ไขปริศนา “เครื่องหมายสีแดง” เหนือท้องฟ้าญี่ปุ่นเมื่อ 1,400 ปีก่อนได้แล้ว

เมื่อ 1,400 ปีก่อนนักประวัติศาสตร์ชาวญี่ปุ่นได้บันทึกการเกิดปรากฏการณ์ “เครื่องหมายสีแดง” ซึ่งเป็นแสงสีแดงรูปพัดปรากฏขึ้นทั่วท้องฟ้าของญี่ปุ่น ผู้เห็นเหตุการณ์บอกว่าแสงสีแดงมีลักษณะคล้ายกับหางไก่ฟ้า สิ่งที่เกิดขึ้นสร้างความสงสัยแก่นักดาราศาสตร์มาตลอดว่ามันเป็นอะไรกันแน่ แต่ตอนนี้มีคำตอบแล้ว

ตามบันทึกประวัติศาสตร์เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม ปี 620 มี “เครื่องหมายสีแดง” ที่มีรูปร่างคล้ายกับ “หางไก่ฟ้า” ปรากฏขึ้นในท้องฟ้า ในเวลานั้นสิ่งที่เกิดขึ้นถือว่าเป็นลางร้าย แต่สำหรับนักวิทยาศาสตร์สมัยใหม่มองว่ามันอาจจะเป็นแสงออโรร่าหรือดาวหาง เพียงแต่มันยังไม่มีคำอธิบายใดที่สมเหตุสมผล

“มันเป็นบันทึกทางดาราศาสตร์ที่เก่าแก่ที่สุดของญี่ปุ่น'” Ryuho Kataoka นักวิจัยที่สถาบัน National Institute of Polar Research แห่งญี่ปุ่นกล่าว “มันอาจเป็นแสงออโรร่าสีแดงที่เกิดขึ้นระหว่างพายุแม่เหล็ก อย่างไรก็ตามยังไม่มีเหตุผลที่น่าเชื่อถือมารองรับ แม้ว่าคำอธิบายนี้เป็นที่นิยมในหมู่ชาวญี่ปุ่นมาเป็นเวลานานแล้ว”

แสงออโรร่าเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดขึ้นจากอนุภาคที่มีประจุจากดวงอาทิตย์ที่เข้ามาในเขตสนามแม่เหล็กโลกและปะทะกับอนุภาคของก๊าซออกซิเจนและก๊าซไนโตรเจนเกิดเป็นแถบของแสงที่มีสีแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับองค์ประกอบของอะตอมที่ถูกกระตุ้น อะตอมออกซิเจนทำให้เกิดแสงสีเขียว ส่วนอะตอมไนโตรเจนทำให้แสงมีสีฟ้า แต่บางครั้งก็เป็นสีแดงหรือม่วง ส่วนใหญ่แสงออโรร่าจะเกิดในชั้นบรรยากาศบริเวณขั้วโลกเนื่องจากที่บริเวณขั้วโลกสนามแม่เหล็กโลกมีกำลังอ่อนอนุภาคที่มีประจุจากดวงอาทิตย์สามารถทะลุผ่านเข้ามาในเขตชั้นบรรยากาศของโลกได้

สำหรับ Kataoka และทีมงานโอกาสที่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อ 1,400 ปีก่อนจะเป็นดาวหางอาจมีน้อยมากเนื่องจากไม่ค่อยเคยพบดาวหางมีสีแดง ส่วนการจะเป็นแสงออโรร่าก็ยังน่าสงสัยเพราะปกติแล้วมันไม่ได้มีลักษณะเหมือนหางไก่ฟ้าตามรูปข้างล่าง แต่จะคล้ายกับริบบิ้นที่ปลิวไสวอยู่บนท้องฟ้ามากกว่า อีกทั้งในญี่ปุ่นก็ไม่ค่อยมีแสงออโรร่าให้เห็นบ่อยนัก พวกเขาจึงทำการติดตามตรวจสอบลักษณะของแสงออโรร่าที่เคยเกิดขึ้นทั่วประเทศญี่ปุ่นและทำตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงของสนามแม่เหล็กโลกในช่วงเวลานั้นด้วย

red-aurora-mystery-2

ทีมวิจัยพบว่าในปัจจุบันละติจูดแม่เหล็กโลกของประเทศญี่ปุ่นอยู่ที่ 25 องศา แต่ในปี 620 อยู่ที่ละติจูด 33 องศาซึ่งทำให้แสงออโรร่ามีโอกาสก่อตัวขึ้นได้มากโดยเฉพาะในกรณีที่เกิดพายุแม่เหล็ก ประกอบกับในงานวิจัยเมื่อไม่นานมานี้แสดงให้เห็นว่าแสงออโรร่าสามารถเกิดเป็นลักษณะพิเศษแบบ “หางไก่ฟ้า” ได้ในช่วงที่มีพายุแม่เหล็ก ดังนั้นปรากฏการณ์ “เครื่องหมายสีแดง” ในปี 620 จึงน่าจะเป็นแสงออโรร่า

ไก่ฟ้ามีความสำคัญทางวัฒนธรรมของประเทศญี่ปุ่นมาหลายชั่วอายุคน พวกมันถูกมองว่าเป็นผู้ส่งสารแห่งสวรรค์ในนิทานพื้นบ้านญี่ปุ่น Kataoka มีความเห็นว่าบันทึกทางประวัติศาสตร์ได้ใช้รูปร่างของหางไก่ฟ้าเพื่ออธิบายออโรร่าที่มีรูปร่างเหมือนพัดนี้ว่าคือ “ปรากฏการณ์แห่งสวรรค์”

 

ข้อมูลและภาพจาก space, eurekalert.org

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *