นนี้มีทั้งพืชและสัตว์ปัจจุบันถูกจัดอยู่ในกลุ่มโพรทิสต์ (Protist) ตอนแรกนักวิทยาศาสตร์ชื่อดังหลายคนยังไม่เชื่อว่าสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวพวกนี้จะมีอยู่จริง ต้องใช้เวลานานหลายปีกว่าจะเป็นที่ยอมรับ

เซลล์เม็ดเลือดแดง (Red Blood Cells) – ปี 1674 ฟัน เลเวินฮุกส่องดูเซลล์เม็ดเลือดแดงที่ถูกค้นพบโดย Jan Swammerdam เพื่อนชาวดัตช์ของเขาเมื่อปี 1658 ด้วยกำลังขยายของกล้องจุลทรรศน์ที่มากกว่าเขาจึงสามารถให้คำอธิบายที่ชัดเจนของเซลล์เม็ดเลือดแดงมากกว่าที่เคยเป็นมา และเป็นคนแรกที่สามารถระบุขนาดของเซลล์เม็ดเลือดแดงได้อย่างแม่นยำ รวมทั้งได้สังเกตการไหลของเลือดในเส้นเลือดฝอยเป็นการยืนยันสิ่งที่ William Harvey ได้อธิบายเกี่ยวกับระบบไหลเวียนของเลือดในร่างกายเมื่อเกือบ 50 ปีก่อน

แบคทีเรีย (Bacteria) – ฟัน เลเวินฮุกเป็นคนแรกที่ค้นพบแบคทีเรียในปี 1676 แบคทีเรียมีขนาดเล็กมาก เขาเปรียบเทียบขนาดของมันโดยบอกว่าต้องมีแบคทีเรียมากกว่า 10,000 ตัวมาอยู่รวมกันถึงจะมีปริมาตรเท่ากับเม็ดทรายก้อนเล็กๆ การค้นพบแบคทีเรียเป็นผลงานที่ยอดเยี่ยมมากเพราะไม่มีใครสามารถสังเกตพบมันอีกเลยเป็นเวลากว่า 100 ปี

ตัวอสุจิ (Spermatozoa) – ปี 1677 ฟัน เลเวินฮุกค้นพบตัวอสุจิเป็นครั้งแรกมีทั้งตัวอสุจิของแมลง สุนัข และมนุษย์ ต่อมาเขายังพบว่าไข่จะมีการปฏิสนธิเมื่อมีตัวอสุจิเข้าไปผสม

หลอดน้ำเหลืองฝอย (Lymphatic Capillaries) – ปี 1683 ฟัน เลเวินฮุกค้นพบหลอดน้ำเหลืองฝอยที่ถูกบรรจุด้วยของเหลวสีขาวคล้ายน้ำนม

ฟัน เลเวินฮุกยังได้สังเกตวงจรชีวิตของหนอนหรือตัวอ่อนของแมลงและหมัดจนค้นพบและพิสูจน์ว่าสิ่งมีชีวิตเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติตามที่หลายคนเชื่อในเวลานั้น เขาแสดงให้เห็นว่าสิ่งมีชีวิตเหล่านี้ต้องผ่านกระบวนการสืบพันธุ์จากไข่สู่หนอนไปจนถึงดักแด้และกลายเป็นตัวโตเต็มวัย นอกจากนี้เขายังเป็นคนแรกที่อธิบายลักษณะของเส้นใยกล้ามเนื้อได้อย่างชัดเจน

 
สมาชิกทรงเกียรติแห่งราชสมาคมลอนดอน

antonie-van-leeuwenhoek-05

ตลอดหลายสิบปีที่ฟัน เลเวินฮุกทำการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตเล็กจิ๋วผ่านกล้องจุลทรรศน์เขามีการค้นพบสำคัญมากมาย แต่ไม่เคยเขียนหนังสือหรือตีพิมพ์ผลงานของเขาออกมาเลย เพียงแต่ส่งจดหมายที่เขียนในภาษาดัตช์รายงานการค้นพบของเขาไปยังราชสมาคมลอนดอนซึ่งเป็นสถาบันด้านวิทยาศาสตร์ที่สำคัญที่สุดในขณะนั้น น่าสนใจอย่างมากที่จดหมายของเขาส่วนใหญ่ถูกเปิดอ่านครั้งแรกโดย Robert Hooke ผู้ดำรงตำแหน่งผู้ควบคุมการทดลองของสถาบันและต่อมาเป็นเลขาธิการสถาบันซึ่งรู้ภาษาดัตช์เป็นอย่างดี ผลงานของฟัน เลเวินฮุกทำให้ Robert Hooke ที่เลิกใช้กล้องจุลทรรศน์จากปัญหาปวดตามานานต้องกลับไปใช้มันอีกครั้งเพื่อพิสูจน์ยืนยันการค้นพบของฟัน เลเวินฮุก

ฟัน เลเวินฮุกส่งจดหมายไปยังราชสมาคมลอนดอนราว 190 ฉบับ จดหมายถูกแปลเป็นภาษาอังกฤษและถูกตีพิมพ์ลงในวารสาร Philosophical Transactions ของราชสมาคมมากถึง 375 รายการ ปี 1680 ฟัน เลเวินฮุกได้รับเลือกเป็นสมาชิกอันทรงเกียรติของราชสมาคมลอนดอนสร้างความภาคภูมิใจแก่เขาอย่างมากเพราะมันหมายถึงเขาได้รับการยอมรับในฐานะนักวิทยาศาสตร์ตัวจริง แต่เขาไม่เคยไปเยือนราชสมาคม เขามีความสุขกับการทำงานและส่งจดหมายของเขาอยู่ที่เมืองเดลฟท์ต่อไปมากกว่า จนกระทั่งก่อนที่เขาจะเสียชีวิตไม่กี่สัปดาห์เขายังส่งจดหมายไปยังราชสมาคมบรรยายอาการป่วยของเขาเองจากโรคหายากที่ต่อมาเรียกว่า van Leeuwenhoek’s disease อย่างละเอียด ฟัน เลเวินฮุกเสียชีวิตในปี 1723 ด้วยวัย 90 ปี

 
บิดาจุลชีววิทยาผู้ไม่เคยเรียนมหาวิทยาลัย

antonie-van-leeuwenhoek-06

ฟัน เลเวินฮุกเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของผู้ที่แม้จะไม่มีโอกาสได้เรียนในระดับสูงแต่มีความมุ่งมั่นพยายามก็ยังสามารถประสบความสำเร็จได้ จากพ่อค้าผ้ากลายเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่มีผลงานการค้นพบสิ่งมีชีวิตเล็กจิ๋วที่ไม่มีใครเคยเห็นจำนวนมากนำไปสู่วิชาชีววิทยาสาขาใหม่ และฟัน เลเวินฮุกก็ได้รับการยกย่องเป็น “บิดาแห่งจุลชีววิทยา” เป็นหนึ่งในนักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ของโลกทั้งๆที่เขาไม่เคยเข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัยมาก่อนเลย

antonie-van-leeuwenhoek-07

 
ข้อมูลและภาพจาก famousscientists, britannica, wikipedia

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *